ปลดหนี้ แบบชุมชน ไม่พึ่ง ‘นโยบายการเมือง’
ขณะที่ชุมชนเล็กๆ ใน จ.ตราดได้รวมกลุ่มกันปลดหนี้มานานหลายปี โดยในวันนี้ ศาลาการเปรียญวัดทางควาย ต.แสนตุ้ง อ.เขาสมิง จ.ตราด ดูคับแคบไปถนัดตา เพราะวันนัดรวมพลของบรรดาสมาชิกกลุ่มสัจจะกองทุนสะสมทรัพย์บ้านทางควาย ซึ่งจะใช้วันที่ 6 ของทุกๆ เดือนเป็นปฏิทินประจำในการนัดพบปะสมาชิกทั้ง 678 ราย
กอปรกับยังมีแขกพิเศษคือ พระสุบิน ปณีโต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ที่นำคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบเกษตรกรรม ในคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) นำโดยอาจารย์ บัณฑร อ่อนดำ และ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อนุกรรมการปฏิรูประบบเกษตรมาร่วมศึกษาดูงานการบริหารจัดการการเงินของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ที่นี่อีกด้วย
ลุง ป้า น้า อา นับสิบชีวิต กำลังต่อคิวแถวยาวเหยียด เพื่อนำถุงเงินที่สะสมวันละบาทตลอดทั้งเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกับสมุดเล่มเขียวให้กับนายธนาคารของกลุ่ม แต่บางคนก็เตรียมแบงก์สีแดง 5 ใบ แนบกับสมุดสีเหลือง เตรียมตัวไว้ ส่วนพี่ผู้ชายคนหนึ่งก็มาพร้อมกับสมุดเล่มน้ำตาล เพื่อเตรียมตัวชำระดอกเบี้ยที่ขอกู้ยืมไปจากกลุ่มเมื่อเดือนก่อน
ขณะที่สมาชิก ส.ว. (สูงวัย) ที่เสร็จสรรพจากภารกิจ ต่างเริ่มจับกลุ่มถามสารทุกข์สุกดิบ ทำให้ศาลาวัดแห่งนี้เซ็งอื้ออึง เนื่องจากต้องคุยแข่งกับสายฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก
“วันนี้มีเงินหมุนเวียนเป็นหลักล้านบาททีเดียวโยม” พระสุบินบอก
หลังจากตรวจดูความเรียบร้อย พระสุบินเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการสร้างระบบสถาบันการเงินในชุมชน ซึ่งริเริ่มไว้เมื่อ 21 ปีก่อน ว่า มองเห็นปัญหาความยากจนของชุมชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่มักจะมีหนี้สินมาก ขาดเงินออม และขาดสวัสดิการที่จะเป็นหลักประกันให้พึ่งพาตัวเอง และคนในชุมชนได้เลย เพราะระบบสถาบันการเงินมีแต่ดูดเงินออก แต่ไม่ดูดเงินกลับมาให้กับชุมชน ทำให้บางรายที่ดินก็หมดไปเพราะสู้ดอกเบี้ยไม่ไหว เรียกว่ามีแต่ยากจนลงเรื่อยๆ
เฉพาะที่ จ.ตราดในตอนนี้ จึงมีกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แล้ว 165 กลุ่ม สมาชิกกว่า 50,000 รายและมีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท
ขณะที่กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์หลายแห่งยังช่วยปลดหนี้ให้กับสมาชิกที่เคยนำที่ดินไปจำนองไว้นายทุนเงินกู้นอกระบบมาแล้วด้วย ขณะที่เกษตรกรสวนยางบางรายที่เคยรับจ้างก็ลืมตาอ้าปากจนเตรียมซื้อที่ดินไว้เป็นของตัวเอง
