สมพล เกียรติไพบูลย์..."ถ้าแก้คอร์รัปชั่นไม่ได้ เราจะถูกทั่วโลกประณามและไม่เอาเราเป็นเพื่อน"
“ เมื่อรัฐบาลบรรจุนโยบายคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องเร่งด่วน
ประชานิยมที่จะสร้างลงไปก็ต้องสกัดกั้นคอร์รัปชั่นให้ได้”
ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น...เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ยากที่จะแก้ไข ผลวิจัยพบว่าคนไทยยอมรับได้และมองเป็นเรื่องปกติธรรมดาหากมีคนโกง แล้วทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจดี แถมไทยยังติดอันดับประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นสูงในอันดับต้นๆ ของโลก จากดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2553 ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวนับเป็นอันตรายอย่างมากต่อสังคมไทย
ภายหลังที่ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น (ภตค.) เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมิถุนายน มีการเชิญผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาร่วมประชุมสัมมนาหาแนวทางขับเคลื่อนการทำงาน กระทั่งล่าสุดจัดกิจกรรมเดินรณรงค์ “รวมพลังต่อต้านคอร์รัปชั่น” ณ สวนลุมพินี ถือเป็นการเปิดตัวและขับเคลื่อนที่ยิ่งใหญ่ ทั้งสร้างกระแส ทัศนคติ และความตื่นตัวให้กับภาคเอกชนต่อผลกระทบของการทุจริตในระดับมหภาค
“ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” มีโอกาสสัมภาษณ์ นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในฐานะที่ปรึกษาภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เกี่ยวกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นในภาคเอกชน เชื่อมโยงสู่สังคม และแนวทางการขับเคลื่อนต่อไปของภาคีเครือข่ายฯ
ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น-เส้นทางการปราบทุจริต
การร้องเรียน แจ้งเบาะแสผ่านทางภาคีเครือข่ายฯ
“ส่วนใหญ่การร้องเรียนมีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น การใช้อำนาจเกินขอบเขต ที่ประชาชนเดือดร้อน บิดเบือนอำนาจที่มี หรือการใช้กฎหมายเพื่อแสวงประโยชน์ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบต่างๆ เหล่านี้สามารถใช้อำนาจละเว้นการตรวจสอบแล้วได้ผลประโยชน์ก็ได้ หรือตรวจสอบเข้มกว่าปกติทำให้ผู้ที่ถูกตรวจสอบเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ขบวนการใช้อำนาจเป็นที่มาของคอร์รัปชั่นทั้งสองทาง เรียกได้ว่า เป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจเพื่อแสวงประโยชน์”
ทิศทางการทำงานหลังจากนี้ของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น
การทำงานภายในของภาคีเครือข่ายฯ ได้มีการทำงานภายในกันไว้แล้ว เราได้ยกเรื่อง “การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ” ที่ถือว่าเป็นจุดรั่วไหลหรือจุดที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่สำคัญในภาครัฐและภาคเอกชน เราได้หารือกับหน่วยงานกำกับภาครัฐ เช่น ป.ป.ช. สตง. ป.ป.ท. รวมทั้งกระทรวงการคลังที่เป็นผู้ออกระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ว่าจะอุดช่องโหว่เหล่านี้อย่างไร
“นอกจากนี้ยังหารือไปถึงเรื่องโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ที่ใช้เงินจำนวนมากสร้างขึ้น แล้วมีขบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ด้วย ซึ่งโครงการเหล่านั้นเมื่อสร้างเสร็จแล้วกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงไป หรือเรียกว่า “ฆ่าช้างเอางา” เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ เพราะจะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีงบประมาณเพื่อการพัฒนา หรือสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานไม่มากนัก แต่ก็ยังถูกฉกฉวยไปก่อสร้างในลักษณะที่ไม่ได้ใช้ผลประโยชน์คุ้มค่า หรือก่อสร้างแล้วไม่ได้มาตรฐานตามเม็ดเงินที่กำหนดไว้ เนื่องจากมีการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่รวมที่ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลในการซ่อมบำรุงรักษาสิ่งต่างๆ”
