3 พรรคแข่งชูประชานิยมสุขภาพ
การเสวนา “ฟอรั่มกรุงเทพธุรกิจ” หัวข้อ “นโยบายพรรคการเมืองกับนโยบายสารธารณสุขเพื่อสุขภาวะของคนไทย” โดยมีผู้แทนพรรคการเมืองต่างๆ และนักวิชาการเข้าร่วม
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การลงทุนด้านสุขภาพ แค่ทำนโยบายประชานิยมไม่สามารถเป็นหลักประกันสุขภาพได้แต่ต้องทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่ดี ที่ผ่านมารัฐบาลจึงเพิ่มเติมงบประมาณลงไป 2,400 บาท ในปี 2554 เพิ่มเป็น 2,800 บาท ในปี 2555 เป็นลบประมาณสูงที่สุด แต่คำว่าสุขภาพที่ดีไม่ได้จำกัดแค่ที่โรงพยาบาลเท่านั้น จึงต้องขับเคลื่อนโยบายสุขภาพด้านต่างๆ ร่วมกันเพื่อทำให้เชิงรุกด้วย
การขับเคลื่อนภาพใหญ่ด้านสุขภาพที่ประชาธิปัตย์นำเสนอมี 7 เรื่อง คือ 1.หลักประกันสุขภาพต่างๆ ต้องจัดสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกัน ไม่เหลื่อมล้ำ โดยไม่จำเป็นต้องรวมกองทุนแต่อย่างใด 2.คนในครอบครัวควรได้รับสิทธิประโยชน์ในการรักษากองทุนเดียวกัน เปิดให้ลูกเมียผู้กันตนมีสิทธิเลือกว่าจะอยู่ในระบบใด
3.การวางแผนการเงินการคลังต้องมีนวัตกรรมเพิ่มขึ้น ที่รวมไปถึงการจัดทำแผนแม่บทระบบการเงินการคลังระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในระยะยาว 5-10 ปี ซึ่งจะเป็นครั้งแรก
4.การปรับปรุงระบบสวัสดิการข้าราชการ ลดค่ารักษาพยาบาลในระบบ
5.เพิ่มสิทธิภาพการรักษาพยาบาลในหน่วยบริการ ไม่จำกัดให้โรงพยาบาลอยู่แต่ในโครงสร้างภาครัฐเสมอไป แต่ไม่สามารถออกนอกระบบได้อย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้ว
6.พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุต้องช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
7.การกระตุ้นให้เกิดระบบสุขภาพท้องถิ่น เช่น การจัดทำกลไกสุขภาพในชุมชน การสร้างเครือข่ายส่งต่อผู้ป่วย
ภูมิใจไทย ยกระดับ รพ.ตำบล
นายมานิต นพอมรบดี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายของพรรคจะเน้นที่คุณภาพการรักษา เพราะที่ผ่านมาระบบการรักษาฟรีมักพูดถึงเรื่องนี้อย่างมาก แม้ว่าจะทุ่มงบประมาณปีละกว่าแสนล้านบาทก็ตาม แต่ก็มีปัจจัยส่งผลให้ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น เช่น จำนวนผู้สูงอายุ ส่งผลผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลมากขึ้นดังนั้น ควรพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) ที่คัดกรองผู้ป่วยและรักษาเบื้องต้น ลดการรอคิวในโรงพยาบาลใหญ่ โดยให้มีแพทย์ประจำ ตั้งเป้าภายใน 10 ปี มีแพทย์ทุก รพ.สต.
