ชาญชัย ลิมปิยากร “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา โลกไม่ได้อยู่สุขสบายอีกแล้ว“
"โลกเราไม่ใช่ยุคโรแมนติกหวานชื่น
แต่เป็นโลกที่คนโหดเหี้ยม แบบยิ้มแย้มแจ่มใส
ความมั่นคงทางด้านอาหาร-พลังงานเราต้องเจอไม่เกิน 10 ปี"
ผศ.ชาญชัย ลิมปิยากร ผู้อำนวยการอาศรมพลังงาน ปาฐกถา เรื่อง “พลังงานชุมชน พลังแห่งการพึ่งตนเอง” ในมหกรรมพลังงานอีสานใต้ พลังงานชุมชน พลังแห่งการพึ่งตนเอง ระหว่างวันที่ 8-9 ตุลาคมที่ผ่านมา ศูนย์ฝึกอบรมมูลนิธิพัฒนาอีสาน จ.สุรินทร์
ผู้อำนวยการอาศรมพลังงาน ฉายภาพให้เห็น ปี ค.ศ. 2011 เรากำลังเข้าสู่คริสต์ศักราชใหม่ หมายความว่า อีก 10 ปีต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมโลกและบ้านเราบ้าง โดยเฉพาะการวางแผนพลังงานส่วนใหญ่จะวางล่วงหน้าประมาณ 30 ปี ซึ่งหลายๆ หน่วยงานในบ้านเรา ก็เริ่มมองไปถึงปี ค.ศ. 2050
“การมองปัญหาขณะนี้ต้องมองไกลพอสมควร แต่สำหรับบ้านเรา 10 ปีนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มจากสถานการณ์ทั่วโลกเราจะเห็นได้ว่า ประเทศแถบ ทวีปแอฟริกาเหนือ ทยอยกันวุ่นวาย ทั้ง ลิเบีย ตูนิเซีย อียิปต์ ซีเลีย ซึ่งหลายๆ ประเทศมีทรัพยากรเหลือเฟือ มีพลังงานที่มั่งคั่งมาก โดยเราจะเห็นได้ว่า หลายประเทศกำลังวุ่นวายและลุกลามขยายตัว เมื่อพลังงานเริ่มมีน้อยลง ปริมาณของปิโตเลียมในบ่อน้ำมันลดจำนวนลง ขยายการผลิตไม่ได้ ทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นถาวร
ฉะนั้น ประเทศพวกนี้เริ่มรู้สึกไม่มีเสถียรภาพ ซาอุดิอาระเบียก็หันมาจับเรื่อง “อาหาร” คิดถึงความมั่นคงเรื่องอาหารแล้ว
ในภาวะที่โลกกำลังขาดแคลนพลังงาน ราคาน้ำมันแพงขึ้น ฉุดให้เศรษฐกิจหลายแห่งเริ่มย่ำแย่ลง เราจะเห็น 10 ปีจากนี้ไปมีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในประเทศที่เคยมีพลังงาน เคยร่ำรวยจากน้ำมันมาก คำถามคือ มันเกิดเพราะอะไร
ทำไมสหรัฐฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของทุนนิยม จึงมีปัญหา
การเปลี่ยนแปลงของประเทศศูนย์การทุนนิยม ในสหรัฐฯ ปั่นป่วนมาก เพราะภาวะคนว่างงาน ตั้งแต่ปี 2007 หลังจากที่ธนาคารเลห์แมนฯ ล้ม 4 ปีแล้ว หลังจากนั้นภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ไม่ขยับตัว ทั้งหมดเชื่อมโยงกับเรื่องพลังงานทั้งสิ้น ด้วยน้ำมันเป็นต้นทุนของทุกเรื่องทั้งตรงและแฝงอยู่ในหลายกิจกรรม
เราจะเห็นคนอเมริกาไปประท้วงที่ถนนวอล์ลสตรีท ศูนย์กลางตลาดทุนและตลาดเงิน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า อิทธิพลของอเมริกาขึ้นอยู่กับบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น โดยผู้บริหารมีรายได้ประจำปีสูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ของคนจบใหม่ในอเมริกา ขณะนี้การประท้วงขยายไปยังรัฐแคลิฟอร์เนีย และหลายเมืองใหญ่ๆ แล้ว หลายคนเชื่อว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเกิดการปฏิวัติในอเมริกา จริงหรือไม่ก็ต้องติดตาม