รูปธรรมการขับเคลื่อนต่อไป จะเป็นอย่างไร
สิ่งที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายฯ ต่อจากนี้จะผลักดันให้มี
1.กระบวนการเปิดเผยข้อมูลในการจัดซื้อจัดจ้างที่ชัดเจน ลบคำว่า “ล็อกสเปก” ออกให้ได้
2.กระบวนการตรวจรับต้องมีมาตรฐาน
3.เมื่อสร้างเสร็จแล้วต้องมีช่วงเวลาค้ำประกันคุณภาพ แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจังของกระบวนการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายด้วย
“ทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และเป็นปัญหาเรื้อรัง กัดกร่อนการเจริญเติบโตของประเทศอย่างมากมาย ในระดับโลกลำดับการคอร์รัปชั่นเราอยู่ในลำดับที่ 78 จาก 178 และในเอเชียเราอยู่ในลำดับที่ 14 จาก 33 ประเทศ ซึ่งก็แย่อยู่แล้วในสายตาต่างประเทศ และทำให้ไทยสูญเสียรายได้สูงถึงปีละกว่า 2 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึงร้อยละ 1-2 ของจีดีพี”
กระบวนการแก้ต้องเริ่มที่เหตุเกิดคอร์รัปชั่นในประเทศไทย คือ 1.แก้ปัญหาผู้ใช้อำนาจของรัฐ (นักการเมือง ข้าราชการ องค์กรรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรมหาชน) ที่มีการได้มาอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรม ต้องไม่ยอมรับหรือนิ่งเฉยกับคำกล่าวที่ว่า ส.ส. ได้มาจากการซื้อเสียงก็ต้องมาถอนทุน 2.การกำหนดขอบเขตอำนาจของผู้มาใช้อำนาจต้องเป็นไปอย่างเหมาะ มีการถ่วงดุลการใช้อำนาจซึ่งกันและกัน ไม่ให้มีการใช้อำนาจอย่างเตลิดเปิดเปิง 3.ต้องมีระบบตรวจสอบที่เข้มงวด ทั้งตรวจสอบภายในและภายนอก 4.การบังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่เลือกที่รักมักที่ชัง 5.ต้องเปิดเผยและประจารคนที่มีความผิดให้สังคมรับรู้ แม้ในอดีตจะมีนักการเมืองและข้าราชการติดคุกอยู่บ้าง แต่ก็เป็นพวกปลาซิวปลาสร้อย
ถึงวันนี้มองว่า การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นยังเป็นเรื่อง “เพ้อฝัน”อยู่หรือไม่
แม้คนส่วนหนึ่งยังมองว่าการลุกขึ้นมาต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่อง “เพ้อฝัน” แต่ผมคิดว่า ก็ดีแล้วที่เขาฝัน เพราะเมื่อมีฝันแล้วต้องทำให้เป็นจริงให้ได้ด้วย
ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่ใหญ่โตมาก และเป็นปัญหาที่จะเรื้อรังเหมือนกับ “โรค” ที่อยู่ในร่างกาย ถ้าจะแก้ไขต้องให้หมอที่ชำนาญการทุกด้านมาช่วย ทุจริตคอร์รัปชั่นเหมือนคนที่มีโรคทุกชนิดอยู่ในร่างกาย จะใช้หมอคนเดียวมารักษาโรคทุกชนิดย่อมไม่ได้ หรือได้ก็นานมากจนคนไข้ต้องตายไปก่อน
“ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนจะต้องเข้ามาร่วมกัน โดยเฉพาะสื่อที่ต้องเข้ามาร่วมมือกันอย่างเต็มที่ มาประจารคนที่ไม่ดี การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องเริ่มทำ เริ่มสร้างเยาวชนอย่างที่กรุงเทพมหานครได้สร้างโครงการ “โตไปไม่โกง” ให้ฝังเข้าไปในเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจต้องใช้เวลา 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีแต่ก็ต้องทำและทำคู่ขนานไปกับ 5 กระบวนการ ดังที่กล่าวมาข้างต้น”
สัญญาณตอบกลับมาจากภาคเอกชน
การประกาศต่อต้านคอร์รัปชั่นของภาคธุรกิจจะส่งสัญญาณให้คนทั่วประเทศ ทราบว่า ภาคเอกชนจะไม่ยินยอมให้เกิดการคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่างๆ อีกต่อไป มีการกำชับเรื่องการไม่รับสินบน ไม่จ่ายใต้โต๊ะให้อยู่ในจิตสำนึกของเอกชน แต่บางครั้งจิตสำนึกอย่างเดียวไม่สามารถที่จะไปต่อต้านความโลภของคนได้ ทั้งโลภอยากรวย โลภอยากเอาชนะคนอื่น จึงต้องกฎหมายมาช่วย
ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ จัดตั้งศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบรัทจดทะเบียน (Corporate Governance Center) เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนกว่า 500 กว่าบริษัทที่ล้วนเป็นสมาชิกของสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร และสมาชิกสภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการกำกับดูแลกิจการที่ดี
“เมื่อมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีกฎหมายบังคับ เช่น กฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูล กรรมการจะต้องชัดเจนไม่มีการฉ้อโกง มีกรอบเกี่ยวกับบรรษัทภิบาล มีการเปิดเผยว่าต้องไม่มีการให้สินบน ไม่ฉ้อโกง มีจรรยาบรรณที่ดี โดยมีความเชื่อมั่นว่า หากนักธุรกิจภาคเอกชนหยุดจ่าย จะทำให้นักการเมืองหยุดคอร์รัปชั่น รวมทั้งจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บริษัทจดทะเบียนโดยประสานความร่วมมือกับ ก.ล.ต. สมาคม บจ. และ IOD”
สถานการณ์และรูปแบบการคอร์รัปชั่น
คอร์รัปชั่นเหมือนตำรวจวิ่งจับโจร โจรก็มีวิธีที่แยบยลมากขึ้น วิธีที่สำคัญ คือตำรวจต้องมีการฝึกการรับมือกับวิธีการที่แยบยลขึ้น ต้องมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีกว่าโจร ไม่อย่างนั้นจะโดนโจรฆ่าตาย ในการศึกษาลู่ทางการทุจริตคอร์รัปชั่น จะต้องดูการปฏิบัติว่ามีจุดรั่วไหลทางใดได้บ้าง
เหนือสิ่งอื่นใด ทุกภาคส่วน ทั้งนักการเมือง ประชาชน ข้าราชการ และนักธุรกิจ ต้องร่วมมือกันเต็มที่ในการสอดส่อง ผมไม่เชื่อว่าภาครัฐอย่างเดียวจะปราบปรามคอร์รัปชั่นได้ เหมือนการดูแลป่าทั้งป่า แม้จะมีพนักงานดูแล แต่ก็ยังเกิดการตัดป่าได้ เพราะนอกจากคนดูแลป่าจะมีน้อยแล้ว ยังไปเข้ากับผู้ที่มาตัดป่าด้วย ดังนั้น หากให้รัฐบาลตั้งบุคคลให้เพียงพอก็จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมหาศาล ประชาชนจะต้องช่วยกัน การสร้างจิตสำนึก และตระหนักถึงความรับผิดชอบร่วมกันมากๆ
“ผมยังชอบระบบการสรรเสริญความดี ความชอบของบุคคล ให้ปรากฏต่อสายตาสาธารณชนและเยาวชนมากที่สุด และกลับกันคนที่กระทำความผิด ทุจริตคอร์รัปชั่น นอกจากจะลงโทษตามกฎหมายแล้ว ต้องประจารให้หนัก เมื่อเห็นคนร่ำรวยต้องตั้งคำถามก่อนเลยว่าเขารวยเพราะอะไร ถ้าเขาตอบไม่ได้ คือ เขาโกง และเมื่อรู้ว่าเขาโกงก็อย่าไปคบ”
มุมคิด ต้านทุจริตคอร์รัปชั่น
คิดอย่างไรที่ผลวิจัยออกมาว่าคนไทยมองการโกงเป็นเรื่องธรรมดา ยอมรับได้ถ้าเศรษฐกิจดี
ความคิดที่ว่า “ยอมรับได้หากโกงแล้วเศรษฐกิจดี” เป็นการคิดสั้น มองสั้นๆ (เน้นเสียง)
เป็นอันตรายต่อความมั่นคงในทุกๆ ด้านของประเทศ ต้องสร้างค่านิยมในทางต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นให้มากขึ้น คนที่มีค่านิยมดีต่อประเทศชาติก็ยังมีอีกเยอะ แต่บางทีก็นอนหลับทับสิทธิ์ ไม่ออกมาพูด เพราะกลัวเป็นศรัตรูกับคนอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลและสื่อจะต้องเป็นผู้เริ่ม
หน่วยงานที่ทำหน้าที่หลักในการป้องกัน ปราบปรามทุจริตก้าวทันกลโกงหรือไม่
ป.ป.ช. มีคดีที่รับผิดชอบมากเกินไปจนต้องตั้ง ป.ป.ท.ขึ้นมาทำงานระดับล่าง แต่งานก็ยังล้นมืออยู่ ดังนั้น วิธีการทำงานต้องทำ 2 ด้านควบคู่กันไป คอยตั้งหน่วยงานรองรับลูกค้าอย่างเดียวไม่ได้ เพราะนั่นคืองบประมาณแผ่นดินมหาศาล ต้อง 'ลด' ลูกค้าด้วย ซึ่งวิธีการลดลูกค้า ก็คือวิธีการที่ภาคีเครือข่ายฯ ขับเคลื่อนกันอยู่
คิดว่าต้องใช้เวลานานหรือไม่ กว่าคอร์รัปชั่นจะหมดไป
การทำงานใหญ่ๆ อย่าไปคิดว่าจะไปคิดว่าเสร็จภายในกี่ปี ต้องสร้างรากฐานไปเรื่อยๆ บางครั้งเป็นเพียงการหยุดยั้ง ไม่ใช่การถอนรากถอนโคน ก็ต้องทำไปก่อน
...เหมือนการรักษาคนไข้ บางครั้งคนไข้อาการหนักเต็มที่ก็รักษาเพียงแต่อย่าให้เสียชีวิต แล้วค่อยๆ ทำให้ฟื้นทีหลัง เพราะหากไปทำให้เขาหายในทันทีเลย เขาอาจจะตายก็ได้
เช่นเดียวกับเรื่องใหญ่ๆ ของประเทศถ้าจะใจร้อนทำให้เสร็จให้ได้เลยก็คงไมได้ ถ้าได้คงทำมานานแล้ว
อย่างกรณีฮ่องกงเป็นประเทศเล็กที่พัฒนาได้เร็ว ระดับการศึกษาสูงมาก ความเจริญไปได้เร็วยังใช้เวลา กว่าจะทำสำเร็จ ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เกิด คนฮ่องกงที่ซื่อสัตย์สุจริตสามารถที่จะสร้างเกียรติยศชื่อเสียงในประเทศ และหาเงินทองได้มากกว่าที่จะทำเรื่องทุจริต ในทางกลับกันคนที่ทุจริต จะถูกอัปเปหิไปไกลๆ ทั้งตระกูล
สังคมไทยจึงต้องพยายามสร้างมาตรการทางสังคมให้คนเหล่านี้หลุดออกจากโลกไปให้ได้
นโยบายประชานิยมกับช่องทางก่อทุจริตคอร์รัปชั่น
ประชานิยมเป็นนโยบายของรัฐบาลแต่ละชุดที่มุ่งจะช่วยเหลือประชาชนในระยะสั้นๆ แต่แน่นอน การส่งเงินทองและการช่วยเหลือก็มีการตกหล่นกลางทางเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าถือเรื่องการตกหล่นกลางทางมาเป็นเรื่องที่มาหยุดยั้งการทำงาน
“คนเราเดินบนถนนเรียบๆ ยังมีการสะดุดก้อนหินได้เลย อย่าคิดว่าสะดุดก้อนหินแล้วไม่เดินต่อแล้ว อย่าถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อรัฐบาลบรรจุนโยบายคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องเร่งด่วน ประชานิยมที่จะสร้างลงไปก็จะต้องมีการสกัดกั้นคอร์รัปชั่นให้ได้ แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนวนกันมาก ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องไปอุดช่องว่างเหล่านี้”
รู้สึกอย่างไรกับข่าวคนสหรัฐยึดวอลสตรีท เรียกร้องปราบคอร์รัปชั่น
จากบทเรียนแฮมเบอร์เกอร์ไคลซิส และบทเรียนอื่นๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน ล้วนมาจากทุจริตคอร์รัปชั่นของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต่างๆ อีกประการหนึ่ง คือ การใช้จ่ายเงินอย่างเกินตัวของรัฐบาลหลายๆ ประเทศ บทเรียนเหล่านี้ ทำให้จากนี้ไปขบวนการบรรษัทภิบาลในทั่วโลกจะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ
หลังจากที่เกิดวิกฤติต่างๆ แล้ว ผมว่าเป็นจุดเปลี่ยนของโลกอย่างหนึ่ง 2 กระแสด้วยกัน คือ การลุกฮือล้มผู้นำประเทศที่ปกครองประเทศมายาวนาน และร่ำรวยมหาศาลแล้ว กระแสถัดมา การที่วอลสตรีท หรือบริษัทใหญ่ๆ ล้มจากการคอร์รัปชั่นของผู้บริหารจะเป็นจากเรื่องขบวนการตรวจสอบ เหล่านี้จะต้องรื้อออกให้หมด มีการได้มาถูกต้องหรือไม่ กระแสโลกทั้ง 2 กระแสนี้ ถือเป็นกระแสที่ดีมาก
ฝากข้อคิดทิ้งทาย…
อยากจะให้ทุกภาคส่วนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นักการเมือง อำนาจทั้ง 3 คือ อำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ ราชการ ประชาชน นักธุรกิจ ภาคการศึกษา เยาวชน ต้องสำนึกยู่เสมอว่า ประเทศชาติเรานั้น ถ้าไม่สามารถแก้ไขเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นให้ลดน้อยถอยลงทัดเทียมกับประเทศที่เจริญแล้วได้ ประเทศของเราก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตและมีความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนต่อไปในอนาคตได้
และถ้าหากว่าเรายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เราก็จะกลายเป็นประเทศที่ถูกทั่วโลกประณามและไม่เอาเราเป็นเพื่อน เราก็จะโดดเดี่ยว และนั่นเป็นจุดที่อันตรายที่สุด