"ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม" ปาฐกถาพิเศษ “การปฏิรูป เพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม”
"ความเป็นธรรมที่แท้จริงในโลกนี้ ไม่มี ที่มีเป็นนามธรรม เป็นคำพูด
แต่ถ้าถาม รูปธรรมเป็นอย่างไร ไม่มีใครตอบได้
สิ่งที่ตอบนั้นคือความเห็นของคนๆ หนึ่ง"
วันที่ 20 กรกฎาคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการสัมมนาทางวิชาการ ประจำปี 2554 ครั้งที่ 34 “ได้เวลาปฏิรูป... เพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม” ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ปาฐกถาพิเศษ “การปฏิรูป เพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม”
นายไพบูลย์ กล่าวว่า นอกจากเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแล้ว หลายปีที่ผ่านมาเราตกอยู่ในสภาวะของความขัดแย้ง ความรุนแรง สาเหตุหนึ่งที่ดูเหมือนว่าเป็นสาเหตุพื้นฐานของความขัดแย้งรุนแรง คือความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งแม้อาจไม่ใช่เหตุโดยตรงของการที่ผู้คนออกมาประท้วงปิดถนน ปิดสนามบิน ฯ แต่เรื่องทั้งหลายก็เชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างสลับซับซ้อน จึงมีนักคิด นักวิชาการ นักกิจกรรมสังคม นักนโยบาย รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ จำนวนมากที่เห็นว่า การจะแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อนของไทย รวมถึงความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงอย่างรวดเร็วหรือสวยงามนั้น จำเป็นต้องมีการปฏิรูป มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ
"การเลิกพูดเรื่องความอยู่ดีกินดี ไม่ได้แปลว่า จะต้องยากจนข้นแค้น เพียงแต่ถือว่า เรื่องความอยู่ดีกินดี เป็นสมมุติฐานที่ต้องมีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมา สิ่งที่สังคมไทยไม่ได้ตระหนักมากพอคือเรื่องความเป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ ที่มีสาเหตุที่มาสลับซับซ้อนมาก หลายมิติ หลายชั้น หลายช่วง จะปฏิรูปอย่างใดอย่างหนึ่งจึงไม่พอ ต้องปฏิรูปหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน
ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป ที่คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานทำงานอยู่ 10 เดือน และแม้ว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีจะกำหนดให้ทำงาน 3 ปี แต่คณะกรรมการปฏิรูปได้ตัดสินใจแล้วว่า เมื่อจะมีรัฐบาลใหม่ จึงอยากเปิดให้รัฐบาลใหม่มีโอกาสในการบริหารประเทศ แต่ข้อเสนอดังกล่าว ก็ได้สรุปข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปไว้หลากหลายประการมาก อีกทั้งยังเป็นการปฏิรูปแบบบูรณาการ แบบองค์รวมที่มุ่งประเด็นไปที่อำนาจและระบบการจัดสรรและจัดการทรัพยากร ทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติ ทรัพยากรสังคม ทรัพยากรเศรษฐกิจและทรัพยาการทางการเมืองการปกครอง
นักเศรษฐศาสตร์ ยุคนี้ต้องคิดกว้าง
คำว่า ‘เศรษฐศาสตร์’ หมายถึง ศาสตร์ว่าด้วยการจัดสรรทรัพย์หรือทรัพยากร ถ้าตีความกว้างอย่างที่คณะกรรมการปฏิรูปพูดถึงจะหมายถึง ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และที่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจ นั่นแปลว่า นักเศรษฐศาสตร์ ยุคนี้ต้องคิดกว้างกว่าเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอที่จะตอบปัญหา สนองความต้องการ หรือสร้างความพอเพียง ความเหมาะสม ความเท่าเทียม ความเป็นธรรมในสังคมได้ เพราะการพูดถึงความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม เป็นการพูดเพียงแง่มุมเดียว มิติเดียว ส่วนเดียวของระบบสังคมที่สลับซับซ้อน
