ศาลสิ่งแวดล้อม (Green Bench)
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาสังคมต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติหลากหลายรูปแบบซึ่ง ล้วนแต่มีลักษณะความรุนแรงมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นภัยธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบ้าง เช่น เหตุการณ์ดินถล่มที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และ เหตุการณ์วิกฤติโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งสร้างความ ตื่นตระหนกและก่อให้เกิดความกังวลในวงกว้าง เกือบทุกประเทศเฝ้าติดตามวิกฤตการณ์ครั้งนี้ว่าจะได้รับการแก้ไขอย่างไร
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดภัยธรรมชาติที่ รุนแรง ดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สังคม ต้องให้ความสำคัญในการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญ ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ทัศนียภาพของเมือง การกำจัดขยะ หรือการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เป็นต้น
ศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมโดยจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้น ในศาลฎีกาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อม ต่อมาได้มีการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ถึง ภาค 9 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมที่ขึ้นสู่ชั้นศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ปัจจุบันมีนายประทีป เฉลิมภัทรกุล เป็นประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา
เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมต่อประชาชนกรณีสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ศาลยุติธรรมโดยคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมจึงได้ออกประกาศให้จัดตั้งแผนก คดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลชั้นต้น ได้แก่ศาลแพ่งเป็นแห่งแรกเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีสิ่งแวดล้อมตามคำแนะนำของ ประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อม ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมจะเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป
สิ่งที่สังคมจะได้รับจากการจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นที่ศาลชั้นต้น คือ ประชาชนที่ถูกกระทบสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมสามารถยื่นฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมได้ที่ ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแผนกคดีชำนัญพิเศษ
คำแนะนำของประธานศาลฎีกากำหนดให้ “คดีสิ่งแวดล้อม” หมายถึง
1. คดีแพ่งที่การกระทำตามคำฟ้องก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเนื่องมาจาก การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมของชุมชน หรือระบบนิเวศ
2. คดีแพ่งที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมของชุมชน
3. คดีแพ่งที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อขจัด มลพิษที่เกิดขึ้นหรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อม หรือเพื่อมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป
4. คดีแพ่งที่มีคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายสุขภาพอนามัย หรือสิทธิใด ๆ ของโจทก์ อันเกิดจากมลพิษที่จำเลยเป็นผู้ก่อหรือต้องรับผิด
คดีสิ่งแวดล้อมดังกล่าวข้างต้นอาจเกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ
ของ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติ หรือประกาศของคณะปฏิวัติ ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือมลพิษ
สิทธิที่จะฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมให้คำนึงถึงสิทธิของบุคคลที่จะได้ประโยชน์จาก
ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งสิทธิที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ
และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เช่น จำเลยปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการผลิตในโรงงานลงสู่แม่น้ำสาธารณะโดยไม่บำบัด ก่อน ทำให้น้ำในแม่น้ำเน่าเสีย โจทก์นำน้ำนั้นไปใช้ในการเกษตรกรรมของตน ทำให้พืชไร่ของโจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทำให้แม่น้ำซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายหรือเปลี่ยน แปลงไป และส่งผลโดยตรงต่อความเสียหายของโจทก์ จึงเป็นคดีสิ่งแวดล้อม
กรณีตัวอย่างอีกหนึ่ง คือ จำเลยก่อสร้างอาคารทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงบ้านของโจทก์และไม่มีลมพัดเข้ามา บ้านเหมือนเดิม โจทก์เสียหายต้องใช้แอร์ พัดลม และเครื่องปั่นเสื้อผ้าให้แห้งเพิ่มมากขึ้น กรณีนี้การกระทำของจำเลยเป็นสาเหตุโดยตรงต่อความเสียหายของโจทก์ แต่ไม่มีลักษณะเป็นการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศ กรณีนี้ไม่ถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาฯ เป็นคดีละเมิดทั่วไปที่จำเลยก่อให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ
หลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญแก่ปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อม เช่น ประเทศนิวซีแลนด์มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ประเทศออสเตรเลียมีการจัดตั้งศาลที่ดินและสิ่งแวดล้อมในมลรัฐ New South Wales, มีการจัดตั้งศาลผังเมืองและสิ่งแวดล้อม ในมลรัฐ Queensland, มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมทรัพยากรและการพัฒนาในบางมลรัฐ สำหรับมลรัฐ South Australia มีการจัดตั้งองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดคดีสิ่งแวดล้อม ในประเทศสวีเดนมีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ประเทศเดนมาร์กมีคณะกรรมการอุทธรณ์ทางสิ่งแวดล้อมและคณะกรรมการอุทธรณ์ เกี่ยวกับการคุ้มครองธรรมชาติ สหภาพยุโรปได้มีการจัดตั้ง European Environment Tribunal เป็นต้น
ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมไว้เป็นการเฉพาะ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกาจึงกระทำที่ศาลตามปกติ เหมือนคดีทั่วไป (ยกเว้นในบางมลรัฐ ได้แก่ มลรัฐเวอร์มอนท์ที่มีการออกกฎหมายจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม)
ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยังไม่มีการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม แต่ศาลญี่ปุ่นได้ตัดสินคดีสิ่งแวดล้อมให้เป็นคุณแก่ชาวบ้าน เห็นได้จากคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน
เช่น คดีโรค “มินามาตะ ที่จังหวัดคุมาโมโตะ ศาลชั้นต้นใช้เวลาในการไต่สวนและพิจารณาเกือบ 4 ปี ในที่สุดศาลก็มีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยบริษัทต้องจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้ป่วยที่เสียชีวิต และผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งนี้ศาลวินิจฉัยว่าบริษัทจำเลยได้ละเลยหน้าที่ในการระวังและคาดการณ์ อันตรายจากน้ำเสียของโรงงานที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์ ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีโรคมินามาตะเกิดขึ้นมาก่อน แต่เมื่อรู้ว่าเกิดโรคขึ้นแล้วก็ควรรีบดำเนินมาตรการเพื่อควบคุมโดยทันที แต่ทางบริษัทจำเลยกลับปล่อยให้ปัญหาลุกลามออกไป
การจัดตั้งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมขึ้นในศาลแพ่งซึ่งเป็นศาลชั้นต้นของศาล ยุติธรรมเพื่อให้มีแผนกคดีชำนัญพิเศษครบทั้งสามชั้นศาลประกอบด้วยผู้พิพากษา และบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการแสดงศักยภาพและสะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของกระบวนการยุติธรรมไทย ในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม เพื่อลดอุปสรรคในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อำนวยความสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรมแก่ประชาชน