ฝัน คปร. “ยกเลิกการบริหารราชหารส่วนภูมิภาค” ?
คุณอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป แถลงข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ให้ยกเลิกการบริหารราชส่วนภูมิภาคทั้งหมด
ให้โอนอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่น เศรษฐกิจท้องถิ่น สังคมท้องถิ่นและการเมืองท้องถิ่นให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างกระบวนการทางการเมืองที่เปิดให้ประชาชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งคณะกรรมการประชาสังคมขึ้นในท้องถิ่นทุกระดับและตั้งสภาปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ
ครับ หากข้อเสนอนี้เกิดผลจริง โครงสร้างการปกครองของประเทศที่ดำเนินมานาน 3 ระดับ คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น จะเหลือเพียงสองระดับ
ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาค มาจากการแต่งตั้งจะถูกยุบเลิกไป เหลือแต่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง นายอำเภอก็มีนายกเทศมนตรี เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล ดำเนินงานแทน
ความคิดทำนองนี้ โดยเฉพาะการยกเลิก “ส่วนภูมิภาค” ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งนี้ แต่เกิดมานานแล้ว ที่เพิ่มใหม่ขึ้นมาก็มีการตั้งกรรมการประชาสังคมและสภาปกครองท้องถิ่นแห่งชาติเท่านั้น
การยกเลิก “ส่วนภูมิภาค” เป็นการลดทอนอำนาจรวมศูนย์ของราชการส่วนกลางครั้งใหญ่จึงถูกคัดค้าน ต่อต้านมาตามลำดับ ใครเสนอขึ้นมาคราวใดก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
ครั้งนี้ก็อีกเช่นกัน ปัญหาอยู่ที่ว่า จะทำอย่างไรถึงจะทำให้ข้อเสนอที่สอดคล้องกับยุคสมัยของความเปลี่ยนแปลง เกิดผลสำเร็จ ราชการส่วนกลางยินยอมกระจายอำนาจลงไปให้ท้องถิ่นอย่างจริงจัง กรรมการปฏิรูปคงตระหนักดีว่า แรงต่อต้านเสียดทานคงเกิดขึ้นอีกเช่นเคย ไม่เฉพาะแต่กระทรวงมหาดไทยเท่านั้น แต่รวมถึงราชการส่วนกลางทุกกระทรวง ข้อเสนอจึงเป็นแค่หลักการ ไม่ลงรายละเอียดและไม่กำหนดระยะเวลาต้องดำเนินการเสร็จเมื่อไหร่ เป็นข้อเสนอที่พุ่งเป้าไปที่สังคมและพรรคการเมืองซึ่งกำลังช่วงชิงอำนาจกันอยู่ขณะนี้มากกว่า สังคมจะรับลูกหรือไม่ พรรคการเมืองจะขานรับแค่ไหน ถ้าทั้งสองส่วนไม่สนองตอบ ข้อเสนอที่ผลักดันขึ้นมาก็ไม่ต่างไปจาก ความฝัน ที่เคยมีคนฝันมาแล้วหลายครั้งหลายหน แต่ก็ฝันค้างอยู่เช่นเดิม
ยิ่งไม่มีพรรคการเมืองใด แสดงความกล้าหาญสานต่อหาวิธีปฏิบัติให้เป็นจริง ความหวังที่จะเห็นการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ พัฒนานโยบายรัฐบาลใหม่ ยิ่งเป็นไปได้ยาก เพราะทุกพรรครู้ดีว่าการปรับโครงสร้างการปกครอง โดยยุบเลิกส่วนภูมิภาค กระทบต่อประโยชน์ของข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาดไทยซึ่งคุมอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอมาตลอด
พรรคการเมืองกลัวเสียคะแนนนิยมจึงระมัดระวังการกำหนดนโยบายนี้เป็นพิเศษ
ในอดีตพรรคเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์เคยเสนอนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯเริ่มในจังหวัดที่พร้อมก่อนมาแล้ว แต่เมื่อเจอแรงต่อต้าน ทำให้นโยบายนี้เงียบหายไปเฉยๆ ไม่หยิบยกมาพูดอีกเลย ขนาดกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถูกสถาปนาให้เป็นสถาบันไปแล้วยังเลิกไม่ได้ เลิกผู้ว่าฯ นายอำเภอไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
เหตุผลหลักของฝ่ายคัดค้านก็คงเป็นอย่างเดิมคือ ประชาชนยังไม่พร้อม กระจายอำนาจออกไปจะกลายเป็นกระจายคอรัปชั่น เจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลจะยิ่งเบ่งบานบารมีคับจังหวัด
ที่ไปไกลกว่านั้นถึงขั้นว่ายุบภูมิภาคเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะเป็นการแบ่งแยกประเทศ ทำไม่ได้เพราะไทยเป็นรัฐเดียว ไม่อาจแบ่งแยกได้ ยิ่งภาคใต้หนักขึ้นไปอีก ยกเรื่องเสียดินแดนขึ้นมาคัดค้าน ไปกันใหญ่ พรรคเพื่อไทยเสนอรูปแบบการปกครองพิเศษ ตั้งนครปัตตานี ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งโดยตรง จึงเดาอนาคตได้เลยว่าจะจบลงอย่างไร
ฉะนั้น ผมฟันธงได้เลยว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปครั้งนี้ ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้ ไม่มีพรรคไหนกล้าประกาศนโยบายถึงขั้นลงรายละเอียด แนวทางปฏิบัติชัดเจน
แต่วาทกรรมแบบเดิมๆ พูดในระดับหลักการว่าจะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแค่นั้น ขั้นตอน วิธีการเอาไว้ว่ากันภายหลังเมื่อได้อำนาจแล้ว เมื่อถึงเวลานั้นจริงก็เบี้ยวอีกเช่นเคยดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
แต่ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดขึ้นมาคัดค้านอีกก็ตาม ในระยะยาวแล้วไม่อาจต้านทานความเปลี่ยนแปลง ความต้องการกำหนดอนาคตของสังคม ของผู้คนส่วนใหญ่ได้
ยุบเลิก “ส่วนภูมิภาค” ในทันที หากยากเย็นและยังเป็นไปไม่ได้
อย่างน้อยที่สุด ยุบรวมองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีมากมายหลายรูปแบบ ทับซ้อนไร้ประสิทธิภาพ ให้รวมกันเอง หรือรวมกับองค์กรที่เข้มแข็งกว่า ก็น่าจะเป็นทางออกที่เกิดขึ้นก่อน
ที่มาภาพ : http://k-kook.blogspot.com/2010/07/blog-post_12.html