ทั้งนี้ ผมอยากให้เข้าใจว่า โลกเราไม่ได้อยู่อย่างสุขสบาย สนุกสนานอีกแล้ว ภาษาจีน บอกว่า งานเลี้ยงที่สนุกสนานเลิกแล้ว เราจะเหลือแต่เศษขยะ คนเมาเหล้า อาหารค้างทิ้งเต็ม โลกก็เหมือนกัน คำถามว่า เรากำลังอยู่ท่ามกลางปัญหาอะไรบ้าง
ปัญหาใหญ่ ๆ เกิดขึ้นมายังไม่รู้จะแก้ไขกันอย่างไร อยู่ภาวะที่ซวนเซ ทั้งอาหรับ สหรัฐฯ ยุโรป ขณะที่สเปน โปรตุเกส อิตาลี ก็กำลังตามมา
อีกคำถามคือเศรษฐกิจระบบทุนนิยมกำลังล่มใช่หรือไม่ ถ้าล่มจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งในอดีตระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ก่อนจะมีสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เกิดภาวการณ์ว่างงานและกระจายไปในยุโรป จนต้องตัดสินด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประวัติศาสตร์เหล่านี้เราต้องเรียน ปัญหาใหญ่คือว่า ภาวะผู้นำของแต่ละประเทศจะสามารถกอบกู้สถานการณ์ที่หายนะแบบนี้ได้หรือไม่
ปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบมีผลมาก ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติเข้าสู่สถานะที่หายากขึ้น น้ำมัน ถ่านหิน ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ ส่วนภาวะโลกร้อน เราก็ยังมืดมนในการหาทางออก ตอนนี้ปัญหาโยงใยกันไปหมด ตามมาด้วยความขัดแย้งทางสังคม ภัยธรรมชาติ ฤดูกาลแปรปรวน กลายเป็นวิกฤต ปัญหาสามัคคีประชุมกัน
ในเรื่องพลังงานแพง เรากำลังจะเจอการแย่งกันระหว่างพืชอาหารกับพืชพลังงาน เช่น ซีพีกำลังทำพลังงานน้ำมันปาล์มชุมชน เพื่อเสนอเป็นทางอออกให้ประเทศ จะเห็นว่า ในอนาคตเกษตรกรต้องเจอกับอาหารแพง เพราะพลังของเศรษฐกิจทางด้านที่ต้องใช้น้ำมันสูงมีพลังสูงกว่าชาวบ้าน ขณะเดียวกันเกษตรรายย่อยก็กำลังสูญเสียที่ดินในอัตราที่สูงขึ้น ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อยก็เป็นระบบเกษตรแบบพันธะสัญญา
ซึ่งหากมอง ณ วันนี้ ทำเกษตรกับการขายที่ดิน ขายที่ดินราคาดีกว่า เป็นต้น ดังนั้น ระยะ 5-10 ปี บ้านเราก็จะมีแต่เกษตรกรรายใหญ่ ทศวรรษนี้เกษตรรายย่อยต้องหมดที่ดิน รายใหญ่เข้ามา เห็นได้จากที่ราบลุ่มเจ้าพระยา นายทุนจากประเทศซาอุฯ เข้ามากว้านซื้อที่ดินแปลงใหญ่ โดยผ่านนายหน้าที่เป็นคนไทย นี่คือสิ่งที่เราต้องเข้าใจ ชะตากรรมได้ผูกโยงไปหมดทั้งโลก เป็นเรื่องเดียวกัน
สิ่งที่สำคัญ ที่ต้องคำนึงถึง คือเรื่องพันธุกรรมพืชและอาหาร “ผมยังดีใจที่มีเกษตรกรตื่นตัวเรื่องนี้ แม้จะมีไม่กี่ราย”
