นักวิชาการแนะเติมปัญญายกระดับ รร.ตำรวจ-หนุนงบไม่ให้หาเศษหาเลย
“ศ.แสวง” ติง 3 องค์กรยุติธรรมทำงานแยกส่วน ศาลไทยยึดติดแต่กฎหมายไม่ดูบริบทสังคม เสนอไม่รวมศูนย์บทบาทจับกุม-สอบสวนที่ตำรวจ ส่วนอัยการไม่ควรมีตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เสนอตั้งคณะกรรมการอัยการพิเศษ ดูแลคดีนักการเมือง
วันที่ 28 พ.ค.54 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดบรรยายอบรมหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับสูง (บสส.) รุ่นที่ 3 เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมทางอาญา” โดย ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าระบบกล่าวหาในกระบวนการยุติธรรมเมืองไทยยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังแยกการจับกุม การฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาออกจากกัน ทำให้ตำรวจ อัยการ และศาล ทำหน้าที่แบบต่างคนต่างทำ ผลลัพธ์คือคดีจำนวนมากไปกองอยู่ที่ตำรวจ
“ตำรวจในฐานะเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ใหญ่เกินไปและรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้ดูแลได้ไม่ทั่วถึง เกิดการวิ่งเต้นตำแหน่งมาก เห็นว่าหากปรับโครงสร้างที่มีในส่วนกลาง กระจายลงในพื้นที่ด้วย จะลดปัญหาและเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น”
ศ.แสวง กล่าวต่อว่า ยังมีปัญหาการจับกุมสอบสวน ที่ให้หน้าที่ตำรวจทำทั้ง 2 ขั้นตอน ควรปรับบทบาทโดยแยกการสอบสวนชุดหนึ่งและจับกุมชุดหนึ่ง จะลดภาระงานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังต้องเติมความรู้ด้านวิชาการ เพราะมีความจำเป็นที่ตำรวจต้องมีความรู้รอบด้าน โดยอาจยกระดับโรงเรียนตำรวจเป็นสถาบันการศึกษา มีลักษณะเหมือนมหาวิทยาลัย และประการสุดท้ายซึ่งสำคัญมากคือการอุดหนุนงบประมาณ สวัสดิการ เงินเดือน อย่างเพียงพอ เพื่อไม่ต้องมาหาเศษหาเลยเช่นทุกวันนี้
ส่วนของอัยการ ศ.แสวง กล่าวว่า จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการสอบสวน เพื่อทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ตำรวจกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับข้อกฎหมายยากๆ เท่ากับตำรวจได้มีที่พึ่ง ขณะที่ชาวบ้านเองก็ได้ที่พึ่งด้วย ไม่ใช่แยกส่วนอย่างที่เป็นอยู่ และตั้งข้อสังเกตว่าไม่ควรให้อัยการดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาทางกฎหมายในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนในคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรมีองค์กรทำหน้าที่เฉพาะเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจสำหรับแต่ละคดีเรียกว่า คณะกรรมการอัยการพิเศษ
ศ.แสวง กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาของศาลที่ถูกวิพากษ์อย่างหนักมากคือ หลักการพิจารณาคดีที่เน้นตามตัวบทกฏหมาย แต่ยังไม่ได้คำนึงถึงความยุติธรรมและความถูกต้องชอบธรรม ส่งผลต่อความเชื่อมั่น ศรัทธา จึงควรมีกระบวนการสืบพยานเพิ่มได้ในศาลอุทธรณ์ หากมีข้อสงสัยในข้อเท็จจริงและให้ศาลฎีการับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายหรือเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และเพื่อลดคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลฎีกา ซึ่งกฎหมายเปิดช่องอยู่แล้วเพียงแต่ไม่ถูกใช้ในกระบวนการ นอกจากนั้นควรมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะช่วยทำหน้าที่ในคดีที่มีความซับซ้อน แต่ต้องระวังไม่ให้มีประโยชน์ทับซ้อน ทั้งหมดขึ้นอยู่กับขั้นตอนการสรรหา.