ข้อเสนอมอเตอร์เวย์น้ำ จาก "ชวลิต จันทรรัตน์" แห่งทีมกรุ๊ป
“ทีมกรุ๊ป” กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาของคนไทย ชื่อที่เรามักได้ยินคุ้นหูมากในช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ที่คอยวิเคราะห์ข้อมูลน้ำท่วม เผย แพร่ต่อสาธารณะชน พร้อมๆกับการแจ้งเตือนได้อย่างทันท่วงที
จึงถือได้ว่า ทีมกรุ๊ปเป็นอีกหนึ่งกูรูเรื่องน้ำในช่วงวิกฤตเช่นนี้
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย มีโอกาสร่วมฟังและพูดคุย กับ นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาในประเทศด้านแหล่งน้ำและพลังงาน และกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัททีม ในงานอภิปราย “ท่านถาม-เราตอบทุกประเด็นเกี่ยวกับน้ำท่วม” ณ หอประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์
@ สถานการณ์น้ำปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
ณ วันนี้เราผ่านจุดสำคัญไปแล้ว และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และหากมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีและไม่มีการรื้อคันบิ๊กแบ๊ก สถานการณ์ก็จะดีขึ้น และสำหรับการจัดการมวลน้ำทั้งหมด อาจใช้เวลาประมาณ 30 วัน ก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ
โดยพื้นที่ที่ฟันธงได้ว่า ไม่ท่วมแน่ อาทิ เขต ปทุมวัน ราชเทวี วัฒนา บางซื่อ ดุสิต เอกมัย พระโขนง คลองเตย รวมถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งการที่น้ำจะลดลงช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับที่ตั้งของบ้าน คือ ถ้าบ้านใครที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือตั้งอยู่ใกล้เครื่องสูบน้ำ ก็จะมีโอกาสแห้งเร็วกว่า
@ มีพื้นที่ใดบ้าง เข้าข่ายมีความเสี่ยงอยู่
พื้นที่ล่าสุดที่ทีมกรุ๊ปได้เตือนไปคือ พื้นที่ในเขต ประเวศบุรีรมย์ เนื่องจากว่ามีความจำเป็นต้องระบายส่วนหนึ่งลงคลองประเวศบุรีรมย์ ส่งผลให้ทางทิศใต้ของคลองประเวศต้องมีการรับน้ำเพิ่มเติมบ้าง และเมื่อ 4 วันที่แล้วทีมกรุ๊ปจึงต้องเตือนภัยคนในเขตประเวศ
นอกจากนี้ก็ยังมีในเขต อบต.ราชาเทวะ ที่อยู่ในพื้นที่ทางทิศใต้ของคลองประเวศ เนื่องจากน้ำไหลไปทางทิศตะวันตกไม่เพียงพอ จึงทำให้พื้นที่ใต้คลองประเวศลงมาจนถึงถนนบางนา-ตราด เฉพาะในส่วนของถนนศรีนครินทร์ไปจนกระทั่งถึงถนนกิ่งแก้วจะมีปริมาณน้ำที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งปริมาณน้ำจะไม่มากเท่าไหร่ และการท่วมจะไม่ลึกเท่าไหร่ และคงเป็นเวลาไม่นาน โดยในช่วงประมาณกลางเดือนธันวาคมจะสามารถระบายน้ำออกไปได้หมด
@ การระบายน้ำปัจจุบันเป็นอย่างไร
น้ำที่อยู่ตอนบนในส่วนตะวันออก ก็ยังอยู่เหนือคลองรังสิต และในส่วนของตะวันออกของพื้นที่บริเวณลำลูกกา ทางด้านหนองจอก และประชิดที่มีนบุรี โดยปริมาณเหล่านี้ส่วนหนึ่งจะมีการระบายออกคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต และคลองด่านลงสู่ทะเล และส่วนหนึ่งก็จะสูบไปทางจังหวัดฉะเชิงเทราส่วนด้านตะวันตกจะได้เปรียบอยู่บ้าง เนื่องจากมีแม่น้ำ 2 สายขนาบ คือแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในช่วงวันที่ 18-24 พฤศจิกายนนี้จะเป็นช่วงที่ได้เปรียบ เนื่องจากจะเป็นช่วงที่น้ำลดลงต่ำ ฉะนั้นจะทำการระบายน้ำได้ดี โดยบางส่วนจะระบายไปทางแม่น้ำท่าจีน และอีกส่วนจะไหลลงทางแม่น้ำเจ้าพระยา
ทั้งนี้ ก็จะส่งผลให้น้ำบริเวณคลองมหาสวัสดิ์คลี่คลายด้วย เนื่องจากเป็นโอกาสให้ทาง กทม. ได้เข้าไปปิดคันคลองของคลองมหาสวัสดิ์ที่รั่วอยู่ โดยตัวคลองที่เสียหายมีทั้งหมด 7 กิโลเมตร ขณะนี้ทำการซ่อมไปแล้ว 5 กิโลเมตร เหลืออีก 2 กิโล เชื่อว่าช่วงวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ทาง กทม. จะพยายามอย่างยิ่งที่จะซ่อมและปิดได้ และหาไม่ผิดพลาด จะทำให้น้ำบริเวณถนนพระบรมราชชนนีลดลงและสามารถกลับมาใช้งานได้ ประมาณวันที่ 22-23 พฤศจิกายน และอาจจะคลี่คลายได้เร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือจากมีชุมชนชาวบ้านแพ้ว ที่มาช่วยในการดันน้ำในถนนพุทธมณฑลสาย 4
@ ในต่างจังหวัดเหนือกรุงเทพมหานครเริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว?
