สถานการณ์ - แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญ
1. ข้าว
ราคาข้าวเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ใน เดือน เม.ย. 2554 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 6.50 เนื่องจากรัฐดำเนินการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เมื่อวันที่ 4 เม.ย. เพื่อแข่งขันกับโรงสีส่งผลให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่ปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ และปัญหาเพลี้ยกระโดดทำให้ได้ข้าวคุณภาพต่ำ
เกษตรกรที่ผ่านการประชาคมเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2553/54 มีเกษตรกรที่ผ่านการประชาคมแล้ว ณ วันที่ 11 เมษายน 2554 จำนวน 3,781,718 คน ได้รับอนุมัติสัญญาแล้ว 3,714,107คน คิดเป็นร้อยละ 98.21 ของสัญญาทั้งหมด จำนวนผลผลิตเข้าร่วมโครงการโดยรวม 29.28 ล้านตัน และมีผู้ขอใช้สิทธิชดเชยส่วนต่าง ณ วันที่ 20 เมษายน 2554 เป็นเงิน 35,550.53 ล้านบาท
ทั้งนี้ รัฐมีแผนรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรจำนวน 5 แสนตัน ภายใต้กรอบงบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อดูดซับอุปทานข้าวออกจากตลาด โดยจะส่งผลทางจิตวิทยาทำให้ราคาข้าวตลาดภายในประเทศปรับเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้ในเดือน พ.ค. 2554 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการปรับตัวของอุปทานที่ลดลงสอดคล้องกับอุปสงค์ภายในประเทศ
2. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ในเดือน เม.ย. 2554 อยู่ที่ 8.47 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.32 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปลายฤดูการผลิต ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการใช้ของโรงงานอาหารสัตว์และไซโลยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ซึ่งเกิดจากการที่กรมการค้าต่างประเทศเปิดให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยไม่เสียภาษีและค่าธรรมเนียมพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2554 ทำให้ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศมีมากขึ้น
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้ในเดือน พ.ค. 2554 จะทรงตัว โดยมีปัจจัยที่สำคัญจากการเปิดให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากต่างประเทศ ถึงแม้จะมีความต้องการใช้ภายประเทศเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่องก็ตาม
3. มันสำปะหลัง
ราคามันสำปะหลังเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ในเดือน เม.ย. 2554 อยู่ที่ 2.86 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.38 เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศและต่างประเทศยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ จีน เกาหลี ไต้หวัน ประกอบกับไทยเกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งในหลายพื้นที่ ซึ่งพบการระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง 6ล้านไร่จากพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ 8,595,940 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 70
ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง จาก 32 ล้านตัน/ปี เหลือ 22 ล้านตัน/ปี ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โรงงานแป้งมันจึงตั้งราคารับซื้อสูงเพื่อจูงใจให้เกษตรกรขุดหัวมันมาจำหน่าย ราคาจึงมีแนวโน้มสูงขึ้น
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้ในเดือน พ.ค. 2554 จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการระบาดของเพลี้ยแป้งในหลายพื้นที่ แต่ในระยะอันใกล้ราคาอาจจะลดลงได้อันเนื่องจากปัจจัยด้านเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันสดที่ลดลง
4. อ้อยโรงงาน
ราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายดิบในตลาดนิวยอร์กเดือน เม.ย. 2554 อยู่ที่ 23.03 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.69 โดยมีสาเหตุจากตลาดได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ว่าในปี 2554/2555 (เม.ย.-มี.ค.) ผลผลิตน้ำตาลทางภาคกลางและใต้ของบราซิลจะเพิ่มขึ้น 3.3% ตลอดจนข่าวการส่งออกน้ำตาลของอินเดีย รวมถึงผลผลิตน้ำตาลของไทยในปี 2553/2554 จะมากกว่าที่ประมาณการไว้ในเบื้องต้น ซึ่งข่าวสารดังกล่าวจะช่วยคลี่คลายสภาวะอุปทานน้ำตาลโลกที่ตึงตัวได้ ทำให้ราคาน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวจึงลดลงจากเดือนก่อนเพียงเล็กน้อย
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดว่าราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดนิวยอร์กในเดือน พ.ค. 2554 จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องมาจากความต้องการน้ำตาลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศมีมากขึ้น โดยเฉพาะแรงซื้อจากตลาดต่างประเทศที่มีมากขึ้นจากราคาน้ำตาลที่ลดลงของเดือนก่อน ถึงแม้ว่าปริมาณผลผลิตของโลกจะเพิ่มขึ้นก็ตาม จึงกดดันให้ราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้นในช่วงแคบๆ
