กระแสตอบรับดี 11 ปี “ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล” เปิดผลสำรวจโชว์คนเชื่อมั่นศาลปค.ถึง 91%
การที่แนวโน้มของคดีเพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่ผลดี
แสดงให้เห็นถึงสังคมมีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น
เนื่องในโอกาสครบรอบ 11 ปีศาลปกครอง ดร.หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด แถลงผลการดำเนินงานตลอด 11ปีของการเปิดทำการ ณ ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ
ดร.หัสวุฒิ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 11 ปีในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองให้แก่ประชาชน ศาลปกครองได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเทมาโดยตลอด เพื่อเร่งรัดพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จโดยเร็วให้ทันต่อการเยียวยาความเสียหายให้แก่คู่กรณี โดยนับแต่เปิดทำการศาลปกครองเป็นมาตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 มีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองจำนวน 70,921 คดี ซึ่งมีคดีที่ศาลปกครองพิจารณาแล้วเสร็จจำนวน 56,050 คดี หรือประมาณร้อยละ 80 ของคดีรับเข้าทั้งหมด
หมายถึงปัจจุบันมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวน 14,871 คดี หรือประมาณร้อยละ 20 ของคดีที่รับเข้าทั้งหมด
“สาเหตุที่ยังมีคดีค้างนั้นมีองค์ประกอบหลายประการ เช่น บุคลากร หรือตุลาการไม่เพียงพอ แต่ทั้งนี้ อยากจะเรียนให้ทราบว่าไม่มีศาลใดของประเทศใดในโลกที่ไม่มีคดีค้าง แต่ไม่ใช่เป็นการแก้ตัวว่าต้องมีคดีค้าง แต่การค้างเราพยายามบริหารจัดการ พยายามที่จะสร้างกลไก ตลอดจนกรตรวจสอบการทำงานของตุลาการเป็นรายเดือนว่าแต่ละคนทำไมถึงตัดสินไม่ได้ ซึ่งถามว่าคดีที่เราค้างอยู่ในขณะนี้ถ้าเทียบกับศาลที่มีอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด คิดว่าเราอยู่ในลำดับต้นๆที่มีคดีค้างน้อยที่สุด”
ระยะเวลาในการพิจารณาคดีที่ใช้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า คดีแต่ละคดีควรจะเสร็จภายในกรอบมาตรฐานคือ 2 ปี โดยในภาพรวมพบว่า ศาลปกครองสามารถพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลามาตรฐานได้ประมาณร้อยละ 75 ของคดีที่พิจารณาแล้วเสร็จทั้งหมด
ในปี 2554 มีคดีเพิ่มสูงสุดจากปี 2553 กว่า 500 คดี และแนวโน้มในปี 2555 ก็คิดว่าแนวโน้มของคดีปกครองต้องเพิ่มขึ้น
นั่นหมายความว่า การที่จะต้องทำงานของศาลเพื่อไมให้ข้อพิพาทที่เข้ามาได้รับการแก้ไข เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่อให้ประชาชนได้รับการเยียวยา ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักสำคัญของศาลปกครอง
“การที่แนวโน้มของคดีเพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่ผลดี แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า ในสังคมมีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าสังคมสงบเรียบร้อย ไม่มีปัญหาการฟ้องคดีนั้นต้องมีปริมาณที่ลดลง แต่อย่างไรก็ดีคงเป็นหน้าที่ของศาลปกครองที่จะต้องอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง บนพื้นฐานของความเสมอภาคและเท่าเทียม ไม่เช่นนั้นคำวินิจฉัยคงถูกปฏิเสธได้
นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการเผยแพร่การปฏิบัติราชการทางปกครอง ตามแนวคำพิพากษาของศาลปกครอง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติ เพื่อไม่สร้างก่อให้เกิดปัญหาของประชาชน โดยเฉพาะเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าได้มีการแก้ไขตามแนวทางคำพิพากษาข้อพิพาทต่างๆเหล่านั้นก็น่าจะลดลง หรือไม่เกิดขึ้นอีก”
ในบรรดาคดีที่ฟ้องต่อศาลปกครอง ที่มีคู่ความเป็นฝ่ายของรัฐ อันได้แก่ หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และอีกฝ่ายคือชาวบ้านนั้น พบว่า ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เอกชนชนะคดีอันเป็นการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่เอกชนคิดเป็นร้อยละ 45.47 และคดีที่พิพากษาว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายคิดเป็นร้อยละ 54.35
ฉะนั้นจึงถือว่าการตัดสินคดีของศาลปกครองนั้นอยู่บนพื้นฐานของหลักกฎหมายปกครองที่ต้องคำนึงถึงการบริหารราชการแผ่นดิน ขณะเดียวกันการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ต้องให้เกิดความสมดุล
5 กระทรวง ถูกฟ้องคดีปกครองมากที่สุด