“การทำเช่นนี้ยังช่วยแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขในภาพรวมได้ ทั้งการลดภาระงานแพทย์พยาบาล เพิ่มคุณภาพและศักยภาพการรักษา พร้อมกันนี้ ยังเน้นดึงทุกหน่วยงานร่วมทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพเชิงรุกอย่างมีเอกภาพ ที่ไม่จำกัดเพียงแค่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น รวมไปถึงการเดินหน้ากระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเข้ามาดูแล” นายมานิต กล่าว
เพื่อไทยปัดฝุ่น 30 บาท
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หากพรรเพื่อไทยได้รับการเลือก คงต้องพูดคุยถึงการให้บริการรักษาพยาบาลตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และต้องทำให้เกิดความเสมอภาคทั้ง 3 กองทุน และคงต้องปัดฝุ่นนำ 30 บาทกลับมา หลังจากที่พรรคไทยรักไทยนำนโยบายนี้และถูกยกเลิกจัดเก็บเงินไปเป็นรักษาฟรี ทั้งนี้เพื่อกันการใช้บริการฟุ่มเฟือยเกินไป และจะขยายรักษานอกเวลาเปิดให้คนทำงานมีโอกาสหาหมอได้ไม่ต้องป่วยฉุกเฉินเท่านั้น โดยคิดค่าบริการ 300 บาท เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาระงาน
พร้อมกันนี้ยังต้องสนับสนุนแก้ปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ เดินหน้านโยบายการสร้างสุขภาพให้กระจายไปทุกพื้นที่ เน้นใช้กลไก อสม. ที่มีอยู่รวมไปถึงการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งในต่างประเทศมีโครงการบ้านหลังที่ 2 สำหรับผู้สูงอายุ ในการอยู่ร่วมกันและทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์
พรรคยังให้ความสำคัญต่อการป้องกันโรคไม่ใช่แค่รักษา โดยพรรคมีนโยบายที่อยู่ระหว่างเสนอคือการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กผู้หญิงต่ำกว่าอายุ 15 ปี เพื่อลดการแพร่ระบาด
ล้อมกรอบ
นโยบายทุกพรรคแค่ ‘หาเสียง’
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า เท่าที่ดูนโยบายพรรคการเมืองเห็นว่ายังไม่ก้าวข้าม เพราะยังพูดแค่การแก้ไขที่ปลายเหตุ เน้นการรักษาพยาบาล ไม่ใช่การแก้ที่ต้นเหตุที่การป้องกันหรือการแก้ไขปัญหานโยบายที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้เห็นว่าหากพรรคการเมืองไม่ปรับทิศทาง เราคงล่มสลายเพราะจะทุ่มงบประมาณมากแค่ไหนคงไม่เพียงพอต่อการตามรักษา
ดังนั้น การทำนโยบายพรรคการเมืองจึงควรมี 2 ส. คือ 1.สายตาที่กว้าง มองเรื่องสุขภาพมากกว่าการซ่อมสุขภาพ เกินกว่าคำว่ากองทุน และเกินกว่างานภายในกระทรวงสาธารณสุข และไปเน้นที่แก้ปัญหาขาดงบ ขาดหมอ และ 2.สายตามองที่มองไกล ในการกล้าปักธงนโยบายที่มีผลดีต่อประชาชน แม้ว่าต้องใช้ 10-20 ปี จึงเห็นผล อย่างนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ใช่สายตาสั้น ทำแค่นโยบายประชานิยม อย่างจ่ายค่าตอบแทน อสม. แม้จะเห็นผลเร็วแต่ทำประเทศเสียหาย เสียโอกาส
“ยังไม่เห็นพรรคการเมืองไหนประกาศนโยบายสร้างนำซ่อมเพื่อทำให้คนสุขภาพดี ไม่ใช่สุขภาพเสีย ไม่ทำให้คนตายอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งพรรคการเมืองควรประกาศนโยบายว่า จะให้ความสำคัญด้านสุขภาพ”
นพ.อำพล กล่าวต่อว่า ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าต่อในการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพจากการมีส่วนร่วมหรือไม่ และยังขาดความชัดเจนในนโยบายกระจายอำนาจ
นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) กล่าวว่า นโยบายภาพรวมที่พรรคการเมืองเสนอเท่าที่เห็นไม่แตกต่างกันมาก ยังไม่เห็นสิ่งเป็นรูปธรรมที่ทำให้มั่นใจว่าจะนำนโยบายเหล่านี้ไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร
เขาคิดว่า นโยบายที่ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับประโยชน์และแก้ปัญหาความขัดแย้งคือการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมี 2 ด้านหลักๆ คือความเหลื่อมล้ำด้านกองทุนสุขภาพที่ข้าราชการได้สิทธิมากกว่ากองทุนอื่น และความเหลื่อมล้ำระหว่างเขตเมืองและชนบทในการเข้าถึงการรักษา หากแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเด็นหลังนี้จะลดความขัดแย้งได้มากกว่า โดยเร่งพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิซึ่งนโยบาย รพ.สต. เป็นส่วนหนึ่ง ที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเร็วจึงเน้นไปที่การเปลี่ยนป้าย ทั้งที่จุดสำคัญจริงๆ อยู่ที่กำลังคน
นอกจากนี้ยังต้องการเห็นนโยบายพรรคการเมืองที่ส่งผลต่อการพัฒนาสาธารณสุขแรงๆ เหมือนกับนโยบายหลักประกันสุขภาพ ควรปฏิรูปโครงสร้างจัดการที่ผิดฝาผิดตัวระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ทำให้การบริหารมีปัญหา