ดร.วีรพงษ์ รามางกูร "รวมพลังก้าวผ่านวิกฤตอุทกภัยสร้างอนาคตเศรษฐกิจไทย"
“ผมได้ชี้แจง ประกาศไปแล้วว่า ใน 12 เดือนข้างหน้า
แม้ฝนฟ้าจะตกมากมายอย่างปีนี้ อุทกภัยจะต้องไม่เกิดขึ้นร้ายแรง”
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “รวมพลังก้าวผ่านวิกฤตอุทกภัยสร้างอนาคตเศรษฐกิจไทย” ในสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 29 ณ ห้องสุนทรภู่ โรงแรมสตาร์ จ.ระยอง
ดร.วีรพงษ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า เป็นที่ทราบกันดี อุทกภัยครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจทุกๆด้านของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสาขาเกษตรกรรม สาขาอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า บ้านเมือง ระบบขนส่ง สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล โดยตัวเลขเบื้องต้น คาดว่า อุทกภัยครั้งนี้จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องถือว่า เป็นความเสียหาย ความสูญเสียที่ใหญ่โตมาก
น้ำท่วมครั้งนี้มากมายมหาศาลกว่าทุกครั้ง กล่าวคือ ปริมาณน้ำที่ตกลงมาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งรวมทั้ง ปิง วัง ยม น่าน มาเป็นระบบแม่น้ำเจ้าพระยานั้น มีปริมาณสูงมากกว่าครั้งใดๆ ในสถิติที่เก็บมา จากตัวเลขสถิติที่เคยมี น้ำท่วมครั้งสุดท้ายที่หนักที่สุดคือเมื่อปี 2485 โดยเข้าใจว่าน้ำท่วมในปีนี้อาจจะรุนแรงกว่าปี 2485 ทั้งนี้ ความจริงแล้วเรามีน้ำท่วมย่อยๆ เกิดขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำที่มีเนื้อที่ประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ และเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ และมั่งคั่งที่สุดของประเทศ
น้ำท่วมในรอบที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้ คือปี 2521 แต่มาไม่ถึงกรุงเทพฯ มาถึงแค่นครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี ต่อมาคือปี 2523 น้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือท่วมนครสวรรค์ ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี และลงมาถึงอยุธยา แต่มาไม่ถึงกรุงเทพฯ มีท่วมหนักในปี 2526 ที่ท่วมถึงกรุงเทพฯ วัดได้ที่เชิงสะพานพุทธ 2.4 เมตร เมื่อเทียบกับปี 2485 วัดได้ที่เชิงสะพานพุทธ 2.27 เมตร เพราะฉะนั้นแม้ว่าปี 2526 จะหนักแต่ก็น้อยกว่าปี 2485 หลังจากนั้น ในปี 2538 เกิดน้ำท่วมหนัก แต่ก็มาไม่ถึงกรุงเทพฯ
จนมาถึงปีนี้ ... ที่สร้างความเสียหายไว้มากมาย ซึ่งความจริงแล้วหลังจากน้ำท่วมปี 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำริในการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งได้ลงมือตลอดมาตั้งแต่ปี 2527 จนกระทั่งมีน้ำท่วมในปี 2538 ได้มีการขยายพื้นที่ป้องกันน้ำ ออกไปอีกมาก ดังนั้น ในปี 2538 แม้จะมีฝนตกมาก แต่ผลจากโครงการพระราชดำริที่ทำไว้จึงไม่ได้รุนแรงเหมือนกับในปีนี้
ปัจจัยของการเกิดอุทกภัยในครั้งนี้
ปัจจัยแรกคือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงและถี่มากในช่วงต้นเดือนตุลาคม ตลอดทั้งเดือน ปริมาณที่ว่านี้น่าจะเทียบได้กับปริมาณน้ำฝนตกในปี 2485 ความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงเกิดความหวั่นไหวทั่วไป เพราะเหตุว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของโลกศูนย์กลางหนึ่ง ประเทศของเราอุตสาหกรรมได้ก้าวหน้าไปมาก มิใช่เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ประกอบสำเร็จรูปเท่านั้น แต่อุตสาหกรรมของเราได้หยั่งรากลึกลงไปถึงเบื้องล่าง