แต่ก่อนอื่นอยากเรียนว่า คำว่าความเป็นธรรมที่แท้จริงในโลกนี้ ไม่มี ที่มีเป็นนามธรรม เป็นคำพูด แต่ถ้าถามว่า รูปธรรมเป็นอย่างไร ไม่มีใครตอบได้ สิ่งที่ตอบนั้นคือความเห็นของคนๆ หนึ่งว่าสิ่งนี้เป็นธรรม ซึ่งแน่นอนว่ามีโอกาสสูงมากที่จะไม่ตรงกับความเห็นของคนอื่น ฉะนั้น ความเป็นธรรม จึงเป็นความเห็นไม่ใช่ความจริง จะค้นหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจที่เป็นธรรมยากมาก แม้ว่าข้อเสนอของคุณอานันท์จะทำมาเป็นข้อๆ ทั้งภาพใหญ่ภาพย่อย ทั้งเรื่องการจัดสรรทรัพยากรทุกภาคส่วนให้เป็นธรรม ส่วนภาคย่อยก็เป็นต้นว่า การจัดสรรทรัพยากรที่ดินให้ครอบครัวหนึ่งมีที่ดินไม่เกิน 50 ไร่
หากถามว่า เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม โยนคำถามเข้าไปคนส่วนหนึ่งอาจมองว่าเป็นธรรม แต่คนอีกส่วนอาจมองไม่เป็นธรรม
เช่นเดียวกับนโยบายรัฐบาลที่กำลังเป็นประเด็นร้อนๆ อยู่ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม ราคาข้าวจะมีการจำนำในราคา 15,000 บาทต่อตันเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม การถมทะเลที่ปากอ่าวไทย ซึ่งจะเกิดส่งผลกระทบนานัปประการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม แผนพัฒนาภาคใต้ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อพื้นที่ภาคใต้ ล่าสุด ผังประเทศไทย พ.ศ.2600 เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม
สิ่งที่เราเรียกว่า ความเป็นธรรม หากจะเกิดขึ้นได้ ผมเห็นว่ามีอยู่ทางเดียวคือ จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุก ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาเจรจาหารือ ศึกษาพิจารณาร่วมกัน อาจจะในรูปแบบที่เรียกกันว่า สานเสวนา (Dialog) ในเรื่องที่เป็นนโยบายสำคัญของประเทศ และนั่นถือเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง ร่วมคิดร่วมทำ ร่วมจัดการ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยที่ดีกว่าประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ประชาธิปไตยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
หากคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มาศึกษาพิจารณา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรึกษาหารือกัน จนได้ความคิดเห็นร่วมกันว่า เราควรจะมีมาตรการ มีการกำหนดระยะเวลาดังต่อไปนี้ มีกลไกกำกับดูแลเพื่อให้เกิดผลจริงดังต่อไปนี้ จะเป็นชุดมาตรการณ์ที่ออกมา ซึ่งนั่นแหละจะใกล้เคียงกับคำว่า ความเป็นธรรม เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเห็นว่าทำอย่างนี้ถึงจะดี เป็นธรรม
ฉะนั้น การสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรมก็ดี หรือจะขยายรวมถึงการสร้างความเป็นธรรมในสังคม เพราะจริงๆแล้วเราต้องการความเป็นธรรม ความเท่าเทียมทั่วทั้งสังคมในทุกภาคส่วน ทุกมิติ ถ้าขยายความเช่นนั้นแล้ว วิธีการหรือเรียกให้หนักแน่นว่า ยุทธศาสตร์สำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ทำให้ประชาชนทั้งหมด มีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามความเห็นของพวกเขา เนื่องจากได้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง นโยบาย วิธีการ กลไก โครงสร้างต่างๆ ในการที่จะทำให้เกิดชีวิตที่ดีขึ้นสังคมที่ดีขึ้น
ผมกล่าวตอนต้นแล้วว่า ความเป็นธรรมอย่างเดียวไม่พอ มีความเป็นธรรมแต่ประชาชนยากจนเท่ากันหมดก็คงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ มีความเป็นธรรมแต่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินไม่ดีพอ เราก็คงไม่พอใจ ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการ หนีไม้พ้นการคิดในรูปขององค์รวมทั้งหมด ความบูรณาการของทั้งสังคม จะคิดเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่พอ
นักเศรษฐศาสตร์อาจเน้นเฉพาะประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์ แต่หากจะคิดช่วยแก้ปัญหาสังคม จำเป็นต้องคิดไกลไปกว่าเศรษฐศาสตร์ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำเองเสียทุกเรื่อง เพราะคนอื่นก็ทำเรื่องอื่นๆ เช่นกัน เพียงแต่จะเชื่อมร้อยคนที่ทำงานในภาคส่วนต่างๆ สาขาต่างๆ มีความชำนาญในมิติต่างๆได้อย่างไร..............