นายธนาคารคนหนึ่ง ชี้ให้เกษตรกรหญิงร่างท้วมที่นั่งอยู่ตรงประตูทางเข้า ซึ่งเป็นสมาชิกหมายเลข 131 พร้อมกับบอกว่าป้า เพิ่งพ้นจากหนี้นอกระบบมาหมาดๆ
แฉล้ม เสาวนะ เกษตรกรวัย 51 ปี ถือเป็นสมาชิกรายล่าสุด ที่เพิ่งได้รับช่วยเหลือจากกลุ่มกองทุนสัจจะสะสมทรัพย์บ้านทางควาย นำเงิน 400,000 บาท ไปช่วยไถ่ถอนที่ดิน 10 ไร่ออกมาจากวงเวียนหนี้นอกระบบได้สำเร็จ
“2 ปีที่ผ่านมาต้องเสียค่าดอกเบี้ยถึงเดือนละ 7,000 บาทไปจ่ายให้กับเจ้าของเงินกู้ ทั้งที่รายได้จากสวนผลไม้ที่มีอยู่นั้นก็แทบจะไม่พอในแต่ละเดือน เนื่องจากต้องส่งเงินให้ลูกที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีในสถาบันแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯทำให้เป็นทุกข์ใจตลอดมา เพราะไม่รู้ว่าวันไหน เดือนไหนเราจะหาเงินไม่ทัน และกลัวว่าที่ดินมรดกจะหลุดมือไป ไม่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา”
เธอ เล่าว่า เหตุการณ์เมื่อ 4 เดือน ก่อนที่จะตัดสินใจนำเรื่องเข้าหารือในกลุ่มสมาชิกบ้านทางควาย เพื่อขอเอาโนดที่ดินของป้า กลับคืนมา
สู้ลำพังคงกัดฟันสู้ต่อไปไม่ไหว เธอตัดสินใจที่จะขอกู้เงินจากกลุ่มสัจจะบ้านทางควาย ที่เป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งหลังจากประธานกลุ่มได้นำเสนอต่อที่ประชุม กรรมการยอมให้กลุ่มนำเงินไปช่วยเหลือและเมื่อต้นปี 2554 กลุ่มได้ดำเนินเรื่อง ไถ่ถอนโฉนดจากนายทุนเงินกู้ออกมาแล้ว แต่ว่าโฉนดจะอยู่ในความดูแลของกลุ่ม ทำให้สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ในที่ดินของตัวเองได้ จากเดิมเข้าไปใช้สอยอะไรไม่ได้เลย
“รู้สึกโล่งใจ และดีใจมาก เพราะเป็นทุกข์มาตลอด 2 ปี ตั้งแต่ตัดสินใจเอาที่ดินผืนนี้ไปจำนองแลกกับเงิน 4 แสนบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 7 พันบาท แต่ตอนนี้จ่ายดอกเบี้ยให้กลุ่มเพียงเดือนละ 4,000 บาทเท่านั้น และมีเวลาใช้หนี้คืน 100 เดือน แต่ถ้าเรามีก็จ่ายมาก เพราะทั้งเงินดอกเบี้ยกับเงินต้นจะลดลงเรื่อยๆ ตามจำนวนที่เราส่งคืน” ใบหน้าเปื้อนยิ้ม ปรากฏเป็นครั้งแรก
แฉล้ม ได้ฝากถึงรัฐบาลที่แข่งกันหาเสียงกับเกษตรกรตอนนี้ว่า ถ้าอยากแก้หนี้สินให้เกษตรกรก็อย่านำเงินมาแจก เพราะจะทำให้เกษตรกรเป็นหนี้มากขึ้น แต่ควรทำเกษตรกรรู้จักการพึ่งพาตัวเองได้
เธอยกตัวอย่างกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ที่ จ.ตราด เกษตรกรสามารถรวมตัวกันช่วยปลดหนี้และส่งเสริมให้รู้จักการออมและเก็บเงินไว้ที่กลุ่มเดือนละ 500 บาท ทำให้แต่ละปีที่ได้รับเงินปันผลสูงเป็นหลักพันบาท แถมเมื่อยามเจ็บป่วยไข้ต้องนอนโรงพยาบาลก็มีจะมีสวัสดิการให้คืนละ 100 บาท ส่วนสิ้นปีเกษตรกรจะได้รับการปันผลเป็นปุ๋ยนำไปใช้ในสวนผลไม้อีกด้วย
