ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ปาฐกถา "ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจโลก อาเซียน และประเทศไทย"
ระหว่างวันที่ 18-19 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดการประชุมวิชาการ ปอมท.ประจำปี 2554 เรื่อง "การเตรียมความพร้อมของอุดมศึกษาไทยกับการปรับตัวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน" ณ หอประชุมกองทัพเรือ ถนนอรุณอมรินทร์
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจโลก อาเซียน และประเทศไทย" โดยมีการตั้งข้อสังเกตเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การศึกษาในภาวการณ์ของการที่จะมีรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนต่อไปในอนาคต ปี ค.ศ.2015 ข้อสังเกตอาเซียนกับไทย และได้เน้นย้ำไทยต้องมีบทบาทนำ ในด้านการพัฒนาการรวมกลุ่มของอาเซียน
เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ
ดร.ศุภชัย กล่าวว่า การพัฒนาที่เราอยากจะเห็นต่อไปในอนาคต คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน (Inclusive development ,Sustainable development) เราต้องการเห็นการพัฒนานั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของการค้าที่ดีขึ้น หรือการลงทุนที่มากขึ้นเท่านั้น มันเป็นเรื่องของการที่เราจะต้องมีการสร้างสังคมของมนุษย์ที่เสมอภาคเท่าเทียม ทุกคนสามารถแสดงออกในสิ่งที่ต้องการอย่าเต็มที่ โดยมีอิสระ เสรีภาพ ซึ่งการพัฒนาจำเป็นต้องให้ทุกส่วนของสังคมที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาเกี่ยวข้องได้
ที่ยูเอ็นขณะนี้มีการพูดถึงการพัฒนาที่รวมถึงสตรี เรื่องของ Inclusive development เป็นการพัฒนาที่เจาะจงคนเล็ก คนน้อยมีความเท่าเทียมกัน มีโอกาสเหมือนกัน และแม้จะมีการพัฒนาระบบการสื่อสาร ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่กับองค์กรใหญ่ องค์กรเล็กๆก็ต้องไม่ถูกละเลย
มีการพูดกันถึงสังคมไอที สังคมที่ทุกคนในสังคมควรได้รับการเชื่อมโยงติดต่อกัน ในระบบสารสนเทศ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสารสนเทศ ( Digital Divide) สังคมที่มีการรวมทุกอย่างอย่างสมบูรณ์ เป็น Inclusive development ต้องเป็นสังคมที่มีเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals:MDGs) มีอยู่ 8 ข้อครบถ้วนสมบูรณ์
หวั่นหลายปท.ตัดงบฯ ลงทุนด้านการศึกษา
ปีนี้เป็นปีที่มีการใช้นโยบายด้านการเงินการคลัง ที่เรียกว่า เข้มงวดขึ้นกว่าเดิมมาก เพราะ 3- 4 ปีที่ผ่านมา มีวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุด ตั้งแต่มีวิกฤติการณ์มาเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลทั่วโลกใช้เงินกันอย่างเต็มที่ เงินไม่มีก็ไปกู้มาใช้ ฉะนั้นในปีนี้ก็เริ่มต้น มีนโยบายให้มีวินัยทางการเงินคลังมากขึ้น ลดการกู้ ลดการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน บางประเทศจำกัดการลงทุน การสนับสนุน การอุดหนุนของรัฐบาล โดยเฉพาะการอุดหนุนของรัฐบาลในเรื่องการศึกษานั้น เราเห็นว่า งบประมาณการลงทุนด้านการศึกษาถูกเบียดไปค่อนข้างมาก
