ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ปาฐกถาพิเศษ “จุดเชื่อม” พลังรวมของสังคม
" CSR ที่ขยายตัวไปตามกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เป็นเรื่องที่มีค่ามาก
น่าจะมีการสรุปบทเรียน โดยเฉพาะในประเทศไทย"
ศ.นพ. เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอานันทมหิดล แสดงปาฐกถาพิเศษ “จุดเชื่อม” พลังรวมของสังคม ในการสัมมนาหัวข้อ มหาวิทยาลัยรับผิดชอบต่อสังคม...สังคมรับผิดชอบต่อมหาวิทยาลัย จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ มูลนิธิส่งเสริมทบวงมหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และชุดโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรด้วยยุทธศาสตร์การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ สสส. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุดมศึกษา
" CSR ทั้งภาคธุรกิจ และเอกชน จะใช้คำว่า Corporate Social Responsibility ถามว่า ภาครัฐ ภาคประชาสังคม หรือ NGO จำเป็นต้องมี CSR หรือเปล่า คำตอบมีแน่นอนอยู่แล้ว จะทำอย่างไรให้เป็นระบบเหมือนกับภาคธุรกิจเอกชน ที่เขาพยายามทำให้เป็นระบบ พยายาม Systematize (จัดระบบ) เรื่อง Responsibility (ความรับผิดชอบ)
...พูดถึงเรื่อง Corporate Government (CG) เป็นการออกแบบโครงสร้างและการทำงาน เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสุด โดยวางอยู่บนหลักการของประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ประสิทธิผลที่ดีที่สุด โดยต้องโปร่งใส มีความรับผิดชอบ รับผิด รับชอบ และตรวจสอบได้ นั่นก็คือ CG ถ้า CG เป็นร่างกาย CSR ก็คือจิตวิญญาณ
ถ้าเรามี CG ดีมาก ครบทุกอย่าง ไม่ขัดผลประโยชน์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ แต่ทำลายสังคม ก็ไม่ดี สอบผ่าน CG สังคมแย่ บริษัทรอด คล้าย ๆ อย่างนั้น
มหาวิทยาลัยก็เหมือนกัน โรงเรียน สถานศึกษาก็เหมือนกัน จัดโครงสร้างได้ดีมาก มีความคิดที่จะรับผิดชอบ แต่ไม่มีจิตวิญญาณที่จะทำเพื่อสังคม นี่คือ พื้นฐานความคิด ดังนั้น ทั้ง CG และ CSR ไม่ได้แยกจากกัน ไม่สามารถจะแยกจิตวิญญาณออกจากร่างกายได้ แนวคิดแรก คือ เราต้องรวม CG กับ CSR ด้วยกัน
School Governance หรือ University Governance แล้วก็พูดถึงเรื่อง School Social Responsibility หรือ University Social Responsibility ก็เหมือนกัน เราสามารถจะส่งต่อแนวคิดนี้ไปสู่ภาคสถาบันการศึกษา ภาครัฐ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ได้ รวมไปถึงภารโรง ถ้าเอาเรื่องจิตวิญญาณของความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปใส่ บ้านเมืองจะไปไกล
หรือผู้ที่ดูแลงานของภาคประชาสังคม ต้องสร้างความตระหนักตรงนี้ให้มากที่สุด อย่าเพียงแต่พูด ต้องสร้างความตระหนักให้ได้ ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ผ่านร้อน ผ่านหนาวมาเยอะ แล้วก็พูดกันไพเราะกันมาเยอะแยะในเวทีต่าง ๆ แต่ทำอย่างไรจะเกิดเป็นการกระทำ
