พ.ร.ก. โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำเป็น เร่งด่วน ฉุกเฉิน จริงหรือ ?
ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 4 ฉบับ ที่คณะรัฐมนตรีเสนอให้ความเห็นชอบในหลักการไปแล้ว ประกอบด้วย
1.ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ได้รับอุทกภัย พ.ศ…..
2.ร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ…..
3.ร่างพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 350,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูประเทศ หลังประสบอุทกภัย
และ 4.ร่างพระราชกำหนดการจัดตั้งกองทุนประกันภัยให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนในประเทศ วงเงิน 50,000 ล้านบาท และกระทรวงการคลังค้ำประกันอีก 200,000 ล้านบาท
โดยหน่วยงานราชการออกมายอมรับ พ.ร.ก. 4 ฉบับนั้น อยู่ในชั้นความลับ และน้อยคนนักจะเห็นตัวร่างกฎหมายฉบับจริง เฉพาะร่างพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ ฉบับเดียว ซึ่งได้ถูกกระแสสังคมตั้งข้อสังเกตุ มีวาระซ่อนเร้น และมีเจตนาแฝงจะขอกุญแจเซฟจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ หรือไม่ ทุกสายตาเพ่งพินิจไปที่ มาตรา 7 (3) ของพ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ที่แม้ล่าสุดจะมีการแก้ไขมาตรานี้ไปแล้วก็ตาม
แต่ก็ยังมีคำถามที่ค้างคาใจจ กับประเด็นความจำเป็นเร่งด่วน ฉุกเฉิน ด้วยมีความหวั่นเกรงกันว่า กฎหมายฉบับนี้จะไปขัดรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 184 "ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา" ถอดความ เพื่อให้เห็นมุมมอง นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีต่อเรื่องนี้มานำเสนอ....
นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
"พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ไม่สอดคล้องกับรธน.50 ม. 184 วรรคสอง
ยังไม่เร่งด่วน สามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นได้"
“การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พ.ร.ก. นั้นในอดีตรัฐธรรมนูญปี 2540 วรรคสอง กำหนดให้เป็นดุลยพินิจของรัฐบาล หมายความว่า กรณีที่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นเรื่องฉุกเฉิน เร่งด่วน ก็ให้ออกเป็น พ.ร.ก. ซึ่งถือว่า ยุติ ศาลไม่สามารถวินิจฉัย เป็นอย่างอื่นได้ โดยสามารถวินิจฉัยได้ประเด็นเดียวคือ เป็นความปลอดภัยของประเทศ สาธารณะ เศรษฐกิจ เพื่อป้องปัดภัยพิบัติเท่านั้น และเมื่อดูประวัติก็ไม่มี พ.ร.ก.ฉบับไหนที่ศาลวินิจฉัยว่าขัด หรือไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเลย
แต่ครั้งนี้ รัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 185 ในวรรคสอง ให้สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วยว่า เป็นเรื่องฉุกเฉิน จำเป็นเร่งด่วน และเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ แม้ตามประวัติศาสตร์ไทยศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยวินิจฉัยให้ พ.ร.ก. ฉบับไหนตกไป แต่คราวนี้ไม่แน่ ด้วยมีข้อความในวรรคสอง
การออก พ.ร.ก. เกี่ยวกับน้ำท่วม พอฟังมีเหตุผล แต่เรื่องพ.ร.ก. โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ซึ่งสังคมส่วนใหญ่วิตกกันว่า ทำไมไม่มีการแก้ไขปล่อยเรื่องให้ยาวนานมาเป็นสิบๆ ปี หรือรัฐบาลไม่คิดจะมาแก้ไข แต่เมื่อติดเพดานหนี้สาธารณะมาก จนไม่สามารถกู้หนี้เพิ่มได้ จึงคิดมาแก้ไข
หากดูด้วยความเป็นธรรมจริงๆ โดยส่วนตัวเห็นว่า หากปล่อยไปอีก 10 ปี แก้ไขได้ บางท่านบอกถึง 50 ปีกว่าจะแก้ไขได้ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน ไม่ใช่เรื่องจำเป็น
