เมล็ดพันธุ์ : อธิปไตยในไร่นา
มีหลักฐานว่าคนไทยทำนา มากว่าห้าพันปี แต่เพียงไม่กี่ทศวรรษหลังชาวนาไทยเป็นหนี้และติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ เชื่อหรือไม่ว่าจุดเริ่มต้นของปัญหาอยู่ตรงสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า "เมล็ดพันธุ์"นี่เอง
“กินข้าวหรือยัง”
คำทักทายแบบไทยๆ ที่สะท้อนนิสัยใจคอและความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหารเมื่อครั้งอดีต อาจกลายเป็นเพียงมรดกทางภาษาที่เจือจางด้วยข้อเท็จจริง เช่นเดียวกับคำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” หากว่าสถานการณ์ข้าวยังดำเนินไปตามครรลองที่เป็นอยู่
บางทีอาจจะดีกว่าหากใครต่อใครหันมาทักทายกันด้วยคำว่า “กินข้าวอะไรมา” เพราะนั่นจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ สำหรับอนาคต“ข้าว” อาหารหลักของคนไทย
เรื่องนี้คงไม่มีใครให้ความกระจ่างได้ดีเท่ากับ พ่อบุญส่ง มาตรขาว ชาวนาอีสาน ผู้เป็นต้นแบบของการประกาศอิสรภาพในไร่นาของตนเอง
ย้อนหลังไปกว่าสิบปี พ่อบุญส่ง ออกเดินทางจากบ้านเกิดในอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธรด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง ปลายทางไม่ใช่ทำเนียบรัฐบาลอย่างที่เพื่อนเกษตรกรปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแทบ ทุกปี
ที่แห่งนั้นคือ เวทีแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ของชาวนาที่หันหลังให้กลับเกษตรเชิงเดี่ยว พ่อบุญส่ง มองหาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะกับผืนนามรดกที่บ้านกำแมด ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ “ไม่มีเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านหลงเหลืออยู่ในพื้นที่อีกแล้ว”
การออกตามหาเมล็ดพันธุ์ของ ชาวนาคนหนึ่ง อาจฟังดูน่าเศร้า ทว่าสำหรับคนที่กำลังจมดิ่งอยู่ในวังวนของหนี้สินและปัญหาสุขภาพ นี่คือก้าวแรกของการคืนศักดิ์ศรีให้กับตนเองบนพื้นฐานของเกษตรกรรมยั่งยืน
เมล็ดพันธุ์ที่หายไป
สำหรับคนทั่วไป “ข้าวหอมมะลิ” ดูจะเป็นข้าวไทยสายพันธุ์เดียวที่รู้จักและภาคภูมิใจ
ทว่ากับชาวนาดั้งเดิมแล้ว ข้าวมี หลากหลายสายพันธุ์แตกต่างกันไปตามพื้นที่เพาะปลูก บางชนิดเหมาะกับนาลุ่ม บางชนิดเหมาะกับนาดอน บางชนิดอายุการเก็บเกี่ยวสั้น บางชนิดอายุปานกลาง นาในอดีตจึงปลูกข้าวมากกว่าหนึ่งพันธุ์ นอกจากจะทำให้สามารถจัดสรรแรงงานได้เพียงพอในการเก็บเกี่ยว ยังทำให้มีข้าวกินตลอดทั้งปี
ข้าวดำรง อยู่ในสังคมไทยมานานนับพันปี มากกว่าการเป็นอาหาร คือมิติทางวัฒนธรรมที่เชื่อมร้อยอดีตกับปัจจุบัน คนในครอบครัวชุมชนให้พึ่งพาอาศัย โดยเฉพาะคนที่ได้ชื่อว่า “กินข้าวหม้อเดียวกัน”
กระทั่งการปฏิวัติเขียวเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว สถาบันวิจัยข้าวได้ส่งข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตมากกว่าเดิมไปยังไร่นาทั่วประเทศ เพื่อให้ข้าวเป็น “สินค้า” ที่สมบูรณ์แบบ
พ่อบุญส่งเล่าว่า แรกๆ คนก็ยังไม่นิยมมากนัก เพราะข้าวพันธุ์ใหม่ถอนกล้ายาก
“พอประมาณปี 2520 ตลาดขยายตัวขึ้น ข้าวที่ตลาดมีความต้องการคือข้าวเม็ดเรียวเม็ดยาว ก็ เริ่มมีข้าว กข. ข้าวหอมมะลิ เข้ามา ราคาที่สูงขึ้นเป็นแรงจูงใจให้คนทิ้งข้าวที่เคยใช้ เมล็ดพันธุ์ที่เคยเก็บไว้ก็เริ่มหายไป”
พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะข้าวพันธุ์ ใหม่เหล่านี้ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีเท่านั้น หลังจากพวกมันรุกคืบไปทั่วทุกหัวระแหง ใช้เวลาไม่ถึงทศวรรษ ประกายแห่งความหวังจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นก็ดับวูบลงพร้อมกับต้นทุนที่ สูงขึ้นเรื่อยๆ
“ปุ๋ยต้องใช้เพิ่มขึ้นทุกปี จากเดิมที่นา 20 กว่าไร่ ใช้ปุ๋ยไม่เกิน 4-5 กระสอบ ก็กลายเป็น 6, 7, 8 กระสอบ จนสุดท้ายต้องใช้ถึง 15-20 กระสอบ แล้วก็เริ่มมีหญ้า มีเพลี้ยกระโดด มีหนอน มีแมลงอะไรขึ้นมา ต้องหายาอย่างอื่นมาเพิ่มอีก ผลก็คือกบเขียดปูปลาในน้ำในนาก็ตายไปด้วยกัน สิ่งแวดล้อมเริ่มเจอปัญหา”
ที่ย่ำแย่ที่สุดคือสุขภาพ พ่อบุญส่งเล่าว่า ระยะหลังเริ่มวิงเวียนศรีษะ แน่นหน้าอก ไม่สบายบ่อย จึงตัดสินใจเปลี่ยนวิถีการผลิตไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์
แม้หนี้สินหลักล้านจะสร้างความยากลำบากในช่วงต้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเท หลังจากเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านจากเพื่อนชาวนาต่างถิ่นได้ถูกหว่านลงไปบนผืนดิน ข้าวมะลิแดงแห่งอำเภอกุดชุม ได้มอบชีวิตใหม่ในฐานะเกษตรกรตัวอย่างให้กับพ่อบุญส่ง
ปราชญ์อีสานผู้จุดประกายความหวังให้กับชาวนานับล้านครอบครัวที่ยังจมอยู่ในกองหนี้สินและคำโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ส่งเสียงไปถึงเพื่อนชาวนาด้วยความเป็นห่วง
“ชาวนาเฮา ถ้าต้องพึ่งเมล็ดพันธุ์จากบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ ก็ถึงจุดที่เขาจะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด”
ทว่าเสียงที่สะท้อนกลับมานั้น กลับงตอกย้ำถึงความเจ็บช้ำน้ำใจที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา
“เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเขาบอกว่าไม่ดี ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัท ปุ๋ยขี้วัว ขี้ควาย มันไม่ได้ผล ต้องใช้ปุ๋ยเคมี เสร็จแล้วชาวนาก็ต้องหอบข้าวไปที่โรงสี ถามว่า...ข้าวของฉันราคาเท่าไหร่”
“เราเสียอธิปไตยไปแล้วใช่มั้ย...ชาวนา”
ข้าวไทยในวิกฤติอาหาร
“กินข้าวอะไร” คำถามง่ายๆ ที่แม้จะคาดหวังคำตอบว่า ...ข้าวแผ่แดง ข้าวพญาลืมแกง ข้าวดอฮี ข้าวคำผาย ข้าวเล้าแตก หรืออีกสารพัดชื่อแปลกหูของข้าวพื้นบ้านที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้กว่า 20,000 พันธุ์
แต่คำตอบที่ได้คงวนเวียนอยู่แค่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวกข. ข้าวชัยนาท
“พื้นที่ปลูกข้าว 60 กว่าล้านไร่ในบ้านเรา ครึ่งหนึ่งปลูกข้าวแค่ 2 สายพันธุ์ คือ หอมมะลิ กับชัยนาท, 90 เปอร์เซ็นต์ปลูกข้าวประมาณ 15 สายพันธุ์ ซึ่งทั้งหมดเป็นพันธุ์ลูกผสมที่ต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง”
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากมูลนิธิชีววิถี ให้ข้อมูลพื้นฐาน ก่อนจะยืนยันว่า พันธุกรรมคือหัวใจสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร
“ฐานเรื่องพันธุกรรมเป็นจุดตั้งต้นของการกำหนดแบบแผนการผลิต เพราะฉะนั้นถ้าพันธุ์พืชไม่ได้อยู่ในมือของเกษตรกร ผ่องถ่ายไปอยู่ในมือของภาควิจัยสาธารณะคือหน่วยงานของรัฐ ท้ายที่สุดมันก็ถูกผ่องถ่ายไปยังบริษัท แบบแผนการผลิตก็จะถูกกำหนดโดยบริษัท รวมถึงชะตากรรมของเกษตรกรด้วย”
