ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร “ปฏิรูปเป็นสิ่งสวยงาม ผมได้เจอคนลงหน้างานจริงๆ”
".....คณะกรรมการปฏิรูป ประกอบด้วยคณะบุคคลที่มีวิชาความรู้ มีประสบการณ์ ปฏิปักษ์ทางด้านความคิด มีบุคคลที่อยู่ในระบบราชการเก่า และคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในระบบใหม่ มีทั้งนักประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ มีทั้งพระสงฆ์ มีสุภาพสตรี 5 คนจาก 20 คน
แต่ละคน...มีความเชี่ยวชาญทั้งเรื่องการศึกษา การปกครอง การคลัง งบประมาณ มีหลายคนมีความเข้าใจดีถึงความยากลำบากของเกษตรกรรายย่อย ความยากลำบากของแรงงาน ทั้งในและนอกระบบ รวมทั้งแรงงานต่างด้าว หลายคนคลุกคลีอยู่ในพื้นที่ มาจากพื้นที่โดยตรง
กรรมการหลายคนไม่ได้นั่งทำงานอยู่แต่หองาช้าง แต่เป็นอาจารย์ที่คลุกคลีกับชาวไร่ชาวนา รู้จักพื้นที่ค่อนข้างดีมาก หลายอยู่ในระบบการศึกษาทั้งระบบปัจจุบัน และระบบทางเลือก มีความรู้ด้านวิชาการ มีประสบการณ์เห็นผิดเห็นถูกในอดีต
ฉะนั้น องค์ประกอบที่ผมตั้งขึ้นมา แม้จะไม่ใช่องค์ประกอบพระอรหันต์ที่จะตรัสรู้ได้ทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยก็เป็นบุคคลที่มีความจริงใจกับการทำงาน เอาใจใส่กับเรื่องนี้ มองถึงอนาคตของประเทศไทย มองถึงอนาคตของลูกหลานของเรามากกว่า...."
ข้างต้นคือคำอธิบายส่งท้าย...ของนายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป ที่วันนี้ได้ต้องใช้คำว่า "อดีต" แล้ว หลังจากประกาศยุติบทบาท ยุติการปฏิบัติหน้าที่ทั้งคณะ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา
โอกาสนี้...ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ขอพาไปเปิดใจ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร อดีตกรรมการปฏิรูป กับการทำงานปฏิรูป ความสวยงามของการปฏิรูปในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา...
@ ขอโฟกัสเรื่องการศึกษาในมุมการทำงานของคปร.
การศึกษา ไม่ใช่เรื่องของการไปโรงเรียนเท่านั้น แต่การศึกษาคือการเรียนรู้ของคนตลอดชีวิต หลักๆที่มีการพูดเรื่องการศึกษาในคณะกรรมการปฏิรูป เป็นเรื่องของแนวคิด 1. พยายามสร้างเงื่อนไขสำหรับระบบใหม่ 2.ทำระบบปัจจุบันให้ดีขึ้น
สร้างระบบใหม่ที่ดีขึ้น คือการไปลดขนาด (Downsizing) รัฐบาลตรงกลาง ซึ่งก็เป็นข้อเสนอเดียวกับการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องลดบทบาทลง ไม่เป็นผู้จัดการศึกษาอีกต่อไป กระทรวงศึกษาธิการต้องเปิดเวทีให้คนอื่นเขาเข้ามาจัด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทางเลือก ให้เอกชนเข้ามาจัด หรือองค์กรพัฒนาเอกชน
คำว่า เปิดเวที จึงต้องมีการอ่อนตัวเรื่องการประเมิน การเทียบโอน และเรื่องมาตรฐาน โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องลดบทบาทจากคนจัดการศึกษา เป็น "จัดให้มี" ไม่ใช่ "จัดทำ"
ระบบการศึกษาไทย ดูในสัดส่วนของนักเรียน มีเด็กอยู่ในระบบของรัฐประมาณ 90% ซึ่งอันนี้รัฐต้องเปลี่ยนบทบาท กระจายการศึกษาลงไป ลดจากรัฐบาลกลางให้เป็นของท้องถิ่น เอกชน วัด กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจ เปิดพื้นที่ลดตัวเองลง
อีกทั้ง ให้เงินไปกับคนเรียน เพื่อให้คนเรียนเลือกได้ว่า ไปที่ไหนทำให้ค่าใช้จ่ายมีประสิทธิภาพที่สุด (cost effective) ซึ่งระบบนี้จะทำให้ 'Customer is King' ส่วนการพัฒนาคนในวัยทำงาน ก็ต้องใช้แบบนี้