ประเทศที่มีการจำกัดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาล ยูเนสโกมีความเป็นห่วงมากว่า งบประมาณด้านการศึกษากำลังถูกตัดไป ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีการอุดหนุนด้านการศึกษา จะเห็นว่า มีการเลื่อนการอุดหนุนด้านการศึกษา ปล่อยให้ค่าเล่าเรียน การให้ทุนกับนักศึกษาน้อยลงไป ซึ่งสหประชาชาติพยายามขอร้อง เสนอและย้ำตลอดว่า สัดส่วนการพัฒนาด้านการศึกษา แม้จะเป็นช่วงที่มีนโยบายให้มีวินัยทางการเงินคลัง แต่การสร้างทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องที่ถือว่า ต้องมีการรักษาเอาไว้
เรื่องนี้ มีการพูดกันอย่างมาก ทำอย่างไรมีการระดมเงินไปสานต่อเรื่องการศึกษาได้
เมื่อมีการลดเงินอุดหนุนเรื่องการศึกษา ลดงบประมาณลงทุนการศึกษา และยังต้องมีการรับนักศึกษาเท่าเดิม คุณภาพต้องลดลง เราเห็นแนวโน้มการพัฒนาคุณภาพการศึกษามีปัญหา คุณภาพลดลง ยูเนสโกพยายามสร้างระบบให้มีการดูแล สนับสนุนให้การศึกษามีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ มีมาตรฐานเท่ากันทั่วโลก
ขณะนี้ความต้องการต่อไปในอนาคตจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสังคมของความรู้ สังคมข่าวสาร ที่เรียกว่า Knowledge society เป็นสังคมของความคิด ข่าวสาร การค้นคว้า การสื่อข้อความ ฉะนั้นความต้องการของคุณภาพการศึกษาจะเปลี่ยนไป ที่เราเห็นก็คือว่า เรามีความจำเป็นทางเศรษฐกิจ คุณภาพทางการศึกษาดูจะถดถอยลงไป
มีข้อสังเกตจากการค้นคว้าทั่วโลกขณะนี้ว่า ประเทศที่ยากจนสมัยก่อน พัฒนาขึ้นมาเป็นประเทศมีรายได้ปานกลาง (Middle-income countries) ค่อนข้างเยอะ แต่ประเทศที่รายได้ปานกลาง หรือประเทศที่จะพัฒนาขึ้นมาแล้ว ทำไมถึงไม่สามารถหลุดพ้น จากบ่วงของการเป็นประเทศปานกลางได้
สิ่งที่เชื่อกัน ประเทศหนึ่งที่จะสามารถแปลงตัวเองหลุดจากบ่วงประเทศปานกลางได้ ต้องก้าวข้ามจากประเทศที่รองรับเฉพาะเทคโนโลยีเข้ามา มีการคิดค้นเทคโนโลยี และนวัตกรรม มีการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะการศึกษาต้องมีผลต่อการสร้างนวัตกรรม …
การพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องได้รับการสนับสนุนไม่เฉพาะการค้นคว้าวิจัยเท่านั้น ลักษณะการจัดการองค์กร ทั้งของรัฐ เอกชนนั้นก็ต้องการผู้ที่มีความเข้าใจ มีความคิดที่เปิดกว้าง ความคิดสร้างสรรค์ ความคิดนำ ความคิดเปลี่ยนแปลง ไม่มีขอบเขต
ซึ่งเรื่องการศึกษาและความเท่าเทียมกันของประชาชน เรามักจะมีความเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า ยิ่งลงทุนเรื่องการศึกษาไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งจะเกิดความเท่าเทียมกันมากขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งที่อังค์ถัดค้นคว้าพบ ก็คือ