ส่วนเด็กต้องปลูกฝัง ผมเชื่อเรื่องการปลูกฝังทั้งเด็กและเยาวชน เพราะฉะนั้น ขอให้ผู้ใหญ่ช่วยกันปลูกฝัง ตามความคิดของ คอลิน คือ
1. ต้องให้เขาเข้าใจว่า ส่วนรวมอยู่ได้ดี ส่วนย่อยจึงจะอยู่ได้ดี ไม่ใช่คิดว่า ส่วนย่อยเอาตัวรอด ส่วนรวมช่างมัน ซึ่งตรงนี้เป็นอันตรายมากกับบ้านเมือง กับโลกใบนี้ ที่จริงปัญหาเรื่อง Global Warming ที่เป็นปัญหาของโลกในตอนนี้ ประชุมแล้ว ประชุมอีก ก็เพราะว่า ไม่ยอมยึดหลักข้อแรก โดยเฉพาะประเทศใหญ่ ๆ ที่มีคาร์บอนมาก พยายามที่จะหลบหลีกที่จะไม่รับผิดชอบโดยส่วนรวม เอาตัวรอด ไม่เอาประเทศรอด ตรงนี้ถ้าทุกส่วน ถ้าย่อออกมาเป็นแต่ละประเทศ แต่ละภาคส่วนเอาตัวรอด ประเทศก็ไม่รอด เพราะฉะนั้น ต้องปลูกฝัง และปลูกฝังอย่างไรให้ลูกหลานเรา ลูกศิษย์เรา ได้เห็นภาพรวม เป็น Global Perspective เป็น Public Perspective ต้องเห็นภาพรวม
ฉะนั้น ถ้าบริษัทนี้ NGO กลุ่มนี้ หน่วยงานั้น ต้องพยายามทำให้หน่วยงานของท่านเห็นภาพรวมให้ได้ จริง ๆ ก็เป็นสัจธรรม แต่บางทีเราก็ลืม เมื่อเราคิดถึงผลประโยชน์ส่วนองค์กรของท่าน เราก็จะลืมมัน ผลประโยชน์ส่วนพรรคพวกของท่าน ท่านก็จะลืมส่วนรวม
จริง ๆ ข้อหนึ่ง ทุกคนรู้ แต่พอเวลาตัดสินใจที่เกี่ยวกับบริษัท องค์กร ของมหาวิทยาลัย ทุกคนก็ตัดสินใจบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของแต่ละแห่งเท่านั้น โดยไม่คิดว่า หรือไม่อยากคิดว่า มันจะมีผลกระทบกับส่วนรวมหรือไม่ด้วยซ้ำ ตรงนี้ที่เป็นความไม่รับผิดชอบต่อสังคม
2.ส่วนย่อยต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ และส่วนย่อยหลาย ๆ ส่วนต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน การที่ส่วนย่อยส่วนหนึ่งจะเอาตัวรอด และไปเบียดเบียนส่วนย่อยส่วนอื่น ไม่ดีแน่นอน ในความคิดเรื่อง CSR เราเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ซึ่งเขาทำได้ดีมาก และ Systematize เข้าไปในระบบขององค์กรภาคธุรกิจทั่วโลก มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่ประเทศนั้นจะใส่ใจแค่ไหน
ประเทศไทยโชคดี มีคนสนใจ โดยเฉพาะทางภาคธุรกิจสนใจทางด้านนี้ โดยเฉพาะหลัง ๆ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และที่อื่น ๆ รวมกันเป็นสมาคม เราพูดกันมาหลายปีแล้ว ทางภาครัฐ ซึ่งจำเป็นต้องพูดก่อนภาคอื่น เพราะพูดไปแล้วว่า รัฐมีหน้าที่อะไร และทำไมต้องรับผิดชอบต่อสังคม ภาค NGO ก็เหมือนกัน ถ้ามองเผิน ๆ คล้าย ๆ กับว่า NGO ก็ทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว ถ้าดูลึก ๆ ท่านสามารถจะ Distributes คำว่า NGO ของท่าน ไปทำในส่วนที่มีผลกระทบต่อสังคม หรือเกิดผลประโยชน์เต็มที่ไม่ได้ แต่ท่านสามารถเปลี่ยนใจของท่านสักนิด ทำงาน เป็นการวางนโยบายก็ดี หลักปฏิบัติก็ดี แล้วนึกถึงว่า จะเกิดผลเสีย หรือผลดีกับสังคมมากหรือน้อย ไม่ใช่เฉพาะ Infuse องค์กรของท่าน ต้องพูดถึงภาพรวมด้วย
ฉะนั้น องค์กรจะทำเรื่องนี้ สร้างผลกระทบกระเทือนหรือเปล่า และบางครั้งภาพรวมมีจริงไหม และมียั่งยืนหรือเปล่า คำถามเหล่านี้ จะสะท้อนความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรของท่าน เพราะฉะนั้น หลังจากที่องค์กรได้ Systematize ตอนนี้เรื่อง CSR จึงขยายไปในองค์กรทุกประเภท ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจ ทำอยู่แล้ว และขยายมากขึ้น และภาคประชาสังคม
ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่เราจะต้องใช้คำบางคำที่ตัดสินใจร่วมกัน ถ้าคำว่า University social responsibility: USR ใช้ได้ ก็ขออนุญาตใช้คำนี้ไปเรื่อย ๆ ส่วนภาษาไทย อยากให้ใช้ ความรับผิดชอบต่อสังคมของมหาวิทยาลัย หรือความรับผิดชอบต่อสังคมของมหาวิทยาลัยชุมชน ความรับผิดชอบของสังคมต่อโรงเรียน ขอเพียงใช้ให้เหมือนกัน
3. นโยบาย กับหลักปฏิบัติ ในข้อแรก ประโยคแรกพูดถึงว่า ภาครัฐ และระบบราชการ ภาคธุรกิจ เอกชน และภาคประชาสังคม ต่างมีหน้าที่ต่อภาคส่วนของตนเอง ต่อมา ภาคบริษัท มีเจตนา มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าจะทำอะไร กระทรวง ทบวง กรม ที่รัฐตั้งมา มีหน้าที่อะไร โรงเรียน มหาวิทยาลัยตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร ทำให้เต็มที่ แต่ยังมีหน้าที่ประสานและบูรณาการเพื่อประเทศชาติเคลื่อนเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และสันติสุข แต่บริษัทนั้น NGO นั้น โรงเรียนนั้น มหาวิทยาลัยนั้น ยังมีหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกับฝ่ายทุกฝ่ายด้วย เพื่อมองภาพรวมทั้งในระดับประเทศชาติ และมนุษยชาติ
ในข้อ 2. เป็นการเขียนสั้น ๆ ว่า ความรับผิดชอบของแต่ละภาคส่วนมีอะไรบ้าง เช่น ภาครัฐ ระบบราชการมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะสร้างกลไก ความเสมอภาค ความเที่ยงธรรม และให้โอกาสผู้ด้อยโอกาส ภาคเอกชนมีความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านสินค้า บริการของตน และยังต้องร่วมรับผิดชอบในเรื่องของความกินดี อยู่ดีของสังคมอีกด้วย
ภาคประชาสังคม มีหน้าที่ทำให้สังคมมีภราดรภาค ร่วมทุกข์ ร่วมทุกข์ มีสุข ร่วมสุข ถ้าอย่างนั้น ในข้อ 2. คำว่า CSR หรือ USR ของผม ตีความกว้างกว่าที่ว่า เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ขีดเส้นใต้ ได้กำไรเท่าไร ก็แบ่งไปทำบุญ มันกว้างกว่านั้น CSR ของผม อยากให้ย้อนไปถึงการก่อตั้งบริษัท บริษัทนี้ตั้งมาเพื่อทำรองเท้าขาย คนที่ตั้งบริษัท ต้องตั้ง CSR ไว้ในใจตั้งแต่ตอนแรก ตั้งมหาวิทยาลัย ตั้งโรงเรียน ตั้งกระทรวง ทบวงต่าง ๆ ก็เหมือนกัน ต้องมี CSR ในใจ ไม่ใช่รอจนกระทั่งสิ้นปี ขีดเส้นใต้ ได้กำไรแล้วแบ่งกี่เปอร์เซ็นไปทำบุญ อันนั้นเป็นส่วนเล็กส่วนหนึ่งแค่นั้นเอง อยากให้ CSR ขยายขอบเขต ขยายมิติไปรวมถึงกิจกรรมทุกอย่างขององค์กรของท่าน มหาวิทยาลัยเตรียมรับนักศึกษา ขอให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ถ้าอย่างนั้นจะไม่เกิดเรื่องที่ว่า หลักสูตรนั้นได้รับการหลักสูตร แล้วไป Up side มันจะไม่เกิด
เพราะฉะนั้น ไม่ได้อยู่ที่ปลายปี ได้กำไรแล้วแบ่งส่วนใด ส่วนหนึ่งไปทำบุญ หรือไปช่วยชาวบ้าน มันอยู่ที่กระบวนการทั้งหมดเลย การบริหาร และการผลิตทั้งหมด ทั้งสินค้า และบริการ ต้องมี CSR...