จังหวัดที่อยู่สูงขึ้นไปอย่าง จังหวัดอ่างทอง นั้น น้ำมีการลดลงอย่างตัวเนื่อง โดยจะลดลงวันละ 7-8 เซนติเมตร ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วพื้นที่ในจังหวัดอ่างทองเป็นพื้นที่สูง ประมาณ 6 เมตร ฉะนั้นการไหลจะทำได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันที่ 18-24 พฤศจิกายน นี้ จะมีการไหลได้ดีมากยิ่งขึ้น และคิดว่าอ่างทองจะคลี่คลายต่อมาจากสิงห์บุรี
@ หลังจากนี้จะไม่กลับไปเลวร้ายอีกใช่หรือไม่
สถานการณ์จะไม่เลวร้ายไปกว่านี้แล้ว เนื่องจากมวลน้ำที่เหลืออยู่ประมาณ 1 หมื่นลูกบาศก์เมตร โดยส่วนหนึ่งจะค้างอยู่ในทุ่ง และอีกส่วนหนึ่งจะไหลลงสู่ทะเลในปริมาณที่เยอะมากในวันที่ 18-24 พฤศจิกายน และหลังจากนั้นอาจจะลงช้าอีก และจะไหลได้เร็วอีกครั้งในวันที่ 2 ธันวาคม เพราะฉะนั้นช่วงเดือนธันวาคมจะเป็นเดือนของการระบายน้ำในทุ่งออกอย่างรวดเร็ว ขอให้สบายใจขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขบางเงื่อนไข อย่างเช่น แกนกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันเองแนวปลอดภัยจะอยู่ที่คลองบางซื่อ และได้มีการทดสอบแนวปลอดภัยมาแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยความช่วยเหลือจากบิ๊กแบ๊กที่จะผันน้ำไปทางคลองหกวาสายล่างได้ถึงร้อยละ 60 และเหลือเข้ามาอีกประมาณร้อยละ 40 ซึ่งในคลองบางซื่อยังรับมือได้ทัน
ฉะนั้นส่วนนี้ก็ไม่น่าจะมีองค์ประกอบไหนทำให้มีความเสี่ยงไปมากกว่านี้ หรือถ้าผิดพลาด เช่น ตัวบิ๊กแบ๊กอาจจะขาดเองบ้าง ก็จะทำให้จากการคาดการณ์ว่าวันที่ 24 พฤศจิกายน ถนนจะกลับมาใช้ได้ก็คงต้องยืดเวลาไปถึง 1 สัปดาห์ สถานการณ์ในทุกพื้นที่จะดีขึ้น เมื่อไหร่น้ำจะลงอีกครั้งหลังจากวันที่ 2 ธันวาคม ซึ่งเมื่อน้ำลง อ่างทองจะค่อนข้างสบายใจ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม และถัดมาก็จะเป็นอยุธยา คาดว่าในช่วงปลายเดือนธันวาคมก็คงหมด รวมทั้งน้ำที่จะเข้ามาในกรุงเทพฯก็จะลงไปแม่น้ำเจ้าพระยาหมดแล้ว
@ อยากให้พูดถึงสถานการณ์ 'น้ำ' ที่เกิดขึ้นในปีนี้
ในปีนี้ต้องยอมรับว่า อันดับแรก ปริมาณน้ำนั้นมามาก และอันดับที่ 2 ในช่วงสิ้นเดือนกันยายน เพียง 10 วันเจอพายุใหญ่เข้าไป 2 ลูก ทำให้เกิดภาวะน้ำมาก และมากยิ่งขึ้นในเวลาเดียวกัน ทำให้ทุกพื้นที่ชุ่มช่ำไปหมด และเมื่อพายุนาแกลมาอีกลูกหนึ่งก็ทำให้ยิ่งมีน้ำมาก
โดยปกติแล้วน้ำฝนในบ้านเราจะกลายเป็นน้ำท่าประมาณร้อยละ 30 คือฝนตกลงมาหนึ่งร้อยจะเป็นน้ำท่าไหลบนถนน 30 และส่วนที่เหลืออีก 70 ก็จะระเหยไปบ้างหรือติดอยู่ตามต้นไม้ ชุ่มอยู่ในใบหญ้า ชุ่มอยู่ในดิน ลงไปในน้ำบาดาลอีกก็มี
แต่ปรากฏว่าเมื่อพายุนาดาลมา ทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเหนือเขื่อนใต้เขื่อน น้ำมันเต็มไปหมด เมื่อฝนตกลงมาอีกจึงมีปริมาณน้ำที่มาก ฉะนั้น การที่ฝนตกแล้วตกซ้ำนั้นเป็นตัวสำคัญ ทำให้ฝนทั้งหมดกลายเป็นน้ำท่า ทำให้กลายเป็นภาระที่เราต้องระบายลงทะเลสูงมาก