กรณี โอนหนี้ไม่มีทางแก้ไข เป็นเรื่องฉุกเฉิน ไม่ทำได้หรือไม่ เรื่องนี้ต้องมาวิเคราะห์กัน แต่ผมเห็นว่า พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 184 วรรคสอง ซึ่งยังไม่เร่งด่วน สามารถแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่นได้
คำว่าไม่หลีกเลี่ยงได้ หมายถึง คุณมีวิธีอื่นหรือไม่ที่จะนำมาแก้ไข ขณะนี้รัฐบาลรับผิดชอบดอกเบี้ย 6 หมื่นล้านบาท ให้ธปท.รับผิดชอบเงินต้น ถามว่า ขนาดแยกกันรับผิดชอบยังทำไม่ได้ แล้วให้ ธปท.แห่งเดียวซึ่งไม่มีกำไรรับผิดชอบ การแก้ไขปัญหานี้ 50 ปี ยังน้อยไปด้วยซ้ำ ดังนั้น วิธีนี้ สามารถหลีกเลี่ยงได้ และยังเป็นวิธีที่ผิดด้วยซ้ำไป จึงไม่สมควรตราเป็น พ.ร.ก. ฉะนั้น 4 พ.ร.ก. นั้นพ.ร.ก. โอนหนี้ฯ น่าจะมีปัญหา”
กรณีรัฐบาลเสนอ กฎหมายสำคัญ และไม่มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใดๆ เลย ในทางปฏิบัติต้องมีการลาออก เป็นประเพณีเช่นนี้ที่ปฏิบัติกันมา หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยพ.ร.ก. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและให้ตกไป ผมเชื่อรัฐบาลต้องออกภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบ
ศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย
"รัฐบาลต้องหาความเชื่อมโยงและตอบคำถามให้ได้
มีความจำเป็นเร่งด่วน ขนาดนั้นหรือไม่"
“ร่างพระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ….. ซึ่งต้นเหตุเกิดขึ้นมากตั้งแต่ปี 2540 แล้ว ดังนั้นรัฐบาลต้องหาความเชื่อมโยงและตอบคำถามให้ได้ ว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน ขนาดนั้นหรือไม่
การออกกฎหมายแต่ละฉบับอย่างน้อยต้องมีเหตุผลที่อธิบายนำไปสู่คำตอบ สามารถแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติได้ และนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ถือเป็นเรื่องเลวร้ายมากที่ประเทศไทยหมกไว้อย่างนี้ ดังนั้นต้องมีการแก้ไขให้เด็ดขาด”
ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย
"กฎหมายนี้เร่งด่วนหรือไม่ ต้องแยกให้ออก
ปัญหาหนี้ต้องแก้ไข แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้แก้จริง"
"หนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท ธนาคารพาณิชย์เห็นด้วยว่า หนี้ก้อนนี้ต้องมีการแก้ไข และต้องมีการจับเข่าคุยกัน เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก ตามกฎหมายของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก สามารถเก็บจากเงินฝากได้ถึง 1% แต่เมื่อมานั่งคิด 1% ก็ตกปีละ 7 หมื่นล้านบาท ขณะที่กระทรวงการคลังต้องตั้งงบฯ เพื่อชำระดอกเบี้ย 6 หมื่นล้านบาท ทำให้สามารถชำระเงินต้นได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ลองคำนวณกี่ชาติถึงจะหมด ดังนั้นถึงเวลาต้องนั่งคุยกัน
แต่หากต่างคนต่างคิดแล้วมาลงที่ธนาคารพาณิชย์หมด ต้องรับผิดชอบ ผมยิ่งโกรธใหญ่ เพราะหนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านล้านบาท เป็นเงินที่ชำระเงินคืนผู้ฝากเงินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บง.) 5 แสนกว่าล้านบาท สินทรัพย์ที่ยึดมาในที่สุดแล้วได้คืนไม่กี่เปอร์เซนต์ และนำเงินมาช่วยเพิ่มทุนของธนาคาร 9 แห่ง 3.5 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ขาดทุนไป 1.7 แสนล้านบาท
ธนาคารทั้ง 9 แห่งมี 1.ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด เพิ่มทุนจำนวน 3.8 หมื่นล้านบาท 2.ธนาคารศรีนคร 2.5 หมื่นล้านบาท 3.ธนาคารนครหลวงไทย 2 หมื่นล้านบาท 4.ธนาคารมหานคร 3.2 หมื่นล้าน 5. ธนาคารสหธนาคาร 1.3 หมื่นล้านบาท 6.ธนาคารแหลมทอง 1.5 หมื่นล้านบาท 7. บริษัทเงินทุน 5 แห่ง ควบรวมกับธนาคารไทยธนาคาร 1.7 หมื่นล้านบาท 8.ธนาคารกรุงไทย เพิ่มทุนให้ 3 รอบ 1.8 แสนล้านบาท (มหานครมาควบรวมด้วย) และ 9.ธนาคารนครธน 7 พันล้านบาท
