“นิธิ”ถาม เลือกตั้ง-เลือกอะไร
การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ไร้กติกาต้องอยู่ที่ต้องปรับโครงสร้างทางการเมืองไม่ให้เกิดการกระจุกตัวที่ส่วนกลางเช่นนี้ การกระจายอำนาจ การจัดการบริหารทรัพยากรนานาชนิดไปสู่ท้องถิ่นพร้อมทั้งเสริมสร้างกติกาแห่งความขัดแย้งให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเด็ดขาด
ในฤดูหาเสียง ผมพบด้วยความประหลาดใจว่าประเด็นการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรคต่างๆนั้น ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง แต่มาจากสื่อ
ถามว่าสื่อเอาประเด็นเหล่านี้มาจากไหน? คำตอบก็คือจากในมุ้ง เพราะสื่อไม่ได้ออกไปสัมผัสประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจริง ได้แต่คาดเดาเอาเอง (และตามอคติส่วนตนของสำนักข่าว) ว่า ประเด็นนี้ต่างหากที่มีความสำคัญทางการเมือง ฉะนั้นจึงควรถามนักการเมืองว่า เรื่องนี้ละคุณจะแก้อย่างไร เรื่องโน้นละ คุณจะแก้อย่างไร
ตามบทบาทที่สื่อตั้งให้ตัวเองว่า “เป็นปาก เป็นเสียงของประชาชน” เป็นแต่ปากเสียง ไม่ได้เป็นหูด้วยนี่ครับจึงไม่ต้องฟังว่าประชาชนคิดอย่างไร และอยากได้อะไร
ผมยอมรับว่า การเป็นหูนั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งประชาชนไม่ได้จัดองค์กรเพื่อการส่งเสียงที่เป็นปกติ ถึงแม้ว่าสมัยนี้มีการสำรวจโพลจากหลายสำนักอยู่บ่อยๆ แต่โพลมักไม่สนใจถามความเห็นในชีวิตประจำวันของผู้คน เท่ากับถามเพื่อทำนายการเมือง
เช่นระหว่างคุณอภิสิทธิ์ กับคุณยิ่งลักษณ์ ใครจะแน่กว่ากัน พรรคไหนจะได้รับเลือกตั้งในจังหวัดหรือภาคต่างๆมากกว่ากัน ล้วนเป็นคำถามที่ได้พาดหัวบนสื่อทั้งนั้น เปิดโอกาสให้สำนักโพลได้รับการว่าจ้างให้ทำโพลสำรวจตลาดและอื่นๆ
ดังนั้น ผลของโพลจึงไม่ค่อยช่วยให้ผู้สื่อข่าวรู้ว่าอะไรคือปัญหาของประชาชน และประชาชนคิดว่าต้องแก้อย่างไร
ยิ่งถ้าคิดว่า ประชาชนแต่ละกลุ่มย่อมมองปัญหาและทางออกต่างกัน สื่อเป็นปากเสียงของประชาชนกลุ่มไหน
อย่างไรก็ตาม เฉพาะคำถามที่สื่อคิดเอาเองว่า เป็นประเด็นทางการเมืองที่ต้องถามจากพรรค ผมพบว่ามีสามคำถามหลักที่สื่อมักจะตั้งเป็นปัญหาให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองตอบเสมอ 1) คือปัญหาปากท้อง 2) ความปรองดอง และ 3) ปัญหาเฉพาะในพื้นที่และทุกพรรคการเมืองก็มักมีคำตอบสำเร็จรูปสำหรับสามคำถามนี้ จนสื่อสรุปว่าทุกพรรคมีนบายไม่สู้จะต่างกันนัก
ทำไมสื่อจึงคิดว่าปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในทรรศนะประชาชน ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ถ้าคิดว่านี่เป็นยุคข้าวยากหมากแพง ก็อาจจะใช่ แต่ถ้าดูการเพิ่มขึ้นของจีดีพี ประชาชนก็น่าจะพอรับกับการเพิ่มของราคาอาหารและน้ำมันได้ ซึ่งในความเป็นจริงก็ได้คนในกลุ่มหนึ่ง เช่นน้ำมันแพงไม่ได้ทำให้รถติดน้อยลง
แต่ปัญหาอาจไม่ใช่ข้าวยากหมากแพงโดยตรง แต่ไปอยู่ที่ว่า รายได้เพิ่มขึ้นของประเทศไปกระจุกตัวอยู่ที่คนจำนวนน้อย ไม่ได้กระจายไปอย่างทั่วถึง ข้าวของที่แพงขึ้นทำให้ต้องประหยัดกำลังซื้อภายในประมาณ 42% ซึ่งมาจากคนส่วนใหญ่ของประเทศหดตัวลง กระทบถึงรายได้ของคนอีกมากที่หากินอยู่ในตลาดนี้ นับตั้งแต่แท็กซี่, ตุ๊กตุ๊ก, มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, อาหารริมทาง, ธุรกิจห้องแถว ฯลฯ ก็ยังพอจะอยู่ได้นะครับ แต่ต้องกระเบียดกระเสียรมากขึ้น และไม่แน่ใจว่าจะส่งลูกเรียนหนังสือต่อไปได้ไกลสักเพียงไร