ตอนนี้รูปแบบ CSR ของกลุ่มธุรกิจ มีตัวอย่างให้เห็นในระดับสากล เช่น มูลนิธิของ บิลเกตส์ คือ มีกระบวนการจัดการในเงินที่จะทำ CSR ให้เกิดผลการทบที่ดีต่อมนุษยชาติ ของบิลเกท ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ทำยังไงให้เงินดอลล่าร์ที่ทำบุญไป เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วก็มีเศรษฐีจากที่ต่างๆ ก็ทำแบบนี้เช่นกัน Foundation แบบนี้ก็เยอะ
แต่จริง ๆ แล้วกิจกรรมของ CSR เหล่านี้ มันขยายตัวมากเหลือเกิน ขยายตัวไปทั้งเรื่องของการพัฒนาคน การสร้างความเข้มแข็งต่อครอบครัว การสร้างความเข้มแข็งและการพึ่งตนเองได้ของชุมชน การศึกษา สาธารณสุข วัฒนธรรม ศาสนาก็เยอะ และที่กำลังตามมาติด ๆ ก็คือ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Concept เรื่อง Green ซึ่งมีหลายบริษัทที่เน้นเรื่อง Green
การขยายตัวของ CSR ที่ขยายตัวไปตามกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย เป็นเรื่องที่มีค่ามาก และน่าจะมีการสรุปบทเรียน โดยเฉพาะในประเทศไทย ผมอยากเห็นหน่วยงานสักหน่วยงานหนึ่ง ทำเรื่องศูนย์วิจัยเรื่อง CSR ของประเทศไทย ช่วยติดตามความเคลื่อนไหวของความคิด ในเรื่องของกรอบการกุศล ตั้งแต่เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปอเต็กตึ๊ง หรืออะไรก็ตาม มี Evolution อย่างไรบ้าง และของต่างประเทศด้วย เราจะได้เรียนรู้ ได้บทเรียนว่า อะไรทำแล้วได้คุณค่า มีคุณค่า คิดว่า ตรงนี้ เรียนรู้กันได้
ต่อไปจะพูดถึงแต่ละภาค องค์กรแรก คือ องค์กรภาครัฐ ซึ่งผมเป็นห่วงมาก เพราะองค์กรรัฐได้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย แล้วถ้าคนในองค์กรภาครัฐ ระบบราชการ ถ้ามีสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม มันจะต่างกับประเทศที่องค์กรภาครัฐขาดความรับผิดชอบต่อสังคม
องค์กรของรัฐ หน้าที่ รักษาผลประโยชน์ของรัฐ และของชาติ ต้องบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่ประชาชน โดยไม่มีหัวคิว ให้โอกาสแก่ผู้ด้อยโอกาส ให้เขาพึ่งตนเองได้ โดยไม่หวังพึ่งผลประโยชน์อะไรทั้งนั้น ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ที่อยากให้คนไทย ซึ่งขณะนี้โดยระบบ บางคนได้มาก ได้น้อย ได้ทุกโอกาส และทำอย่างไรให้เขาพัฒนาให้มีศักยภาพมาถึงขีดสูงได้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ตาม จังหวัดไหนก็ตาม อุตสาหกรรมใดก็ตาม ผมว่า ตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องพยายามยกขึ้นมาให้ได้
