ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา "โลกไม่เหมือนเดิม วงรอบธรรมชาติกำลังเปลี่ยน "
วิกฤตปัญหาน้ำท่วมที่กินพื้นที่ไปกว่าค่อนประเทศ ส่งผลให้มีประชาชนต้องสังเวยชีวิตไปแล้วเกือบ300 ชีวิต สร้างความเสียหายในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ การลงทุน ฯลฯ จนเหนือคณานับนั้น หากจะโทษว่า ภัยพิบัติระลอกนี้เป็นเพียงแค่เหตุการณ์ธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สารถคาดเดาได้ แต่จะเป็นด้วยน้ำมือมนุษย์ที่ไถ่ถอนเอาจากธรรมชาติมามากเกินไปหรือไม่...หรือจะถึงเวลาแล้ว ที่ธรรมชาติจะกลับมาเอาคืน
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความกระจ่างกับ ทีมงานปฏิรูป ถึงที่มาของวิกฤตอุทกภัยว่า เหตุของมหันตภัยครั้งนี้เริ่มจากปัจจัยภายนอก คือตัวน้ำฝน ที่มีปริมาณมากกว่าปกติ ซึ่งถ้าเทียบจากค่าเฉลี่ยเมื่อประมาณ 15-20 ปีที่ผ่านมาแล้ว ทั้งในแง่ปริมาณและระยะเวลาที่มา จะเห็นว่าน้ำได้ไหลมาเร็วกว่ากำหนด และกระหน่ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้น่าสังเกตว่า ปริมาณฝนตกลงมาไม่ทิ้งช่วงเลย
แต่หากสังเกตในระยะเวลา 15-20 ปีที่ผ่านมาอีกครั้ง ของประเทศไทย รวมถึงทุกประเทศทั่วโลก กำลังตกอยู่ในช่วงที่ภัยแล้งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ฉะนั้นการพัฒนาของแต่ละประเทศจะมีความคุ้นเคยแบบภัยแล้งมากกว่า เช่น พื้นที่ จ.อยุธยา ในโซนของนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ โดยไม่มีใครคิดว่า จะเกิดเหตุน้ำท่วมร้ายแรงขึ้นมา และเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา จึงทำให้เกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก
ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญคือ ขณะนี้โลกกำลังเปลี่ยน ซึ่งไม่ใช่เพราะโลกร้อน แต่เป็นวงรอบตามธรรมชาติที่เปลี่ยนไป เพราะในอดีตฝนตกลักษณะนี้ เคยมีตกมาบ้าง เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว แต่พื้นที่และชีวิตคนไม่ได้เป็นอย่างนี้ ผนวกเข้ากับการป้องกันในขณะนี้ แบบต่างคนต่างทำนั้น ยิ่งทำให้เกิดปัญหามากขึ้น เพราะทุกคนต้องการช่วยเหลือและรักษาของตัวเองไว้ รวมถึงการขาดความเชื่อมั่นในภาพรวมขององค์กร จนทำให้ทุกอย่างวุ่นวายไปหมด
- การเผยแพร่ข้อมูลของภาครัฐสู่ประชาชน ครบถ้วนและรอบด้านแล้วหรือไม่
ส่วนตัวคิดว่า ขณะนี้ยังขาดความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร เนื่องจากข้อมูลจากทุกด้าน รวมถึงสภาพสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป อีกทั้งประชาชนได้รับฟังข่าวสารมากขึ้นและรวดเร็ว จึงทำให้ความคิดของคนค่อนข้างเปลี่ยน และทุกคนได้สร้างความคาดหวังสูง เพราะโลกเราอยู่ในยุคไฮเทคโนโลยี อย่างมีภาพถ่ายจากดาวเทียม แต่อย่าลืมว่าเรามีเทคโนโลยีในบางเรื่องเท่านั้น และการนำข้อมูล ความรู้ที่ได้จากเทคโนโลยี หรือศักยภาพต่างๆ รวมถึงโครงสร้างการรองรับก็ไม่มี อย่างยิ่งในระดับท้องถิ่นด้วยแล้ว อย่างองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้ใหญ่บ้าน จะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้หรือไม่ โดยปัญหาเหล่านี้ยิ่งใหญ่มาก เพราะความไม่พร้อม และถ้าจำกันได้สถานการณ์อุทกภัยครั้งที่แล้ว เมื่อเดือน พ.ย.53 ที่ผ่านมา นั่นถือว่าเป็นการเตือน แต่เราไม่ได้ตระหนักให้เท่าทัน เพราะคิดว่าคงเป็นเพียงครั้งเดียวในรอบหลายสิบปี จึงไม่คิดที่จะหามาตรการรองรับ
- จากกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ออกมายอมรับว่า ทางศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ประเมินสถานการณ์น้ำต่ำ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
เราประเมินต่ำไปในหลายเรื่องจริง (สีหน้าคิดหนักเล็กน้อย) เพราะว่า อย่างแรกคือไม่คิดว่าจะเกิดความซวยซ้ำสอง เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ที่น้ำจะมากและเกิดภาวะน้ำท่วม 2 ปีติดกัน
- เหตุผลอะไรที่ทำให้การประเมินผิดพลาด
คนไทยสังคมไทยอยู่ในที่ที่ถือว่าโชคดี เพราะได้มีเหตุการณ์ให้เราเรียนรู้ เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเชื่อฝังอยู่ในใจว่าไม่เป็นไร เหตุการณ์ต่างๆ นั้นนานๆ จะมาสักครั้ง ฉะนั้นเราเป็นประเภทที่ตั้งอยู่บนความประมาทมาก (เน้นเสียง) จึงเกิดเป็นเหตุผลสำคัญ อีกทั้งหลังเดือน พ.ย.53 ที่เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก ถ้าใครมาบอกว่าต้องรีบสร้างเขื่อน สร้างคันกั้นน้ำ สร้างสิ่งต่างๆ เชื่อได้เลยว่าไม่มีใครมาสร้าง เพราะต้องใช้เงินลงทุน ซึ่งจะไม่ยอมเสียกัน แต่ไม่ได้คิดว่าหากเกิดสถานการณ์ขึ้นจะเสียมากกว่า
- การแก้ไขปัญหาบูรณาการไม่เป็นระบบ หรือทางกรมชลประทาน เปิดเผยข้อมูลไม่หมด ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
(คิดเล็กน้อย) อาจจะมีส่วน แต่ทฤษฎีการแก้ไขปัญหามีมากมาหลายทาง และผู้รู้มีมาก ดังนั้นผู้ที่จะประเมินสถานการณ์ จึงประเมินไม่ถูกว่า จะเอาแนวไหนดี เพราะมีเหตุมีผลกันหมด แม้กระทั่งนายกฯ เองยังบ่นไม่รู้ว่าจะเอายังไงดี เพราะมีคนเสนอมามากเหลือเกิน จากนักวิชาการที่เสนอมาไม่เว้นหน้าแต่ละวัน จึงเกิดความไม่เชื่อมั่น เพราะแต่ละคนที่เสนอไม่เคยสรุปออกมาได้ว่าจะทำอย่างไรได้ แต่อย่างน้อยกรมชลประทานน่าเชื่อถืออยู่ระดับหนึ่ง เพราะว่าเขาดูแลเรื่องน้ำมาโดยตรงและเคยผ่านสถานการณ์ต่างๆ มาก่อน
- ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะมีกระทรวงน้ำแล้วหรือยัง
ต้องถามว่าถ้ามีกระทรวงน้ำจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน แต่ผมก็ยอมรับว่าถ้ามีกระทรวงน้ำเกิดขึ้นจะสามารถจัดการระบบได้ดีขึ้น แต่อาจจะต้องใช้เวลา ไม่ใช่ตั้งวันนี้แล้วจะทำได้ เพราะดูวันนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรมป่าไม้ กรมควบคุมมลพิษ ฯลฯ ทุกวันนี้ยังคุยกันไม่ได้เลย ซึ่งถ้าถามผม ลำพังการตั้งกระทรวงน้ำไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่เป็นเป็นจุดเริ่ม ซึ่งเราต้องแก้ทัศนคติการทำงาน แก้กฎหมาย เพราะถ้าแต่ละกระทรวง กรม ถือกฎหมายแต่ละฉบับอย่างที่เป็นอยู่ก็จะไม่มีความหมาย แต่ถ้ากฎหมายเป็นฉบับเดียวกัน ต่อให้อยู่หลายกระทรวง แล้วแบ่งบทบาทกันให้ชัด มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ก็จะสามารถอยู่แยกกระทรวงกันได้
- แนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมเป็นอย่างไร จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
เรื่องการแก้ไขปัญหาระยะยาว ไม่อยากพูดในขณะนี้ เพราะยังยุ่งอีกหลายเรื่อง โดยการคิดระยะยาวนั้น ผมอยากให้รอสถานการณ์น้ำท่วมตอนนี้คลี่คลายหรือจบลงเสียก่อน เพราะถ้าคิดขณะนี้เป็นการคิดกลางคัน วันนี้ยังไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อย ปัญหาเฉพาะหน้ายังแก้ไม่หมด เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาระยะยาว จะสร้างความสับสนให้หลายคนได้ ผมคิดว่าควรรอเวลาสัก 1 เดือน ให้เลยช่วงเวลานี้ออกๆ ไปก่อน นอกจากนี้สิ่งที่จะตามมา คือ สภาพจิตใจคนที่ย่ำแย่ รวมถึงปัญหากระสอบทรายที่จะแช่น้ำอยู่ 2 เดือน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องเร่งเคลียร์น้ำเร็วที่สุด
- ในอนาคตจะเกิดวิกฤตอย่างนี้อีกหรือไม่ และระยะเวลาอีกนานเท่าไหร่
เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดบ่อยขึ้น จะไม่ใช่ 30 ปี 50 ปีมีครั้ง แต่ครั้งต่อไปจะสั้นกว่านั้นมาก อาจจะ 5 ปีหรือ 6ปีครั้งก็เป็นไปได้ ซึ่งสิ่งที่ต้องคิดต่อจากนี้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป วางแผนป้องกัน เตือนภัย และแก้ไขกันอย่างไรให้เป็นระบบ
- ต่อจากนี้รัฐบาลจะรับภาระหนักที่ต้องคิดในการไขปัญหาระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลวร้ายซ้ำแล้วซ้ำอีก
ผมว่าไม่ใช่ภาระหนักของรัฐบาล แต่การแก้ปัญหาไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลเพียงผู้เดียวอย่างแน่นนอน แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเข้ามาแก้ปัญหา โดยที่ทุกคนต้องปรับทัศนคติใหม่ โดยต้องมองว่าน้ำฝน หรือแม้แต่ภาวะน้ำท่วม เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้ ฉะนั้นควรจะทำอย่างไร ให้น้ำท่วมที่ไหนอยู่ภายในพื้นที่ที่สามารถท่วมได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ เพราะน้ำนั้นแท้จริงแล้ว เป็นของมีคุณค่า ซึ่งถ้าเรารู้ว่ามันจะมาเมื่อไหร่ ไปเมื่อไหร่ เราสามารถหาประโยชน์จากมันได้ ไม่ใช่เห็นน้ำเป็นของน่ารังเกลียดสำหรับทุกคน จนกลายเป็นของไม่มีค่า และเราต้องหาเงินจัดการไล่น้ำออกไป แทนที่จะเก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล ฉะนั้นต้องเปลี่ยนความรู้สึกคนให้ได้ ไม่ใช่ให้น้ำกลายเป็นปัญหา
- เทียบความเสียหายระหว่างไทยกับประเทศในแถบประเทศอาเซียน แตกต่างกันอย่างไร
เรื่องของอิทธิพลของพายุแผ่กว้างและจะเหนี่ยวนำทำให้เกิดร่องกดอากาศต่ำ ซึ่งจะมีความยาว อาจจะอยู่ที่ประมาณ3-4พันกิโลเมตร ซึ่งจะไม่มีลม แต่ฝนจะตกหนัก และขณะนี้ทางประเทศ เวียดนาม กัมพูชา ลาว ได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งจากฟังรายงานสถานการณ์น่าจะหนักกว่าเราถ้าเทียบในด้านขนาดของพื้นที่ แต่ถ้าเทียบในพื้นที่ที่เราได้รับผลกระทบที่ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย แต่ในพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนอยู่หนาแน่นมีมากถึง 20-30ล้านคน นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งด้านความเสียหาย ด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยจะไม่สามารถเทียบได้กับ ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เพราะความสูญเสียไม่เกี่ยวกับขนาดของพายุ
