ปาฐกถา... “สมสุข บุญญะบัญชา” ฉายภาพปัญหา “ที่อยู่อาศัย” มากกว่า ที่ซุกนอน
“หากมีการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ก็จะสามารถแก้ปัญหา
ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อำนาจได้”
เมื่อเร็วๆ นี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการปาฐกถา “เสาหลักของแผ่นดิน” ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย อ.สมสุข บุญญะบัญชา อดีตผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และอดีตกรรมการปฏิรูป ปาฐกถา ในหัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมด้านที่อยู่อาศัยในประเทศไทย”
อ.สมสุข กล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในปัจจุบันเป็นการแก้แบบเทคนิคมองที่ “ดิน” และ “ที่อยู่อาศัย” เป็นการค้า มีการซื้อขายและเก็งกำไร ผิดเพี้ยนและเลอะเลือนไปจากความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ที่อยู่อาศัย” ที่เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของชีวิตมนุษย์
“มนุษย์จะอยู่โดยไม่มีที่อยู่อาศัยไม่ได้ ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องที่ว่ามีเงินเยอะก็ซื้อได้ มีเงินน้อยก็ซื้อน้อย หรือไม่มีเงินก็ไม่มีที่อยู่เลย เพราะที่อยู่อาศัยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชีวิต สร้างพลัง และเป็นส่วนหนึ่งของศักดิ์ศรีและความมั่นคงของมนุษย์ ฉะนั้น ที่อยู่อาศัยมีความสำคัญมากกว่าการเป็นชุมชน หรือสินค้าซื้อขายไปมา
เราสามารถใช้กรรมวิธีแบบสมัยปัจจุบันของทุนนิยม ที่จะทำให้การซื้อขาย หรือการจัดหาไม่ได้มาจากรัฐเพียงฝ่ายเดียว ประชาชนสามารถช่วยจัดหาและช่วยคิดได้
ประเด็น ที่อยู่อาศัยที่มีความมั่นคงทำให้เกิดครอบครัวที่มั่นคง “ที่อยู่อาศัย” ทำให้เกิดสถานะของความเป็นพลเมือง ประเด็นนี้สำคัญ เพราะต่างชาติเล็งเห็นให้มีการรณรงค์เรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัยมากขึ้น หากอยู่ในที่อยู่อาศัยที่มีทะเบียนเรียบร้อย ก็จะมีสิทธิความเป็นพลเมือง มีทะเบียนบ้าน ขณะที่คนที่ไม่มีทะเบียนบ้าน เช่น ในสลัม หรือคนที่มีทะเบียนบ้านชั่วคราว แสดงว่า มีสถานะชั่วคราว หากสิทธิพลเมืองหายไป การจะใช้สิทธิอื่นๆ ในสังคมก็จะลำบาก เช่น การเข้าโรงเรียนของลูกและการขอน้ำ ไฟ
สิทธิของการเป็นประชาชน พลเมือง มาพร้อมกับที่อยู่อาศัยที่ถูกต้อง ความมั่นคง เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องเชื่อมโยงระหว่างบุคคลกับครอบครัว ที่ตั้งของที่อยู่อาศัยกับประชาสังคมควรจะมีปฏิสัมพันธ์กัน แต่ปัจจุบันนี้ความหมายมันเพี้ยนไป ความหมายในปัจจุบันมีความเป็นปัจเจก มีบ้าน มีคอนโดฯ สวยงาม แต่คนไม่รู้จักกัน ไม่มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ความเป็นชุมชนมันหายไป
สำหรับชุมชนที่มีปัญหา ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่ได้สิทธิอันพึงจะได้ มีอยู่ประมาณ 6 ประเภท ได้แก่
1.พวกร่อนเร่ เป็นพวกตัวคนเดียว ทั้งหมดทั่วประเทศคาดว่า มีประมาณ 2 หมื่นคน จัดเป็นผู้ที่ยากจนที่สุดและอยู่กระจัดกระจายที่สุด
2.ชุมชนแออัด หรือสลัม ที่อยู่อาศัยของคนที่มีรายได้น้อย จากการสำรวจในประเทศไทยขณะนี้โดยภาพรวมมีทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคน ที่มีการสำรวจใหม่ในช่วงที่ผ่านมาประมาณ 1 พันเมือง แต่ข้อมูลยังมีการปรับเพิ่มรายละเอียดอยู่ ส่วนชุมชนผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้น้อยมีอยู่ประมาณ 9 ล้านคนที่ผสมกัน มีห้องเช่าอยู่ด้วย
