อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงยึดมั่นในพระปฐมบรมราชโองการ
และพระทศพิธราชธรรมในส่วนของความเที่ยงธรรมอย่างเคร่งครัดในการทรงงาน
หลักดังกล่าวอยู่ในพระราชหฤทัยเสมอมา
นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ” ในโครงการปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งเพื่อให้เกิดการภาคภูมิใจในการประเทศไทย ณ อาคารคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรม รามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ
"ประเทศไทยมีการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมายาวนาน ซึ่งในสมัยอดีตเป็นการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราช พระมหากษัตริย์ทรงอำนาจสูงสุดแต่เพียงพระองค์เดียว แต่หลังจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นการปกครองโดย ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อาจเรียกได้ว่าเป็นการปกครองแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยพระมหากษัตริย์ทรงจำกัดพระราชอำนาจของพระองค์เองโดยการพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรหรือฉบับชั่วคราว พระมหากษัตริย์เป็นผู้พระราชทานให้ พระมหากษัตริย์จะทรงใช้พระราชอำนาจของพระองค์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และพระราชทานอำนาจสูงสุดไปสู่ปวงชนชาวไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับบัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ใช้อำนาจนั้นตามรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญนี้
แสดงให้เห็นว่าอำนาจอธิปไตย ซึ่ งเป็นอำนาจอันสูงสุดของประเทศชาตินั้นอยู่ที่พระมหากษัตริย์และประชาชน โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้นผ่านทางฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ซึ่งแต่ละฝ่ายเป็นผู้ลงนามรับสนองตามพระราชโองการตามรัฐธรรมนูญ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัดเสมอ เคยมีพระราชดำรัสในโอกาสที่ประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุขวังไกลกังวล วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 ความตอนหนึ่งว่า
“มาตรา 7 มีสองบรรทัดว่า อะไรที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญก็ให้ปฏิบัติตามประเพณี หรือตามที่เคยทำมา แต่ว่าในมาตรา 7 นั้นไม่ได้บอกว่าพระมหากษัตริย์สั่งได้ ไม่มี ลองไปดูมาตรา 7 เขาเขียนว่า ไม่มีบทบัญญัติประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่ามีพระมหากษัตริย์ที่จะสั่งการได้ และก็ขอยืนยันว่าไม่ได้สั่งอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย พระราชบัญญัติต่างๆถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ไม่เคยทำอะไรตามเอาแต่ชอบ ตั้งแต่เป็นมา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับแล้ว ก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามแต่ชอบ ถ้าทำตามแต่ชอบก็เข้าใจว่าบ้านเมืองล่มจมมานานแล้ว”
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงใช้อำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทย ผ่านองค์กรต่างๆทั้ง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล จะเห็นได้ว่าความเชื่อมโยงเกี่ยวพัน ในระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขนั้น อำนาจทั้งหมดพระองค์พระราชทานให้เป็นของปวงชนชาวไทย คือให้ประชาชนเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน โดยผ่านทางรัฐสภา ซึ่งการเข้าดำรงตำแหน่งนั้น มิจำเป็นต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯแต่งตั้ง เพราะถือว่ามาจากการที่ประชาชนใช้อำนาจเลือกตั้งเข้ามา
แต่สำหรับคณะรัฐมนตรีและศาลนั้นไม่ได้มีการใช้อำนาจของปวงชนชาวไทยโดยตรง จึงจำต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ในฐานะที่ทรงเป็นประมุข และเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย
ตามรัฐธรรมนูญพระองค์ทรงอยู่ในฐานะเคารพยิ่ง ผู้ใดจะทำละเมิดหรือฟ้องร้องมิได้ เพื่อให้พระราชฐานะนั้นได้รับการปกป้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ บรรดาพระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการต่างๆ อันเกี่ยวกับราชการ หรือการปกครองแผ่นดิน จึงจำต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพราะมหากษัตริย์มิได้ทรงกระทำผิดตามการใดโดยพระองค์เอง ล้วนมีองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบกระทำการนั้นแล้วจึงทูลเกล้า ฯ ถวายขอให้ทรงรับปรมาภิไธย
