ปาฐกถา: ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย "ความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรมในสังคมไทย"
“ไทยไม่เคยมีเงื่อนไขให้อุตสาหกรรมข้ามชาติ
ถ่ายทอดความรู้-เทคโนโลยีสู่อุตฯ ไทยเลย
ทำให้ไม่มีการพัฒนา และยกระดับ ต้องพึงพิงเทคโนโลยีต่างชาติมาตลอด”
เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย ประธานมูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ปาฐกถานำ ในการประชุมวิชาการ “ความเป็นธรรมและไม่เป็นธรรมในสังคมไทย” ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี ชั้น 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ กล่าวตอนหนึ่งถึงความไม่เป็นธรรมในมิติทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น นอกจากจะส่งผลกระทบความเหลื่อมล้ำจากปัญหาความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรแล้ว ยังส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกินเยียวยาได้ โดยยอมรับว่าการที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริงนั้น ต้องการนโยบายและการบริหารด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม มีกลไกหรือเงื่อนไขที่จะกำกับการพัฒนาให้อยู่ในกรอบของการดูแลจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนรวม
“ผลของนโยบายการพัฒนาที่ใช้ 'เศรษฐกิจ' เป็นตัวนำ ที่ผ่านมาได้บ่มเพาะปัญหาด้านสังคม และความไม่เป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งการใช้ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพี เป็นเครื่องมือสำคัญในการวัดความมั่งคั่งของประเทศ ไม่สามารถที่จะสะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ให้คนในสังคมจำนวนน้อยได้รับประโยชน์ ในขณะที่เป้าหมายในคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือคุณภาพของสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนจำนวนมากของประเทศกลับถูกละเลยไป”
ประธานมูลนิธิธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในกรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นตัวอย่างที่ดีในการฉายภาพให้เห็นถึงปัญหาและผลพวงของกระแสพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
“คนที่มาบตาพุดมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดสูงกว่าที่อื่นในประเทศโดยรวม รวมถึงส่งผลต่อการตั้งครรภ์โดยทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักตัวแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ รวมถึงมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าอายุครรภ์ และมีผลกระทบต่อระบบประสาทและระบบหายใจ ซ้ำยังมีอุบัติภัยสารเคมีบ่อยครั้งที่ก่อให้เกิดผู้ป่วยมากมาย รวมถึงเด็กนักเรียนด้วย”
ปัญหาความไม่เป็นธรรมในกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชุมชนและคนงาน จากการศึกษาของสถาบันธรรมรัฐ ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุหลักที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิค มีอยู่ 2 ประการคือ
1.นโยบายการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมากำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก และเป็นการคำนึงถึงผลประโยชน์เศรษฐกิจในระยะสั้น ที่ไม่ได้คำนึงแม้กระทั่งต้นทุนของผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
“นโยบายยังสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมที่ขาดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นมิติสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมามักให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยอาศัยการลดหย่อนเงื่อนไขต่างๆเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือการสร้างศักยภาพของประเทศไทยในระยะยาว”
การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเพียงฐานการผลิตที่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีและทุนจากต่างชาติเป็นหลัก โดยอาศัยเพียงด้านแรงงานภายในประเทศเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ประกอบชิ้นส่วนเป็นสินค้าขึ้นมา ทำให้ไทยต้องพึ่งพิงการลงทุนจากต่างประเทศสูง และขาดอำนาจในการต่อรองกับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมในการที่จะรักษาคุณภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมได้
“ประเทศไทยไม่เคยมีเงื่อนไขให้อุตสาหกรรมข้ามชาติเหล่านี้ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีสู่อุตสาหกรรมไทยเลย จึงทำให้ประเทศไทยไม่มีการพัฒนา และยกระดับเทคโนโลยีของตนเองให้สูงขึ้น และพึงพิงเทคโนโลยีต่างชาติมาตลอด”
ขณะนี้ความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยเองกำลังมีปัญหา จากการศึกษาของโครงการวิจัยของสถาบันธรรมรัฐ ชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมไทยอยู่ในลักษณะมีข้อจำกัดในการแข่งขันในตลาดโลกทั้งด้านล่างและด้านบน นั่นคือ ตลาดด้านล่างที่เน้นสินค้าประกอบชิ้นส่วนเป็นหลัก และมีมูลค่าเพิ่มการผลิตต่ำ อย่างที่ไทยเคยเป็นฐานการผลิตโดยตลอด แต่ขณะนี้ไทยไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าในหลายประเทศ อาทิ จีนหรือเวียดนามได้ เนื่องจากค่าแรงที่ต่ำกว่า และทำให้สินค้าของประเทศเหล่านั้นถูกกว่า ในขณะที่ตลาดด้านบน ซึ่งเน้นสินค้าคุณภาพสูงที่ต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยี และมีมูลค่าเพิ่มสูง ประเทศไทยก็ไม่มีขีดความสามารถ และเทคโนโลยีที่สูงพอที่จะพัฒนาไปถึงจุดนั้นได้
ภาวะที่ประเทศไทยไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนหรือขยับขึ้นจากจุดยืนของห่วงโซ่การผลิตของโลกได้ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยในภาคอุตสาหกรรมถดถอยลง ซึ่งมีผลให้ประเทศไทยยิ่งต้องพึ่งพาเงินทุนและนักลงทุนจากต่างชาติ โดยขาดอำนาจการต่อรองจากนักลงทุนข้ามชาติเหล่านี้มากขึ้น เนื่องจากหากนักลงทุนเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนออกไปจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก
“ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เมื่อใดก็ตามที่มีการขัดแย้งจากการลงทุนใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน รัฐมักที่จะเลือกสละสิ่งแวดล้อมและคุณภาพ เพื่อรักษาระดับการลงทุนไว้เสมอ”
แม้แต่กรณีมาบตาพุดก็เข้าข่ายสถานการณ์ดังที่ว่านี้ แม้ว่าในขณะนี้มีแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว ที่ให้ความสำคัญกับการค้าการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ก็ขาดความชัดเจนในการทำให้เกิดการดำเนินการได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ในประเด็นของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรม นอกเหนือจากการยกระดับค่าแรงแล้ว ควรมีการแก้ปัญหาอาชีวะอนามัย ความปลอดภัยในการทำงาน คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนงาน และชุมชนรอบอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง
“หากคำนึงถึงความยั่งยืนแล้ว ควรมีการส่งเสริมให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมของไทย เพื่อลดการพึ่งพิงทุนและเทคโนโลยีของต่างประเทศ และควรต้องมีนโยบายเรื่องการพัฒนาและยกระดับทักษะของแรงงานไทยด้วย”
2. ปัญหาการขาดธรรมาภิบาลในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดระบบในการตรวจสอบและถ่วงดุล ขาดกระบวนการของการมีส่วนร่วมของประชาชน การเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และการที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้
การที่ชุมชนอยู่ภาวะที่พึ่งพิงอุตสาหกรรมอย่างมาก ไม่ว่าในเรื่องของค่าจ้างแรงงานหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างความต้องการอุตสาหกรรมและความพยายามในการตรวจสอบปัญหามลพิษ ซึ่งส่งผลให้กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลของประชาชนทำได้ยากขึ้น
ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญของการมีธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
1. การมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุล ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม พร้อมทั้งสามารถติดตามตรวจสอบโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
2. การมีแรงจูงใจที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการให้มีการใช้เทคโนโลยีที่สะอาด และการสามารถเอาผิด รวมทั้งการชดเชยผู้เสียหายในอย่างมีประสิทธิผลและยุติธรรม
3. การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชน และการมีข้อมูลที่สามารถตรวจสอบและเชื่อถือได้
4. การสร้างองค์ความรู้ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีกระบวนการเรียนรู้และค้นหาข้อมูลโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
5. การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่นการลดการให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีดุลพินิจมากเกินไป เป็นต้น
6. การทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้ลดต้นทุนที่สูญเปล่าในการดำเนินงานและการนำเครื่องมือต่างๆมาช่วย เช่นด้านเศรษฐศาสตร์หรือการจัดการ
7. การส่งเสริมด้านคุณธรรมและจริยธรรม จิตสำนึก อีกทั้งสร้างหลักประกันให้เกิดความมั่นใจในการกระทำที่เหมาะสม ว่าผู้ก่อมลพิษจะต้องรับผิดชอบจริง
แต่ในภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง และอิทธิพลด้านวัตถุมีมากขึ้น การใช้หลักธรรมาภิบาลจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็น แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องนำหลักคุณธรรม เช่น หลักซื่อสัตย์สุจริต ทั้งต่อตนเอง และส่วนรวม มาเป็นแรงหนุนกำจัด กำกับด้านจิตใจ เนื่องจากหากสังคมยังขาดคุณธรรมแล้ว ถึงแม้จะมีระบบกฎหมาย กฎเกณฑ์กติกาใด ปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งนำมายังปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อมและปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะผู้ดำเนินการสามารถหาช่องทางแสวงหาได้ในที่สุด
“โจทย์สำคัญก็คือ การจะสร้างให้นโยบายและการจัดการของรัฐมีธรรมาภิบาลควบคู่ไปกับคุณธรรมได้อย่างไร”
ความไม่เป็นธรรม จะแก้ไขได้ให้เกิดความเป็นธรรม นอกจากที่จะแก้ไขที่นโยบายและการจัดการของรัฐ ตลอดจนกฎหมายและกติกาของสังคม ที่มีธรรมาภิบาลแล้ว ยังต้องสร้างธรรมะขึ้นในจิตใจของคนด้วย