แนวโน้มอาชีพไทย เกษตร ‘ลด’ บริการ ‘พุ่ง’
กองทุนวิจัยตลาดแรงงาน กรมการจัดหางานกระทรวงแรงงาน ศึกษาเรื่อง “ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอาชีพในช่วงปี 2553-2557” โดยวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติรายปี ตั้งแต่ปี 2554-2552
ทั้งนี้เกือบทุกหมวดอาชีพมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา ยกเว้น
1.หมวดผู้บัญญัติกฎหมาย ข้าราชการระดับอาวุโสผู้จัดการ เพราะสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เปลี่ยนแปลงนิยามหรือคำจำกัดความของผู้จัดการทั้ง 5 กลุ่มให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
2.หมวดผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติการด้านการประกอบการ ลดลงเพียงเล็กน้อยอาจเพราะต้องการลดสินค้าลง
3.หมวดช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องจำนวนผู้มีงานทำลดลงในประเภทอาชีพตำรวจสืบสวนลดลงเพียงเล็กน้อย อาจมีที่มาจากปัญหาเศรษฐกิจช่วง 2551-2553
การเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำในแต่ละประเภทอาชีพเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2553-2557
ประเภทอาชีพที่มีจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ
1.พนักงานขายของหน้าร้าน และพนักงานสาธิตสินค้า เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปี 329,415 คน หรือร่อยละ 7.32
2.ผู้เพาะปลูกพืชไร่ พืชผล และพืชผัก เพิ่มเฉลี่ยต่อปี 69,313 คน หรือร้อยละ 1.14
3.ผู้ขายสินค้าตามแผงร้านค้าและในตลาด เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปี 60,204 คน หรือร้อยละ 3.24
4.ผู้เพาะปลูกไม่ยืนต้นและพุ่มไม้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปี 51,004 คน หรือร้อยละ 1.81
5.ช่างปูนคอนกรีตและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปี 27,219 คน หรือร้อยละ 3.84
ประเภทอาชีพที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีของผู้มีงานทำมากที่สุด 10 ประเภทอาชีพแรกได้แก่ ผู้บริหารองค์กรเพื่อมนุษยธรรมและองค์กรเฉพาะด้าน, เพื่อนร่วมกิจกรรม, ช่างเทคนิควิทยาศาสตร์และกายภาพและวิศวกรรมที่มิได้จัดประเภทไว้ที่อื่น, ผู้ควบคุมปั้นจั่นรอก ยก และเครื่องจักรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง, นักสถิติ, ผู้ตรวจวัดสายตาประกอบแว่นและช่างทำแว่นและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับสายตาอื่นๆ, ช่างติดตั้งฉนวน, ช่างก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างและงานที่เกี่ยวข้องที่มิได้จัดประเภทไว้ที่อื่น, เจ้าหน้าที่เครื่องคำนวณ และผู้จัดการฝ่ายบริหารงานด้านการคำนวณ ตามลำดับการลดลงของผู้มีงานทำในแต่ละประเภทอาชีพเฉลี่ยต่อปีในช่วงปี 2553-2557
ประเภทอาชีพที่มีจำนวนผู้มีงานทำลดลงเฉลี่ยต่อปีมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ
1.ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมและเลี้ยงสัตว์ ลดลงเฉลี่ยปีละ 111,622 คน หรือร้อยละ -10.32
2.ผู้ทำงานด้านเกษตรและการประมงในเชิงเศรษฐกิจแบบยังชีพ ลดลงเฉลี่ยปีละ 13,317 คน หรือร้อยละ -0.55
3.เจ้าหน้าที่บัญชี ลดลงเฉลี่ยปีละ 9,581 คน ร้อยละ -3.56
4.ผู้ขี่รถจักรยานยนต์และผู้ขับสามล้อเครื่อง ลดลงเฉลี่ยปีละ 5,054 คน หรือร้อยละ -1.93
5.ผู้ขนส่งสินค้าต่างๆ ลงลงเฉลี่ยปีละ4,756 คน หรือร้อยละ -3.58