3.ชุมชนบุกเบิก หรือจะเรียกว่าบุกรุก เป็นพวกมาทีหลัง หาสลัมอยู่ไม่ได้ หรือถูกไล่ออกจากสลัมใหญ่ ก็ไปรวมตัวกันเล็กๆ 5-7 หลัง เป็นชุมชนบุกรุกเล็กๆ กระจายอยู่ เพราะชุมชนแออัดประเภทที่เปิดให้เช่าจะน้อยลงเรื่อยๆ กลายเป็นประเภทที่
4.ห้องเช่าราคาถูก เป็นประเภทสมัยใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา แล้วก็ขยายออกไปเรื่อยๆ ในปริมณฑลและกรุงเทพฯ มีลักษณะเป็นอาคาร แบ่งออกแยกย่อยมาและไม่มีความสัมพันธ์กันเลย
5.ประเภทชานเมืองชนบท บางพื้นที่ไม่มีสาธารณูปโภค และก็มีปัญหาเรื่องที่ดินจำนวนมากที่หน่วยงานราชการมีโครงการต่างๆ ของรัฐบาลและเอกชนประกาศทับซ้อน ดังนั้น ปัญหาที่อยู่อาศัยที่ทำให้คนเสียศักดิ์ศรี พัฒนาไม่ได้
และ 6.ชุมชนชาวประมง ทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 5 หมื่นถึง 1 แสนครอบครัว ทั้งหมดอยู่ในที่ระหว่างน้ำกับบก เป็นที่อันถือได้ว่า ไม่มั่นคง ต้องประสบกับภัยพิบัติ เป็นหนี้สิน นี่คือปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาจากความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย ผิดกฎหมาย เอากฎหมายไปจับ ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น โดยรวมก็จะมีกลุ่มบุกรุกประมาณ 37% ในทุกเมืองของประเทศไทย
ส่วนเหตุปัจจัยของการที่คนมีปัญหาที่อยู่อาศัย ทำให้มีสิทธิ์ด้อยกว่าผู้อื่น ได้แก่ 1.ความยากจน คนจนมีจนมากได้เงินน้อยลง คนรวยได้เงินมากขึ้น ไม่มีเงินพอจะซื้อที่อยู่อาศัยได้ ถูกทำให้จนโดยระบบ การกำหนดให้มีที่อยู่ที่เป็นมาตรฐาน แต่เศรษฐกิจกับสิทธิพื้นฐานไม่ได้ไปด้วยกัน จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่หลายประเทศในเอเชียเป็น
“รัฐบาลที่มีการประกาศมาตรฐานที่อยู่อาศัย พอประกาศออกมาทำให้บ้านของชุมชนคนจน ผิดกฎหมายไปทั้งหมด แล้วถามว่า รัฐบาลจะแทนด้วยอะไรให้ได้ เป็นการเปิดช่องว่างให้คอรัปชั่นเต็มที่ และหากว่าคนกลุ่มนี้อยากจะซ่อมสร้าง ทำให้ได้มาตรฐานมากขึ้นก็ไม่มีเงิน รัฐบาลก็ไม่ให้เงิน แต่ก็จะให้ทำตามกฎหมาย มันเป็นระบบที่ขัดแย้งกัน ความยากจนคือเรื่องใหญ่ และระบบของประเทศเรายังสร้างคนจนเยอะในพื้นฐาน”
2.ระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการขนาดใหญ่ ถ้าระบบเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ ที่อยู่อาศัยโดยส่วนใหญ่ก็จะไม่เป็นทางการ อย่างที่สิงคโปร์มีที่อยู่อาศัยเป็นทางการ เพราะมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการ ไม่มีเมืองไหนที่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประชาชนทุกคน นายกฯ ผู้ว่าฯ แทบทุกที่ไปทำเรื่องสาธารณูปโภค ทั้งที่มีหน้าที่ทำให้ประชาชนทุกคนมีเศรษฐกิจที่ดี อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่มีแผนจะสร้างอาชีพให้ประชาชนมีความมั่นคง ฉะนั้น เมืองเราคนส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาวะไม่เป็นทางการ ดังนั้นที่อยู่อาศัยจึงไม่เป็นทางการไปด้วย
3.นโยบายแห่งรัฐ หากว่า รัฐใดก็ตามมีนโยบายว่าคนในประเทศจะต้องมีที่อยู่อาศัยที่ดี มีความมั่นคงต้อง แปลว่ารัฐจะต้องหาวิธี ทำให้การจัดการ การหาที่ดิน เป็นไปอย่างมีกระบวนการที่สอดรับกัน ต้องประกาศนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ใช่เพียงนโยบายบางเรื่อง ต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญ รัฐต้องสร้างที่อยู่ จัดหาที่อยู่ให้คนในสังคมมีความมั่นคง ต้องเป็นรัฐที่เชื่อว่าการที่คนในสังคมมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นอิสรภาพพื้นฐาน
