“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” เปิดมาตรการ “ลด-ยืด-ขยาย” ช่วยเหลือเยียวยาหลังน้ำท่วม
มวลน้ำก้อนใหญ่ผ่านไปแล้ว การใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่กำลังตามมา
เวลานี้หลายพื้นที่กำลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและเยียวยา ทั้งบ้านพักอาศัยและผู้ประกอบกิจการทีต้องเร่งฟื้นฟูเพื่อให้กลับมาตั้งตัวใหม่ งานนี้สถาบันการเงินเป็นตัวช่วยสำคัญในการฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลด
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย มีโอกาสไดร่วมรับฟังมาตรการการช่วยเหลือของสถาบันการเงินจาก “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
มุมมองผลกระทบภาพรวมที่เกิดจากมหาอุทกภัย
มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากและค่อนข้างกว้างพอสมควร แรกเริ่มจะเป็นภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบก่อน ต่อมาคือภาคอุตสาหกรรม และเรื่อยมาจนกระทบถึงการขนส่ง และการค้า ซึ่งในภาพรวมแล้วภาคที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือภาคอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากน้ำท่วมบริเวณที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี
การลำดับการฟื้นฟูเยียวยาควรเป็นอย่างไร?
จากตัวเลขของธนาคารโลกออกมาว่าต้องใช้เงินในการเยียวยาฟื้นฟู 2 ปีเป็นจำนวนเงิน 7.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เฉพาะส่วนของการผลิตที่หายไป แต่รวมถึงทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายด้วย ตั้งแต่บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงโรงงานและ เครื่องจักร ตัวเลขจึงค่อนข้างสูง ซึ่งในความจริงการผลิตของประเทศหายไป 2.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 2.1% ในปี 2554
ทั้งนี้ คงไม่สามารถเป็นผู้ที่จะกำหนดได้ว่า จะเริ่มฟื้นฟูที่ตรงจุดไหน เนื่องจากกระทบต่อหลายส่วน โดยภาคเอกชนและเจ้าของบ้านคงต้องเริ่มจากการซ่อมบ้านของตนเพื่อให้มีที่อยู่อาศัยก่อน
ส่วนโรงงานการผลิตที่ยังมีออเดอร์ค้างอยู่ ก็ต้องเร่งฟื้นฟูเช่นกัน
“ผมคิดว่าทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ คาดว่าในช่วงระยะสั้นและปานกลาง คงต้องเป็นช่วงซ่อมแซม และฟื้นฟู ซึ่งสิ่งที่ต้องดูและคิดให้ดีหลังจากนั้น คือ ในระยะยาว ที่ต้องดูว่าจะป้องกันอย่างไร และต้องลำดับความสำคัญก่อน-หลัง อย่างไร”
มาตรการช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อยอย่างเป็นรูปธรรม
ในส่วนของผู้ค้ารายใหญ่ ไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีบริษัทแม่คอยช่วยเหลือ และอีกส่วนหนึ่งก็มีการทำประกันภัยไว้ค่อนข้างมาก รวมแล้วอาจจะเรียกชดเชยได้เป็นแสนล้าน แต่ทั้งนี้อาจต้องใช้เวลา
แต่สำหรับกิจการขนาดกลาง ขนาดย่อย ทั้งส่วนที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม และส่วนพื้นที่นอกน้ำท่วมที่ได้รับผลกระทบด้านการผลิต ก็จะแตกต่างกันไป แต่โดยหลักๆแล้ว ความช่วยเหลือก็จะเริ่มจาก 1.การช่วยเหลือด้วยตนเอง โดยใช้ทุนสำรองที่มีอยู่ 2.เงินสภาพคล่องจากสถาบันการเงิน และ 3. มาตรการของรัฐ ประกอบกันไปในการช่วยเหลือ
“ในส่วนของสถาบันการเงิน ได้ออกมาตรการชื่อสั้นๆว่า “ยืด-ลด-ขยาย” นั่นคือ “ยืด” เวลาชำระค่างวด หากปกติมีเงินสินเชื่ออยู่แล้ว และต้องมีการชำระงวด ไม่ว่าจะเป็นงวดที่เป็นต้นเงิน หรือดอกเบี้ยก็ให้ยืดออกไปก่อน ประมาณ 6-12 เดือน “ลด” อัตราดอกเบี้ยทั้งต้นทั้งดอก เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระในช่วงนี้ และสุดท้ายคือ
“ขยาย” สินเชื่อ หากหลังน้ำลดแล้วต้องการสินเชื่อเพิ่ม เพื่อซ่อมแซมหรือขยายกิจการ สามารถที่จะขยายสินเชื่อได้ นอกจากนี้ ในส่วนที่เป็นบ้านเรือน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ขอความร่วมมือกับทางสถาบันการเงินให้ออกเป็นแพ็คเกจ เช่น ไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในช่วงนี้”