ดังเช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งมีเป้าหมายว่าปีหน้าเราจะผลิตเพื่อการส่งออก เฉพาะบริษัทโตโยต้าถึง 1 ล้านคัน อีก 5 ปีข้างหน้าจะให้ได้ 2.5 ล้านคัน อุตสาหกรรมรถยนต์ของเราไม่ใช่อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ต่อไปแล้ว แต่มีส่วนของการผลิตในประเทศเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ยังมี อุตสาหกรรทางด้านอิเล็กทรอนิค ชิ้นส่วนต่างๆที่ผลิตเพื่อส่งออกไปประกอบในประเทศต่างๆทั่วโลก อุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เช่น ฮาร์ทดิส มีปริมาณผลิตในประเทศไทยถึง 60% ของปริมาณการผลิตทั้งโลก ดังนั้น ห่วงโซ่ของการผลิต ประเทศไทยจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทั่วโลก
ความเสียหายจึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดกับอุตสาหกรรมสำคัญๆทั่วโลก ดังนั้นความหวั่นไหวต่างๆ เมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
การบริหารจัดการในระยะสั้น
การสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างประเทศ
ภารกิจแรกของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) คือทำทุกอย่างเพื่อที่จะฟื้นฟูและสร้างอนาคตของประเทศ โดยภารกิจแรกที่ผมเห็นคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ โดยเฉพาะผู้ลงทุนชาวต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทย
ทั้งนี้ ธุรกิจที่หวั่นไหวก่อน นั่น คือธุรกิจประกันภัย
การประกันภัยมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับอุตสาหกรรมที่มา ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยเพราะเหตุว่าสินเชื่อต่างๆ ธนาคาร สถาบันการเงิน การประกันภัยเป็นเงื่อนไขสำคัญ สำหรับการสร้างสินเชื่อ และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับเจ้าหนี้
ดังนั้นจุดแรกที่ผมจะต้องทำคือไปชี้แจงที่ประเทศอังกฤษ สำหรับงานนี้ได้รับการตอบสนองด้วยดี มีบริษัทประกันภัยทั่วยุโรป 13 บริษัท รวมถึงได้พบกับเจ้าของตลาดประกันภัยที่ใหญ่ที่สุด
ทั้งนี้ คำถามจากลอนดอนที่ล้ายๆกัน คือ ทางรัฐบาลของประเทศไทยมีมาตรการที่จะสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทประกันภัยอย่างไร
“ผมก็ได้ชี้แจงไปว่า ได้ประกาศไปแล้วว่าใน 12 เดือนข้างหน้า แม้ว่าฝนฟ้าจะตกมากมายอย่างปีนี้ อุทกภัยจะต้องไม่เกิดขึ้นร้ายแรงเหมือนปีนี้”
สำหรับ ประเทศที่สองที่เดินทางไปสร้างความมั่นใจคือประเทศญี่ปุ่น เพราะประเทศญี่ปุ่นนั้นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดในบรรดาชาติอื่นๆ ในการเยือนครั้งนี้ ได้รับสัญญาณที่ดีว่าญี่ปุ่นได้ถือเรื่องความเสียหายจากอุทกภัยในประเทศไทยไว้ในระดับสูงสุด และเชื่อมั่นได้ทันทีว่า ญี่ปุ่นจะไม่ไปจากประเทศไทย
แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัวเรา สิ่งที่ได้ไปทำสัญญา ชี้แจง ทั้งที่ลอนดอนและโตเกียวต้องทำให้ได้
นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ สภาหอการค้ายุโรปซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้า 17 ประเทศ ที่ตั้งอยู่ในไทย ได้เชิญให้ไปชี้แจงว่าประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับเค้าได้อย่างไรว่า ปัญหาอุทกภัยอย่างร้ายแรงจะไม่เกิดซ้ำขึ้นอีกในเวลาอันใกล้ สิ่งเหล่านี้ ถือว่าทาง กยอ.ได้ทำหน้าที่ การสร้างความเชื่อมั่นไว้ในระดับหนึ่งแล้ว ต่อไปเป็นเรื่องที่จะต้องปฏิบัติตามสิ่งที่เราให้สัญญาไว้
แผนเฉพาะหน้า ในการบริหารจัดการน้ำ
อุทกภัยครั้งใหญ่ครั้งนี้ทำให้เราเห็นจุดบกพร่องของเราในหลายๆเรื่องซึ่งสามารถทำได้เลยทันที และต้องทำให้ได้ ฉะนั้น “แผนเฉพาะหน้า” ซึ่งต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงฤดูฝนหน้าน้ำท่วม หน้าน้ำหลากปีหน้า
“การบริหารจัดการน้ำไม่เป็นระบบ”
ผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการน้ำมีหลายหน่วยงานเกินไป หน่วยงานของรัฐบาลก็หลายหน่วย ภายในจังหวัดก็มีอำนาจในการบริหารน้ำ แม้กระทั่งในท้องถิ่นก็มีอำนาจบริหารน้ำในท้องถิ่นของตน ไม่ว่าจะเป็น อบต. เทศบาล กรุงเทพฯ ซึ่งล้วนแต่มีส่วนในการสร้างเครื่องมือ และเป็นเจ้าของเครื่องมือนั้น และมีอำนาจในการจัดการบริหารด้วยเหตุนี้
การสั่งการจึงไม่มีเอกภาพ การบริหารจัดการจึงไม่มีเอกภาพ
ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องมานั่งหารือกันว่า จะมีการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานที่สามารถจะสั่งการได้ และต้องมีการปฏิบัติตามนั้น อาจจะต้องมีการแก้กฎหมายต่างๆ ที่สำคัญเมื่อเกิดมีวิกฤตการณ์น้ำท่วมหรือน้ำมากเกินไป
“การบริหารน้ำในยามวิกฤต”
ในส่วนนี้คงต้องดูทั้งระบบ จะดูเป็นตอนๆไม่ได้ เนื่องจากระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยา เริ่มต้นตั้งแต่แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกัน ออกที่จังหวัดนครสวรรค์หรือปากน้ำโพ เป็นตอนหนึ่ง และจากปากน้ำโพลงมาชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี เป็นอีกตอนหนึ่ง เรื่อยลงมาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพฯ ไปจนถึงจังหวัดทางตะวันออกและตะวันตก โดยการบริหารจัดการภัยพิบัติอุทกภัยต้องทำเป็นระบบ ซึ่งทำให้ได้ทันทีภายใน 12 เดือนข้างหน้า
สร้าง“ระบบป้องกันน้ำท่วม” ที่เราได้เริ่มทำกันมาตั้งแต่หลังน้ำท่วมปี 2526 ไม่ว่าจะเป็นประตูน้ำแม่พิมพ์ ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ คลองรังสิต คลองมหาสวัสดิ์ คลองทวีวัฒนา คลองภาษีเจริญ จะต้องได้รับการปรับปรุง เนื่องจากบางแห่งชำรุดทรุดโทรม และปัจจุบันประเทศอื่นๆ ใช้เทคโนโลยีในการเฝ้าประตูน้ำ
แต่ในประเทศไทยยังใช้ยามเฝ้าประตูน้ำอยู่
สิ่งเหล่านี้ต้องจัดใหม่ ต้องทำใหม่ คูคลองต่างๆตื้นเขิน มีผักตบชวา หญ้าขึ้น เราไม่ได้ลอกไม่ได้ขุด ที่คลองบางซื่อ น้ำกำลังจะไหลมาสะพานควาย วิภาวดี รัชดา เพราะเหตุว่า มีที่นอน 6 หลังจมอยู่ในคลองอุดทางน้ำไว้ โดยในปีหน้าต้องทำให้ได้ให้หมด รวมถึงการซ่อมแซมคันดินพระราชดำริบางแห่ง ควรจะมีความสูง 3.5 เมตร ปัจจุบันเหลือประมาณ 2 เมตร สิ่งเหล่านี้เราสามารถทำได้ในเวลาอันสั้น
“การซ้อมใหญ่ก่อนฤดูน้ำหลากปีหน้า”
การซ้อมจะทำให้เรารู้ว่าจุดบกพร่องเราอยู่ที่ไหน คล้ายกับการซ้อมรบก่อนการออกรบจริง และเมื่อซ้อมแล้วก็ประเมินผล โดยหลังจากซ้อมป้องกันน้ำท่วมแล้ว อาจไม่ถึงกับป้องกันแต่ว่าบรรเทาผลจากน้ำท่วมว่าจะทำอย่างไร ตรงไหน นอกจากนี้ เครื่องสูบน้ำก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ปีนี้เป็นปัญหามาก เพราะเครื่องบางเครื่องมีแต่หน้ากากไม่มีเครื่อง หรือมีเครื่องไม่พอ และเมื่อเดินเครื่องนานๆเครื่องก็จะร้อนทำให้มอเตอร์ไหม้ได้