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก
ในรัฐธรรมกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกแก่ทุกศาสนา ซึ่งประเทศไทยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา เปิดกว้างให้ประชาชนเลือกที่จะเคารพนับถือศาสนาใดก็ได้ ตามแต่ศรัทธา ในขณะเดียวกันพระมหากษัตริย์ก็จะทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกให้แก่ทุกศาสนา ดังพระราชดำรัสในโอกาสที่พระราชทูตแห่งวาติกันเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นตราตั้ง ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท วันพฤหัสบดีที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2512 ความตอนหนึ่งว่า
ประเทศไทยได้ถือเป็นนโยบายเสมอมาในการที่ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ชาวไทยทุกคนมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการนับถือใดๆ ตลอดทั้งการปฏิบัติบูชาตามความเชื่อถือของคน ผู้ที่นับถือในศาสนาต่างๆภายในประเทศไทยจึงมีชีวิตร่วมกันด้วยความผาสุข
พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย
พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย พระราชฐานะนี้มิใช่ตำแหน่ง เกียรติยศ หรือทำตามประเพณีเท่านั้น แต่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพไทย ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศ พระบรมราโชวาท และคำแนะนำต่างๆ โดยใช้พระราชอำนาจทางนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ มีผลเท่ากับทรงสั่งการตามคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี
พระมหากษัตริย์กับพระราชอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจนิติบัญญัติ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติไว้ในมาตรา 90 มาตรา 150 และ มาตรา 151 ให้ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบในรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วัน นับแต่วันที่รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้
แต่หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติใด ก็ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะทรงยับยั้งได้ตามรัฐธรรมนูญ โดยพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 50 วันแล้ว ที่ได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องนำร่างพระราชบัญญัตินั้นมาปรึกษาและพิจารณาใหม่
การใช้พระราชอำนาจยับยั้งกฎหมายนี้ ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย เคยอธิบายไว้ว่า ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น พระมหากษัตริย์อาจแจ้งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบว่า ที่ไม่ทรงเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะเหตุใดก็ได้ หรืออาจจะแจ้งให้ทราบเพียงว่าไม่ทรงเห็นด้วย โดยไม่ให้เหตุผลอะไรเลยก็ได้ ซึ่งทั้งนี้แล้วแต่พระราชอัธยาศัย และสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีหน้าที่จะต้องนำมาปรึกษากันใหม่
คำว่า ที่ไม่ทรงเห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติ หมายความว่า ไม่ทรงเห็นชอบด้วยในรูปลักษณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติถวายคำแนะนำ และยินยอมให้ตราเป็นกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นว่าไม่ทรงเห็นด้วยในหลักการแห่งราชบัญญัติทั้งหมด หรือทรงไม่เห็นกับหลักการนั้นเพียงบางส่วน หรือทรงเห็นด้วยกับหลักการทั้งหมด แต่ไม่ทรงเห็นด้วยกับวิธีดำเนินการที่จะให้เป็นไปตามหลักการนั้นๆ พระราชอำนาจพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช่เป็นการยับยั้งเด็ดขาด แต่เป็นการยับยั้งเพื่อให้รัฐสภาได้ใคร่ครวญอีกครั้ง เพราะในขั้นตอนสุดท้าย หากรัฐสภายังยืนยันมติ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็สามารถประกาศร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมอว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