- คนไทยต้องเตรียมตัวรับมือและปรับวิธีการดำรงชีวิตอย่างไร
สถานการณ์พายุวันนี้ เราไล่ลงมาตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่าง เช่น จ.สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ผมว่าสำหรับพื้นที่เมือง และพื้นที่ที่อยู่อาศัย จะใช้เวลาประมาณไม่เกิน1อาทิตย์จะแห้ง แต่ในส่วนของพื้นที่นาจะอยู่อีกนานสักระยะหนึ่ง และสำหรับพายุที่กำลังจะเข้ามาในช่วงปลายเดือน หรือต้นเดือนหน้าจะไม่ส่งผลกระทบทางภาคเหนือแล้ว โดยเฉพาะ จ. เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง นอนใจได้
และ สำหรับ ภาคกลางตอนบน เช่น จ.อ่างทอง นครสวรรค์ ชัยนาท น่าจะสัก 2-3อาทิตย์จะดีขึ้น ถ้าประเมินจากการระบายของน้ำ แต่ขณะเดียวกัน จ.อยุธยา น่าหนักใจ เพราะต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือน ทั้งในพื้นที่เมือง เศรษฐกิจ เนื่องจากไปตั้งอยู่ในพื้นที่ราบ และในอนาคตอาจจะต้องวางแผน บริหารจัดการในการรับมือ เพราะแนวโน้มของภูมิอากาศในช่วง 20-30 ปี เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นมาถี่ขึ้น ซึ่งจะต้องลงทุนเยอะ แต่ก็ต้องทำและเชื่อว่า ภาคอุตสาหกรรมจะรับมือในการลงทุนไหว
- พายุลูกต่อไปที่ระบุว่าจะไปทางใต้ สถานการณ์จะหนักมากน้อยแค่ไหน และต้องรับมืออย่างไร
สำหรับทางภาคใต้ ถ้าน้ำฝนปริมาณขนาดนี้ 100 มิลลิเมตรต่อวัน ภาคใต้สามารถรับมือได้เพราะมีความคุ้นเคย ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่เท่าไร แต่ภาคใต้จะกลัวพายุที่หนักกว่านี้ มากกว่า ซึ่งอาจจะต้องรับมือในช่วงปลายเดือนนี้ ในจังหวัดภาคใต้ตอนกลาง ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ด้านล่าง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และตรังบางส่วน ทั้งนี้สิ่งที่ภาคใต้จะเป็นปัญหาคือเรื่องดินถล่ม ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นการเตรียมการแก้ไขเป็นรูปธรรม เพราะถ้าพายุมาอีกก็ต้องถล่มอีก
- ในที่ประชุมได้หารือในการวางแผนเตรียมรับมือสำหรับพายุที่กำลังจากเข้าสู่ภาคใต้แล้วหรือยัง
ตอนนี้การเตรียมการระยะยาวยังไม่สามารถทำได้ แต่ผมเองก็อยากจะคิด และเชื่อว่าหลายฝ่ายก็อยากจะคิดเหมือนกัน แต่สถานการณ์ขณะนี้หลายคนยุ่ง และวุ่นวายกันมากเพราะงานแบบนี้ไม่ใช่งานปกติของเรา และบุคลากรที่อยู่ก็ไม่ได้คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานในกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่ทำงานจริง แต่งานที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยพัฒนามากกว่าการปฏิบัติ ดังนั้นลักษณะที่ถนัดคือเรื่อยๆช้าๆ เอาความถูกต้องเป็นหลัก ไม่ได้เน้นความเร็ว อีกทั้งทุกวันนี้มีแต่ผู้รู้แต่ๆไม่มีผู้ที่ปฏิบัติได้