เชื่อว่า หากรัฐ Downsize เปลี่ยนบทบาท กับการให้เงินไปตามผู้เรียน จะกลายเป็นคานงัดที่สำคัญ
การทำระบบปัจจุบันให้ดี คปร.พูดกันมาก คือ โรงเรียนที่มีอยู่จะทำอย่างไร กับ 3 หมื่นโรงเรียนของรัฐ โรงเรียนที่ดีก็เสนอให้เป็นนิติบุคคล ให้ดูแลตัวเอง มีการควบคุมขนาดของชั้นเรียน ขนาดของโรงเรียนไม่ควรจะใหญ่ และการกระจายอำนาจลงไปให้มีการบริหารจัดการในระดับโรงเรียนมากขึ้น
อันนี้คิดมาคู่ขนาดกับการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ซึ่งปฏิรูปอำนาจที่ออกมาแล้วก็เป็นเรื่องเดียวกันกับการปฏิรูปการศึกษานั่นเอง
@ มีการศึกษาให้กับคนกลุ่มใดที่คปร.พูดถึง แต่ยังคิดไม่ทะลุ
การศึกษาสำหรับวัยทำงาน ภาคเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งเราคิดทะลุเฉพาะภาคธุรกิจอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ทางกลุ่มการศึกษาได้ประสานกับกลุ่มแรงงาน ของดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ พยายามทำโครงการนำร่องร่วมกัน ปฏิรูปกำลังแรงงาน โดยไม่ใช้กลไกปฏิรูปแล้วหลังจากนี้
@ การศึกษาสำหรับเกษตรกร
ก็....ได้มีการพูดคุยกับดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ว่า จะทำอย่างไรเรื่องเกษตร เรื่องการพัฒนาเกษตร ที่ไม่ใช่พัฒนาเหมือนกระทรวงทำ แต่ทำให้เห็น value chain ตั้งแต่ต้น เห็นการตลาด การไหลของสินค้า การเข้าถึงแหล่งเงิน ทำความเข้าใจเรื่อง เกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming)
@ อยากให้ช่วยประเมินผลงานการทำงาน-สิ่งที่รัฐบาลหยิบไปใช้บ้าง
เราคงไม่สามารถบอกได้ว่า สิ่งที่รัฐบาลหยิบไปใช้เป็นข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปเท่านั้น เพราะบางเรื่องก็มีคนทำงานก่อนหน้านี้แล้วซึ่งพรรคการเมืองน่าจะมีการนำข้อเสนอของคปร. ที่เสนอไปในช่วงที่ผ่านมา หยิบไปใช้บ้าง
เราไม่คิดว่า ข้อเสนอเป็นของคณะกรรมการปฏิรูป นะ โดยนายอานันท์ ได้พูดไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ข้อเสนอเป็นของสาธารณะ หากประชาชนเป็นเจ้าของ นักการเมืองก็จะลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของด้วย ท่านถึงบอกว่า หลักสำคัญคือประชาชนต้องเข้าใจ แล้วนำไปพูด จะเห็นตรงหรือเห็นค้านกับข้อเสนอ ก็แสดงว่า ประชาชนเห็นความสำคัญ
ตั้งแต่เดือนมกราคม เราตามดูข่าว ดีใจมีคนพูดเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แสดงว่า คนให้ความสำคัญ หยิบไปวิจารณ์ต่อ ส่วยจะออกมาเป็นอย่างไร หลังจากตั้งตุ๊กตาไปในสิ่งที่เห็น ไม่ใช่หน้าที่คณะนี้แล้ว
@ คิดอย่างไรกับข้อเสนอที่ออกมาหลายเรื่อง ยังไม่มีคำตอบ
ท่านอดีตนายกฯ อานันท์ บอกว่า จริงๆ แล้วหลายๆอย่าง มันไม่จำเป็นต้องมีคำตอบ สิ่งสำคัญ คือ เราได้ตั้งคำถามได้ถูกหรือเปล่า บางอย่างเหมือนคำตอบ ในเวลา 3-5 ปี บางอย่างก็คงไม่ใช่ และไม่สามารถประกันได้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่หากพรรคการเมืองหยิบไปขับเคลื่อนต่อ เชื่อว่า มีโอกาสประสบความสำเร็จ
@ เสียดายไหมที่คปร.ต้องสลายตัวไปก่อนเวลา
สิ่งที่เราคุย มันก็ยังอยู่นะ มีการคุยกับครูรัชนี (ธงไชย) คุณหญิงกษมา (วรวรรณ ณ อยุธยา) และอนุกรรมการการศึกษา อยู่เรื่อยๆ
แม้ตัวองค์กรอาจจะหมดสภาพไปในช่วงนี้ แต่ความคิดก็จะมีการแลกเปลี่ยนกันตลอดเวลา หมายความว่า คนหนึ่งอยู่หลายวง อย่างผมอยู่ในวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีก็ดึงคนในวงวิทยาศาสตร์ฯ มาดูเรื่องการศึกษามาตอบโจทย์ปฏิรูป จากนั้นก็นำแนวคิดไปสู่เครือข่ายอื่นๆ เช่น นโยบายทางวิทยาศาสตร์ กับเรื่องการศึกษา และการพัฒนากำลังคนในวัยทำงาน เป็นต้น