อย่างไรก็ดีพระมหากษัตริย์จะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจนี้ในการยับยั้งการตรากฎหมาย ถ้ากฎหมายนั้นเป็นเพื่อประโยชน์และความผาสุขของประเทศชาติและประชาชน
พระมหากษัตริย์กับพระราชอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจบริหาร
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร มาตรา 171 มาตรา 175 และ มาตรา 183 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาด้วยความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอแต่งตั้งบุคคลสมควรเป็นรัฐมนตรีร่วมคณะ ต่อพระมหากษัตริย์ให้ทรงแต่งตั้ง ก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นอกจากจะแต่งตั้งตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว พระมหากษัตริย์ยังทรงให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้ ตามคำกราบบังคมทูลพระกรุณาของนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงรัฐมนตรีใหม่
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวกับอำนาจบริหารตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ให้มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งพระราชอำนาจอื่นๆ เช่นพระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย การตราพระราชกำหนด พระราชอำนาจในการประกาศสงคราม พระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึกและสัญญาอื่นๆ กับนานาประเทศ พระราชอำนาจในการแต่งตั้งทหาร และข้าราชการระดับสูง เป็นต้น
การที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าว พระองค์มิได้ทรงก้าวล่วงมาใช้พระราชอำนาจในทางเนื้อหาแต่ประการใด เพราะพระมหากษัตริย์ทรงดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ทรงมีพระราชดำริในด้านการเมือง และไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง
มีข้อสังเกตว่า พระราชอำนาจที่เกี่ยวกับอำนาจบริหารนี้ นอกจากพระราชอำนาจที่ระบุไว้โดยชัดแจ้งตามรัฐธรรมนูญแล้ว พระมหากษัตริย์ยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจทั่วไปโดยเป็นไปตามประเพณีการปกครองในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นประมุขของประเทศ และรัฐธรรมนูญก็ได้บัญญัติรับรองพระราชอำนาจนี้ไว้ อันได้แก่
พระราชอำนาจที่จะทรงรับคำปรึกษาหารือและพระราชทานคำแนะนำแก่รัฐบาล พระราชอำนาจในการส่งเสริมนโยบายและวิธีการของรัฐบาล และพระราชอำนาจในการตักเตือนรัฐบาล พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ เป็นพระราชอำนาจตามนิติราชประเพณีมาแต่ดั้งเดิม และเป็นพระราชอำนาจเฉพาะของพระมหากษัตริย์ที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ ซึ่งเป็นพระราชอำนาจอิสระและเด็ดขาดของพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความผูกพันและพระมหากรุณาของพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพสกนิกรผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และนับเป็นทางออกสุดท้ายที่คนเหล่านั้นจะได้รับความเป็นธรรมจากการลงโทษที่ไม่เป็นธรรม การพระราชทานอภัยโทษนี้ไม่ได้จำกัดไว้ในโทษอาญาเท่านั้น แต่รวมถึงโทษทางวินัย และโทษทางปกครองด้วย
การพระราชทานอภัยโทษอาจเป็นการพระราชทานอภัยโทษเด็ดขาด ไม่มีเงื่อนไข หรือการพระราชทานอภัยโทษเปลี่ยนโทษหนักเป็นเบาก็ได้ การพระราชทานอภัยโทษแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลที่ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และการพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งมักจะกระทำในโอกาสสำคัญของบ้านเมือง โดยคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์
พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษนี้ ถือเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งของพระมหากษัตริย์ในการผดุงความยุติธรรม ให้แก่พสกนิกรผู้ต้องคดีอาญา เพราะการบังคับใช้กฎหมายนั้นบางกรณีก็มีข้อบกพร่อง ที่ไม่ถูก ไม่ได้สอดคล้องกับความยุติธรรมทางศีลธรรม ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกรณีที่กฎหมายลงโทษรุนแรงเกินสมควรและไม่เปิดช่องให้ศาลใช้ดุลยพินิจในการกำหนดโทษ แต่ด้วยพระมหากรุณาอาศัยอำนาจในรัฐธรรมนูญ ความไม่ยุติธรรมจึงได้รับการแก้ไขเยียวยาและคลี่คลายลงที่สุด