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือที่เรียกว่าปากท้อง ที่จริงแล้วคือปัญหาเรื่องกระจายรายได้ แต่ไปถามพรรคการเมืองเรื่องปากท้อง พรรคการเมืองจึงคิดแต่ว่าจะหาทางเพิ่มรายได้ ให้แก่คนส่วนใหญ่อย่างไร โดยไม่ต้องไปแก้ปัญหาโครงสร้างที่ทำให้เกิดการกระจุกตัวของรายได้เลย
และวิธีที่พรรคการเมืองเสนอก็คือ การผลักทรัพยากรส่วนกลาง โดยเฉพาะงบประมาณลงไปยังคนที่ขาดแคลน เช่น เบี้ยเลี้ยงคนชรา, เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ, รักษาพยาบาลฟรี, เรียนฟรี, ไฟฟ้าฟรี, รถเมล์ฟรี ฯลฯ อันเป็นนโยบายที่มักเรียกกันว่า “ประชานิยม”
การแข่งขันของพรรคการเมืองก็คือโครงการประชานิยมของใครจะตื่นตาตื่นใจกว่า หรือมีความเป็นไปได้มากกว่า
คนที่ตั้งตัวเป็น “ปากเสียง” ประชาชนอีกจำพวกหนึ่งก็คือนักวิชาการ ก็จะพร่ำเตือนว่า นโยบายประชานิยมที่พรรคต่างๆ ใช้แข่งขันกันนั้น จะทำให้ประชาชนง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่คิดช่วยตัวเอง เอาแต่เรียกร้องจากรัฐอย่างเดียว ประชาชนในทรรศนะของนักวิชาการก็ยังเป็นเด็ก 5 ขวบเหมือนเดิม
ความจริงแล้ว การผลักทรัพยากรกลางโดยเฉพาะงบประมาณแผ่นดินให้ถึงมือคนส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้ผิดในตัวของมันเอง แต่งบประมาณเป็นเพียงส่วนเดียวของทรัพยากรที่ผู้คนควรเข้าถึงได้อย่างค่อนข้างเท่าเทียมกัน ปัญหามาอยู่ที่ว่าจะจัดการบริหารงบประมาณอย่างไรดี จึงจะทำให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้จริง
การเอาไปเที่ยวแจกเฉยๆ ไม่ได้เป็นหลักประกันว่างบประมาณจะถูกใช้ไปเพื่อประมาณจะถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จริง
สรุปก็คือประชานิยมนั้นไม่เป็นไร แต่ขอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะนิยมในเรื่องอะไรบ้างต่างหากที่สำคัญกว่า
และถ้ามองให้กว้างกว่างบประมาณ ยังมีทรัพยากรอีกหลายประเภทที่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง นับตั้งแต่ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ที่ดิน, น้ำ, ฯลฯ ไปจนถึงทรัพยากรทางสังคม เช่น การศึกษา, ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง, การคมนาคมที่สะดวกปลอดภัย, หรือทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เช่น ตลาด, ค่าแรงที่เป็นธรรม ฯลฯ
ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เราจะบริการจัดการทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้อย่างไร จึงจะทำให้ทรัพยากรไม่กระจุกตัวอยู่ในมือคนส่วนน้อย หรือที่มักเรียกกันว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง
และนี่คือปัญหาที่พรรคการเมืองไม่เคยตอบเพราะไม่เคยถูกถาม สื่อลดปัญหาใหญ่ขนาดนี้ให้เหลือเพียง “ปากท้อง” เมื่อเป็นเรื่องปากท้อง ก็หย่อนอาหารลงไป จบ
