ดร.ปราณี ทินกร มองศก.เพื่อความเป็นธรรม "กติกาภายในระบบทุนนิยม ไม่ควรมีการผูกขาด"
"กติกาภายในระบบทุนนิยม ไม่ควรให้มีการผูกขาด
ไม่ควรให้ใครมามีอำนาจเหนือตลาด
ตรงนี้จะทำให้เขาได้กำไรสูงสุด"
ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วในทุกด้าน โดยมีปัญหาเชิงโครงสร้างเป็น "แกนกลาง" ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ได้นำเสนอภาพรวมของปัญหาออกมาแล้วว่า
ตัวโครงสร้างของการจัดสรรอำนาจนั้น ได้กีดกันไม่ให้คนจำนวนมากเข้าถึง "ทรัพยากร" ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรที่ควรถูก "ปฏิรูป" เพื่อสร้างความเป็นธรรม มีอยู่ 4 ด้าน คือ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรเศรษฐกิจ ทรัพยากรสังคม และทรัพยากรการเมือง
จับเฉพาะ "ทรัพยากรเศรษฐกิจ" ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ชวนคุยกับ "ศ.ดร.ปราณี ทินกร" นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตกรรมการปฏิรูป กับมุมมอง เศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม..
@ คำอธิบาย ต่อคำว่า "เศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม"
เศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม แล้วแต่มุมมอง..
หากคุณเป็นพวก นักสังคม (Socialism) คุณก็บอกว่า ทุกคนต้องได้เท่าเทียมกัน แต่ถ้าคุณเป็นนายทุน นายทุนจะบอกว่า ได้ตามที่คุณผลิต เมื่อเป็นเจ้าของทุน คุณบอกคุณลงทุนแยอะ ก็ต้องได้กลับมาเยอะ ลูกจ้างแค่มาลงแรง ก็ได้น้อย
ถามว่า กติกาอย่างนี้ แล้วผลเป็นอย่างนี้ และก็เหมือนกับคุณเล่นฟุตบอล บอกกติกาเป็นอย่างนี้ เมื่อคุณทำประตูได้ เมื่อจบเกมได้ผลอย่างนี้ คุณก็ชนะ
ถ้าตามกติกา จะเห็นชัดว่า พูดเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ พูดยาก แต่หากพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือความเป็นธรรมทางสังคม คนจะตกลงกันง่ายกว่า
เศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม ในความหมายของคณะกรรมการปฏิรูป เรามองเรื่องความเหลื่อมล้ำ มีที่มา มีต้นตอมาจากอำนาจรัฐ อำนาจนายทุน และอำนาจเหนือตลาด ฉะนั้นหากเราอยากให้สังคมมีความเป็นธรรม เราจะต้องเข้าไปแก้ไขประเด็นเหล่านี้
@ มีกรณีตัวอย่างการใช้อำนาจรัฐที่มีความไม่ยุติธรรม ที่เห็นกันบ่อยๆ บ้างหรือไม่
ก็เช่น ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ป่า อยู่มาวันหนึ่งก็ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวน ไปทับที่ แล้วก็ไปจับข้อหาบุกรุกป่าสงวน ถามว่าชาวบ้านอยู่กันมากี่สิบปีแล้ว และการจับขังคุกชาวบ้านก็ไม่มีเงินประกันตัว ถามว่า เป็นธรรมหรือไม่
@ แล้วจะทำอย่างไรให้มีสังคมที่เป็นธรรม
สังคมที่เป็นธรรม จะมองเห็นคนทุกคนเท่ากัน หรือจากหลักประชาธิปไตย คนทุกคนมีเสียงเท่ากัน แต่หากบอกว่า เศรษฐกิจที่เป็นธรรมในระบบทุนนิยม คนทุกคนเท่ากันหรือไม่... ไม่เท่า อีกทั้งยังมีความเหลื่อมล้ำตามมาอีกที่เกิดจากระบบทุนนิยม
ตัวอย่าง เลดี้ กาก้า ร้องเพลงเก่ง เก่งกว่านักร้องรุ่นเดียวกับเขาทั้งเยอะแยะ เขาก็ได้รายได้เยอะ รายได้สูงกว่าคนอื่นเป็นร้อยเท่าพันเท่า ถามว่า เรารับได้หรือไม่
นี่คือความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ถามว่า แล้วเศรษฐกิจแบบนี้เป็นธรรมหรือไม่ หากกติกาเป็นธรรม ทุกคนยอมรับ ผลที่ออกมาคุณก็ต้อง...(ตอบเอง) ยอมรับ แต่ถามว่า กติกานี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือไม่ ...เกิด และความเหลื่อมล้ำตรงนี้ มันมากเกินไปไหม ?
@ หากความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นในระดับปัจจเจก ?
เราคงไม่คิดอะไร เราก็ยอมรับ ยอมรับ (ย้ำ)
แต่พอยอมรับไปนานๆ และฐานะของคนกลุ่มหนึ่งไม่ขยับเขยื้อน คนจน ไม่มีความหวัง ไม่สามารถเลื่อนฐานะของตนเองได้เลย ลูกของเขาเองก็ยิ่งมองไม่ออก ไม่มีความหวังอะไรที่จะทำให้ลูกเขาดีขึ้น
ถามว่า อย่างนี้ผลสุดท้าย จะเกิดปัญหากับระบบสังคมหรือไม่ ?
...เกิด ใช่หรือไม่
@ กรณีผลสำรวจจากหลายๆ แห่งพบว่า คนอีสานและคนภาคเหนือจนสุด
(อ่อ) เป็นอย่างนี้มานาน
แล้วพอมีคนมาเอาเงินให้เขา ขอทำความเข้าใจว่า "เงิน" ไม่ใช่ตัวเงินอย่างเดียว แต่เป็นทางผ่านทางนโยบาย เช่น ให้หลักประกันทางสุขภาพ ให้เงินผ่านทางกองทุนหมู่บ้านเพื่อใช้จ่าย เขาจึงรู้สึกว่าเป็นบุญคุณ
เห็นหรือยัง (ถามด้วยเสียงหนักแน่น) เป็นการซื้อใจ...ซื้อได้
@ คะแนนเสียงของเพื่อไทยก็ปรากฏชัด ได้มากสุดจากเหนือและอีสาน
แสดงว่า นโยบายตั้งแต่พรรคไทยรักไทย (เดิม) ซื้อใจเขาไว้ได้แล้ว
ตอนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออก เคยให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายที่ดีของทักษิณ คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถามว่า คนจนเขาเดือดร้อนเรื่องอะไรมากที่สุด
...เวลาเขาไม่สบายเขาไม่มีเงินรักษาตัวเอง บางคนมีรายได้อยู่ แต่พอไม่สบาย ก็หมดเนื้อหมดตัวไปกับการรักษาพยาบาล พอมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขามีความรู้สึกว่า มีความมั่นคงในชีวิต
หลักประกันพวกเนี๊ยะ (เน้นเสียง) จริงๆ ถึงแม้ทักษิณไม่ได้เป็นคนคิด มีพวกคุณหมอ (นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) เป็นคนคิด แต่ทักษิณเป็นคนทำให้นโยบายนี้เป็นจริง มันเกิดขึ้นมา จริงม่ะ
ฉะนั้นชาวบ้านทั่วไป ก็รักและภักดี อันนี้เราไปว่าชาวบ้านไม่ได้
@ ทั้งหมดทั้งปวงปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากอะไร
มันเกิดจากปัญหาของประเทศที่สะสมมานาน อำนาจรัฐมีมากเกินไป แถมรัฐยังไปเข้าข้างนายทุน กับชนชั้นปกครอง ผู้มีอำนาจ เมื่อชาวบ้านเห็นความเหลื่อมล้ำ หลายๆ กรณี ในสายตาของคนที่....ไม่มีอะไรเลย เขาจึงมองว่า ไม่เป็นธรรม
ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับคนมอง "เศรษฐกิจที่เป็นธรรม" มองจากมุมไหน
@ "เศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม" มองกลางๆ คือ..