หน่วยงานที่ถูกฟ้องคดีปกครองมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามลำดับ
นอกจากนี้ ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2554 พบว่าคดีที่มีการฟ้องมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ 1.คดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและวินัยฯคิดเป็นร้อยละ 26.83 หรือประมาณหนึ่งในสี่ของคดีที่รับเข้าทั้งหมด 2.คดีเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ คิดเป็นร้อยละ 19.91 3.คดีเกี่ยวกับพัสดุ สัญญาทางปกครอง คิดเป็นร้อยละ 14.66 4.คดีเกี่ยวกับการควบคุมอาคารฯ และสิ่งแวดล้อม คิดเป็นร้อยละ 14.17 และลำดับสุดท้ายเกี่ยวกับการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน คิดเป็นร้อยละ 7.35
คดีสิ่งแวดล้อมขึ้นสู่ศาลกว่า 500 คดี
คดีสิ่งแวดล้อมเป็นคดีที่ศาลปกครองให้ความสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการเปิดแผนกคดีสิ่งแวดล้อมเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีคดีสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การพิจารณาในแผนกคดีสิ่งแวดล้อมจำนวนทั้งสิ้น 568 คดี
ส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัยในกรุงเทพมหานครและจังหวัดในเขตปริมณฑล ซึ่งการตั้งแผนกคดีนี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เพื่อให้การพิจารณาคดีประเภทนี้นั้นสำเร็จลุล่วงไปโดยเร็ว เพราะคดีสิ่งแวดล้อมนั้นมีผลกระทบไม่ใช่แค่เฉพาะคู่ความ แต่มีผลกระทบต่อผู้ที่อยู่ในอาณาบริเวณที่ใกล้เคียง จึงต้องให้ความสำคัญ
โดยมีการตั้งเป้าว่า คดีสิ่งแวดล้อมนั้นควรจะทำให้เสร็จภายในกรอบ 1 ปี เร็วกว่าคดีปกครองทั่วไป
ตั้งแต่เปิดศาลปกครองมาจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 นี้ ถามว่า กระแสตอบรับต่อผลการดำเนินงานของศาลปกครองเป็นอย่างไร โดยจากผลสำรวจความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมการปกครองในปีที่ผ่านมาคือ 2554 นั้น ศาลปกครองได้รับความเชื่อมั่นสูงมากถึงร้อยละ 91 ซึ่งการบริหารจัดการในปีที่ผ่านมานั้นศาลปกครองได้คดีมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เปิดศาลปกครองมา
ทิศทางในการดำเนินงานของศาลปกครองปี 2555
ผลของการดำเนินงานในช่วง 11 ปีผ่านมาประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนกระแสความตื่นตัวของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขององค์กรภาคประชาชนต่างๆที่มีอยู่ขณะนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้แนวโน้มในปี 2555 จะมีคดีเข้ามาสู่การพิจารณาของศาลมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าภูมิใจ
ทั้งนี้ ในปีนี้ได้กำหนดให้เป็นปีแห่งการเพิ่มขีดสมรรถนะในการบริหารจัดการองค์กรและเป็นปีศาลปกครองแห่งความเชื่อมั่นซึ่งมีเป้าหมายคือ 1.การพิจารณาคดีให้รวดเร็วยิ่งขึ้นอย่างมีคุณภาพ 2.จัดการกับคดีที่ค้างเกินขอบเวลามาตรฐานให้หมดไปโดยเร็ว 3.พัฒนาระบบบริหารจัดการองค์การในชุดหน้า เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนในการพิจารณาคดีดำเนินไปตามเป้าหมาย 4.ส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะเป็นตุลาการหรือข้าราชการ ให้ได้ทำงานอย่างมีความสุขภายใต้วัฒนธรรมของศาลปกครองที่ดี โดยได้กำหนดนโยบายเน้นหนักที่สำคัญเพื่อเป็นทิศทางในการทำงานเชิงรุก เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน 11 ประการ ดังนี้
1.การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลปกครองจะต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็ว คำวินิจฉัยมีคุณภาพ มีเหตุผล เป็นที่ยอมรับของสังคม โดยวางเป้าหมายไว้ว่าจะพิจารณาคดีที่รับเข้าการพิจารณาตั้งแต่ ปี 2551-2552 ให้พิจารณาคดีแล้วเสร็จภายในปี 2555 และคดีที่รับเข้าพิจารณาตั้งแต่ปี 2553-2554 จะต้องพิจารณาแล้วเสร็จภายในปี 2556 จนกระทั่งคดีทั้งหมดอยู่ในกรอบมาตรฐานคดีที่วางไว้
2.จัดประชุมตุลการศาลปกครองทั่วประเทศ ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (VDO Conference) ทุกเดือน เพื่อที่จะติดตามและแก้ไขปัญหาต่างๆเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดี
3.ส่งเสริมให้คณะกรรมการวิชาการด้านต่างๆเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนและช่วยการทำงานในทางวิชาการให้แก่ตุลาการมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะกรรมการวิชาการเป็นกระจกสะท้อนการทำงานของตุลาการเอง โดยคณะกรรมการวิชาการจะทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของตุลาการโดยไม่ต้องรอสังคม หรือสื่อ ทั้งนี้จะทำทั้งในลักษณะที่ดีและไม่ดี เพื่อนำไปปฏิบัติต่อหรือแก้ไขต่อไป