4.ปัญหาการรวมศูนย์ ระบบของการจัดการที่อยู่อาศัยรวมศูนย์ไปหมด ทั้งจัดการที่ดินและงบประมาณ ประเทศเราขึ้นกับศูนย์กลาง ไม่ได้จัดการโดยส่วนท้องถิ่น ถ้าท้องถิ่นมาร่วมทำกับชาวบ้านการแก้ปัญหาก็จะง่าย สลัมที่มีอยู่ 30 แห่ง วางแผน 3-4 ปีก็จะหมด
“ถ้าภาพของการแก้เป็นภาพเล็กๆ ที่แต่ละเมืองช่วยกันแก้ช่วยกันจัดก็จะง่ายขึ้น แต่พอไม่มีการกำหนดเช่นนี้ การแก้ก็เป็นส่วนเดียว เป็นนักเลงโตมาจากไหนก็แก้ไม่หมด ระบบบ้านเราการดูแลที่ดินมีอยู่ทุกกระทรวง ทั้งกระทรวงเกษตร กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรฯ ทุกกระทรวงมีการดูแลที่ดินอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ไปจบที่เดียวกัน คือ ทุกกระทรวงจะประกาศเขตทับกัน ทำให้ประชาชนทำมาหากินไม่ได้"
5.การไม่มีระบบการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย คนไม่จำเป็นต้องอยู่สลัมก็ได้ ถ้ามีแหล่งทุนให้กู้ แต่เมื่อไม่มีไฟแนนซ์ที่จะให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงได้ จึงไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ อย่างบ้านเอื้ออาทร หลายคนก็ไม่ผ่านธนาคาร แม้ว่าบ้านนี้สร้างมาเพื่อคนจน แต่คนจนก็เข้าไม่ได้ เพราะว่าไม่มีสถานะการเงินที่ธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้ได้
เมื่อไม่เข้าถึงแหล่งเงินส่วนนี้ แต่คนต้องใช้เงิน จึงไปกู้หนี้นอกระบบ พบว่า ในชุมชนมีหลายคนที่กู้หนี้นอกระบบเป็น 10 เจ้า นับเป็น 80% ถึง 100% ที่ต้องจ่ายรายวัน มีดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือบางที่ร้อยละ 20-50 ก็มี พอกู้ 2 เดือนก็ทบยอดแล้ว นี่คือเรื่องจริงที่พบอยู่จำนวนมาก และชัดเจนว่าเรื่องแหล่งเงินไม่เข้าถึงกลุ่มคนจนเหล่านี้
6.ผลกระทบจากการพัฒนา เมื่อย้อนหลังไป 20 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างถนน มีการไล่ที่ ชุมชนเดิมก็อยู่ไม่ได้ ก็ย้ายถิ่นฐานไปสร้างสลัมใหม่ พบว่า มีคนเคยถูกไล่ที่มา 3-4 ครั้ง จากที่เคยพออยู่ได้ ก็ต้องถูกขยับไปเรื่อยๆ
ปัญหาเรื่องการมองที่อยู่อาศัยเป็นสินค้าเป็นปัญหาใหญ่ และการสร้างระบบปัจเจกขนาดใหญ่ ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันนี้ไม่ได้สร้างความเป็นชุมชน เป็นการสร้างจำนวนที่อยู่อาศัยที่ไม่เชื่อมสัมพันธ์กัน ไม่เกิดการช่วยเหลือกัน ยิ่งถ้าเป็นคนจนแล้วต้องอยู่ในระบบปัจเจกจะลำบากมากยิ่งขึ้น ถูกเดียดฉันท์
ดังนั้น ชุมชนจะต้องสร้างพลังร่วม เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลในยามจำเป็น เกิดวัฒนธรรม การที่แต่ละเมือง แต่ละประเทศนิยมสร้างตึกสูง ขนาดใหญ่ ทำให้เสียความเป็นชุมชน และเสียวัฒนธรรม คนที่หายไประหว่างนี้ ถูกล่วงหล่น คนจนลำบาก เช่น ในประเทศเกาหลี
สาเหตุทั้งหลายที่พูดมา เป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดปัญหาในสังคม และเกิดความไม่เท่าเทียมกัน เมื่อมีที่อยู่อาศัยผิดกฎหมาย หรือต่ำกว่ามาตรฐาน จะส่งผล ทำให้คนกลุ่มนี้ถูกมองเป็นกลุ่มคนชั้นต่ำ ดูถูก เหมือนไม่ใช่มนุษย์ , .ไม่ได้สถานภาพสิทธิความเป็นพลเมืองไทย,ไม่ได้รับบริการพื้นฐาน น้ำไฟต้องจ่ายค่าต่อด้วยราคาแพงกว่าคนธรรมดา 3 เท่า เพราะขั้นตอนที่ยุ่งยาก ฉะนั้น สำหรับราคาค่าสาธารณูปโภคคนจนจ่ายมากกว่า....