เราก็เห็นปัญหาว่า โอเค เราต้องดูว่า กติกาเป็นธรรมหรือไม่ ผลลัพธ์ออกมาเป็นธรรมหรือไม่ ถ้ากติกาเป็นธรรมบางครั้งเราอาจยอมรับผลลัพธ์ แต่ผลลัพธ์ที่มันเหลื่อมล้ำจนเกินไป ผลสุดท้ายมันจะสร้างปัญหาให้กับระบบสังคมและระบบการเมือง
จากนั้นมันก็จะลาม...ไปที่ระบบเศรษฐกิจ เพราะอะไร เพราะมันมีความปั่นป่วนทางการเมือง
ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำที่มากเกินไป จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ทุกประเทศในโลกเขาก็แก้ไขผลลัพธ์ โดยมีระบบสวัสดิการต่างๆเข้ามา
@ แล้วกรณีเกิดวิกฤติหนี้สินของกรีซ ซึ่งก็เหมือนต้มยำกุ้งในปี 2540 ของไทย
(ตอบทันที) อันนี้ก็ต้องระวัง
@ ว่าที่รัฐบาลใหม่กับประชานิยม นโยบายอันไหนน่ากลัว หรือโอเคสุด
เราต้องไล่นโยบายออกมาให้หมด ลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% อันนี้อาจจะ...โอเค แต่ในระยะเริ่มต้นก็จะมีปัญหาในเรื่องการหารายได้มาทดแทน
อย่าลืมว่า ตอนนี้ภาษีที่ได้จากภาษีนิติบุคคลประมาณ 4-5 แสนล้านบาท (เน้นเสียงจริงจัง) เยอะนะ ทีนี้หากหายไปเป็นแสนล้าน...คุณมีอะไรมาทดแทนไหม
ถ้าสมมุติคุณสามารถขยายฐานภาษีได้ แล้วมาทดแทนตรงนี้ ก็...โอเค แต่เราก็ต้องคอยระมัดระวังดูว่า จะเกิดได้ไหม
@ แล้วภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะมาทดแทน-ควรขึ้นหรือไม่
คิดว่า ควรขึ้น
ถามว่า ขึ้นได้ไหม ขึ้นได้ หากการเก็บ VAT ไม่ได้เก็บจากรายจ่าย หรือรายการที่คนจนใช้ เช่น ข้าวไม่เก็บ อาหารสดไม่เก็บ แต่ไปเก็บพวกเสื้อผ้า รถยนต์ ของฟุ่มเฟือย สินค้าที่เป็นพวกชนชั้นกลาง ถึงคนรวยใช้ ฉะนั้นขึ้น VAT ไม่มีปัญหา
@ สุดท้าย สิ่งที่อยากจะฝาก
คือ ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ มีที่มาจากความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สิน ทั้งที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลาย รวมทั้ง คลื่น (ลากเสียงยาว) ทั้งหลายที่นายทุนได้รับให้สัมปทานไป ได้โอกาสบวกกับสัมปทานที่มีการผูกขาด
กติกาภายในระบบทุนนิยม เราไม่ควรให้มีการผูกขาด ไม่ควรให้ใครมามีอำนาจเหนือตลาด ตรงนี้จะทำให้เขาได้กำไรสูงสุด เกิน แต่หากมีการแข่งขันอย่างเต็มที่แล้ว กำไรส่วนเกินตรงนี้จะไม่มี หรือ ได้ ก็ได้เฉพาะกำไรปกติ ซึ่งมันก็...โอเค
การได้กำไรส่วนเกินก็เท่ากับว่า คุณมีทุนเยอะอยู่แล้ว กำไรส่วนเกินคุณก็ได้เยอะ ยิ่งโปะยิ่งบาน ทุนยิ่งเยอะ มันก็ยิ่งบาน..