ที่กล่าวมา จะเห็นภาพ โลกเราไม่ใช่ยุคโรแมนติกหวานชื่น แต่เป็นโลกที่คนโหดเหี้ยม แบบยิ้มแย้มแจ่มใส ฉะนั้นความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานจึงเป็นเรื่องที่เราต้องเจอไม่เกิน 10 ปี การแย่งชิงกันเรื่องทรัพยากรเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจีน ถือเป็นประเทศที่ก้าวร้าวมากที่พยายามยึดครองทรัพยากร แร่เหล็ก น้ำมัน ฯลฯ
“คนที่ฉลาดที่สุดโหดที่สุดในยุคนี้ เราต้องเอาประวัติศาสตร์มานั่งดูกัน จะเห็นมนุษย์ชาติไม่ได้อยู่สบาย ๆ ไม่ฆ่ากัน”
ทางออกของปัญหา ผมมองว่า ต้องปรับโครงสร้างให้เกิดการกระจายศูนย์ของระบบต่างๆ ระบบการรวมศูนย์มาจัดการกับเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ขณะที่สิ่งแวดล้อมมีต้นทุนที่แพงมากขึ้น จึงมองว่า มีทางเดียวต้องกระจายลงชุมชน หมู่บ้าน ของเสียจะมีการบำบัดของมันเองในหน่วยย่อยๆ และมีการบริหารทางเศรษฐกิจแบบพอเพียง
ส่วนชาวบ้านต้องเตรียมการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง หลังน้ำท่วม และรับมือกับความไม่สงบทางการเมือง ต้องพึ่งตนเองให้ได้อย่างแท้จริง สร้างความมั่นคงด้านปัจจัย 4 และพลังงาน รวมกลุ่มให้เข้มแข็ง แก้ปัญหายาเสพติด แก้ปัญหาเยาวชนในอนาคต รวมทั้งสร้างขีดความสามารถในด้านการบริหารจัดการเชิงระบบ เช่น การวางแผนพลังงาน
“คุณต้องจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ให้ได้ก่อน ต้องทำเป็นชุด ทำเรื่องพลังงาน แล้วเจอน้ำท่วม น้ำแล้งก็ตายแล้ว ต้องคิดให้ดี ที่สำคัญต้องรักษาที่ดินทำกินสำคัญสุด”
ขณะเดียวกันต้องสร้างความรู้การจัดการเชิงระบบในหมู่ผู้นำ ต้องทำให้หน่วยตำบลอยู่ได้ สร้างความรู้เรื่องโลกร้อน และการรับมือกับภัยธรรมชาติในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เก็บเมล็ดพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์เอาไว้ รู้จักออมสิ่งเหล่านี้
เรื่องการปรับเปลี่ยนเจตคติ สำคัญสุด สร้างความตระหนักรู้ ปรับเปลี่ยนให้คนพึ่งตนเอง รับผิดชอบต่อสังคม เสียสละ เป็นงานที่ต้องทำ แต่งานเหล่านี้เป็นงานที่ลึกมาก จึงต้องมีการฝึกสติ
“ ถ้าทำงานแต่สังคม ทำแต่วัตถุนั้น ไม่สนใจซอฟแวร์ ก็เสร็จ ฉะนั้นเรื่องพลังงานที่ชาวบ้านทำอยู่ หัวใจอยู่ที่การบริหารจัดการ เราจะจัดการอย่างไรกับระบบพลังงานของเรา ทัศนคติในการจัดการก็สำคัญ เวลาเราทำงานจะมี 3 ชั้น 1.เครื่องจักรกล (ความรู้ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก) 2.ระบบการจัดการ (Management Skills) จะทำอย่างไร และ 3. ทัศนคติ ของการพึ่งตนเองเป็นเรื่องทัศนคติไม่ใช่การบริหารจัดการ ดังนั้นต้องมีระบบที่จะเขย่าสมองคน และจิตใจคน ในเรื่องเหล่านี้ ขณะนี้พวกเราทำแค่ฮาร์ดแวร์ ยังไม่พอ เพราะจะต้องมีสำนึกเพิ่มขึ้นอีก”
สุดท้ายอยากให้ข้อคิดว่า โลกที่อยู่ทุกวันนี้ มันอยู่ด้วยคนที่จิตพร่อง คือความอยากมันยังไม่หมด พอกพูนเรื่อยๆ ไม่รู้จักอิ่ม ประเด็นนี้ต้องแก้ตัวความคิด (mindset) ที่อยู่ลึกมาก”