อย่างเดียวกับปัญหาเฉพาะของท้องถิ่น คำถามและคำตอบก็เป็นเรื่องง่ายๆ ไปหมด เช่น ไม่มีถนนก็สร้างถนน น้ำในคลองเน่าก็ทำให้หายเน่า ฯลฯ แต่งบประมาณแผ่นดินมีจำกัด ฉะนั้นจึงต้องเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เพราะจะทำให้มีกำลังแย่งงบประมาณมาลงในพื้นที่ได้มากกว่าเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน แต่การกระจายความเจริญที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือกระจายความเจริญที่เป็นประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่ม หากเกิดผลเสียแก่คนส่วนใหญ่ ฯลฯ เป็นเรื่องของกระบวนการในการตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในมือของนักการเมืองส่วนกลาง ทำอย่างไรคนในท้องถิ่นจึงจะมีอำนาจในการตัดสินใจร่วมด้วยได้จริง นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ มากกว่า สร้างถนน, สร้างแหล่งน้ำ, หรือขจัดมลพิษ เป็นเรื่องๆไป
อันที่จริงเรื่องของความปรองดองก็เป็นเรื่องเดียวกัน โครงสร้างทางการเมืองกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลางอย่างหนาแน่นเกินไป ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองกลายเป็นเรื่องได้ก็ได้หมด เสียก็เสียหมด เดิมพันของแต่ละฝ่ายสูงมากต่างฝ่ายต่างระดมสรรพกำลังทุกชนิดเข้าห้ำหั่นกัน
รวมทั้งความรุนแรงด้วย
ตราบเท่าที่โครงสร้างทางการเมืองยังมีลักษณะเช่นนี้โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง โดยไม่ต้องมีกติกา ก็พร้อมเกิดขึ้นได้อีกทุกเมื่อ ถึงหมดเสื้อสีต่างๆไปแล้ว ก็อาจเกิดในลักษณะอื่นได้อีก การแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ไร้กติกาจึงต้องอยู่ที่ต้องปรับโครงสร้างทางการเมืองไม่ให้เกิดการกระจุกตัวที่ส่วนกลางเช่นนี้ การกระจายอำนาจ การจัดการบริหารทรัพยากรนานาชนิดไปสู่ท้องถิ่นพร้อมทั้งเสริมสร้างกติกาแห่งความขัดแย้งให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเด็ดขาด การต่อสู้ทางการเมืองก็จะเกิดขึ้นได้ในเวทีระดับท้องถิ่น ไม่มีใครได้ทั้งหมดและไม่มีใครเสียทั้งหมด
เป็นผลให้การต่อสู้ทางการเมืองในส่วนกลางเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้นได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะยิงหัวใครเพราะได้ไม่คุ้มเสีย
จริงอย่างที่นักวิชาการให้สัมภาษณ์สื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าฝ่ายใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ไม่น่าเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีสาระสำคัญนักเพราะการเลือกตั้งหนนี้ เราจะเลือกระหว่างรัฐบาลใหม่ กับรัฐบาลเก่า บนเงื่อนไขทางโครงสร้างอันเดิม
เราไม่ได้เลือกระหว่างการเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนเงื่อนไขทางโครงสร้าง ระหว่างเส้นทางใหม่ที่มีความเป็นธรรม ซึ่งจะปลดปล่อยพลังการผลิตของคนไทยทุกคนให้พัฒนาไปจนถึงที่สุดของศักยภาพของเขากับเส้นทางเก่าซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรมและพลังการผลิตของเขาถูกจำกัดไว้เพื่อจรรโลงโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมนั้นตลอดไป
ที่มาภาพ : www.alfagroupnews.com