ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ปาฐกถา "เศรษฐศาสตร์ (ของ) การเมืองไทย"
"ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลต้องพิจารณา คือการหาประโยชน์จากทรัพย์สิน และที่ดิน
เป็นแหล่งรายได้นำมาใช้แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันต่างๆ"
วันที่ 7 พฤษภาคม มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ร่วมจัดงานมุทิตาจิต "ชุมนุมปาฐกถา 70 ปี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดย ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถาหัวข้อ "เศรษฐศาสตร์ (ของ) การเมืองไทย" โดยนำเสนอมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อประเด็นการกระจายทรัพย์สิน และการกระจุกตัวของทรัพย์สิน
“ เรื่องทรัพย์สินและรายได้แยกกันอยู่ แม้จะโยงกัน ในทางเศรษฐศาสตร์มองรายได้แสดงมาตรฐานการครองชีพ ความสามารถในการหารายได้ของบุคคล
แต่หากพูดถึงว่า ใครรวย ใครไม่รวย ดูเฉพาะรายได้ไม่พอ ต้องดูความมั่งคั่ง หรือการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน รวมทั้งบ้าน ที่ดิน หุ้น การถือทอง เงินสดในธนาคาร ภาพเขียนราคาแพง นาฬิการาคาแพง รถ ในแง่ของเศรษฐศาสตร์พูดถึงความร่ำรวย รายได้บอกไม่หมด รวยจริงต้องดูที่ความมั่งคั่งและทรัพย์สินที่มีอยู่ เพราะหากมีรายได้สูง แต่เมื่อเกษียณ รายได้นั้นก็หายไป แต่หากมีความมั่งคั่ง มีทรัพย์สินต่างๆ ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นตัวทำให้คุณแสดงความร่ำรวย และเป็นแหล่งที่มาของรายได้ต่างๆ อีกมากมาย
การกระจุกตัวของทรัพย์สิน สิ่งที่สนใจคือทำไมถึงเป็นปัญหา หรือประเทศบางประเทศจัดการกับการกระจุกตัวของทรัพย์สินที่สูงขึ้นได้อย่างไร แต่ใช่ว่าการแก้ปัญหานี้ได้แล้วปัญหาจะหมดไป เพราะการอภิปรายของนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกกำลังมองว่า เรื่องปัญหาการกระจายทรัพย์สินเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งทุกประเทศต้องให้ความสนใจกัน
มุมมองนานาชาติ ต่อปัญหาการกระจายทรัพย์สิน
หนังสือพิมพ์ ดิ อีโคโนมิสต์ ถือเป็นหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระบอกเสียงของนักธุรกิจและเป็นหนังสือพิมพ์อนุรักษ์นิยม เมื่อ 26 เมษายน 2554 ในบทความกล่าวว่า ผลได้จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งหมดกระจายไปสู่กระเป๋าเจ้าของทุน ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงาน หรือคนงาน
สิ่งที่ “ดิ อีโคโนมิสต์” เป็นเรื่องจริง ซึ่งหากดูสถิติที่เกิดขึ้นในโลก ความไม่เท่าเทียมกันเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะสัดส่วนของกำไรในรายได้ประชาชาติของแทบทุกประเทศ ในระยะเวลาที่ผ่าน หลังปี 2551 สูงขึ้น แต่สัดส่วนค่าจ้างลดลง
ในกรณีของ OECD แนวโน้มนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2523 ในสหรัฐฯ แนวโน้มนี้ย้อนหลังไปได้ถึงปี 2516
ดิ อีโคโนมิสต์ ทำการวิเคราะห์ด้วยว่า สาเหตุของการกระจุกตัว ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปสู่เจ้าของทุน ทำไมถึงเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้ผลิตสินค้าจำนวนมาก โดยไม่ต้องเพิ่มคนงาน หรือบางทีลดจำนวนคนงานลงไป ใช้เครื่องจักรมากขึ้น
