เผยเหตุแรงงานคืนถิ่นสู่เกษตรกร
สคช.เผยเหตุแรงงานคืนถิ่นสู่เกษตรกร ตกงานแต่ค่าครองชีพยังเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าสูงรัฐประกันรายได้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผลการศึกษาข้อเท็จจริงการเคลื่อนย้ายแรงงานกลับคืนสู่ภาคเกษตรและการออมของภาคเกษตร พบว่าจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 51 ทำให้มีการเลิกจ้างงาน ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคการผลิตกลับเข้ามาทำงานในภาคเกษตรกรเพิ่มขึ้น โดยปี 52 มีแรงงานย้ายถิ่นกลับภาคเกษตรกรรมสูงกว่า 300,000 ราย และ ปี 53 ย้ายถิ่นกลับภาคเกตรอีก 491,774 ราย ซึ่งการย้ายคืนถิ่นภาคเกษตรเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่ ค่าครองชีพในเมืองใหญ่สูงขึ้น การเลิกจ้างงาน การย้ายตามฤดูกาล รวมทั้งการดำเนินโครงการประกันรายได้ ภาคเกษตรกรและราคาสินค้าที่สูงขึ้น สำหรับผลสำรวจแยกตามรายภาคปี 53 โดยสุ่มตัวอย่าง 4 ภาค รวม 65 จังหวัด 127 หมู่บ้าน แบ่งเป็นภาคกลาง มีการย้ายคืนถิ่นสู่ภาคเกษตร 14.36% ภาคเหนือ 12.41% ภาคใต้ 7.24% ทั้งหมดให้เหตุผลว่าเนื่องจากค่าครองชีพเมืองใหญ่สูงขึ้น สินค้าเกษตรราคาเพิ่มขึ้น รวมทั้งโครงการประกันรายได้ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแรงงานย้ายคืนถิ่นมากที่สุด 65.98% ของแรงงานคืนถิ่นทั่วประเทศ ให้เหตุผลการย้ายถิ่นว่าเป็นไปตามฤดูกาล
ส่วนการออมเงินและการลงทุนภาคเกษตรพบว่ามีเพิ่มขึ้น โดยราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นทำให้ปี 51 ยอดเงินฝากของเกษตรกรกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เพิ่มเป็น 31,240 ล้านบาท เพิ่ม 300% จากปี 50 ที่มีการฝากเงิน 18,046 ล้านบาท ยอดเงินฝากต่อรายเพิ่มขึ้น 11,736 บาท/ราย/ปี หรือเพิ่มขึ้น 384.4% จากปี 50 ที่มีการฝาก 3,053 บาท/ราย/ปี ขณะที่ปี 52 ยอดเงินฝากของเกษตรกรเพิ่มเป็น 56,592 ล้านบาท ยอดเงินฝากเฉลี่ยต่อรายลดลงเหลือ 9,276 บาท/ราย/ปี สำหรับการชำระ หนี้คืนปี 52 เพิ่มขึ้นเป็น 300,567 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.61% ทำให้ยอดเงินชำระหนี้คืนเฉลี่ยต่อรายเพิ่มเป็น 49,263 บาท/ราย
นอกจากนี้ เกษตรกรยังกู้เงินเพื่อลงทุนเพื่อ 332,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.76% จากปี 51 ที่มีการกู้เงิน 308,087 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดเงินกู้ต่อรายเพิ่มขึ้นเป็น 54,415 บาท ในปี 52 สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะมีเงินออมเพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งเกิดจากการมีโครงการประกันรายได้ ที่เกษตรกร 3,956,177 ราย ได้รับเงินชดเชยในปีการผลิต 52/53 รอบแรก จำนวน 36,498 ล้านบาท