ขณะที่ สาวิต หิรัญ หนุ่มวัย 40 เจ้าของธุรกิจรับซื้อเศษเหล็กจากหมู่ 4 ต.แสนตุ้ง อ.เขาสมิง จ.ตราด หลังจากสาละวนกับการกดเครื่องคิดเลข เพื่อจ่ายดอกเบี้ย และนำเงินมาออมอยู่หลายรอบเพิ่งเงยหน้าขึ้นพร้อมกับยิ้มเขิน
“ต้องละเอียดมากหน่อย เพราะวันนี้เอาบัญชีของพ่อแม่ และเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ที่เขาฝาก ก็เลยต้องคิดหลายๆ รอบ” สาวิต บอก
เขาเพิ่งกู้เงินแสนบาทไปลงทุนรับซื้อเศษเหล็กและของเก่า ซึ่งเป็นอาชีพที่สอง เพราะอาชีพหลักเขาเป็นเจ้าหน้าที่ทหารผ่านศึก จะใช้ช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ และเวลาเย็นหลังเลิกงานมาตระเวนรับซื้อของเก่าจำพวกเศษเหล็ก อะลูมิเนียม โลหะ เพราะจะได้ราคาดีกว่าของเก่าและของเหลือทิ้งอื่น โดยเขาจะตระเวนรับซื้อจากหมู่บ้านในย่านใกล้เคียงเพื่อนำไปขายต่อให้คนกลางอีกทีหนึ่ง
“ทีแรกก็เป็นสมาชิกของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ เราออมเงินวันละแค่บาทเดียว แต่เห็นควรว่าต้องเริ่มเก็บออมไว้เพื่ออนาคตของตัวเอง เลยเปิดสมุดใหม่ออมเพิ่มเป็น 500 บาทอีกเล่มหนึ่ง ตอนนี้ก็มีเงินสะสมมากอยู่ จนกระทั่งเป็นเครดิตให้เรากู้เงินมาลงทุนได้แล้ว ซึ่งดอกเบี้ยเขาจะคิดเพียง 50% สตางค์เท่านั้น จึงไม่เหนื่อยมาก”
สาวิตบอกว่า ต้องมีการจัดการระบบรายจ่าย โดยการทำบัญชีครัวเรือนอยู่แล้วทำให้รู้รายรับรายจ่ายของแต่ละวัน และรู้จักการใช้เงินมากขึ้น
เช่นเดียวกับที่กลุ่มสัจจะพัฒนายาง บ้านท้ายวัง ต.วังกระแจ จ.ตราด ดูคึกคักเป็นพิเศษ ตั้งแต่เช้ามืดจนถึงสายๆ เกษตรกรชาวสวนยาง ยังคงทยอยเอาน้ำยางที่กรีดไว้มาขายให้ที่กลุ่ม บ้างก็มีถังน้ำยาง 2-3 ถังนำใส่รถพ่วงซาเล้ง บางรายก็ขนใส่ปิกอัพมาไม่ขาดสายตั้งแต่ช่วงเช้ามืด
ทวี ถนอมสุข เกษตรกรหนุ่มจากบ้านเพิง ต. วังกระแจะ กำลังสาละวนกับการล้างถังน้ำยาง หลังจากเขาเพิ่งเทน้ำยางเข้มข้นเกือบ 100 กก. ส่งลงจุดตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำยาง ที่มียายเสนาะ วัย 84 คอยทำหน้าที่นี้ โดยไม่รับเงินเดือนซักบาท มาถึง 2 ปีเต็ม
เขาบอกว่า เขารับจ้างปลูกยางดูแลสวนยาง 10 ไร่ และใช้วิธีการแบ่งเงินรายได้กับเจ้าของสวนยางมานานหลายปี ที่ผ่านมามีแต่ขาดทุนมาตลอด แต่หลังจากกลุ่มสัจจะของพระสุบินเปิดดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2551 เกษตรกรชาวสวนยางแถวนี้ ก็ลืมตาอ้าปากได้