ขณะที่ประสิทธิภาพของคนทำงานสูงขึ้น ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น ปรากฏว่า ส่วนที่เพิ่มเจ้าของทุนเก็บรวบไปเสียส่วนใหญ่ ให้คนงานจำนวนน้อย ส่วนแรงการต่อรองของคนงานลดลง ด้วยการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานลดลงด้วยกระบวนการต่างๆ รวมทั้งกระบวนการของรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่พยายามจะปลดสหภาพแรงงาน
ขณะที่บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ก็พยายามผลักดัน ไม่ให้มีสหภาพแรงงาน เป็นที่น่าสนใจด้วยว่า ดิ อีโคโนมิสต์ วิจารณ์ว่า มีการใช้นโยบายเสรีนิยมใหม่ ที่เป็นผลเสียกับการกระจายรายได้ที่ดีขึ้น เช่น เรื่องของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การมีระบบตลาดที่ยืดหยุ่นมากขึ้น การที่บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่มีอิทธิพลกับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ
ดิ อีโคโนมิสต์ บอกว่า ตัวร้ายของโลกในขณะนี้ คือ บริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ ยักษ์ใหญ่ของโลก ที่มีพฤติกรรมประหนึ่งเป็นมาเฟีย อยู่เบื้องหลังรัฐบาล ขู่รัฐบาลให้ดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์กับบริษัทการเงินต่างๆ หากรัฐบาลไม่ทำตาม อาจขู่ถอนเงินออกไป สามารถทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ดำเนินนโยบายทางการเงิน ที่ส่งผลประโยชน์ให้กับบริษัทเหล่านี้ ยอมให้บริษัทเหล่านี้ให้โบนัส รายได้สูงๆ จนดูน่าเกียจ เป็นส่วนหนึ่งให้การกระจายรายได้เลวลง
เมื่อปีที่แล้ว ที่ Sao Paolo ได้มีการประชุมนักเศรษฐศาสตร์ระดับนำของโลก และออกแถลงการณ์ 10 ข้อ 1.พูดถึงปัญหาที่ทั่วโลกกำลังประสบภาวะที่ สัดส่วนหรือรายได้ของคนงานลดลง และพูดต่อไปว่า สถานการณ์เช่นนี้ หมายความว่า ความมั่งคั่งมีการกระจุกตัวทั่วโลก นำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทั่วโลก โดยมีข้อเสนอแก้ไข ให้รัฐบาลการันตีการมีงานทำให้กับคนทุกคน และให้มีระดับรายได้เพียงพอกับการยังชีพ
Yung Chul Park ของเกาหลี ได้พูดถึงความจำเป็นของประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องมีการปรับยุทธศาสตร์การพัฒนา (Re-balancing Strategy) ให้คิดใหม่เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดำเนินมาใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา แล้วให้ไปปรับเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ การบริโภคของผู้คนในประเทศ ด้วยวิธีการรัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการจัดการให้มีระบบสวัสดิการ ประกันสังคม ให้มีการศึกษาฟรี ระบบสาธารณสุขที่ทั่วถึง ให้มีระบบรายได้เกษียณ การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม
นี่เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เคยยอมรับอุดมการณ์เสรีนิยมใหม่ แต่ขณะนี้มีงานให้นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ถึงปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ได้เสนอว่า แทนที่จะเดินตามแนวทางของเสรีนิยมใหม่ ต้องคิดกันใหม่ถึงเรื่องรัฐพัฒนา (Developmentalism) การที่รัฐไม่ใช่ลดบทบาท แต่เปลี่ยนบทบาทมาสู่การสร้างระบบสวัสดิการ ระบบประกันสังคมให้กับสังคมอย่างทั่วถึง
แม้กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์ในเมืองไทยเอง ทีดีอาร์ไอ ก็กำลังพูดถึง Re-balancing Strategy แต่ก็จะมีความแตกต่างในแง่ความเน้น …
สภาพการเก็บภาษีในเมืองไทย
อย่างไรก็ตามการให้รัฐบาลเปลี่ยนบทบาท จัดหาระบบสวัสดิการและการประกันสังคม เป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ปัญหาใหญ่จะหาเงินมาใช้จ่ายในโครงการเหล่านั้นได้อย่างไร ในเมื่อโครงการล้วนแล้วต้องใช้เงินทั้งสิ้น
รัฐบาลมีรายได้หลักจากภาษี รายได้อื่นๆ เป็นส่วนน้อย เช่น อาจมาจากรายได้ของรัฐวิสาหกิจ หรือเรื่องอื่นๆ ซึ่งภาษีเป็นเรื่องหลัก
มาดูสภาพของภาษีเป็นอย่างไร ภาษีหลักๆ คือ
- ภาษีนิติบุคคล เก็บจากรายได้สุทธิของบริษัท เราจะพบว่า รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเมื่อเทียบกับ GDP ลดลงในหลายๆ ประเทศ กลุ่มไฟแนนซ์มีแรงต่อรองกับรัฐบาลต่างๆ มาก ขณะนี้ประเด็นคือ ทุกประเทศต้องพึ่งการลงทุนของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนของตัวเองไปได้ทั่วโลก มีวิธีลงทุนในประเทศที่มีภาษีต่ำ หรือหากอยากไปลงทุนในประเทศที่มีภาษีสูงๆ ก็จะไปต่อรอง ให้ลดภาษี พบว่า ประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ หลัง ปี 2540 มีลักษณะการแข่งขันในลักษณะการลดภาษีตรงนี้
- ภาษีรายได้ส่วนบุคคล ในประเทศพัฒนาแล้วภาษีตรงนี้ เก็บได้สูง แต่สำหรับประเทศไทย น้อย มีข้อถกเถียง หากเก็บภาษีตรงนี้เยอะไปก็จะทำให้แรงจูงใจในการทำงานลดลง แนวโน้มนี้มีแรงผลักดันไม่ให้เพิ่มภาษีรายได้ส่วนบุคคล
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม หลายประเทศพึ่งภาษีตัวนี้ สูงกว่า 10% เช่น นอร์เวย์ 17% ของไทยเคย 10% ก่อนจะลดลงมาเหลือ 7% หลังปี 2540 และด้วยปัญหาทางการเมืองทำให้ไม่สามารถจะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มได้
- ภาษีสินค้าเข้าออก เคยสำคัญ วันนี้นับวันหมดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ เพราะกระบวนการโลกาภิวัฒน์ FTA ปี ค.ศ.2015 ประเทศไทยและกลุ่มอาเซียนก็จะกลายเป็น ทุกประเทศต้องลดภาษี ให้เหลือศูนย์ หมายความว่า รายได้ที่มาจากภาษีการค้านี้ ในปี 2015 จะไม่มี
ฉะนั้น เราเหลือ “ภาษีทรัพย์สิน” ทรัพย์สินที่สำคัญ คือที่ดิน แล้วที่ดิน ผู้คนยกไปไว้ที่อื่นไม่ได้ บริษัทอาจย้ายเงินลงทุน หุ้น เงินฝากไปที่อื่น แต่ที่ดินอยู่กับที่ อันนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถจะหาประโยชน์จากการเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
นักเศรษฐศาสตร์ ฝรั่งเศส สมัยศตวรรษที่ 17 กล่าวไว้ว่า รัฐบาลสามารถอยู่ได้ ไม่ต้องเก็บภาษีอื่นใดเลย หากบริหารจัดการภาษีที่ดิน ให้ได้ดี
ยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลต้องพิจารณา เป็นเรื่องใหญ่ คือการหาประโยชน์จากทรัพย์สิน และที่ดิน เป็นแหล่งรายได้นำมาใช้แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันต่างๆ โดยการใช้จ่ายด้านการจัดหาสินค้าสาธารณะ สวัสดิการ ประกันสังคม เพื่อสร้างสันติสุขในสังคม