“จัดตั้งศูนย์ข้อมูลน้ำ”
เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมี หรือแม้จะมีก็ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะบอกประชาชน โดยศูนย์ข้อมูลนี้ต้องสามารถที่จะติดตามมอร์นิเตอร์น้ำตั้งแต่ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ว่าน้ำถึงไหนแล้ว จะไปทางไหน รัฐบาลจะผันน้ำไปทางไหน อย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้รู้ตัวก่อน ว่าอุทกภัยจะไปทางไหน พื้นที่ที่อยู่จะท่วมหรือไม่ ซึ่งประชาชนควรมีสิทธิ์รู้ก่อน ไม่ใช่ท่วมแล้วจึงมารู้อย่างในปีนี้ เพราะเหตุว่าน้ำใช้เวลาเดินทางพอสมควร แม้ว่าเราจะพยากรณ์ฝนไม่ได้เกิน 3 วันแต่เราสามารถรู้พื้นฐาน ว่าฝนในประเทศไทยตกจากเหนือลงใต้
“การบังคับใช้กฎหมาย”
ซึ่งในเรื่องนี้คงต้องเกี่ยวพันกับการเมือง เพราะการขุดลอกคลอง เก็บสวะ เสริมคันคู ประตูน้ำต่างๆ บางแห่งก็มีราษฎรลุกล้ำเข้าไปสร้างบ้านเรือนต่างๆ บางแห่งเป็นศูนย์การค้าใหญ่ เรื่องเหล่านี้จะมีวิธีจัดการอย่างไร ซึ่งจะต้องมีความกล้าหาญทางการเมืองในการที่จะปฏิบัติให้ได้
ฉะนั้น ในปีหน้าทุกอย่างจะต้องพร้อม และต้องมีจำนวนเพียงพอ มีขนาดใหญ่ เพียงพอทุกหน่วยงาน เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่จะทำเฉพาะป้องกันพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น เพราะน้ำท่วมมันท่วมในหลายลุ่มน้ำไม่ใช่เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ก็มีท่วมบ่อย แต่ที่หนักเพราะ ระบบแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ใจกลางของประเทศ เมืองต่างๆที่อยู่บริเวณทางของระบบแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเช่น นครสวรรค์ ก็จะได้รับผลกระทบทุกครั้ง
"การป้องกันภาคอุตสาหกรรม"
อีกอย่างที่ต้องดูแลกันอย่างมาก คือ นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างมหาศาล มีนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่ง ขณะนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นโดยไจก้า องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ รัฐบาลสวีเดน ได้ให้เสนอให้ความร่วมมือกับทางฝ่ายของเราอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมต่างๆคงต้องลงทุนเพิ่มเติม ในการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม โดยต้องได้มาตรฐานสากล คือมาตรฐานระดับโลกและจะต้องได้รับการรับรองจากไจก้า และวิศกรรมสถานแห่งประเทศไทย ซึ่งจะร่วมมือกันสร้างมาตรฐาน และนอกจากนิคมฯที่โดนน้ำท่วม 7 แห่งแล้ว นิคมที่เกือบจะโดนน้ำท่วม อย่างเช่น บางชัน หรือทางหนองจอก ลาดกระบัง ก็ควรที่จะลงทุน ปรับปรุงมาตรการป้องกันน้ำท่วม ให้ได้ตามมาตรฐานที่จะออกโดยไจก้าและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยเช่นกัน และหากต้องการสินเชื่อผ่อนปรนทางเจบิกและธนาคารออมสินก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ
การบริหารจัดการในระยะยาว
สำหรับระยะยาว อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องยอมลงทุนขนานใหญ่ เมื่อก่อนเราอาจจะทำไม่ได้เพราะประเทศยังยากจน ยังไม่พัฒนา แต่ขณะนี้เราอยู่ในระดับกึ่งอุตสาหกรรมแล้ว เรามีเงินออมมากกว่าเงินลงทุนในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา
ในระยะยาวต้องดูที่ลุ่มน้ำ ซึ่งโดยปกติแล้วประเทศไทยเป็นประเทศที่ขาดน้ำ ไม่ใช่ประเทศน้ำท่วม แต่เนื่องจากช่วงหลังมีฝนแล้งและน้ำท่วมสลับกันถี่มากยิ่งขึ้น ดังนั้นในระยะยาวจึงต้องดูให้เกิดความสมดุลเพื่อจุดมุ่งหมายสำคัญ ดังนี้
1.ให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพียงพอในการผลิตสินค้าทางการเกษตร
2.ต้องมีน้ำให้อุตสาหกรรมใช้เพียงพอ สำหรับการจะพัฒนาอุตสาหกรรมต่อไป ซึ่งบางโรงงานไม่สามารถย้ายไปอยู่ที่อื่นได้ เช่น อุตสาหกรรมฮาร์ดดิส เหตุที่ต้องอยู่ที่จ.อยุธยาเนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนั้นมีสารที่เหมาะกับอุตสาหกรรมประเภทนี้ จะเห็นว่า โรงงานบางแห่งไม่สามารถย้ายไปที่อื่นได้ เพาะอุตสาหกรรมแต่ละอย่างมีข้อจำกัดในเรื่องต่างๆมากมาย เพราะฉะนั้นการปรึกษาหารือ ระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนจึงมีความสำคัญ ทั้งนี้ เรื่องนิคมอุตสาหกรรมก็เช่นกัน นอกจากระบบป้องกันน้ำท่วมแล้ว ในเรื่องการส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรม จะไปขีดเส้นโดยรัฐบาลคิดเองหรือทางคณะกรรมการชุดต่างๆคิดเองนั้นไม่ได้ ต้องลงไปปรึกษาหารือกับภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มาลงทุนในไทย
“ประเทศเราโชคดีในเรื่องระยะยาว เพราะมีเอกสารสำคัญหลายอย่างที่ไม่ต้องเริ่มทำใหม่ เพียงแต่นำไปต่อยอด ปรับปรุง และเพิ่มเติม เอกสารสำคัญอันแรกคือการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อีกชิ้นหนึ่งคือเอกสารของไจก้า ซึ่งมีปรัชญาหรือแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำในระบบแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้เคียงกัน นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีเอกสารของหน่วยราชการของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นของกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ รวมถึงเอกสารของนักวิจัยต่างที่ๆที่ได้ทำไว้อีกมาก”
รูปแบบการจัดการ คือต้องดูตั้งแต่ข้างบนลงมาทั้งระบบแม่น้ำเจ้าพระยา อาจจะแบ่งออกเป็น 3 ตอน ข้างบนคือ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ซึ่งสามารถรวบรวมน้ำของทั้งหมดในภาคเหนือให้มาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้น้ำเหนือไหลลงมาอย่างช้าๆ ซึ่งเราได้มีเขื่อนที่แม่น้ำปิง แม่น้ำวังแล้ว คือเขื่อนภูมิพล เขื่อนกิ่วลม และแม่น้ำน่าน คือเขื่อนสิริกิต์ แต่ยังมีช่องโหว่อยู่เขื่อนเดียว นั่นคือเขื่อนแก่งเสือเต้น แม่น้ำยม จึงเป็นเหตุให้จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลกมีทั้งท่วมและแล้ง
นอกจากนี้ต้องมีโครงการปลูกป่า เพราะป่าจะชะลอน้ำหลากมาเร็ว ต้องพิจารณาดูว่าโครงการแก้มลิงต่างๆ ที่คล้ายกว๊านพะเยา จะมีเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร มีพื้นที่ที่จะสามารถซื้อหรือเวนคืนที่จะทำแก้มลิงได้อีกหรือไม่ เพราะใต้ลงมาจากปากน้ำโพ ในเวลาน้ำท่วม แม่น้ำต่างๆไม่สามารถรับปริมาณน้ำขนาดหนักได้ เราจะทำอย่างไร จะมีแม่น้ำเพิ่มหรือไม่ จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะให้เพียงพอกับทางน้ำมากน้อยเพียงใด