นี่คือ...ความสวยงามของการปฏิรูป ถ้าผมไม่มาทำงานปฏิรูป ผมก็จะไม่รู้ อาจารย์ณรงค์ ทำงานการพัฒนากำลังคนในวันแรงงานด้านการผลิต อาจารย์ณรงค์ก็ไม่รู้ ผมก็สนใจเรื่องนี้ ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ ก็สนใจเรื่องนี้
ผมได้ข้อมูลในรายละเอียดมากขึ้น ยกตัวอย่างเรื่องที่ดิน ทำกันมานาน มีเครือข่ายทั่วประเทศ ได้ฟังคนลงหน้างานมา 20-30 ปี อย่าง ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ฟังคนอย่างนางสมปอง เวียงจันทร์ เล่าถึงความทุกข์ยากที่ต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูลมา 20 ปี ซึ่งคนอย่างแม่สมปอง ผมเคยอ่านในข่าว อ่านในสารคดี อ่านในหนังสือพิมพ์
(อืม...) ผมได้เจอคนลงหน้างานจริงๆ ผมได้เห็นภาพกว้างและลึกขึ้น เป็นสิ่งที่ผมได้ประโยชน์มาก
ขณะเดียวกันเรื่องการศึกษาเองได้ฟังอะไรที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นจาก คุณหญิงกษมาวรวรรณ ที่อยู่ในแวดวงการศึกษามา 40 ปี หรือครูรัชนี ที่ผลักดันการศึกษาอีกทิศหนึ่งที่เป็นทางเลือกที่ไม่เหมือนการศึกษาในระบบ ท่านพระไพศาล วิสาโล ก็ได้ให้มุมมองอย่างปราชญ์ ในมุมมองการศึกษาอีกมิติหนึ่ง
ภาพใหญ่ของประเทศในเรื่องระบบการเงินการคลัง การปกครอง ผมว่า อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช อาจารย์สมชัย ฤชุพันธุ์ ดร.ปราณี ทินกร ได้ชี้ให้เห็นว่า จุดอ่อนของระบบอยู่ตรงไหน ต้องปรับอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่ คปร.ยังไม่ได้ลงไปในรายละเอียด คือการยกเครื่องระบบภาษี หากจะลดความเหลื่อมล้ำจะใช้ระบบภาษีแบบไหน มีการคุยกันไว้แล้ว หากเราได้กลับมา หรือเมื่อเรากลับมา
@ ความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน คปร.จะได้กลับมาทำงานอีก
(หัวเราะ) ....ไม่รู้ซิ อันนี้ต้องแล้วแต่รัฐบาลใหม่เขาจะตั้งหรือเปล่า
@ การทำงาน เห็นบอกมี 6 – 7 เรื่องที่อยู่ใน "ท่อ" แต่สำเร็จออกมาเป็นข้อเสนอ 2 เรื่อง คือเรื่องที่ดินและการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ
ท่านอานันท์ท่านเก่งมากนะ ใช้เวลาเริ่มทำงานสิงหาคม 2553 (แล้วก็ เออ...) ถึงธันวาคม 2553 เป็นการจูนความคิดด้วยประสบการณ์ รู้สึกว่าไปด้วยกันได้ อะไรที่ออกมาถือว่าเป็นความเห็นร่วม ที่ขับออกมา
@ สุดท้ายก่อนจะมีการเลือกตั้งใหญ่ ส่วนตัวท่านอยากให้พรรคการเมืองนำข้อเสนอใดไปใช้หาเสียง
(นิ่งคิด..) มีพรรคการเมืองใด "กล้าจับ" เรื่องปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร..ม่ะ
เอาแค่ขึ้นทะเบียน และประกาศว่า ใครถือครองที่ดินกี่ไร่เท่าไหร่ ทำสำเร็จ (X) ปี ก็เก่งแหละ ซึ่งก็คือเรื่องการเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดิน เอาแค่นี้ก่อน ยังไม่ต้องกำหนดการถือครองที่ดินก็ได้
เวลานี้คนไม่มีสิทธิในที่ดินค่อนข้างเยอะ สมมุติผมเป็นประชาชน ผมไม่มีที่ ผมก็อยากรู้ที่ดินใครถือครองเท่าไหร่บ้าง
"สิ่งที่เราอยากจะเห็น มีการนำที่ดินออกมาใช้เพื่อส่วนกลางมากขึ้น ทำอย่างไรในเมือง หน่วยงานราชการนั่งทับที่ดินไว้จำนวนมาก ขณะเดียวกันชาวบ้านไม่มีที่ทำมาหากิน ไม่มีที่อยู่ ผมคิดว่า นโยบายแบบนี้น่าจะขายออก"
@ มีพรรคการเมืองใดจับประเด็นเรื่องโครงสร้างบ้างหรือไม่
(ตอบทันควัน) ยังไม่เห็น