จนสุด รวยสุด ต่างกัน 69 เท่า
เมืองไทยสถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร ตั้งแต่ปี 2549 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ เก็บข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของครัวเรือนต่างๆ ในประเทศไทย ทำให้เราสามารถได้ข้อมูลว่า เมืองไทยขณะนี้มีการกระจายทรัพย์สินต่างๆ เป็นอย่างไร หากเปรียบเทียบ 10% รวยสุด ที่มีทรัพย์สินมากที่สุด กับ 10% จนสุด มีทรัพย์สินน้อยสุด ในประเทศไทย มีความต่างกัน 69 เท่า
เปรียบเทียบคนรวยสุดยอดกับรวยสุดรองลงมา ก็มีความต่างเยอะ แสดงว่าการกระจุกตัวอยู่ที่คน 10%ของประเทศ ไม่ใช่เมืองไทยเท่านั้น หากไปดูตัวเลข อเมริกาก็เช่นเดียวกัน ยกเว้นยุโรป
ในบรรดาทรัพย์สิน “ที่ดิน” สำคัญที่สุด มีข้อมูล 8 จังหวัด บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีที่ดินมากที่สุดในจังหวัดเหล่านี้มีที่ดินกี่ไร่ 50 อันดับแรก มีที่ดินกี่เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมดในจังหวัดนั้นเท่าไหร่
ในกรุงเทพฯ บุคคลหรือนิติบุคคล เจ้าของคนเดียว ถือครองที่ดินมากที่สุด โดยมีที่ดินรวมกัน 14,776 ไร่ ภูเก็ต 3,152 ไร่ปทุมธานี 28,999 ไร่ (หากดูประวัติศาสตร์ มีการขุดคลอง จะได้กรรมสิทธิ์ที่ระหว่างคลองยาว 1 เส้นตลอดแนวคลอง)สมุทรปราการ 17,016 ไร่ นนทบุรี 6,691 ไร่ ระนอง 4,618 ไร่ นครนายก 34,000 ไร่
หากดู 50 อันดับแรกของพื้นที่ทั้งหมด ก็จะพบว่า กรุงเทพฯ มีที่ดินรวมกันคิดเป็นร้อยละ 10 ของที่ดินทั้งหมด ภูเก็ตร้อยละ 14 ซึ่งแสดงถึงการกระจุกตัวของทรัพย์สินที่เป็นที่ดินค่อนข้างสูง
เรายังไม่มีข้อมูลการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นจากอดีตหรือไม่ แต่อาจดูได้จาก แนวโน้มการกระจายรายได้ในเมืองไทย ซึ่งมีข้อมูลย้อนหลังไปถึงปี พ.ศ.2503
ดิ อีโคโนมิสต์ สองอาทิตย์ที่แล้วได้แสดงตัวเลข เปอร์เซ็นต์ของคนรวยสุด 20% มีส่วนแบ่งในเรื่องของรายได้รวมของประเทศ หรือ GDP เท่ากับเท่าไหร่ พบว่า เมืองไทย 53.6% เป็นรองโคลัมเบีย ที่คนรวย 20% มีส่วนแบ่ง GDP 58.5%เท่านั้น เกินครึ่งอยู่ในกำมือคนร้อยละ 20 ของประเทศ
ของเราแย่กว่า บราซิล เม็กซิโก อาร์เจนตินา ปากีสถาน จีน พม่า
แนวโน้มของการกระจายรายได้ในเมืองไทยข้อมูลตั้งแต่ปี 2503 พบว่า เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะปี 2523 เป็นช่วงที่เรามีการพัฒนาแบบเร่งเร้า หากเราใช้แนวโน้มการกระจายรายได้เป็นตัวแบบ อาจกล่าวได้ว่า แนวโน้มการกระจุกตัวของทรัพย์สินในเมืองไทยใกล้เคียง เป็นไปตามแนวโน้มของรายได้ คือ มีการกระจุกตัวสูงขึ้นในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา
เปิดอุปสรรคใหญ่ขวาง กม.ภาษีที่ดินฯ