ฉะนั้นในเรื่องเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม ประการแรกผมคิดว่าจะต้องขยายความคำว่า ความเป็นธรรมให้กว้างขวางออกไป ให้ความเป็นธรรมในสังคม ไม่ใช่เฉพาะเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เพราะนอกจากเศรษฐกิจแล้วยังมีประเด็นอื่นๆ ด้วย หรือกระทั่งบริษัทธุรกิจ เขาก็ไม่ได้ทำแต่เรื่องธุรกิจ มีการพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ธรรมาภิบาล ที่ทำงานที่เป็นสุข องค์กรธุรกิจไม่ใช่แต่หากำไร หาผลิตผลอย่างเดียว แต่ต้องสนใจสังคม จิตใจ วัฒนธรรม การเอื้อเฟื้อเผื้อแผ่ การดูแลสภาพแวดล้อม สังคมรอบข้างต่างๆ นานา จึงจะเรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่มีความสุข ทุกฝ่ายพอใจ และนั่นคือความเป็นธรรม
รวมทั้งค่าจ้างแรงงานด้วย จะเท่าไหร่เป็นเรื่องรอง ตราบใดที่คนในองค์กรธุรกิจอื่นๆ ตกลงกันได้ว่า จะมีระบบ ค่าจ้าง สวัสดิการเท่านี้ มีนโยบาย มีการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพเช่นนี้ก็ตกลงร่วมกันว่า นี่คือเป็นสิ่งที่พึ่งปรารถนา ซึ่งจะร่วมความเป็นธรรมเข้าไปด้วย มิเช่นนั้น คำว่าเป็นธรรมจะถูกตีความแคบมาก
เช่นว่า คนจบปริญญาตรี จบปริญญาโทได้เท่านี้ คนทำงานมากี่ปีได้เท่านั้น เหล่านี้เป็นการตีความที่หลายครั้งทำให้คนในองค์กรขัดแย้งกันเอง ฉะนั้น ความเห็นพ้องต้องกันที่เกิดจากการมีส่วนร่วมผ่านกระบวนการที่เรียกว่า สานเสวนา คือวิธีการที่จะสร้างความเป็นธรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีความยั่งยืน
แต่ความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวยังไม่พอ ต้องพูดถึงความเป็นธรรมในสังคม และความเป็นธรรมในสังคมอย่างเดียวก็ยังไม่พอ และต้องพูดถึงสังคมที่พึงปรารถนาด้วย
สังคมที่พึงปรารถนา ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 10 และ 11 ใช้คำว่า สังคมที่เย็นเป็นสุขร่วมกันเป็นวิสัยทัศน์ที่สั้นกระชับ แต่พูดแค่นี้เป็นนามธรรม จึงต้องไปแปลต่อว่า ทำอย่างไรถึงจะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ซึ่งก็มีด้วยกัน 7 หมวด รวมทั้งมีการสร้างตัวชี้วัด ซึ่งนั่นก็สามารถทำให้วิสัยทัศน์ที่เป็นนามธรรมถูกขยายความเป็นกึ่งรูปธรรมและรูปธรรม.........