@ ห่วงกันว่า ปีหน้าจะเกิดสภาวะแบบนี้อีก
เราทราบกันดีว่าสภาพภูมิอากาศมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งเราพยายามสร้างความสัมพันธ์ว่า เกิดจากสาเหตุเหล่านั้นจริงหรือเปล่า ในเรื่องของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้ความรุนแรงของภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายความว่า เมื่อก่อนนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลงใน 10-15 ปี จะย้อนกลับมา แต่ในช่วงหลังทางอุตุนิยมวิทยาโลกและอุตุนิยมของไทย ก็ได้พยายามที่จะจับพฤติกรรมอากาศ ซึ่งพบว่า กระแสน้ำอุ่นออสเตรเลีย เปรู ไปเกี่ยวพันกับปรากฏการณ์เยลนินโญ่ หรือลานินย่า มีการเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างรวดเร็ว
อย่างเช่นว่า โดยปกติแล้วจะมีการตรวจจับพฤติกรรมกันทุก 6 เดือน หลังจากนั้นทางอุตุนิยมวิทยาจะมีการประกาศให้นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปได้ทราบว่าปีนี้จะเป็นปีน้ำน้อยหรือน้ำมาก ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะออกประกาศในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และอย่างในปีนี้ก็ได้มีการออกประกาศว่า ปีนี้ฝนจะตกมาก น้ำจะมามากตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนตุลาคม
แต่ปรากฏว่าเมื่อใกล้ถึงเดือนตุลาคม ภาวะกระแสน้ำอุ่นยังมีความแปรปรวนและมีแนวโน้มว่าจะเป็นลานินญ่าต่อไปถึงเดือนธันวาคม ซึ่งนั้นก็เป็นสภาวะที่ค่อนข้างมีความแปรเปลี่ยนสูง
ถ้าถามว่าปีหน้าจะเกิดภาวะแบบนี้อีกหรือไม่ ก็ต้องมีการติดตามภาวะอากาศไปจนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ ถ้ามีคำทำนายอากาศออกมาอย่างไร ก็จะเกิดความชัดเจนว่า ปีหน้าจะเป็นปีที่น้ำมากอีกหรือเปล่า
@ โครงการเพื่อบรรเทาอุทกภัย 7 ข้อ จะช่วยระบายน้ำได้มากน้อยแค่ไหน
โครงการเพื่อบรรเทาอุทกภัย 7 ข้อ เป็นโครงการที่ทางทีมกรุ๊ปได้ทำการศึกษามาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งได้แก่
1.ขุดลอกคูคลอง ปรับปรุงพนังกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ
2.พัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่แก้มลิง
3.ปรับปรุงคลองบางแก้ว-ลพบุรี
4.ปรับปรุงคลองระบายน้ำชัยนาท-ป่าสัก ให้เชื่อมกับ Motor Way น้ำ คลองระพีพัฒน์ คลองสิบสาม คลองสิบเจ็ด
5.ปรับปรุงขยายคลองมะขามเฒ่า อู่ทอง และก่อสร้างคลองเพิ่มเติม
6.ขุดคัดช่องลัดแม่น้ำท่าจีนและก่อสร้างประตูระบายน้ำควบคุม 4 แห่ง
7.สร้าง Motor Way น้ำ คู่ขนานกับถนนวงแหวนรอบที่ 3