4.มีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งแผนกคดีด้านอื่นๆเพิ่มเติม เช่นแผนกคดีบริหารงานบุคคล ซึ่งเป็นคดีประเภทที่มีการฟ้องกันมากและต้องพิจารณาให้เสร็จโดยรวดเร็ว ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถเยียวยา ปัญหาหรือความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นได้
5.เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับคดี เนื่องจากการตัดสินคดีของศาลนั้นแม้จะดีเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าการบังคับคดีล้มเหลวหรือไม่ประสบความสำเร็จก็เท่ากับว่าความอำนวยยุติธรรมเป็นไปได้เพียงครึ่งเดียว โดยจะมีการปรับโครงสร้างบุคลากร มีการอบรมเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับคดีนั้น ต่อไปต้องเป็นเรื่องของตุลาการด้วยไม่ใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าเพียงอย่างเดียว
“คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองนั้นไม่ใช่แค่อยู่ในกระดาษ แต่จะต้องเป็นจริงในทางปฏิบัติได้ด้วย”
6.เร่งรัดสรรหาตุลการศาลปกครองภายใต้อุดมการณ์ว่า “การสรรหาตุลาการก็เพื่อที่จะได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต เที่ยงธรรมและกล้าหาญ” ซึ่งการสรรหาที่ผ่านมาในแต่ละรุ่นมีการคัดตุลาการเพียงไม่กี่คน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ “เพราะหากเราไม่ได้ตัวบุคคลอย่างที่กล่าวแล้วพิจารณา พิพากษาคดี มันจะเป็นผลร้ายหรือผลเสียมากกว่าที่จะเป็นผลดี เช่นถ้าไม่มีความรู้ความสามารถแล้วพิจารณาพลาดไป ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนเสียไป”
ทั้งนี้ในเรื่องของความกล้าหาญนั้นจำเป็นต้องมี อย่างยิ่ง เนื่องจากงานที่ทำมีอันตรายมาก เพราะศาลไม่มีระบบของการคุ้มครองตุลาการอย่างไร ฉะนั้นถ้าตุลาการเจ้าของสำนวนถูกขู่ จะเห็นว่าคำวินิจฉัยนั้นเบี่ยงเบนได้ทันที ซึ่งเราไม่อยากให้มันเกิดขึ้น
7.เร่งดำเนินการก่อสร้างศาลปกครองในภูมิภาคเพิ่มเติม เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน โดยได้มีการจัดตั้งเสร็จแล้ว 2 แห่งคือ ศาลปกครองเชียงใหม่และศาลปกครองอุบลราชธานี และได้ผ่านการอนุมัติของรัฐสภาไปแล้วอีก 4 แห่ง ได้แก่ สุพรรณบุรี นครสวรรค์ เพชรบุรี และภูเก็ต
นอกจากนี้ยังมี ศาลปกครองยะลา ซึ่งเป็นศาลปกครองตามแผนยุทธศาสตร์ทั้งของฝ่ายบริหารที่อยากจะให้มีการจัดตั้งศาลปกครองยะลา ซึ่งรัฐบาลที่แล้วและรัฐบาลนี้ก็เห็นชอบในการจัดตั้งศาลปกครองยะลา เพื่อช่วยแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอนาคตอันใกล้
8.ศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มช่องทางการให้บริการรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากการเปิดที่ทำการศาลปกครองในภูมิภาค เช่น การฟ้องคดีด้วยวาจา, การนำระบบประชมทางไกลผ่านจอภาพ (VDO Conference) มาใช้ในการไต่สวน การแสวงหาข้อเท็จจริงหรือการรับฟ้อง, การพัฒนาระบบ Mobile Court หรือศาลปกครองเคลื่อนที่ รวมทั้งการจัดตั้งศาลอิเล็กทรอนิกส์หรือ E Court ในอนาคต
9.เร่งปรับปรุงศูนย์บริการประชาชน และปรับปรุงระบบ Call Center 1335 เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์รวมทั้งได้รับคำปรึกษาแนะนำในการฟ้องคดีปกครองที่ถูกต้อง
10.ส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมของศาลปกครองที่ดี ภายใต้หลักการ “ซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม มีความรู้ความสามารถ กล้าหาญ รักและสามัคคี” โดยวิถีการทำงานร่วมกันคือ “โปร่งใส” “ถูกต้อง” “เป็นเอกภาพ” “มีมาตรฐาน” และ “ทำงานเป็นทีม” เพื่อให้ศาลปกครองเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน
และประการสุดท้าย แม้ว่าศาลปกครองจะเป็นองค์กรอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง แต่ศาลปกครองต้องมีวิสัยทัศน์ในการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีการรวมตัวของประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเราได้เริ่มเตรียมตัวดำเนินการในภูมิภาคนี้แล้ว ในกรณีที่มีข้อพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของศาล จะต้องมีปัญหาใดบ้างที่ต้องเตรียมตัว ซึ่งมั่นใจว่าพร้อมก่อนที่จะมีการรวมตัวอย่างแน่นอน