รวมทั้งความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย นอกจากต้องเผชิญปัญหาภัยพิบัติแล้ว ยังต้องเผชิญกับอิทธิพล การถูกเอารัดเอาเปรียบและยาเสพติด และการไม่เข้าถึงแหล่งเงินกู้ ส่งผลให้เป็นหนี้นอกระบบ
ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด และเป็นปัญหาที่มีความร้ายแรง ทั้งทางตรงและทางอ้อม
เรื่อง การจัดการที่ดินชนบทที่มีปัญหา ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในพื้นที่นั้นๆ จากความเหลื่อมล้ำทั้งหลายที่มีอยู่ หนทางแก้ในประเทศไทยมีหลายยุค ยุคไหนเป็นระบบแบบใดการแก้ก็จะเป็นแบบนั้น เช่น ถ้าเป็นยุคสังคมนิยมการแก้ก็จะออกมาเป็นสังคมนิยม และถ้าเป็นยุคประชานิยม การแก้ก็จะเป็นประชานิยม
ถ้าเข้าใจแนวคิดเชิงการเมืองกับวิถีก็จะเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการด้านที่อยู่อาศัยเหล่านี้ได้ อยู่ที่ว่าจะทำได้ดี ทั่วถึง เป็นธรรมและมีสาระ ถูกต้องหรือเปล่า
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ประเภทแรก รัฐทำให้ (public housing) นั้น รัฐสร้างแล้วให้ประชาชนเข้าไปใช้ หรือให้เอกชนสร้าง ในบ้านเรามีหนาตามาก เอกชนทำให้ ก็ทำได้ดี ซื้อขายในตลาดคล่อง เพราะมีการเงินเอื้ออำนวย แต่จะทำอย่างไร ให้ถึงคนข้างล่างมากที่สุด 30% ข้างล่างไม่ว่าประเทศใดก็ตาม ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบของเอกชนได้
อีกประเภท ประชาชนทำเอง อย่างที่เมื่อก่อนก็มีการสร้างบ้านอยู่อาศัยกันเอง แต่สมัยนี้ทำยากขึ้น ก็จะมาที่คำตอบว่า ทำอย่างไรให้ภาคประชาชนเข้าร่วมกัน คนจนและพวกที่เหลื่อมล้ำทั้งหมด มารวมกัน สลัดความเหลื่อมล้ำด้วยกัน แล้วสร้างอิสรภาพด้วยกัน พยายามให้คนขึ้นมาเป็นหลักของการแก้ เพราะไม่มีใครจะสามารถแก้ความเหลื่อมล้ำให้ได้ทุกเรื่อง ซึ่งหากมีการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ก็จะสามารถแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อำนาจ ต้องทำพร้อมๆ กัน ดังนั้น ต้องเปิดเรื่องนี้ออกไปให้ประชาชนร่วมคิดร่วมทำ ร่วมเจรจา คนเหล่านี้ก็จะตื่นและมั่นใจว่าตนเองสามารถร่วมคิดได้ เปลี่ยนจากที่ถูกสังคมกดขี่ว่าเป็นคนโง่ คิดอะไรไม่ได้ ให้รู้สึกว่า เทียบเท่าคนอื่น แม้ว่าเงินน้อย อาชีพไม่มั่นคงก็สามารถรวมตัวกันแก้ได้..
สุดท้าย นโยบายที่อยู่อาศัยจะต้องสร้างในรูปแบบที่จะทำให้เกิดความเป็นชุมชน เพราะถ้าจะสู้กับระบบแนวดิ่งในประเทศนี้ต้องสร้างแนวราบที่มีพลัง เคลื่อนไหว มีเนื้อหา มีการเรียนรู้ คือ การสร้างเวทีแนวราบ เป็นเรื่องของการสำรวจ ทุกกลุ่มต้องตั้งกลุ่มออมทรัพย์ สู้ในฐานะกลุ่ม ถ้ามีกลุ่มออมทรัพย์ก็จะเป็นกลไกที่จะปรับโครงสร้างของการเมืองไม่เป็นทางการ กับโครงสร้างระบบที่เป็นทางการ จึงต้องสร้างระบบการเงินขึ้นมาเพื่อปรับสองอย่างนี้ให้ไปด้วยกันได้
"ความเหลื่อมล้ำแก้ได้ ถ้าเข้าใจเหตุปัจจัย มองคนเป็นศูนย์กลาง อย่าให้คนเป็นเหยื่อของการกล่าวหาว่า เป็นผู้สร้างปัญหา แต่ให้คนที่มีปัญหาเป็นผู้แก้ปัญหา ต้องเห็นคนเหล่านั้นเป็นคำตอบ เพราะหน่วยงานต่างๆ ที่คิดว่าจะตั้งขึ้นมาช่วย ไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด แค่การจะลงพื้นที่ นั่งเครื่องบินหลายๆ เที่ยวก็หมดงบประมาณมากแล้ว"