ประเภทอาชีพที่มีอัตราการลดลงเฉลี่ยต่อปีของผู้มีงานทำมากที่สุด 10 ประเภทอาชีพแรกตามลำดับ ได้แก่ ช่างอุปกรณ์เครื่องดนตรี, แม่บ้านและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง, ผู้บริหารองค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และองค์กรที่มีผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอื่น, เจ้าหน้าที่สารบรรณและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง, พนักงานลงรหัส พนักงานพิสูจน์อักษรและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกัน, ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและพัฒนา, ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับศุลกากร สรรพากร และงานข้าราชการด้านอื่นๆ, เจ้าหน้าที่ชวเลขและพนักงานพิมพ์ดีด, ผู้ควบคุมเครื่องผลิตผลิตภัณฑ์นม และผู้ปฏิบัติงานด้านการพิมพ์ ช่างแท่นพิมพ์ พนักงานควบคุมเครื่องพิมพ์ นอกจากนี้ยังมีอาชีพที่มีผู้ทำงานลดลงเพียงเล็กน้อย คือ นักบัญชี ลดลงเฉลี่ย 37,111 คนต่อปี หรือร้อยละ -0.05 และตำรวจ ลดลง เฉลี่ย 15,864 คนต่อปี หรือร้อยละ -0.04
จะเห็นว่าประเภทอาชีพที่มีแนวโน้มจำนวนผู้มีงานทำจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ ประเภทอาชีพนักงานขายสินค้าในร้านค้าและพนักงานสาธิตสินค้า เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 329,415 คน หรือร้อยละ 7.32 ส่วนอาชีพที่มีแนวโน้มว่าจำนวนผู้มีงานทำจะลดลงอย่างรวดเร็วคือ ประเภทอาชีพผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมและเลี้ยงสัตว์ลดลงเฉลี่ยปีละ 111,622 คน หรือร้อยละ 10.32 แสดงให้เห็นว่าช่วงปี 2553-2557 อัตราการเพิ่มขึ้นของสองประเภทอาชีพนี้ขยายตัวในทิศทางตรงกันข้ามกันมากขึ้น
สรุปได้ว่า ช่วงปี 2553-2557 ประเภทอาชีพที่จำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นมีทั้งหมด 245 ประเภทอาชีพส่วนประเภทอาชีพที่จำนวนผู้มีงานทำลดลง มี 135 ประเภทอาชีพ ตีความได้ว่า ช่วงปี 2553-2557 จะมีผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 750,400 คน หรือร้อยละ 2.03 ของจำนวนผู้มีงานทำในปี 2552 สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องช่วง 5 ปีข้างหน้านี้
ส่วนสาเหตุที่หมวดอาชีพผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและการประมง มีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับหมวดอาชีพอื่น เพราะประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะกับการเกษตรและประมง แต่บางประเภทอาชีพในหมวดนี้กลับมีแนวโน้มลดลงมาก เช่น ประเภทอาชีพผู้ผลิตผลิตภัณฑ์รมและเลี้ยงสัตว์, ประเภทอาชีพผู้ทำงานเกษตรและประมงในเชิงเศรษฐกิจแบบยังชีพ ทั้งนี้ อาจมีผลมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ, การเปลี่ยนแปลงบนสภาพภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชีพ และการเสียเปรียบกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมมากกว่า ทั้งในด้านกำลังคน ความรู้ เทคโนโลยี และการตลาด
นอกจากนี้ จำนวนผู้มีงานทำในหมวดอาชีพผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและการประมง มีอัตราการเพิ่มขึ้นต่ำมาก เฉลี่ยต่อปีเพียงร้อยละ 0.14 ขณะที่หมวดอาชีพพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีถึงร้อยละ 5.54 ชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างการผลิตของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไป ผู้มีงานทำในภาคเกษตรจะเปลี่ยนไปทำงานในภาคบริการมากขึ้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่จำนวนผู้มีงานทำในภาคบริการมีจำนวนมากกว่าภาคเกษตรหลายเท่า เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา, ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น
จากการศึกษาได้แบ่งประเภทอาชีพออกเป็น 9 หมวดได้แก่