“ในสังคมที่มีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ ยิ่งให้การศึกษามาก (โดยเฉพาะการศึกษาระดับสูง) ยิ่งก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น ถ้าไม่สามารถจัดเรื่องไม่ความเท่าเทียมกันได้ ไปลงทุนทางด้านการศึกษามาก ความไม่เท่าเทียมก็จะขยายตัวมากขึ้น”
โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาเศรษฐกิจ จะเห็นชัดว่า การพัฒนา การลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้สร้างให้เกิดความเท่าเทียมกัน แต่กลับก่อให้เกิด Digital Divide ดังนั้นทำอย่างไรถึงลด Digital Divide ทำให้สังคม Digital เป็นสังคมที่ทุกคนใช้ได้เหมือนกัน …
จากนั้น เลขาธิการอังค์ถัด ยกกรณีเกษตรกรในแอฟริกา ที่เวลานี้มีมือถือ รับอีเมล์ รับข่าวสาร ใช้ตรวจเช็คราคาดอกไม้ จากทั่วโลก จนสามารถวางแผนการปลูกดอกไม้ ช่วงไหนเวลาใด เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน …
ดร.ศุภชัย กล่าวถึงเรื่องการศึกษาที่จะต้องเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนวัตกรรม (Innovation) เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สิ่งที่เราเห็นนโยบายที่สำเร็จมากๆ ทั้งที่ญี่ปุ่น และเกาหลีทำ ไม่ใช่การคิดค้นเรื่องขึ้นมาใหม่ ไม่ใช่การค้นคว้าพื้นฐานแต่เป็นการเอาสิ่งที่คิดค้นอยู่แล้วมาดัดแปลงให้เข้ากับความต้องการของมนุษย์ มาเชื่อมโยงกับความต้องการทางสังคม การพาณิชย์ได้
ส่วนการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกที่เห็นอยู่เวลานี้ ชัดเจนแล้วว่า การผลิตที่ผ่านเครื่องจักร ที่ดิน การผลิตที่มาจากกายภาพ สัดส่วนจะลดน้อยลงทุกที ปัจจัยการผลิตที่สำคัญไม่ใช่ทุน ไม่ใช่แรงงานอย่างเดียว แต่คือ “สมอง” ความรู้ และการเชื่อมโยงข่าวสาร ข้อมูลที่ได้
เมื่อชัดเจนแล้ววันข้างหน้าต้องเป็น สังคมของข่าวสาร และสังคมความรู้ เช่นนี้แน่นอน ดังนั้นโลกที่แคบลง โลกซึ่งทุกคนหลีกเลี่ยงไม่พ้น ไม่มีที่ไหนไม่มีผลการพัฒนาร่วมกัน อะไรที่เกิดขึ้นที่ยุโรปกระทบมาถึงเอเชีย อะไรเกิดขึ้นที่เอเชีย กระทบถึงอเมริกา อะไรเกิดที่อเมริกา กระทบอเมริกาใต้
นี่คือการเชื่อมโยง
โลกาภิวัฒน์รอบที่ 2
การที่เรามองว่า ในอดีตสิ่งที่เรารับมา คือ โลกาภิวัฒน์ ข้างเดียว บอกว่า โลกาภิวัฒน์คืออะไร ขณะนี้ โลกกำลังมีดุลยภาพมากขึ้น การพัฒนาโลกาภิวัฒน์รอบที่ 2 จะเป็นการพัฒนาที่โลกจากตะวันออก โลกของประเทศกำลังพัฒนาจะมีผลกลับเข้าไปทางอื่นมากยิ่งขึ้น
แนวโน้มขององค์กรทรัพย์สินทางปัญญาของโลก (World Intellectual Property Organization) เวลานี้การจดทะเบียนการค้นคว้าใหม่ๆ ทุกปี มาจากเอเชียมากกว่ายุโรป และอเมริกา ส่วนใหญ่ มาจากญี่ปุ่นและจีน
ซึ่งหากดูเรื่องการเงิน เราจะเห็นชัดเจนว่า เวลานี้การเงินของโลก เป็นการไหลกลับของเงินย้อนผ่าน จากเงินที่เคยไหลจากประเทศที่เจริญแล้วมาประเทศที่เจริญน้อยกว่า ขณะนี้เงินจะไหลจากประเทศที่พัฒนาน้อยกว่า ประเทศยากจนกว่า รายได้ต่อหัวน้อยกว่า ไปสู่ประเทศเจริญแล้ว
เศรษฐกิจโลกกำลังเกิดอะไรขึ้น?