นั่นคือคำอธิบายว่า ทำไมราคาข้าวที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จึงไม่อาจทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้
“แต่เดิมต้นทุนการผลิตข้าว ประมาณ 5เปอร์เซ็นต์ แต่พอมาเป็นข้าวลูก ผสมจะขึ้นไปถึง 35เปอร์เซ็นต์ ไม่รวมค่าปุ๋ยค่ายา แต่อันนี้ไม่ใช่ทั้งหมด ปัจจัยที่มีผลเยอะตอนนี้ก็คือฐานทรัพยากรอื่น เช่น เรื่องที่ดิน ในภาคกลาง เกษตรกรที่เป็นผู้เช่านาประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ทั้งประเทศมีคนที่ต้องเช่านาประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 3 เท่า”
นอกจากนี้ปัญหาที่ซ้อนทับเข้ามาก็คือ ราคาคาน้ำมันและพืชอาหารที่มีแนวโน้มแพงขึ้น นายทุนเริ่มสนใจพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกพืชพลังงาน ทำให้มีการแย่งใช้ทรัพยากรภาคเกษตรมากขึ้น
“ตรงนี้ถ้าจัดการไม่ดี มันก็คือวิกฤติดีดีนี่เอง” วิฑูรย์ แสดงความกังวล
เมื่อราคาข้าวหัก กลบลบหนี้แล้วขาดทุน ที่ดินก็หลุดไปจากมือชาวนา การก้าวเข้ามาของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสัญชาติไทยและข้ามชาติที่เล็งเห็นกำไร จากพืชอาหาร กำลังจะเปลี่ยนชาวนาให้กลายเป็นแค่ “เกษตรกรรับจ้าง” ซึ่งนั่นหมายถึงคนเพียงไม่กี่กลุ่มคือผู้ครอบครองความมั่นคงทางอาหารของคน ทั้งประเทศ
“ตอนนี้ต้องยอมรับว่า คนที่ถือครองอาหารในสังคมไทยมีไม่กี่บริษัท แม้แต่ข้าวก็ มีคนที่ถือไว้แล้วเป็นส่วนใหญ่ จะเหลืออยู่กับเกษตรกรบ้างเล็กน้อย ความน่าเป็นห่วงก็คือ บริษัทไม่กี่บริษัทนี่แหละที่จะบอกว่าราคาอาหารวันนี้เท่าไหร่ ไม่ใช่เกษตรกร หรือแม้แต่ผู้บริโภค” สุเมธ ปานจำลอง ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างอธิปไตยทางอาหารฯ สกว. ตั้งข้อสังเกต
ล่าสุดธนาคารโลกคาดการณ์ว่า หากราคาข้าวและพืชอาหารพุ่งสูงขึ้นอีก 10เปอร์เซ็นต์ จะผลักดันให้ประชาชนประมาณสิบล้านคนทั่วโลก ลงไปอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน
ปัญหาสังคม การแย่งชิงทรัพยากรจะรุนแรงขึ้น บางคนเริ่มจินตนาการถึงสงครามที่มีชนวนเหตุจากอาหาร หลายประเทศคิดถึงการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหาร แล้วอะไรคือทางออกของสังคมไทย
อิสรภาพทางพันธุกรรม
เมล็ดข้าว ทั้งกลมสั้น เรียวยาว หน้าตาสีสันแตกต่างกันไป คือมรดกล้ำค่าที่พ่อบุญส่งและชาวบ้านในเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนไม่เพียง ถนอมรักษา แต่ยังพัฒนาต่อยอดจนได้รับการยอมรับจากสถาบันวิชาการ
“ข้าวมะลิ แดงนี่มีงานวิจัยรับรองว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูง กินแล้วไม่เป็นเบาหวาน” คำบรรยายสรรพคุณนี้แม้จะชวนให้หลายคนสนใจซื้อหาไปเป็นเสบียง แต่ปัญหาของการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านก็คือ การตลาด ที่ไม่อาจเชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง
ดังนั้นแม้จะถูกมองด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ทั้งคนปลูกข้าวและคนกินข้าวที่รักสุขภาพ แต่การเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปของเกษตรกรรมแบบยั่งยืน เทียบไม่ได้เลยกับการก้าวกระโดดของกลุ่มทุนด้านการเกษตร
ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทเหล่านี้ยังพยายามผลักดันอย่างหนักให้เกิดการยอมรับการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสม หรืออีกนัยก็คือ การผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์
“กฎหมายเมล็ดพันธุ์ ปี 2518 ถูกออกแบบมาโดยฐานคติที่ว่าเกษตรกรเป็นผู้ใช้เมล็ดพันธุ์ เพราะฉะนั้นคนที่ผลิตก็คือรัฐบาลหรือบริษัท สองก็คือควบคุมมาตรฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเพื่อให้ได้คุณภาพที่ดี วัตถุประสงค์ก็โอเค แต่ในทางปฏิบัติมันไม่เอื้อเฟื้อการพัฒนาและผลิตเมล็ดพันธุ์ของวิสาหกิจชุมชน ซ้ำร้ายก็คือ บริษัททั้งหลายซึ่งผูกขาดเมล็ดพันธุ์นี้ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการขัดขวางการพัฒนาพันธุ์ของเกษตรกร ไปจับชาวบ้าน แต่เราแทบไม่เห็นการจับนี้เลยในหมู่พวกบริษัทด้วยกัน” วิฑูรย์ ชี้ปัญหาที่เกิดขึ้น
การรวมตัวกันเพื่อประกาศอิสรภาพทางพันธุกรรม เรียกร้องให้ภาครัฐออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่เกษตรกรในการผลิต แลกเปลี่ยน และจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ จึงเป็นแนวทางหนึ่งของชาวนาในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้
พวกเขายืนยันหลักการว่า เมล็ดพันธุ์ต้องกระจายอยู่ในมือของเกษตรกรรายย่อย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของสังคมไทย
“เรามีชาวนา 3.5 ล้านครอบครัวขึ้นไป เป็นฐานการผลิตที่กว้างมาก แต่ถ้าเปลี่ยนแบบแผนการผลิต ต้นทุนสองในสามจะไหลไปอยู่ในมือบริษัท นั่นกลายเป็นว่าจุดแข็งของเรา ในการกระจายการผลิต ต้นทุนต่ำ ไม่พึ่งพาฟอสซิล อาจจะกลายเป็นวิกฤติซ้ำเติมความมั่นคงทางอาหาร ซ้ำเติมเกษตรกรให้แย่ลงไปอีก”
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวิกฤติอาหารที่เกิดขึ้นถือเป็น “วิกฤติการณ์ถาวร”
“ตอนนี้ดัชนีอาหารมันไปสู่ระดับที่เคยเกิดวิกฤติการณ์แล้วโดยที่ไม่เกิด สงครามเลย มันเกิดขึ้นเพราะราคาน้ำมัน ประเด็นก็คือการที่อาหารแพงน่าจะเป็นโอกาสของเกษตรกรรายย่อย ผู้สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศไทยมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ เราจึงมีข้อเสนอว่าพันธุ์ข้าวเรา ต้องรักษาไว้และขยายพื้นที่ให้ได้ อันนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่จะรักษาระบบการเกษตรให้อยู่ในมือเกษตรกร” วิฑูรย์ กล่าวถึงจุดยืนของเครือข่ายเกษตรกร
ทั้งนี้เพราะความหลากหลายของพันธุกรรม นอกจากจะสัมพันธ์กับวิถีการผลิตและวัฒนธรรมชุมชนแล้ว ในทางวิชาการยังเป็นการสร้างสมดุลในระบบนิเวศน์ ลดความเสี่ยง ในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติด้วย
เรื่องน่ายินดีก็คือ ทุกวันนี้เกษตรกรจำนวนไม่น้อยมีศักยภาพในการพัฒนาพันธุ์ข้าว และได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ข้าวพันธุ์พื้นบ้านไม่ต้องใช้สารเคมีและให้ผลผลิตดีเกินคาด
หากตัดอุปสรรคด้านนโยบายที่ไม่หนุนเสริมเกษตรกรรายย่อย และขวากหนามที่เกิดจากวิธีคิดที่มอง “ข้าว” เป็น “สินค้า” มากกว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ
ข้าวไทย ก็จะเป็นทั้ง “คลังเสบียง” และ “ความหวัง” ของคนไทย
ภาพประกอบจาก : http://www.oknation.net/blog/getpoint/2009/01