1.ประเภทอาชีพในหมวดผู้บัญญัติกฎหมายข้าราชการระดับอาวุโส ผู้จัดการ ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและประชาสัมพันธ์ 153,689 บาท, กรรมการและผู้บริหารระดับสูง กรรมการและผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหาร 138,659 บาท และผู้บริหารองค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และองค์กรที่มีผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอื่น 106,438 บาท อาชีพผู้บัญญัติกฎหมาย มีรายได้น้อยที่สุดในหมวด 8,741 บาทต่อเดือน
2.ประเภทอาชีพในหมวดผู้ประกอบวิชาชีพด้านต่างๆ ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก คือวิศวกรเหมืองแร่ นักโลหะกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 235,780 บาท, ผู้พิพากษา อนุญาโต ตุลาการ 121,602 บาท และสถาปนิก วิศวกรอุตสาหการและผู้ประกอบอาชีพวิศวกรที่เกี่ยวข้องที่มิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น 117,541 บาท อาชีพนักประพันธ์เพลง นักดนตรีและนักร้อง มีรายได้น้อยที่สุดในหมวด 4,701 บาท
3.ประเภทอาชีพในหมวดช่างเทคนิคและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ นักบินและวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบิน 241,484 บาท, ตัวแทนการค้าอสังหาริมทรัพย์ 60,523 บาท และตัวแทนขายประกันภัย 38,126 บาท อาชีพ ผู้ประกอบอาชีพแพทย์แผนโบราณ มีรายได้น้อยที่สุดในหมวด 5,362 บาท
4.ประเภทอาชีพในหมวดเสมียน เจ้าหน้าที่ ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ เจ้าหน้าที่เครื่องประมวลผลคำและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 46,396 บาท, เลขานุการ 31,159 บาท และเจ้าหน้าที่ขนส่ง 29,354 บาท, อาชีพเจ้ามือการพนัน เจ้าหน้าที่รับและจ่ายเงินพนัน มีรายได้น้อยที่สุดในหมวด 4,747 บาท
5.ประเภทอาชีพในหมวดพนักงานบริการ พนักงานขายในร้านค้าและตลาด ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 3 อันดับแรกคือ พนักงานอำนวยความสะดวกในระหว่างการเดินทาง 56,904 บาท, มัคคุเทศก์ 28,973 บาท และนายแบบและนางแบบ 18,811 บาท อาชีพสัปเหร่อและผู้อาบน้ำศพมีรายได้น้อยที่สุดในหมวด 7,298 บาท
6.ประเภทอาชีพในหมวดผู้ปฏิบัติงานฝีมือด้านการเกษตรและประมง ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ผู้เพาะปลูกไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม 11,870 บาท, ผู้เพาะปลูกพืชไร่ พืชผลและพืชผัก 10,968 บาท และผู้ทำงานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 9,320 บาท, อาชีพผู้ทำงานด้านการเกษตรและประมงในเชิงเศรษฐกิจแบบยังชีพ มีรายได้น้อยที่สุดในหมวด 2,626 บาท
7.ประเภทอาชีพในหมวดผู้ปฏิบัติงานโดยใช้ฝีมือในธุรกิจต่างๆ ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ช่างเครื่องปละช่างปรับแต่งเครื่องอากาศยาน 38,572 บาท, ช่างเจียระไนโลหะ ช่างขัดเงาโลหะและช่างลับเครื่องมือ 33,971 บาท และช่างตัดเย็บเครื่องแต่งกายและช่างทำหมวก (ยกเว้นขนสัตว์) 23,312 บาท อาชีพผู้เตรียมเส้นใยมีรายได้น้อยที่สุดในหมวด 2,054 บาท
8.ประเภทอาชีพในหมวดผู้ปฏิบัติงานโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักรและผู้ปฏิบัติงานด้านการประกอบที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ผู้ควบคุมเครื่องจักรในการผลิตพลังงานไฟฟ้า 36,382 บาท อาชีพผู้ควบคุมเครื่องผลิตผลิตภัณฑ์ใบยาสูบมีรายได้น้อยที่สุดในหมวด 5,510 บาท
9.ประเภทอาชีพงานพื้นฐาน ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ผู้จำหน่ายสินค้าที่ไม่ใช่อาหารตามข้างถนน 15,122 บาท, พนักงานเก็บเงินและพนักงานอ่านมาตรวัดต่างๆ 12,107 บาท และพนักงานรับส่งเอกสาร พนักงานขนย้ายสัมภาระ และพนักงานขนส่งสินค้าอื่นๆ 11,515 บาท อาชีพผู้ใช้แรงงานในงานด้านกรมป่าไม้ แรงงานป่าไม้ มีรายได้น้อยที่สุดในหมวด 4,089 บาท
อาชีพที่มีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่ 100,000 บาทต่อเดือน มี 33,936 คน คือ ประเภทที่ใช้ความรู้ทางวิชาชีพในระดับสูงและส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ เช่น นักบิน, วิศวกร, ผู้จัดการฝ่ายโฆษณาระดับสูงในภาคเอกชนและผู้พิพากษา เป็นต้น ส่วนอาชีพที่มีรายได้เฉลี่ย 2,000 – 10,000 บาทต่อเดือน มี 14,251,339 คน เช่น ผู้ปฏิบัติงานด้านการเกษตรและประมงแบบยังชีพ, ผู้ปฏิบัติงานในอุตสาหกรรมพื้นบ้านและอุตสาหกรรมขนาดย่อม เป็นต้น ผลนี้สะท้อนถึงการกระจายรายได้ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร
ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า กลุ่มอาชีพที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน มีจำนวน 16 ล้านคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรมครัวเรือนและขนาดย่อม รัฐควรให้ความช่วยเหลือภาคเกษตรโดยส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และสนับสนุนด้านการตลาด เพื่อให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ในราคาที่เป็นธรรม
ส่วนภาคอุตสาหกรรมครัวเรือนและขนาดย่อม รัฐควรให้ความสนับสนุนให้รวมกลุ่มเพื่ออำนาจการต่อรองและการฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะฝีมือ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ยังชีพด้วยการขายแรงงานมีรายได้ไม่เพียงพอ รัฐควรจัดแนะแนวเพื่อการเปลี่ยนอาชีพหรือเปลี่ยนงานที่มีรายได้สูงกว่า หรือสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาชีพค้าปลีก ค้าหลักทรัพย์, การค้าพืชผลล่วงหน้า, ค้าทองล่วงหน้า, ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว, การเดินทาง การรักษาความปลอดภัย และธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ควรให้ความสำคัญและเตรียมกำลังคนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะความรู้ความสามารถ 3 ด้าน ได้แก่ การใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่, การสื่อสารกับชาวต่างชาติ และการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของระบบเศรษฐกิจ
สิ่งสำคัญคือรัฐต้องให้ความสำคัญกับผู้ที่จะศึกษาในประเภทอาชีพที่มีอัตราการเพิ่มสูงขึ้น เช่น ช่างเทคนิควิทยาศาสตร์กายภาพ, วิศวกรรม, พนักงานขายของหน้าร้านและพนักงานสาธิตสินค้า, ผู้ให้บริการด้านความปลอดภัย และพนักงานดูแลเด็กเป็นต้น เพื่อป้องกันการคบาดแคลนแรงงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
5 อาชีพ ‘ลดสุด-เพิ่มสุด’
5 อันดับอาชีพที่มีผู้ทำงานลดลงเฉลี่ยต่อปีมากที่สุดในช่วง 2553-2557
ลำดับ อาชีพ ลดลงเฉลี่ยต่อปี ร้อยละ
1 ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมและเลี้ยงสัตว์ 111,622 คน -10.32
2 ผู้ทำงานด้านการเกษตรและการประมงในเชิงเศรษฐกิจแบบยังชีพ 13,317 คน -0.55
3 เจ้าหน้าที่บัญชี 9,581 คน -3.56
4 ผู้ขี่รถจักรยานยนตร์ 5,054 คน -1.93
5 ผู้ขนส่งสินค้าต่างๆ 4,756 คน -3.58
5 อันดับอาชีพที่มีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีมากที่สุดในช่วง 2553-2557
ลำดับ อาชีพ ลดลงเฉลี่ยต่อปี ร้อยละ
1 พนักงานขายของหน้าร้าน และพนักงานสาธิตสินค้า 329,415 คน 7.32
2 ผู้เพาะปลูกพืชไร่ พืชผล และพืชผัก 69,313 คน 1.14
3 ผู้ขายสินค้าตามแผงร้านค้าและตลาด 60,204 คน 3.24
4 ผู้เพาะปลูกไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม 51,004 คน 1.81
5 ช่างปูนคอนกรีตและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง 27,219 คน 3.84