ขณะนี้สิ่งที่เราเห็นก็คือว่า สังคมที่เจริญแล้ว เป็นสังคมที่มีความเชื่อมั่นในระบบตลาดเกินร้อย นักเศรษฐศาสตร์ใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ได้รับรางวัลโนเบล ในสาขาที่ใช้วิชาการที่เรียกว่า เศรษฐมิติ มาคำนวณว่า ทำไมตลาดถึงมีประสิทธิภาพดีเหลือเกิน แล้วมาคำนวณว่า เพราะเหตุนี้ การปล่อยให้ภาคการเงินพัฒนาตราสารต่างๆ ซึ่งมาใช้ประโยชน์จากส่วนต่างของดอกเบี้ย ส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนต่างของการกู้เงินในตลาดพันธบัตร สร้างแนวคิดที่ว่า ตลาดเป็นตัวกำหนดราคาดีที่สุด อันนี้เป็นความเชื่อ ซึ่งในที่สุดนำมาสู่การล่มสลาย ที่เห็นกันอย่างชัดเจน ตลาดทำให้คนแข่งขัน ทำให้คนแข็งแกร่งขึ้น ทำให้เรารู้จักพัฒนาตัวเอง แต่เราเชื่อตลาดทั้งหมดเป็นไปไม่ได้
การล่มสลายในสหรัฐฯ ยุโรป ชัดเจนว่า มีการปล่อยให้สถาบันการเงินสามารถสร้างตราสารทางการเงิน ซึ่งไม่มีคุณค่าใดๆ เลยต่อการผลิต แต่มาสร้างให้เกิดรายได้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทางการเงินมากมาย
เช่น ในสหรัฐฯ ระบบการเงินใหญ่มากมีส่วนแบ่งของการผลิตประชาชาติเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นเอง แต่รายได้ กำไรที่เกิดขึ้นในระบบการเงิน เมื่อเทียบกับกำไรทั้งหมดของระบบการผลิตสินค้าในสหรัฐฯ แล้ว มีถึงร้อยละ 40 โดยปัญหาที่สหรัฐฯ มีเรื่องที่หนักใจมากคือว่า ผลิตคนออกมาเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน ทุกคนเข้ามาอยู่ในวอลสตรีทหมด ถูกจ้างโดยบริษัทสำคัญๆ ที่อยู่ในวอลสตรีท เพราะรายได้มากที่สุด
เศรษฐกิจอเมริกาโดยเฉพาะด้านการผลิต กำลังถอดถอยมาก เพราะเด็กที่จบออกมาดีที่สุดไม่เข้าไปทำงาน แต่เรื่องการเงินทุกคนชอบมาก วันๆ หนึ่งนั่งคิดอย่างเดียวจะออกตราสารอย่างไรขึ้นมาเพื่อไปใช้ประโยชน์ จากตราสารที่มีอยู่แล้ว…
เวลานี้เงินที่เข้าไปทำให้ประเทศ เช่น สหรัฐฯ หรือยุโรป สามารถไปทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นเงินมาจากประเทศกำลังพัฒนา ส่วนหนึ่งจากตะวันออกกลาง อีกส่วนมาจากประเทศในเอเชียที่มีดุลการชำระเงินเป็นบวก จนทำให้เงินสำรองของโลกเวลานี้กว่า 70% อยู่ในเอเชีย เป็นเงินประมาณ 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
สหรัฐฯ ยุโรป การออมถึงขั้นติดลบ
ขณะที่สังคมสหรัฐฯ ยุโรป การออมไม่ใช่ศูนย์ แต่ติดลบ มีการบอกว่า การล่มสลาย เพราะระบบยอมให้มีการเชื่อในตลาดเกินร้อย ระบบยอมให้ตลาดลงมากำหนดเรื่องราคา กำหนดในเรื่องการออกตราสารต่างๆ โดยไม่มีข้อจำกัด ไม่มีการควบคุม ระบบยอมให้มีการกู้ยืมเงินโดยไม่มีการจำกัด