ทำไมประเด็นการกระจายทรัพย์สินและทำให้การกระจุกตัวลดลงจึงมีความสำคัญ หลายคนคงตื่นเต้นเมื่อรัฐบาลนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ เสนอจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เข้ารัฐสภา ขณะนี้ร่างนี้ถูกเลื่อนออกไป เป้าประสงค์ เพื่อใช้ที่ดินทิ้งร้างให้เป็นประโยชน์ ให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บ สามารถนำรายได้ไปทำนุบำรุงกิจการในพื้นที่ ตั้งกองทุนเพื่อธนาคารที่ดิน ซึ่งอัตราภาษีที่กำหนดไม่ได้สูงมากนักเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำ คือ 0.05-2%
แต่ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถูกเลื่อนไป บางคนอาจคิดว่า อุปสรรค อยู่ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่า ไม่ใช่
กรณีญี่ปุ่นสมเด็จพระจักรพรรดินีของญี่ปุ่น เมื่อได้รับมรดกเป็นบ้านและที่ดิน ท่านต้องเสียภาษีมรดก ซึ่งเป็นภาษีที่ดินและทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่ท่านไม่สามารถมีเงินสดมาเสียภาษีได้ จึงขายที่ดินให้รัฐบาลไป แต่มีพสกนิกรจำนวนหนึ่งเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นยกเว้นภาษีนี้ให้กับท่าน เพราะต้องการให้เก็บเอาสมบัติครอบครัวเอาไว้
สมเด็จพระจักรพรรดินีออกแถลงการณ์ขอร้องให้ยกเลิกการเดินประท้วง และแถลงว่า ท่านเป็นพลเมืองคนหนึ่งของญี่ปุ่น ดังนั้น จึงจะเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และท่านได้ขายที่ดินนั้นไป รัฐบาลญี่ปุ่นต่อมาขายที่ดินให้ อปท. อปท.ก็มีนโยบายนำที่ดินนั้น ไปเป็นส่วนสาธารณะ มีพสกนิกรจำนวนหนึ่งมาต่อต้าน เมื่อจะมีการรื้อคฤหาสน์ เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะ และก็ต้องเลิก เพราะกฎหมายที่ญี่ปุ่นก็คือ กฎหมาย
ส.ส.เพื่อไทย นำโด่ง รวมถือครองที่ดินกว่า 2 หมื่นไร่
กรณีของเมืองไทย ข้อมูลนี้อาจบอกเค้าลางว่า อุุปสรรค อยู่ที่รัฐสภา จากข้อมูลการถือครองที่ดินของ ส.ส. ส.ว. ปี 2553 ของป.ป.ช. พรรคเพื่อไทย ส.ส. 173 คน 21,000 กว่าไร่ มูลค่า 5 พันล้านบาท ประชาธิปัตย์ 160 คน 15,000 ไร่ มูลค่าเกือบ 6 พันล้านบาท พรรคภูมิใจไทย 31 คน เนื้อที่ 4,000 ไร่ มูลค่า 700 กว่าล้านบาท พรรคเพื่อแผ่นดิน 29 คน 5,000 ไร่ มูลค่าพันกว่าล้านบาท พรรคชาติไทยพัฒนา 21 คน 2,500 ไร่ มูลค่าเกือบ 500 ล้านบาท พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา 8 คน 819 ไร่ มูลค่า 600 กว่าล้านบาท
ส่วนพรรคอื่นๆ 15 คน มีที่ดินรวมกัน 4,000 กว่าไร่ มูลค่า 500 กว่าล้านบาท สมาชิกวุฒิสภา 145 คน มีที่ดินรวมกัน เกือบ 20,000 ไร่ มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท
หากคิดออกมาเป็นค่าเฉลี่ย ส.ส.มีที่ดินโดยเฉลี่ย 121 ไร่ต่อคน, ส.ว.มีที่ดินโดยเฉลี่ย 123 ไร่ต่อคน
สภาวะภาษีในเมืองไทย เราจะพบว่า ประเทศที่มีระบบสวัสดิการดี สวีเดน เยอรมณี ปี 2551 เก็บภาษีได้เกิน 40% ของ GDP อังกฤษ 39% ของ GDP รัสเซีย 37% ของ GDP ตุรกี 32% ของ GDP สหรัฐ 28% ของ GDP ญี่ปุ่น 27% ของ GDP
ของไทยเก็บภาษี 17% ของ GDP ดังนั้นจึงไม่แปลกใจคุณภาพสินค้าสาธารณะ ระบบสวัสดิการ ประกันสังคม ของไทยจึงยังไม่ดี คงไม่ต้องพูดมากเรื่องนี้ อยากบอกข้อมูลอันหนึ่ง ร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั่วประเทศ ไม่มีน้ำประปาใช้ ในบ้าน มีแค่ร้อยละ 20 ของประเทศเท่านั้น ส่วนใหญ่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ …..