พระมหากษัตริย์และพระราชอำนาจในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจตุลาการ
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 197 มาตรา 200 และมาตรา 201 กำหนดพระราชอำนาจศาลที่การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นอำนาจของศาลที่ต้องดำเนินการด้วยความยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และตามพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์
การใช้พระราชอำนาจในทางตุลาการตามรัฐธรรมนูญเริ่มตั้งแต่ การแต่งตั้งผู้พิพากษาและตุลาการ การพิจารณาในอัตคดีของผู้พิพากษา ต้องกระทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์โดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ผู้พิพากษาและตุลาการต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงมีความใกล้ชิดกับสถาบันตุลาการ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส พระราชกระแส แนะนำและจูงใจแก่ผู้พิพากษาตลอดมา ทรงย้ำให้ยึดถือความเป็นธรรมเป็นที่ตั้ง
สอดคล้องกับพระบรมปฐมพระราชโองการในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม และทศพิธราชธรรมข้อ 10 ที่มีความเที่ยงธรรม หนักแน่น ไม่เอนเอียงหวั่นไหว ในคำพูด อารมณ์ โดยทรงตั้งอยู่ในประเพณี ไม่ประพฤติผิดจรรยานุวัตร ทั้งด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และทรงธำรงรักษาหลักนิติธรรมมาโดยตลอด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงยึดมั่นในพระปฐมบรมราชโองการ และพระทศพิธราชธรรมในส่วนของความเที่ยงธรรมอย่างเคร่งครัดในการทรงงาน หลักดังกล่าวอยู่ในพระราชหฤทัยเสมอมา ไม่ว่าในราชพิธี หรือจริยวัติ หรือพระราชโองการ พระราชดำรัส และพระราชกระแส ที่พระราชทานแก่ผู้ใช้กฎหมาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงยึดความยุติธรรมเป็นหลักสำคัญยิ่ง ซึ่งจะปรากฏอยู่ในพระราชดำรัสหลายองค์ อาทิ พระราชดำรัสที่พระราชทานในโอกาสประธานศาลฎีกานำผู้พิพากษาประจำศาลสำนักงานศาลยุติธรรมเข้าเฝ้าก่อนเข้ารับหน้าที่ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2551 ความตอนหนึ่งว่า
บ้านเมืองต้องมีผู้พิพากษา บ้านเมืองต้องมีผู้รักษาความยุติธรรม ต้องมีศาลเพื่อรักษาความยุติธรรมนี้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าในบ้านเมือง ถ้าไม่มีความยุติธรรม บ้านเมืองก็จะล่มจม
ในคราวที่เกิดปัญหาวิกฤตทางบ้านเมือง พ.ศ. 2549 เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตักเตือนให้ตุลาการ ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยอีกส่วนหนึ่งที่เหลือยู่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ของตนประคับประคองไว้ เพื่อให้ประเทศสามารถปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ต่อไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงตักเตือนผู้ใช้กฎหมายอยู่เสมอว่า ต้องใช้กฎหมายเป็นธรรม และได้มีพระราชทานดำรัสอีกหลายองค์ แก่นักกฎหมายให้ตระหนักถึงความยุติธรรม อันเป็นอุดมคติสูงสุดของกระบวนการยุติธรรม ส่วนกฎหมายเป็นเพียงวิถีทางหรือเครื่องมือที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมเท่านั้น
ดังนั้นจึงต้องรักษาความยุติธรรมเป็นสำคัญมิใช่การรักษาเครื่องมือ ความยุติธรรมต้องมาก่อน และอยู่เหนือกฎหมาย การรักษาความยุติธรรม ก็ไม่ได้จำกัดขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายไปถึงศีลธรรม จรรยา ตลอดจนเหตุและผลของความเป็นจริงด้วย
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นบ่อเกิดของความสุขสวัสดิ์ของอาณาประชาราษฎร์ พนกสิกรที่ประสบความทุกข์ยากด้านต่างๆ ต่างขอพึ่งพระบารมี ซึ่งพระองค์ทรงแผ่พระมหากรุณาธิคุณไปสู่ทวยราษฎร์ ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ยาก ความแห้งแล้ง อุทกภัย วาตภัย ภัยพิบัติ สุขภาพ พลานามัย รวมถึงความยากลำบากในการมาหากิน พระองค์ทรงพระราชทานพระราชานุเคราะห์ให้แก่ประชาชน ทรงใช้พระวิริยะ อุตสาหะ และพระปรีชาญาณ ค้นหาหนทางแก้ไขให้เสมอ โดยพระราชทานแนวพระราชดำริ อันก่อให้เกิดโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริมากมาย ตลอดจนการพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ประชาชน ในการดำเนินชีวิต อาทิเช่น ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข