ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา “การไปเยียวยาเพื่อลดปัญหาจำนำข้าว เหลือวิสัยที่จะคิดออก ”
"ผมหวังว่า เขาจะฉลาดพอ ว่า ภาระทางการเงิน เริ่มรับไม่ได้
เพราะตลอดเวลามานี่ จำนำข้าว มีการซุกภาระ"
ก่อนเริ่มต้นนโยบายรับจำนำข้าว นักวิชาการรุ่นเก๋า ผู้อดรนทนไม่ได้ออกมาจัดหนัก ตั้งฉายา 'ดีแต่โม้' ให้รัฐบาลได้อย่างแสบสันต์ นั่นก็คือ ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ด้วยเห็นว่า นโยบายแบบนี้ไม่ควรมีการออกแบบมาตั้งแต่ต้น
คำเตือนต่างๆ ที่พรั่งพรูออกมาในวันแถลงข่าว พร้อมกับได้มีการตีแผ่ให้เห็นชัดๆ ว่า ถึงเวลานี้ กระบวนการวิ่งเต้นกำลังเกิดขึ้นเต็มสูบ การเดินหน้าทำโครงการนี้ต่อไปรังแต่จะสร้างภาระทางการคลังให้กับประเทศในอนาคต กระทบต่อโครงสร้างตลาดข้าวไทย ในไม่ช้าจะเกิดปรากฎการณ์แย่งซื้อข้าว เช่นเดียวกันกับ แย่งซื้อน้ำมันปาล์ม เหมือนในสมัยรัฐบาลที่แล้ว
ต่อไปนี้ เป็นคำต่อคำ ที่ ศ.ดร.อัมมาร ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ชนิดเรียกได้ว่า น็อตหลุดก่อนจะกลับไปสู่การจำนำข้าว...
@ ข้อเสนอแนะในการบรรเทาความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว
เรา เถียงกันมากเรื่องนี้ (หันไปมอง ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร) ผม....บอกว่า เขามีนโยบายของเขา มีนโยบายที่จริง ๆ แล้วยากต่อการแก้ไข
ณ ปัจจุบัน รัฐบาลมีตัวเลข 15,000 บาท เขาคงไม่ถอย และรัฐบาลมีนโยบายจำนำ 2 ตัวนี้คงไม่ถอยแน่ เพราะ 15,000 บาทเอาใจเกษตรกร คือสิ่งที่นักการเมืองต้องทำ ส่วนการจำนำ เป็นการเอาใจกลุ่มบุคคล ที่ได้ประโยชน์จากการจำนำคราวที่แล้ว ดังนั้น การไปเยียวยาเพื่อลดปัญหาลง จึงเหลือวิสัยที่เราจะคิดออก และไม่ใช่หน้าที่เราจะคิดออก
@ ในเมื่อ 7 ตุลาคม 2554 รัฐบาลต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าว ข้อเสนอก่อนถึงวันนั้น
ผมหวังว่า เขาจะฉลาดพอ ว่า ภาระทางการเงิน เริ่มรับไม่ได้ เพราะตลอดเวลามานี่ จำนำข้าว มีการซุกภาระ
พูดกันง่ายๆ ธ.ก.ส.มีหนี้ NPLs 1.5 แสนล้านบาท การที่รัฐบาลต้องนำเงินมาโป๊ะเป็นระยะๆ เตะถ่วงไปได้เรื่อยๆ ไปอีกนาน (เน้นเสียง) นี่คือ ปัญหานโยบาย Populist ตลอดมา
คุณไปดูนโยบายของทักษิณ ที่ผมบอกว่า เขาดีไซน์ได้ดี เพราะมีการจัดการไม่ให้มันโผล่ในงบประมาณแผ่นดิน ที่โผล่ในงบประมาณแผ่นดิน มีแค่โครงการ 30 บาทเท่านั้น ส่วนโครงการพักชำระหนี้ อยู่ในงบดุลของ ธ.ก.ส. อยู่ในงบประมาณมีแต่ดอกเบี้ยที่รัฐบาลจ่ายแทนให้เท่านั้น
นโยบายกองทุนหมู่บ้านละล้าน ตัวเองก็ไปยืมเงินมาจากธนาคารออมสินมาจ่าย เห็นไหมว่า ไม่โผล่ในงบประมาณแผ่นดิน อันที่จริงอันนี้ผิดกฎหมาย เพราะกู้ภายในประเทศต้องปรากฏในเอกสารงบประมาณ แต่อันนี้ไม่มี ดังนั้น หนี้ ธ.ก.ส.ที่เกิดจากการรับจำนำข้าวรอบแรกนั้น รัฐบาลสุรยุทธ์ มาเคลียร์ทีหนึ่งหลายหมื่นล้านบาท ต้องมาเคลียร์ มากินยาถ่ายกันทีหนึ่ง ซึ่งกลายเป็น "กรรม" ที่สร้างให้รัฐบาลต่อๆ ไป
@ อาจารย์เห็นว่า ต่อไปนโยบายที่พรรคการเมืองออกมาต้องทำประชาพิจารณ์หรือไม่
ผมไม่คิดว่า ทำ Public hearing ในกรณีนี้จะมีประโยชน์ แม้จะมีเสียง ผู้บริโภคไม่ชอบ แต่เกษตรกรอยากให้มีราคาแพง ดังนั้น การไปทำ Public hearing ไปทำไม
คุณเป็นนักการเมือง ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อมาทำงานแบบนี้ เข้ามาประสานผลประโยชน์ของหลายฝ่ายในสังคม ให้ยุติธรรม อธิบายได้ และชี้แจงได้
@ มองอย่างไรที่ช่วงหาเสียง หลายพรรคการเมือง ออกนโยบายเกี่ยวกับข้าวแล้วเราจะปกป้องข้าวไม่ให้เป็นสินค้าการเมืองได้อย่างไร
สิ่งหนึ่งในชีวิตผม (นิ่ง) รันทดใจจนถึงเดี๋ยวนี้ ก็ คชก. (คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร) บ้า
ผมเป็นคนเสนอให้ตั้งขึ้นมา แต่ลืมคิดไปอย่างเดียว ให้เป็นข้อมูล "โปร่งใส" ด้วย
เดี๋ยวนี้มันเกือบจะทุกอย่างเป็นสินค้าการเมือง เพราะว่า ประชาชนจำนวนมากรู้แล้ว ว่า เดือดร้อนรัฐบาลต้องมาช่วย ปัญหาของประเทศไทยขณะนี้คือ คนคาดหวังให้รัฐบาล (เน้นเสียง) ช่วยทุกเรื่อง ทุกเรื่อง โดยไม่ดูว่าอะไรเหมาะสม ซึ่งไม่ใช่ความเหมาะสมของรัฐบาล แต่เป็นความเหมาะสมของประชาชน
คุณ (รัฐบาล) ต้องพูดให้ประชาชนว่า รัฐบาลทำได้แค่นี้
ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ไขด่วนที่สุด แต่กลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำค่อนข้างน้อย คือ แก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะเป็นโครงการสาธารณะ การจัดการเรื่องน้ำเป็นเรื่องที่นักบู๊ทั้งหลายต้องลงไปแก้ไข เวลานี้มีอะไร บางระกำโมเดล หมู่บ้านเดียว แบบเดียวกับอาจสามารถโมเดล
โครงการแบบนี้ มีไว้เพื่อ Marketing นักข่าวก็ไปออ อยู่ที่บางระกำ
@ สุดท้าย เราจะออกจากวงจร 'ประชานิยม' ได้อย่างไร
เราต้องให้สังคมค่อยๆ เรียนรู้
สิ่งที่รัฐบาลประทานให้กับประชาชนนั้น ไม่ใช่เป็นองค์กรแปลกหน้า อะไรอันหนึ่งที่เรียกว่ารัฐบาล รัฐบาลไม่ใช่ทักษิณ รัฐบาลไม่ใช่ยิ่งลักษณ์ รัฐบาลไม่ใช่อภิสิทธิ์ เขาไม่ได้เป็นคนประทานให้ เราไม่ต้องเป็นหนี้บุญคุณเขา เป็นเงินของเราทั้งนั้น เป็นภาษีของเรา
ดังนั้น ประชาชนต้องตั้งคำถาม พวกคุณ (สื่อ) ต้องตั้งคำถามถึงนโยบายต่างๆ ที่ออกมาทำได้จริงหรือไม่
"เขาเอาสิ่งที่ให้กับประชาชนนำหน้า แต่สิ่งที่ประชาชนต้องให้กับรัฐบาล ตามหลัง แจกก่อนแล้วมาเก็บภาษีจากประชาชนทีหลัง"