จะเห็นว่า ในเอเชียมีการออมเงินเกินร้อยละ 30 ของรายได้ บางประเทศก็เกิน ขณะที่ในสหรัฐฯ ก่อนล่มสลาย การออมติดลบ ไม่มีการออม มีแต่การกู้ เพิ่งมาเริ่มออมในขณะนี้
“ขณะที่เงินกู้จากบ้านที่ไปกู้มา ก็ใช้บ้านหลังเดียวกันกู้เงินมาสร้างบ้าน แล้วใช้บ้านกับที่ดิน ไปวางประกัน เพื่อซื้อรถคันที่ 1 ซื้อรถคันที่ 2 เพื่อส่งลูกไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย เพื่อกู้เงินเพื่อไปเที่ยว ซื้อคอมพิวเตอร์ ซื้อเครื่องอำนวยความสุขในบ้านทั้งหมด เพราะความเชื่อว่า ตลาดกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์มันขึ้นทุกปี
คนก็คิดว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่มันจะไม่ขึ้นต่อ ซึ่งราคาที่ขึ้นมาเรื่อยก็สามารถนำหลักประกันไปกู้เพิ่มได้เรื่อย จนกระทั่งวันหนึ่งน้ำมันพุ่งขึ้นสูงมาก เศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาแบงก์เริ่มเห็นชัดเจน ราคาหุ้น ราคาบ้านที่ถืออยู่ก็เหลือไม่ถึงครึ่ง เวลานี้มูลค่าที่สร้างไว้ เป็นมูลค่าที่ปลอมขึ้นมา เพื่อสร้างกระดาษขึ้นมาใช้”
เงินที่ไปจากเอเชียเวลานี้ ก็ไปซื้อพันธบัตร จะเห็นว่า เงินสำรองของจีน ที่มีอยู่ 3 ล้านล้านเหรียญฯ ซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกัน คือว่า เงินที่รัฐบาลอเมริกันนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เข้าไปพยุงแบงก์ บริษัทผลิตรถยนต์ มาจากประเทศในเอเชีย ซึ่งหากเข้าไปดูในยุโรป ก็เจอปัญหาแบบเดียวกัน คือกู้เงินมาก แทนที่จะเป็นระดับเอกชน กลายเป็นรัฐบาล เช่น ของกรีซ ก็ดี ไอแลนด์ สเปน รัฐบาลไปกู้เงินมากมาใช้สนับสนุน “สวัสดิการสังคม” มากเกินเหตุ
“เวลานี้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลยุโรปเกิน 100% ของรายได้ประชาชาติ เทียบกับไทยหนี้สินของประเทศ 40 % ของรายได้ประชาชาติ ญี่ปุ่น 200% ของรายได้ประชาชาติ แต่ที่ญี่ปุ่นอยู่ด้วยเพราะเหตุ หนี้ที่ญี่ปุ่นก่อ เป็นหนี้ภายในประเทศ ขณะที่ยุโรปหนี้ที่ก่อโดยรัฐบาล เขาออกเป็นพันธบัตรแล้วขายซึ่งกันและกัน ส่วนใหญ่แบงก์ถือว่า ระดับทริปเปิลเอ (AAA) ฉะนั้นแบงก์ก็ถือพันธบัตรรัฐบาลเป็นเงินสำรอง”
ขณะนี้ที่เป็นทริปเปิลเอ (AAA) ของกรีซ ก็กลายเป็น “จังค์ บอนด์” ไปแล้ว ทริปเปิลเอของสหรัฐฯ ก็ถูกลดระดับเหลือ AA
กระบวนการของเศรษฐกิจโลกมันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของศูนย์ของอำนาจ จากประเทศที่เจริญแล้วที่ควรมีเงินเหลือ ควรจะมีระบบการเงินที่แข็งแกร่ง เวลานี้อ่อนแอที่สุดก็คือ ระบบการเงินที่อยู่ในสหรัฐฯ กับยุโรป
แม้สหรัฐฯ เริ่มต้นจะแก้ไขปัญหาได้ แต่ก็ยังไม่เสร็จ ด้วยคนว่างงานในสหรัฐฯ 9.1% ทุกเดือนบางเดือนก็ดีขึ้น บางเดือนก็เลวลง