ถ้าเราจะพอใจกับสังคมเหล่านี้ จะต้องมีอะไรบ้าง หนึ่งในนั้นคือเรื่องความเป็นธรรม ที่เราต้องตีความคำว่า ความเป็นธรรมออกมาเป็นรูปธรรม และความไม่เป็นธรรมจะต้องไม่จำกัดอยู่เพียงภาคส่วน เพราะขณะนี้ความไม่เป็นธรรม ความอยูติธรรมเกิดขึ้นมากมาย
ศ.อมาตยาเซน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เคยพูดไว้ว่า การค้นหาความเป็นธรรมที่สมบูรณ์ ที่ดีเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้นจึงเสนอแนะว่า ควรไปค้นหาสิ่งใดที่เป็นความไม่เป็นธรรมอย่างรุนแรงแล้วไปแก้เสีย ซึ่งจะเป็นการชัดเจนกว่ามาถามหาความเป็นธรรมว่าคืออะไร
ถ้าเพื่อเรามองความเป็นธรรมว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่พึ่งปรารถนา แล้วไปขยายความว่าสังคมที่พึ่งปรารถนาคืออะไร อาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ บอกว่า สังคมที่พึ่งปรารถนาควรประกอบด้วย 1.มีเสรีภาพ 2.มีสมรรถภาพ3.มีความยุติธรรม และ 4.เมตตากรุณา ซึ่งถ้าเพื่อนำ 4 ข้อดังกล่าวมาปรับเป็นตัวชี้วัด จะเห็นเลยว่า เรื่องสมรรถภาพพอไปได้ เสรีภาพคะแนนต่ำกว่าสมรรถภาพ ความยุติธรรมน่าจะต่ำ ความเมตตากรุณาก็น่าเศร้าที่ต่ำตามไปด้วย
ตั้งคำถามสังคมที่พึงปรารถนาควรเป็นอย่างไร
คนไทยสมัยนี้ความเมตตากรุณา ความถ่อยทีถ่อยอาศัย ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งสันปันส่วน เมตตาไมตรีน้อยลงไป เพราะถูกทดแทนด้วยความเคียดแค้นชิงชัง ต่อสู่ แข่งขัน การเผชิญหน้าในรอบหลายปีที่ผ่านมา.......
ผมเองก็มีความคิดเหมือนกันว่า สังคมที่พึงปรารถนาควรจะเป็นอย่างไร แต่ผมไม่ได้คิดถึงสังคมอย่างเดียว แต่คิดถึงตั้งแต่บุคคล สังคม ครอบครัว องค์กร ชุมชน จังหวัด ประเทศและโลกทั้งโลก จะมีความเจริญ สันติสุขอย่างมั่นคง ยั่งยืนได้ ต้องอาศัย 3 อย่างคือ 1.ความดี นับเป็นฐานสำคัญ เพราะสังคมใดที่ขาดความดีหรือความดีไม่พอ อย่างอื่นจะไร้ความหมาย ถูกบั่นทอน
ประเทศไทยมีคนที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต มีความเคียดแค้นชิงชัง มีความมักได้ เกียจคร้าน เห็นแก่ตัว ทำให้อย่างอื่นยากไปหมด
2.มีความสามารถคิด ทำ จัดการ อยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งประเทศไทยก็มีความสามารถพอสมควร โดยเฉพาะความสามารถทางเศรษฐกิจ เนื่องจากว่าความสามารถทางเศรษฐกิจ อยู่บนฐานของกิเลส อะไรที่อยู่บนฐานของกิเลสจะไปได้ด้วยดี ฉะนั้น เพราะสนองกิเลส จึงต้องมีความสามารถ ทำให้ความสามรรถของไทยในเรื่องดังกล่าวไม่อ่อนด่อยจนเกินไป
3.ความสุข สุขภาวะที่ดี และมีความหมายกว้างถึงสุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางใจ สุขภาวะทางจิตวิญญาณ จิตสำนึก ตรงนี้สำคัญมาก และแม้ว่าจิตสำนึกจะอยู่ลึก แต่มีพลังสูง พลังจิตสำนึกเปลี่ยนชีวิตและเปลี่ยนโลกได้