5. ปาล์มน้ำมัน
ราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ในเดือน เม.ย.2554 อยู่ที่ 4.34 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 37.37 เนื่องจากผลผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นและเป็นช่วงฤดูกาลของผลผลิตออกสู่ตลาดมาก สำหรับไทยประสบปัญหาน้ำท่วมในภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมัน มากที่สุดในประเทศ คาดว่าผลผลิตเสียหายไม่มากนัก เนื่องจากปาล์มน้ำมันสามารถอยู่ได้ในกรณีที่น้ำท่วมขังอย่างน้อย 7 วัน แต่ยังมีผลกระทบทำให้ต้นปาล์มขนาดเล็กตายไปหรือต้นปาล์มขนาดใหญ่บางส่วนเกิดผลทลายเน่าหรือฝ่อ แต่ถ้าหากรอดตายต้นปาล์มจะให้ผลผลิตดีขึ้น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เกษตรกรเร่งตัดปาล์ม เพราะเกรงว่าถ้าน้ำท่วมขังนานจะเกิดความเสียหายต่อผลปาล์ม ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มลดลง
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดว่าราคาผลปาล์มสดที่เกษตรกรขายได้ในเดือน พ.ค. 2554 จะลดลงจากเดือนก่อน ตามปริมาณผลผลิตที่ทยอยเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
6. ยางพารา
ราคายางพาราเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ในเดือนเม.ย.2554อยู่ที่154.03 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 13.63 เนื่องจากปริมาณยางขาดแคลนเพราะเกษตรกรหยุดกรีดยางในช่วงฤดูยางผลัดใบ และภาวะน้ำท่วมบางจังหวัดทางภาคใต้ ทำให้เกิดอุปสรรคในการคมนาคมขนส่ง ขณะที่ความต้องการใช้ยางยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ราคาที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลไทยร่วมกับมาเลเซียและอินโดนีเซียออกมาตรการเพื่อพยุงราคายาง โดยขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการชะลอการส่งออก เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อกดราคารับซื้อจากเกษตรกร
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดว่าราคาที่เกษตรขายได้ในเดือนพ.ค.2554จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากปริมาณยางออกสู่ตลาดค่อนข้างน้อยและภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสหรัฐซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย
7. ไก่เนื้อ
ราคาเฉลี่ยของไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ในเดือน เม.ย.2554 อยู่ที่ 46.90 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.30 สาเหตุมาจากผู้ส่งออกเพิ่มปริมาณการส่งออกไก่เนื้อไปยังญี่ปุ่น เพื่อทดแทนผลผลิตที่เสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ทำให้ปริมาณไก่เนื้อที่ใช้บริโภคภายในประเทศลดลง ขณะที่การบริโภคภายในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ จึงทำให้ราคาไก่เนื้อเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดว่าราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ในเดือน พ.ค. 2554 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนและโรคระบาดที่เกิดยาวนานตั้งแต่ปลายปี ถึงขณะนี้เกือบครึ่งปีแล้ว ส่งผลทำให้ไก่มีอัตราการรอดต่ำ ขณะที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง โดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการนำเข้าไก่เนื้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไก่เนื้อเริ่มขาดตลาดและราคาปรับตัวสูงขึ้น
8. กุ้งขาวแวนนาไม
ราคาเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้ในเดือน เม.ย.2554 อยู่ที่ 144.30 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.09 เนื่องจากมีความต้องการจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ประกอบกับประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ อาทิ บราซิล อินโดนิเซีย ยังประสบปัญหาโรคระบาดไวรัสกล้ามเนื้อขุ่น (IMNV) ส่งผลให้ไม่สามารถส่งออกได้ตามปกติ และไทย ประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อกุ้ง ทำให้ผลผลิตเสียหาย ผลกระทบดังกล่าวคาดว่าทำให้ผลผลิตกุ้งไทยลดลงร้อยละ 10ทำให้ขาดแคลนกุ้งบริโภคภายในประเทศและโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ซึ่งคาดว่าการส่งออกกุ้งลดลงร้อยละ 20 นอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผลผลิตกุ้งแล้ว ยังมีผลกระทบต่อเนื่องจากภาวะน้ำท่วม คือ ราคาสินค้าเกษตร ซึ่งในระยะสั้น ราคาจะสูงขึ้นร้อยละ 10 ส่งผลให้ราคายังเคลื่อนไหวในเกณฑ์ดี
ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. คาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้ในเดือน พ.ค. 2554 จะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง และการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสกล้ามเนื้อขุ่น (IMNV) อย่างเข้มงวดของภาครัฐจะส่งผลดีต่อภาวะการผลิต.