ส่วนทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนึงถึงวินัยทางการเงิน ได้มีการผ่อนเกณฑ์เพื่อให้สถาบันการเงินได้ทำงานคล่องตัวมากขึ้น เพราะมาตรการเช่นนี้ สิ่งที่สถาบันการเงินกลัวมากที่สุดคือ การต้องจัดชั้นลูกหนี้ เพราะหากเข้านิยามว่าขาดการชำระเกินกี่วัน ต้องมีการจัดชั้นเป็นหนี้ ต้องมีการกันสำรอง ซึ่งจะส่งผลให้สถาบันการเงินมีกำไรลดลง หรือต้องเสียทุนไป ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงออกประกาศผ่อนผันให้ และอีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับตลาดสินเชื่อ ที่ในเวลานี้เราอยากให้ตลาดสินเชื่อทำงานไปได้ คนที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก บ้านพักอาศัยต่างๆ จะได้ผ่านพ้นช่วงที่ลำบากนี้ไปก่อน
“นอกจากนี้ ในส่วนของหนี้บัตรเครดิต ตามปกติแล้วจะมีกฎคือต้องชำระอย่างต่ำ 10% แต่ในช่วงนี้จนถึงประมาณกลางปีหน้าสามารถชำระต่ำกว่า 10% ได้ และพวกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นที่จะประกาศใช้ในต้นปีหน้าก็เลื่อนออกไปก่อน เช่น การต่อสินเชื่อให้กับผู้ซื้อบ้าน โดยไม่ให้ปล่อยเกินมูลค่าของตัวบ้าน 95% เพื่อว่าช่วงนี้ต้องการสินเชื่อเพิ่ม ตลอดจนสินเชื่อซ่อมแซมบ้าน ก็สามารถให้สถาบันการเงินเพิ่มได้ โดยให้น้ำหนักความเสี่ยงเท่าเดิม”
ทั้งนี้จากการความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินแล้ว ก็ยังมีในส่วนที่มาจากทางภาครัฐ กับมาตรการที่ออกมามากมาย เช่นปัญหาหลักประกันที่ไม่เพียงพอของธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือ SME ที่ต้องใช้ในการกู้ยืม ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ยิ่งทำให้หลักประกันของผู้ประกอบการลดน้อยลง จึงมีบรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมขึ้น โดยรัฐบาลได้จัดงบประมาณให้ส่วนหนึ่ง และให้ประชาชนสามารถเข้าไปทำประกันได้
การปรับตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ควรเป็นอย่างไร?
สำหรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้นก็ได้รับผลกระทบกันอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ ซึ่งความจริงในแง่ของระยะยาวควรต้องคิดถึงที่ตั้งและสภาพธรรมชาติเป็นหลัก เพราะที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับสภาพธรรมชาติน้อย เช่น ต้องศึกษาพื้นที่ในการตั้งหมู่บ้าน เพราะบางพื้นที่ก็เป็นที่ลุ่มต่ำ และควรจะต้องคำนึงถึงความสำคัญในการระบายน้ำ ระดับความสูงของพื้นที่ รวมถึงรูปแบบของบ้าน สิ่งเหล่านี้ต้องมีการคำนึงถึงให้มากขึ้น ในอนาคต
สำหรับระยะสั้น ในยามนี้คงต้องเร่งคลี่คลาย ซ่อมแซม และป้องกัน ซึ่งบางพื้นที่ก็มีการสร้างเขื่อนก็สามารถคลี่คลายได้บ้าง
ข้อแนะนำการรับมือกับน้ำท่วมในอนาคตของภาคอุตสาหกรรม
เราคิดว่ากระทบต่อภาคการผลิตค่อนข้างมาก แต่ในความจริงแล้วมีเพียงประมาณ 20% ของอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ นั่นหมายความว่าอีก 80% ที่เหลือไม่ได้ตั้งอยู่ในที่ที่ถูกน้ำท่วม ฉะนั้นการจะไปตั้งโรงงานในพื้นที่ใดต้องทำการศึกษาสภาพรอบๆให้ดีเสียก่อน
ทั้งนี้ ต้องผสมผสานระหว่างหลักการและสภาพความเป็นจริงที่มีอยู่ ซึ่งหลักการที่ถูกคือ ต้องคำนึงถึงสภาพทางภูมิศาสตร์และสภาพทางธรรมชาติ ฉะนั้น ในระยะยาว เรื่องโซนนิ่งจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ หากพื้นที่ไม่มีความเหมาะสม การจะไปตั้งโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องคิดว่าจะมีการป้องกันได้อย่างไร หรือควรเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมกว่านี้ เพราะบางพื้นที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีส่วนของระบบระบายน้ำ ซึ่งความจริงคนในสมัยอดีตมีการเตรียมการไว้อย่างดี แต่ในระยะหลังมีการละเลย และไปปิดกั้น