ฉะนั้น ถ้าสังคมใด ประเทศใดมีความพร้อมทั้งความดี ความสามารถ และความสุขหรือสุขภาวะ นั่นคือสังคมที่พึงปรารถนา แต่ 3 อย่างนั้นต้องที่มากพอและสมดุลกัน
แต่สิ่งที่ด้อยลงในขณะนี้ และไม่มีทีท่าจะดีขึ้นนั่นคือ ความดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งทั้งความสามารถและความสุขเมื่อเราขาดความดี ทะเลาะกัน ขาดความสามัคคี โกรธเกลียด ฆ่าฟันกัน ไม่ให้อภัย ไม่อดทนซึ่งกันและกัน ที่สำคัญเราไม่ซื่อสัตย์ เรามองว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องธรรมดา โกงตั้งระดับสูงสุดกระทั่งระดับต่ำสุด สิ่งแหละจึงบั่นทอนความสามารถ บั่นทอนความสุข
หากมองว่า เราต้องการสังคมที่พึงปรารถนา ที่รวมถึงความเป็นธรรมทั่วไป ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข สิ่งที่ต้องการคือค้นหาว่า สังคมที่พึงปรารถนาเป็นอย่างไร ใช้กระบวนการที่ผู้คนมีส่วนร่วม ฉะนั้น กระบวนการของการมีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้เกิดความเป็นธรรม และการอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
การมีส่วนร่วมต้องเกิดขึ้นในหลายๆ ระดับ หลายๆ บริบท ทั้งในหมู่บ้าน ตำบล อบต เทศบาล จังหวัด ต้องเกิดขึ้นในองค์กรทุกชนิด ไม่ว่ารัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม
การมีส่วนร่วมต้องเกิดขึ้นอย่างมีเทคนิค มีประสิทธิภาพ มีธรรมภิบาล จึงจะสามารถหาความเห็นร่วมกันได้ว่า ประเทศไทยที่พึงปรารถนาควรเป็นอย่างไร แล้วจึงมาร่วมกันคิดว่า ยุทธศาสตร์สู่ประเทศไทยที่พึงปรารถนา จะเป็นอย่างไร
ยุทธศาสตร์บางอย่างเป็นยุทธศาสตร์เชิงกระบวนการ อย่างเช่นการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจการปกครองให้ถึงท้องถิ่น ถึงประชาชน ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค นี่ก็เป็นยุทธสาสตรที่ทำให้เกิดความเป็นธรรมอย่างบรูณาการ เพราะว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม กำหนดสภาพที่พึ่งปรารถนาในชุมชนของตนเอง และหาวิธีการมาร่วมคิดร่วมกันให้เกิดผล เกิดความสุข ความพอใจ จนอาจรู้สึกว่าไม่ต้องถามหาถึงความเป็นธรรมอีก
วันนี้เราพูดเรื่องการปฏิรูป การสร้างสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ผมหวังว่าทุกอย่างจะค่อยๆดีขึ้น เพราะการสร้างสังคมที่พึงปรารถนา ต้องพูดกันเป็นทศวรรษ ฉะนั้น คงต้องใจเย็นๆ แต่ต้องมุ่งมั่นพยายามที่จะทำในสิ่งที่เราสามารถทำได้ ใครอยู่ที่ไหนก็ทำที่นั่น เกาะเกี่ยวกับคนอื่นให้เป็นเครือข่าย เชื่อมโยงเป็นระหว่างพลังภาคประชาชน ภาคสังคมไปสู่พลังทางเศรษฐกิจ พลังภาคธุรกิจ ภาครัฐ นักวิชาการและอื่นๆ ให้เป็นกระบวนการใหญ่ในสังคมที่เรียกว่า ทุนทางสังคมอันยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ดีขึ้นเรื่อยๆ