ส่วนความรับผิดชอบของภาครัฐก็คือ รับผิดชอบในหน้าที่ รับผิด รับชอบ คือ เรื่องของ Responsibility ตอนนี้พูดถึงเรื่อง Account ability ต้อง Account ต่อหน้าที่และผลงาน ตรงนี้ แทบจะไม่มีเลย ขณะนี้องค์กรภาครัฐของเราขาดเรื่อง Account ability มาก มีแต่ไม่ได้เอาผลงานมาว่า ซึ่งตรงนี้ถ้าเราสามารถจะเปลี่ยนวิธีคิดตรงนี้ แล้วก็เปลี่ยนพรรณนาตรงนี้ว่า ระบบรัฐของไทยตอนนี้ เอาเรื่องมรดกเป็นตัวตั้ง ของใครก็ไม่สน เด็กฝากไม่มี ผู้ใหญ่ฝากก็ไม่มี แล้วให้ทุกคนสามารถแสดงความสามารถออกมาเต็มที่ แล้วเคลื่อนระดับไปเรื่อย ๆ ผมว่าประเทศจะเจริญไปอีกเยอะ
2. ประกันความเชื่อใจจากทุกภาคส่วน 3. โปร่งใส และตรวจสอบได้ และกำจัดความชั่วร้ายบางส่วน ทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นหลักสำคัญของความรับผิดชอบ และความรับผิด รับชอบ ต่อสังคม ของภาครัฐ
ถ้าเราสร้างความรับผิดชอบ และรับผิด รับชอบตรงนี้ได้ ความรับผิดชอบ นิยามที่ผมได้มาจากหนังสือเล่มหนึ่ง ความรับผิดชอบ คือ พันธสัญญาที่จะปฏิบัติงานให้กับหน่วยงาน ส่วนความรับผิด รับชอบ คือ เมื่อลงมือทำงาน จนกระทั่งเสร็จงานแล้ว เกิดผลดี หรือผลเสียอย่างไร ต้องรับชอบ รับผิด ตามผลอันนั้น เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนหนึ่ง สอบโอเน็ต 5 วิชา ตกหมดเลยทั้ง 5 วิชา อาจารย์ใหญ่จะรับผิดชอบไหม ครูที่สอนรับผิด รับชอบไหม หรือ ไม่รับผิด รับชอบ ปีหน้าสอบใหม่ได้ อันนี้ละ คือ รับผิดชอบในหน้าที่ และผลงาน แต่เรามีวิธีแก้ คือ สอบตกไม่ว่า แต่ทุกคนได้เลื่อนชั้น
ภาคต่อไป คือ ภาคธุรกิจ หน้าที่คือ ทำกำไรในระยะยาวในบริบทที่มีการแข่งขันสูง ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ยึดมั่นในหลักกฎหมาย คุณธรรม และจรรยาบรรณด้วย ความรับผิด รับชอบในสังคม คือ รับผิดชอบในสิ่งที่ทำ และบริการ รับผิดชอบในผลกระทบต่อธุรกิจที่มีต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม และคืนส่วนหนึ่งของกำไรสู่สังคม สิ้นปี บริษัทนี้ลงประกาศในหนังสือพิมพ์จะทำ CSR 10 ล้าน แต่ว่าปล่อย CO2 ไปเท่าไรก็ไม่รู้ น้ำที่อยู่รอบ ๆ บริษัทเน่าจนประชาชนแถวนั้นใช้ไม่ได้ ก็ไม่มีใครรับผิดชอบ ถ้าจะแก้ไข ต้องแก้ไข 300 ล้าน มันคุ้มกันไหม เพราะฉะนั้น กรอบความคิดของ CSR ครอบคลุม เราจะเห็นชัดว่า สังคมจะได้ประโยชน์