สรุปง่ายๆ ในแง่ของสถิติ “พ้นจากภาวการณ์มีเศรษฐกิจที่ชะลอตัว” แต่ในแง่ความเป็นจริงยังไม่พ้น โดยเฉพาะในยุโรป ขณะนี้เป็นปัญหามาก อยู่ในภาวการณ์ที่รัฐบาลยุโรปไม่สามารถไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกเลย สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น ช่วงทศวรรษ 1990 กำลังจะเกิดขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป
จากนี้ไปอีกหลายๆ ปี ความเจริญจะมา ครึ่งหนึ่งของการขยายตัวเศรษฐกิจโลกมาจากเอเชีย การเจริญเติบโตจึงมาพึ่งส่วนที่เหลือของโลก…
ทั้งนี้ ปัญหาก็ยังไม่จบ การไร้สมดุลของเศรษฐกิจโลกก็ยังมีอยู่ และมาเกิดขึ้นใหม่ที่ยุโรป สิ่งที่เรากำลังจะเห็นก็คือ วิกฤติอีกครั้ง หากการพัฒนาและการเจริญเติบโตในเอเชียนั้นชะงักงัน ด้วยการเจริญเติบโตในเอเชียมีปัญหาค่อนข้างมาก เป็นการเจริญเติบโตที่ไม่ได้สร้างงานเท่าที่ควร เป็นการขยายตัวการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เทคโนโลยีมาก ใช้ทรัพยากรพลังงานสูง
“การผลิตของเอเชียต่อหนึ่งหน่วย ใช้พลังงานสูงเป็น 2 เท่า ของการผลิตหนึ่งหน่วยในประเทศที่เจริญแล้ว เรียกว่า มีการใช้พลังงานแบบไม่มีประสิทธิภาพ และสูญเปล่า” ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในเอเชีย กำลังขยายตัวดี เป็น “ตัวช่วย”การขยายตัวทั่วโลก แต่กลับมีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อ….
“เวลานี้เราร่วมหัวจมท้ายด้วยกัน เรือกำลังจะจม มีรูรั่วอยู่ข้างหน้า ทุกคนบอกให้ไปอยู่ที่หลังเรือ แล้วจะไปรอด ไม่ใช่เรือก็จมอยู่ดี ซึ่งต้องมีการอุดรูรั่วนี้ถึงจะไปได้”
ถามเศรษฐกิจที่ไหนดีบ้าง
ขณะนี้ที่เรากำลังรวมกลุ่มเป็นอาเซียน และกำลังพัฒนาตัวเองเป็นประชาคมทางด้านเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะว่า ในโลกอนาคต ไม่มีอะไรดีเท่าไหร่นัก ในบ้านเราก็มีปัญหา ในอาเซียนก็มีปัญหา
“คุณยกมาให้ผมฟังประเทศหนึ่งซิ ว่าไม่มีปัญหาเศรษฐกิจ" ไม่มีครับ
ที่บอกว่าญี่ปุ่นดีไหม ไม่นับเรื่องของสึนามิ ญี่ปุ่นเองไม่มีการเจริญเติบโตมาเป็น 10 ปีแล้ว มีประชากรสูงอายุ ผลผลิตก็แย่ เพราะคนแก่มากเหลือเกิน เก็บเงินไม่ใช้เงิน กลายเป็นสังคมที่ไม่ใช้เงิน เศรษฐกิจมีแต่ชะลอ ไม่มีการลงทุนใหม่ ราคาสินค้าไม่เคลื่อนไหว
เศรษฐกิจที่ไหนดีบ้าง ในยุโรปดีที่สุด ผมคิดว่า “เยอรมนี” ที่เหลือเรียกว่า ไม่มีที่ไหนดีได้เลย เยอรมนีดีเพราะเอเชียดี จีนดี สินค้าประเภททุน นำมาขายในเอเชีย รถยนต์ขายดีมากในเอเชีย แบรนด์ที่ขายดี ก็มาจากเยอรมนี
ฝรั่งเศสบอกขายไวน์ดี แต่ในประเทศฝรั่งเศสคนกินไวน์น้อยลงทุกที แต่ไวน์แพงสุดคนเอเชียกินหมดเวลานี้