ดังนั้น การมาบอกความเสียหาย 1.14 ล้านล้านบาท ผู้ได้รับประโยชน์จากเงินก้อนนี้ คือ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์ต้องรับผิดชอบ ผมเห็นว่า ไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง ท่านไปดูธนาคารกรุงเทพ กรุงศรีฯ ไทยทนุ สถาบันการเงินหลายแห่งวิ่งหาทุนเองทั้งสิ้น จนกระทั่งในที่สุดขายต่างชาติ เพราะไม่อยากถูกตราหน้า ว่าเมื่อวันหนึ่งฟื้นแล้ว หนี้อย่างนี้ต้องโดนตราหน้าทั้งสิ้น
การออก พ.ร.ก.โอนหนี้ฯ ยังมองไม่เห็นความยืดหยุ่น ปัญหาติดอยู่นิดเดียวคือการชำระดอกเบี้ยปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาทที่ไม่ต้องการรับผิดชอบต่อไป ทั้งนี้ หนี้ก้อนโต 1.14 ล้านล้านบาทนี้ สามารถแก้ได้ เงินที่จะมาเก็บจากแบงก์ ความจริงในกองทุนฟื้นฟู เช่น สินทรัพย์ที่กองทุนฟื้นฟูฯ ไปยึดมา จากบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือแซม และบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) หรือแบม แม้แต่หุ้นกรุงไทย ขายออกจะได้เงินหลายแสนล้านบาท เป็นต้น จะเก็บไว้ทำไม
ขณะที่ มาตรา 7 (3) ใน พ.ร.ก. โอนนี้ฯ ที่จะเอาทุนสำรองไปใช้ ซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน ประเทศที่เคยทำคืออาร์เจนตินา แต่ผมก็ผมสบายใจที่มาตรานี้มีการแก้ไขแล้ว ระเบิดเวลาถูกปลดไปแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ต้องดูต่อไปคือ กฎหมายนี้เร่งด่วนหรือไม่ เราต้องแยกให้ออก ปัญหาหนี้ต้องแก้ไข แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้แก้จริง และหากกฎหมายไม่ผ่าน หนี้ก้อนนี้ก็ยังต้องมาดูกัน"
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ
"พ.ร.ก. โอนหนี้ฯ ไม่จำเป็นเร่งด่วน เพราะหนี้ไม่ได้หายไปไหน
ในที่สุดก็ต้องไปเก็บจากผู้ฝากเงิน"
"พ.ร.ก. โอนหนี้ฯ ยังไม่จำเป็นเร่งด่วน เพราะหนี้ไม่ได้หายไปไหน โดยเฉพาะการให้ ธปท.ไปหาเงินมาชำระนั้น เราก็เห็นแล้วว่า ในที่สุดก็ต้องไปเก็บจากผู้ฝากเงิน ซึ่งจะใช้เวลานานมากกว่าจะแก้ปัญหาหนี้ได้
มีทางออก โดยเฉพาะหุ้นของรัฐบาลในสถาบันการเงินหลายแห่ง ขาย แล้วนำเงินมาชำระเงินต้น โดยเฉพาะหุ้นธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่กว่า 2-4 แสนล้านบาท ลำพังขายหุ้นตัวนี้สามารถลดเงินต้นลง ภาระดอกเบี้ยก็ลดได้อัตโนมัติ ซึ่งมีวิธีทางออกที่รวดเร็วกว่า ได้ผลมากกว่าด้วยซ้ำไป"
ศ.ดร.พลายพล คุ้มทรัพย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
"ไหนๆ รัฐบาลจะทำ แล้วก็ควรหาทางทำให้เงินต้นลดลง จะถือว่า รัฐบาลทำครบวงจร"
"พ.ร.ก.โอนนี้ฯ 1.14 ล้านล้านบาท นับเป็นเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่ง หนี้นี้ 10 กว่าปี ใช้หนี้คืนได้แค่ 3 แสนล้านบาท ถือเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก และแม้จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่หนี้ก้อนนี้ต้องมีการจัดการ แต่กับวิธีการยังไม่เห็นด้วย เพราะ 1.ไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนพอ 2.เพดาน 15% จริงๆแล้วรอได้ เพราะงบประมาณ 2555 ผ่านแล้ว มีเวลาอีกหลายเดือน และเหมาะสมออกมาเป็นกฎหมายใหญ่ เพราะเรื่องใหญ่พอสมควร อีกทั้งความรอบคอบการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ยังไม่มากพอ
ดูแล้ว พ.ร.ก.โอนนี้ ไม่แก้ปัญหา ไม่สามารถลดเงินต้นมหาศาลลงได้ เงินต่างๆ ที่พูดถึง ไม่ว่าจะเก็บจากแบงก์ หรือโยนให้กองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งมีทรัพย์สินไม่ได้มากมาย อย่างมากได้แค่ยาไส้ แค่ดอกเบี้ยเท่านั้นเอง เงินต้นก็ไม่ลด ผมจึงมองว่า ออก พ.ร.ก.นี้ แค่ช่วยรัฐบาลให้ไปกู้มากขึ้น ไม่ให้ติดเพดาน 15%
ขณะที่เงินต้นที่ค้างอยู่ 1.14 ล้านล้านบาท ก็ยังไม่มีการแก้ไข ไหนๆ รัฐบาลจะทำ แล้วก็ควรหาทางทำให้เงินต้นลดลงได้ด้วย จะถือว่ารัฐบาลทำครบวงจร ไม่ใช่ปัดสวะ ให้ธนาคารพาณิชย์ และผู้ฝากเงิน"