ภาค NGO ต้องปฏิบัติด้วยจิตอาสา จิตสาธารณะ ใช้หลักธรรมาภิบาลในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ผมคิดว่า เวลาประชาชนมอง NGO ก็มองในข้อแรก คือ พวกนี้ดีเหลือเกิน ทุ่มเท เสียสละ จิตอาสา จิตสาธารณ แต่ก็ต้องยอมรับว่า มี NGO ที่ไม่ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหาร หน่วยงาน กิจการ ปฏิบัติตามกฎหมาย หลักคุณธรรม และจรรยาบรรณขององค์กร NGO ก็ต้องรับผิดชอบต่อสังคม คือ รับผิดชอบต่อผลงาน ต่อผลกระทบต่อสังคม และผลสัมฤทธิ์ที่ว่านั้น อยู่ตรงไหน
สุดท้าย ขอฝากเรื่อง USR ดีใจทีคนของมหาวิทยาลัยหันมาสนใจต่อความรับผิดชอบต่อสังคม ตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาทำไม คาดว่าเอกชนคงถามขึ้นมาบ่อย ๆ ตั้งจุฬาลงกรณ์มาทำไม และอีกหลายที่ ถามว่าตั้งมาทำไม ไม่ใช่ถามเฉพาะผู้ตั้ง ลูกหลานผู้ตั้ง หรือ ลูกศิษย์ ลูกหาผู้ตั้ง ต้องถามบ่อย ๆ เพื่อจะได้ไม่บิดเบี้ยวในเจตนารมณ์ของผู้ตั้ง เพราะผู้ตั้งต้องมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่า ตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร ตรงนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ
ฝากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ขอให้กลับไปดู Document เก่า ๆ ว่า เขาตั้งมหาวิทยาลัย ด้วยเจตนาอะไร เชื่อว่าเจตนาดีทั้งนั้น แต่ถ้าเราไม่กลับไปทบทวนก็อาจจะบิดเบี้ยวไปได้
ผมขอฝาก ลองหากลุ่มคนสักคนมาศึกษา มาบอกนิยามของ USR มาให้ชัดเจน ตกลงร่วมกันว่า USR ไทย คือ อะไร ถ้าได้แล้วก็เผยแพร่ ข้อ 2. ถ้าทำได้อย่างนั้นแล้ว ท่านผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ท่านที่เป็นเจ้าของมหาวิทยาลัย ขอให้ท่านนำ USR ซึ่งเป็นจิตวิญญาณ เข้าไปอยู่ในการกำหนดนโยบายมหาวิทยาลัยของท่านได้ไหม ในการกำหนดยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และผลการปฏิบัติของท่านได้ไหม เสร็จแล้ว ข้อ 3. คือ เอาข้อ 1. และ 2. มาสร้างศรัทธาให้สมาชิกทุกคนมหาวิทยาลัยของท่าน
ผมมีความเชื่อใจตลอดเวลาว่า คนในมหาวิทยาลัยถ้าเขาเห็นสิ่งใดที่มีคุณค่า มี Value ผมเชื่อว่าเขายินดีร่วมมือด้วย แต่ถ้าเราไม่ชี้แจง Value ของมัน ว่า USR มีประโยชน์อย่างไร ก็จะเกิดความไม่เข้าใจ ทำให้ไม่อยากร่วมมือ แต่ถ้าเข้าใจ และเห็นคุณค่าด้วย ก็อยากร่วมมือ เพราะฉะนั้น ข้อ 3. ขอให้ช่วยออกแรงสักนิด ส่วนข้อ 4. กระทรวงศึกษา ควรจะมีหน่วยงานเฉพาะ หรือ อยู่ในระบบประกันคุณภาพก็ได้ ให้ดูแลเรื่อง USR โดยเฉพาะ ศึกษาให้เข้าใจ ศึกษาประเทศอื่น ศึกษาประเทศเรา แล้วดูว่า เราจะปรับเปลี่ยน เราจะเผยแพร่อย่างไร แล้วถ้า Systematize เข้าไปในระบบเป็นวัฒนธรรมของไทยแล้วนั้น ต้องมีการดูแล"