ส่วนที่ “มองโกเลีย” ประเทศเล็กๆ กลายเป็นชาติที่ร่ำรวยมาก เพราะค้นพบ แร่ยูเรเนียม ทองคำ ถ่านหิน เหล็ก ฯลฯ ทุกคนไปลงทุนในมองโกเลียหมด ขณะที่สินค้าที่ขายดีมากในมองโกเลีย ก็คือกระเป๋าหลุยส์วิตอง
หรือเวลานี้หากไปคุยกับนักธุรกิจในยุโรปและอเมริกา ทุกคนก็ต้องมาลงทุนในเอเชียหมด
การที่อาเซียนมารวมกลุ่มเราต้องสร้าง economy subscale เพราะว่า จีน 1,200 ล้านคน ดึงเงินลงทุนจากตลาดโลกได้ถึง 80-100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เรา 10 ประเทศในอาเซียน ครึ่งหนึ่งของจีน เราดึงเงินลงทุนขณะนี้ 60-70 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอาเซียน
ฉะนั้นความหมายของอาเซียน ในเรื่องของการเป็นคู่แข่งที่สำคัญของจีน เป็นตัวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความหมายมาก อาเซียนแต่ละประเทศ เศรษฐกิจเล็กเกินไป แต่หากมีการรวมกันได้จะมีกำลังซื้อมากกว่าจีน
"กระบวนการอาเซียนเวลานี้จำเป็น เพราะการเจรจาต่อรองระหว่างโลกพหุภาคีทั้งหลาย มันเป็นการต่อรองด้วยกำลังทั้งนั้น อย่ามามองว่า การต่อรองทุกอย่างเสมอภาค ไม่มีหรอกครับ ท่านอย่าไปเชื่อว่าประเทศท่านมีเพื่อน ไม่มีประเทศไหนมีเพื่อน ประเทศมีแต่ผลประโยชน์”
อย่างไรก็ตาม การเจรจาต่อรองเป็นเรื่องสำคัญมาก หากอาเซียนต่อรอง 10 ประเทศ 600 ล้านคน น้ำหนักมาก โดยเฉพาะเรื่องการเงินเราสามารถต้านภาวะการเงินที่กระทบเราได้อย่างดี
โดยจะเห็นว่า แบงก์ที่ล่มสลายอยู่ในอเมริกา อยู่ในยุโรป แบงก์ล่มสลายในเอเชียมีหรือไม่ มีเหมือนกัน แต่น้อย บังเอิญคนเอเชียเรียนรู้ประสบการณ์จากวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติของเอเชียเมื่อปี 1998-1999 สอนให้คนเอเชีย โดยเฉพาะรัฐบาล และเอกชนกู้เงินน้อย ระบบการเงินมีการเพิ่มทุนมาก มีทุนพอ มีหนี้เสียน้อย ปรากฏว่า ทั่วโลกแย่ แต่แบงก์ในเอเชียดีหมด ไม่มีปัญหา
นี่คือเรื่องสำคัญ….
การเป็นประชาคมอาเซียนจึงมีประโยชน์ ไม่ใช่เรื่องการค้า การลดภาษีเหลือ 0 อย่างเดียว แต่เราจะใช้เงินเป็นตัวต่อรองที่สำคัญมากได้ ใครกำลังกำหนดเรื่องอะไรในโลกนี้ อาเซียนสามารถนำไปต่อรองแล้วมีผลได้
ดังนั้น การเตรียมพร้อมเรื่องอาเซียน ต้องมีความหมายในเรื่องการบริหารสินค้าสาธารณะร่วมกันด้วย บริหารแหล่งน้ำ ทรัพยากรน้ำ พลังงาน มนุษย์ สิ่งแวดล้อม นิเวศ การเงินที่มีเสถียรภาพ การขนส่ง สาธารณะ
ทุกอย่างเป็นสินค้าสาธารณะ ประเทศหนึ่งประเทศใดจะบริหารประเทศเดียวไม่ได้ผล หากมีการบริหารร่วมกันจะได้ผลเป็นทวีคูณ เป็นโอกาสที่ประเทศในอาเซียนต้องทำ รวมทั้ง มาตรฐานก็ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันของอาเซียนด้วย...