ที่เรามีปัญหาการเก็บภาษีได้น้อยเพราะเรา เน้นเก็บภาษีทางอ้อม ถึง 59% เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสินค้า ขณะที่การเก็บภาษีทางตรง เช่นภาษีรายได้ ภาษีที่ดิน แค่ 40% เท่านั้น เรามีประชากร 67 ล้านคนปี 2553 มีกำลังแรงงาน 38 ล้านคน ยื่นแบบเสียภาษี 9 ล้านคน จ่ายภาษีจริง 2.3 ล้านคน
ใน 2.3 ล้านคน มี 60,000 คนที่เสียอัตราสูงสุด 37% คิดเป็น 50% ของภาษีรายได้ทั้งหมด นี่ทำให้เกิดความไม่แฟร์เกิดขึ้น
เกาหลีใต้ทำได้ ทำไมไทยทำไม่ได้เก็บภาษีที่ดิน
เกาหลีใต้เก็บภาษีทรัพย์สิน 3.5% ของ GDP
เกาหลีใต้เก็บภาษีทรัพย์สิน 3.5% ของ GDP มากกว่า OECD ซึ่งเก็บได้ 1.9% ของ GDP สำหรับของไทย เก็บได้ 0.2% ซึ่งประสบการณ์ของเกาหลีใต้ หลังวิกฤติปี 2540 (1997) ประสบปัญหามาก มีปัญหาการว่างงาน รายได้ลดลง ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้น มีการเดินขบวนประท้วงบ่อย ซึ่งกลุ่มประชาสังคมได้รวมตัวกันเรียกร้องให้พรรคการเมือง ดำเนินนโยบาย Social Security ให้มีภาษีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น เพื่อลดการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน
ปรากฏว่า พรรคที่สนองความต้องการของเหล่าประชาชน ออกนโยบายรณรงค์ สิ่งที่เกิดขึ้น มีการปฏิรูประบบประกันแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ มีการเสนอนโยบายการันตีการมีรายได้ขั้นต่ำที่พอควร นอกจากนี้ยังปฏิรูประบบสาธารณสุขให้ครอบคลุมมากขึ้น มีระบบบำนาญ (pension) เพิ่มเงินผลประโยชน์ถ้าเป็นคนว่างงานให้ด้วย
ถามว่าเกาหลีใต้หาเงินจากไหน นโยบายเหล่านั้น ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มจากร้อยละ 3 ของ GDP เป็นร้อยละ 6 ของ GDP ถ้าไปดูตัวเลขพบว่า 58% ของรายจ่ายเหล่านั้นมาจากภาษีที่ดินที่ อปท.จัดเก็บ มีภาษีที่ดินหลายรูปแบบ 42% มาจากภาษีอื่นๆ
การที่สามารถหาเงินจากภาษีทรัพย์สินมาทำนโยบายสาธารณะที่ครอบคลุมถึง 60% ถือว่าเป็นพลวัตรที่น่าสนใจ
ถ้าชาวเกาหลีใต้สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลของเขา นำมาตรการภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สินมาใช้ เพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายเพื่อสังคมได้ แล้วทำไมชาวสยามทำไม่ได้ ก็เป็นประเด็นปัญหาที่เราต้องขบคิดกันต่อไป"