ซึ่งหากรวมโครงการทั้ง 7 ประการจะสามารถระบายน้ำที่มากและมาเร็วอย่างปีนี้ได้เพียงพอ ปริมาณเป็นตัวเลขทั้งหมด โดยรวมที่นครสวรรค์ด้วยจะเป็น 4.7 พันล้านลูกบาศก์เมตร โดยงบประมาณอาจจะเป็นหลายแสนล้าน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเสนอรัฐบาลเป็นชิ้นๆ เช่น เราทำพื้นที่ลุ่มต่ำเสร็จและกรมชลฯ เห็นด้วยก็เสนอไป แต่ว่าอาจติดอยู่ที่การจัดงบประมาณของปีที่แล้วเป็นอย่างไร อย่างของการพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำก็ยังไม่เข้าในแผน ก็ไม่เป็นไร ก็ไว้ในปีถัดไป
นอกจากเรื่องของขุดคลองลัดแม่น้ำท่าจีน เนื่องจากการเห็นผลสำเร็จของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตัดคลองบางกระเจ้า ก็เกิดความสนใจ ว่าจะเอาตรงไหนดีที่มีคนน้อย และส่วนที่มะขามเฒ่าอู่ทอง และชัยนาท-ป่าสัก เป็นพื้นที่ที่ยังมีความกังวลเนื่องจากมีพี่น้องประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่คลองมาเป็นเวลานาน อาจต้องใช้เวลาในการเจรจา
และสุดท้ายในเรื่องวงแหวนรอบ 3 ซึ่งถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีวงแหวนรอบ 3 และถึงเวลาแล้วจริงๆที่ปีนี้เราเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ครั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นร่วมกันว่า ทางมอเตอร์เวย์ และทางระบายน้ำต้องไปด้วยกัน
ความจริงแล้วในปีนี้ควรต้องมีการเริ่มก่อสร้างมอเตอร์เวย์ฝั่งตะวันออกรอบ 3 แล้ว เพราะการจราจรจะเริ่มแน่น และต้องใช้เวลาในการสร้าง 5 ปี และในช่วงปีที่ 3-4 การจราจรจะวุ่นวาย เนื่องจากฝั่งตะวันออกถนนไม่พอใช้ ก็เป็นโอกาสดีที่ ปีนี้น้ำมาพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ให้ทุกคนที่จัดการเรื่องงบประมาณได้เห็นว่าถ้าทำ 7 อย่างนี้ ไม่ใช่ทำเสร็จปีหน้าต้องใช้เวลาอีก 7 ปีข้างหน้าถึงจะเสร็จ พวกเราก็คงต้องหันมามองด้านนี้ว่า ถึงเวลาแล้วแม้ว่าทั้งหมดจะกี่แสนล้านนี้ต้องเริ่มทำกันแล้ว
@ แล้วเชื่อมต่อจากแนวฟลัดเวย์เดิมหรือไม่
ฟลัดเวย์อยู่ในแนวนี้อยู่แล้ว
ฟลัดเวย์ถ้าจะให้เป็นไปตามธรรมชาติจะมีพื้นทีประมาณ 2 กิโลเมตร ลัดเลาะไปตามพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ จะเป็นแถบกว้างประมาณ 2 กิโลเมตร และบางทีอาจขยายเป็น 4 กิโลเมตร จนกระทั่งถึงทะเล อันนั้นก็เป็นฟลัดเวย์ตามธรรมชาติ
ส่วนของเราที่ปรับอยู่ตอนนี้คือ เป็นการปรับให้ถนนกับการไหลไปด้วยกัน เนื่องจากกว่าระดับน้ำที่จะทำให้ไหลได้จาก บางปะหัน จ.อยุธยา ไหลลงทะเลได้นั้นมีประมาณ 5 เมตร เพราะฉะนั้นเราต้องทะนุถนอมและหาแนวที่การไหลของน้ำให้เป็นไปได้ด้วยดี จึงอาจต้องทำการเลาะแนวทางที่อาจจะไม่ได้ตรงกับฟลัดเวย์เดิม แต่ทั้งนี้ก็มีความจำเป็นที่ต้องปรับให้มีการไหลแบบพอดี ซึ่งตามแนวฟลัดเวย์สมัยโบราณ บางทีมันมาปุ๊บแล้วก็ยุบลงไป แต่ของเราจะพยายามรักษาการไหลของน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลอย่างราบรื่น
