ลูกจ้างวอนรัฐทำตามข้อเรียกร้องวันเมย์เดย์
เช่น รับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ปฎิรูประบบประกันสังคม และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการให้บริการของโรงพยาบาลในระบบประกันสังคม ซึ่งขณะนี้ผู้ประกันตนร้องเรียนกันมาก
อีกทั้งขอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและปรับให้เท่ากันทุกพื้นที่และมีการปรับตามค่าจ้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือ อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์นี้ ครสท. จะหารือข้อเสนอของแรงงาน เพื่อยื่นต่อพรรคการเมืองต่างๆต่อไป
ด้านนายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย (อสท.) กล่าวว่าอยากให้รัฐบาลชุดใหม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25% ภายใน 2 ปี โดยปีนี้ ขอให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก่อน 13% และจัดทำโครงสร้างค่าจ้างประจำปีให้แก่แรงงานทักษะฝีมือในสาขาต่างๆ เพื่อที่จะไม่ต้องรอปรับค่าจ้างตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
นอกจากนี้ ต้องดูแลความปลอดภัยของแรงงานตามระบบสากลโดยให้ทำงานวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง ซึ่งทุกวันนี้ แรงงานไทยทำงานวันละ 12 ชั่วโมง เพราะรายได้ไม่พอค่าครองชีพ รวมทั้งดูแลแรงงานนอกระบบที่มีกว่า 20 ล้านคนได้รับสิทธิรักษาพยาบาลและมีเงินออมในวัยเกษียณโดยใช้มาตรา 40 ของ พ.ร.บ. ประกันสังคมและจัดตั้งกองทุนภาคประชาชนขึ้นมาด้วย
ส่วนนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามความเหมาะสม ไม่เข้าไปแทรกแซง เพราะหากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมแต่ละประเภท จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และกระทบต่อการส่งออกสินค้า
“ค่าจ้างของแรงงานไทยนั้นควรดำเนินการในรูปแบบของค่าจ้างแรกเข้า ของแรงงานแต่ละสาขา และกำหนดให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ อาจจะกำหนดให้มีการปรับขึ้นทุก 2-3 ปี และการปรับขึ้นค่าจ้างนั้นควรทำในรูปแบบค่าจ้างประจำปี โดยไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานต่างๆ” นายธนิตกล่าว
ขณะที่ รศ.ดร. แล ดิลกวิทยารัตน์ ผอ.ศูนย์พัฒนาแรงงานและจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ทำตามข้อเรียกร้อง 9 ข้อและ 13 ข้อของกลุ่มแรงงานที่ได้ยื่นไปในวันแรงงาน เช่น การปรับค่าจ้างที่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง จัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้แก่ลูกจ้างกรณีถูกเลิกจ้างไม่จ่ายเงินชดเชย การปฏิรูปประกันสังคม
“นักการเมืองไทยเป็นแบบนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคไหนก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงยังทำงานกันแบบเดิมๆ วิธีการมองโลกก็ยังเป็นแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นด้านอุดมการณ์ความคิดก็เป็นแบบเก่า ถ้าทำได้ป่านนี้ก็คงจะพัฒนาไปมากกว่าที่เป็นอยู่” รศ.ดร.แลกล่าว