และใต้ลงมาข้างล่างเราจะทำอย่างไรถึงจะทำให้น้ำถูกส่งไปทางตะวันออก แม่น้ำบางปะกง คลองพระองค์เจ้ารพีพัฒน์ คลองพระองค์ เจ้าไชยานุชิต เพื่อให้น้ำลงทะเล จะมีวิธีการแบบใดที่เรียกว่าฟลัดเวย์
ทางด้านตะวันตกจะทำอย่างไรที่จะให้น้ำไปลงสู่แม่น้ำท่าจีน ไปจังหวัดสมุทรสาครเพื่อลงสู่ทะเล ร่วมถึงฟื้นฟูคลองมหาสวัสดิ์ คลองภาษีเจริญ และคลองต่างๆในภาคตะวันตก ฝั่งธนบุรีของเรา
“พื้นที่ตั้งแต่นครสวรรค์ ลงมาถึงอยุธยา ชัยนาท สิงห์บุรี และไปออกทะเลทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา จะต้องมีข้อมูลว่าตรงไหนเราจะต้องสู้กับน้ำ เช่นพื้นที่ที่เป็นชุมชนหนาแน่น เป็นเมือง โรงงานอุตสาหกรรม เป็นบ้านจัดสรร และพิจารณาดูว่าตรงไหนที่พอจะผ่อนผันให้เป็นทางเดินของน้ำได้บ้าง ซึ่งจะต้องให้ราษฎรอยู่กับน้ำได้ โดยอาจจะต้องมีการอบรม และประชาวิจารณ์ ซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลต้องตั้งประมาณชดเชยให้”
ในการลงทุนระยะยาว ต้องดูตั้งแต่ทางเหนือ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน ลงมาจนถึงข้างล่างและส่งน้ำลงทะเล คงต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทั้งนี้ ควรมีหน่วยงานที่จะดูแลเรื่องนี้ ซึ่งมอบหมายให้ ดร.วิษณุ เครืองาม ไปดูรูปแบบ เพราะการลงทุนในระยะยาวคงจะเป็นการลงทุนโดยรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ จะเชิญชวนให้เอกชนมาร่วมลงทุนด้วยคงลำบาก เพราะเป็นบริการสาธารณะที่ไม่สามารถเก็บค่าบริการได้
การกู้ยืม จะไม่สร้างหนี้จากต่างประเทศ
เรื่องของไฟแนนซ์ หากว่าสามารถจะหาเงินมาทำให้ได้ ก็คงไม่มีประโยชน์ ซึ่งประเทศไทยเรานั้น เงินออมสูงกว่าเงินลงทุนมาโดยตลอด เนื่องจากเงินบัญชีเดินสะพัดเรานั้นเกินดุลมาโดยตลอด
“ผมตั้งใจว่าไฟแนนซิ่งในโครงการที่ว่ามานี้ จะพยายามกู้ภายในประเทศให้ได้มากที่สุด เราไม่ควรสร้างหนี้ต่างประเทศให้มากนัก ทั้งนี้หากต้องไปกู้ต่างประเทศก็ไม่มีอันตราย เพราะทราบมาว่าหนี้ต่างประเทศของเรามีเพียง 2% จากจีดีพีเท่านั้นเอง เพราะเราเกินดุลมาโดยตลอด เราเป็นประเทศเจ้าหนี้ไม่ใช่ลูกหนี้”
เราไม่ได้อยู่ในฐานะสิ้นไร้ไม้ตอก ในเรื่องของเงินทุนที่จะลงในเรื่องนี้ ขอให้ลงอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกิดประโยชน์ และคุ้มค่า เพื่อที่จะก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ไทยไม่ได้อยู่ในสถานะที่ไม่มีเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่การลงทุนครั้งนี้ต้องลงทุนให้มีประสิทธิภาพเพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศ โดยการลงทุนจะเป็นหน้าที่ของรัฐเป็นหลักและจะเชิญเอกชนมาลงทุนก็คงลำบากเพราะเป็นบริการสาธารณะ ซึ่งการลงทุนเป็นเรื่องระยะยาวจึงต้องมีหน่วยงานขึ้นมาดูแลการลงทุน โดยขณะนี้ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบที่จะมาดูแลการลงทุน
ความจริงแล้วโครงสร้างพื้นฐานของเราได้ล่าช้ามา 4-5 ปีแล้ว หลายอย่าง ใช้เกิน เช่น ท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด แหลมฉบัง ระบบขนส่งทางบก ท่าอากาศยาน ต่างๆ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงทุนเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ เพราะเวลานี้เทคโนโลยีไปเร็วมาก ทั้งหมดนี้ ขณะนี้แผนแม่บทเสร็จแล้ว แต่ไปคงต้องไปลงในรายละเอียดต่อไปและพูดถึงการลงทุนต่อไป