ตอนนี้เนื่องจากเราใช้ที่ดินตามใจตัวเองมามากแล้ว เพราะฉะนั้นวิศวกรรมก็ต้องมองว่า 1.การไหลของน้ำเป็นอย่างไร ซึ่งต้องมีการคำนวณโดยละเอียด 2.ยึดมวลชน ต้องไปเหวี่ยงตรงไหน พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ไปโดนสนามกอล์ฟบางสนาม โรงงานบางโรงงาน และ 3.ถนนก็ต้องไปได้ด้วย ฉะนั้น ประการเหล่านี้ต้องไปด้วยกัน จึงไม่ใช่แนวเดียวกันกับฟลัดเวย์ในสมัยโบราณ
@ ขยายความรูปแบบ สร้างมอเตอร์เวย์น้ำ
การสร้างมอเตอร์เวย์น้ำ มีอยู่หลายวัตถุประสงค์ด้วยกัน เนื่องจากต้องมีการเวนคืนพื้นที่ในวงกว้าง ก็จะมีคนที่คัดค้านเยอะ แต่ภาวะอย่างนี้ เป็นภาวะที่พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เป็นอย่างดี เพราะว่าทุกคนเห็นแล้วว่าทุกข์ยากแค่ไหน และเห็นว่าการสูญเสียเป็นแสนแสนล้านนั้นมีจริง เพราะฉะนั้นทุกคนมารวมตัวกันดีไหม
สำหรับมอเตอร์เวย์น้ำนั้น จะยาว 100 กิโลเมตร ตั้งแต่ บางปะหัน จ.อยุธยา ผ่านอำเภอวังน้อย อำเภอหนองเสือ เขตธัญบุรี เขตลำลูกกา มาจนถึง เขตหนองจอก เขตบางวัว เขตบางบ่อ และสุดท้ายที่คลองด่าน เพื่อลงสู่ทะเล เป็นคลองขนาดกว้าง 320 เมตร ลึก 8 เมตร ซึ่งที่ต้องลึก 8 เมตร เพราะจะใช้ในการเดินเรือด้วย
เราทำการศึกษาเรื่องการทำมอเตอร์เวย์รอบที่ 3 เราเก็บเงินค่าผ่านทางได้ 8.5 พันล้านบาทต่อปี จึงคิดว่า เรือสินค้า เรือขนส่งของเรามีขนาดเท่าไหร่ แล้วจึงต้องขุดลึกไปให้ลึก 8 เมตร หลังจากนั้นทำบานปิดหัวและท้าย เพราะฉะนั้นก็ต้องทำประตูเดินเรือ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งยิ่งค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นก็จะทำให้มูลค่าในการใช้งานสูงขึ้นไปด้วย
โดยสรุปแล้วต้องศึกษารวมกันทั้ง การไหลของน้ำ การขนส่งทางบกและการขนส่งทางเรือ และการใช้ที่ดินของชาวบ้าน ต้องมีการทำระบบรวมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในระบบของตัวถนนวงแหวนรอบ 3 นั้นทำไปแล้ว แต่ก็ต้องมาปรับให้เข้ากับการไหลของน้ำ และปรับให้เข้ากับระบบที่เราจะใช้กับการเดินเรือ รวมถึงการพัฒนาชุมชนด้วย ว่าบริเวณไหนจะทำเป็นนิคมเกษตร หรือการปลูกป่า เป็นต้น อยากให้ทุกอย่างไปด้วยกัน
ถ้าจะพูดถึงการลงทุนหลายแสนล้าน คงถึงเวลาแล้วที่เราต้องทุ่มเทอะไรบางอย่างเพื่อให้เห็นผลใน 7 ปีข้างหน้าไปด้วยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้นำเสนอรัฐบาลเป็นระยะๆ แต่เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีวิกฤตอะไร ทำให้คิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีคลองที่สามารถระบายน้ำได้วันละ 1 พันลูกบาศก์เมตร โดยหวังว่าในระยะนี้ ถ้าจะมีการนำเสนอกันอีกครั้งหนึ่ง ก็คิดว่าทางส่วนราชการและรัฐบาลที่ดูแลในส่วนงบประมาณคงจะได้ดูและเข้าใจ และเห็นกันว่าหลายแสนล้านก็จะคุ้มค่า