มีเงินจากการขายยางอาทิตย์ละหลักพันถึงหลักหมื่น เนื่องจากเป็นการรวมตัวกันแบบพึ่งพาในชุมชน ทำให้ราคายางไม่ถูกเอาเปรียบ จากกลไกของนายทุน และพ่อค้าคนกลางอย่างพื้นที่อื่น โดยระบบจะใช้วิธีการหักเงินเพียง 4 บาทต่อกิโลกรัมไว้สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนและนำไปใช้จัดสวัสดิการคืนให้กลับให้สมาชิกที่มีมากกว่า 200 คน เช่น ซื้อปุ๋ยคืนให้ชาวสวนยางในช่วงสิ้นปี มีเงินค่ารักษาพยาบาล ดูแลคนแก่ในชุมชน เป็นต้น
“ขณะที่สมาชิกของกลุ่มเอง ทุกคนก็ต้องมีสัจจะต่อตัวเอง ต่อเพื่อนร่วมกลุ่ม เช่น เปอร์เซ็นต์น้ำยางที่นำมาส่งจะไม่ผสมน้ำ และพึ่งพาตัวเองคือมาถึงก็รับหมายเลขสมาชิก จัดแจงชั่งน้ำหนักยาง และต้องล้างถังน้ำยางกันเอง ทำกันทุกคน ที่สำคัญ เรื่องระบบการเงิน จะมั่นใจได้ว่าเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเขาจะมีระบบบัญชีที่ดีมาก คือจะตัดยอดทุกวันเสาร์ และเงินออกทุกวันพฤหัส นอกจากยังมีการประชุมกลุ่มทุกเดือนเพื่อพบสมาชิก รับรู้ความเคลื่อนไหว และหารือปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น”
ทวี บอกว่าถ้ารายได้จากราคายางดี แบบนี้ไปเรื่องๆ เขาอาจได้เป็นเจ้าของสวนยางในไม่ช้านี้
การปลดหนี้ตามแบบฉบับของพระอาจารย์สุบินจึงไม่ต้องอาศัยนโยบายพรรคการเมือง เพียงแต่อาศัยการรวมกลุ่มของเกษตรกรในชุมชน รวมไปถึงการทำให้คนในท้องถิ่นรู้จักออม
ดร.เพิ่มศักดิ์ ในฐานะ อนุกรรมการปฎิรูประบบเกษตร ให้ความเห็นว่า แนวคิดของประอาจารย์สุบินที่สั่งสมมาตลอด 20 ปีนี้ ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จ เพราะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข้ง โดยเฉพาะเกษตรกรที่มักจะถูกเอาเปรียบและไม่ได้รับความเป็นธรรม การรวมกลุ่มเพื่อเป็นอำนาจต่อรองจึงเป็นแนวทางแก้ความเหลื่อมล้ำ เพราะรากเหง้าของที่ดิน และหนี้สินเกาตรกร ก็มาจากโครงสร้างอำนาจนั่นเอง
“สิ่งเหล้านี้เป็นฐานรากที่เข้มแข็งในการพัฒนาประเทศ แต่ที่ผ่านมา รัฐเข้าไปจัดการและควบคุมมากเกินไป อีกทั้งใช้เงินเป็นตัวตั้ง สร้างเงื่อนไข ให้ทำอย่างนั้นอย่างน้การปฏิรูปจึงต้องสร้างอำนาจต่อรอง สร้างความเป็นอิสระ รวมทั้งแรงจูงใจ โดยใช้กิจกรรมเป็นตัวหลัก นำหลักวิชาการมาเป็นตัวเสริม”
“ส่วนความช่วยเหลือของภาครัฐคงต้องช่วยต่อยอดการทำงานในลักษณะนี้มากกว่าการกระจายเงินลงไปยังชุมชน เพราะที่สุดแล้วไม่สามารถทำให้ชุมชนรู้จักการพึ่งพาตัวเอง เพราะไม่ได้มีส่วนร่วมและรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของเงินที่ต้องดูแล ซึ่งเขาเชื่อว่า การรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ จะช่วยให้เกษตรกร หลุดพ้นจากวังวนหนี้สินได้อย่างแน่นอน” เพิ่มศักดิ์ บอกทิ้งท้าย
แม้วันนี้เกษตรกรของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ ที่ จ.ตราด จะสามารถปลด (หนี้) ได้แล้ว แต่ยังมีเกษตรกรอีกราว 6 ล้านคนที่ยังอยู่ในวังวงของหนี้ เช่นกัน