เอกชนอัดพรรคการเมืองแข่งขันขาย “ประชานิยมเฉพาะหน้า”
ขาดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว ละเลยจุดเด่นเกษตรกรรม ความมั่นคงทางอาหาร การท่องเที่ยว คิดขึ้นค่าจ้างไม่ลืมหูลืมตา พัฒนาแรงงาน-ผลกระทบผู้บริโภค
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า นโยบายของ 2 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศใช้สู้ศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ ในมุมมองของภาคเอกชน นโยบายส่วนใหญ่คล้ายกันคือต้องการให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นนโยบายประชานิยมเฉพาะหน้าไว้ขายเวลาเลือกตั้ง แต่ขาดนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ประเทศหรือการวางแผนของการเจริญเติบโตของประเทศในระยะยาว เนื่องจากเรื่องต่างๆ มีเป้าหมายที่เล็กเกินไปเป็นนโยบายของรัฐบาลไม่ได้
เอกชนต้องการเห็นนโยบายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เช่นยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เรื่องเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักสำหรับประเทศ เนื่องจาเป็นเรื่องที่ไทยมีพื้นฐานดีอยู่แล้ว และทั้ง 3 ตัวนี้มีขีดความสามารถที่จะผลักดันให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืนจากนั้น ค่อยๆหานโยบาย มาประกอบ
นอกจากนี้ เรื่องการพัฒนาด้านการศึกษารัฐบาลไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือการพัฒนาแรงงานควรจะทำอย่างไร มีแต่จะขึ้นค่าจ้างให้อย่างเดียว แต่ไม่เคยบอกว่าแรงงานต้องดีขึ้นอย่างไร
“จึงขอแนะนำให้คิดนโยบายใหม่ นโยบายที่ออกมาไม่ใช่ว่าไม่ดีแต่เล็กเกินไป เป็นนโยบายเฉพาะหน้าเดิมๆ ไม่เป็นกรอบใหญ่ นอกจากนี้ยังไม่เห็นรัฐบาลไหนมีความคิดที่จะออกกฎหมายดีๆ มาใช้ในประเทศ มีต้องแต่ต้องมานั่งเป็นรัฐบาลผู้บริหาร แต่การเดินหน้าของประเทศต้องใช้กฎหมายเป็นหลัก” นายพรศิลป์ กล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า นโยบายที่เห็นส่วนใหญ่เป็นการนำของเก่ามารวมเป็นนโยบายพรรคการเมืองที่มุ่งคะแนนเสียง แทนที่จะวางนโยบายพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน แต่นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังพอมีเรื่องการวางโครงสร้างพื้นฐานอยู่บ้าง เช่น การพัฒนาท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง
รวมทั้งนโยบายประชานิยมของแต่ละพรรค ไม่ควรใช้ประชานิยมกับเรื่องขึ้นค่าจ้าง เพราะเมื่อขึ้นค่าจ้าง ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้นสุดท้ายก็ผลักภาระไปที่การขึ้นราคาสินค้า ซึ่งผู้บริโภคจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และจะกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาว เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้น ขีดความสามารถการแข่งขันเอกชนลดลง นักลงทุนจะไม่เข้ามาไทยในอนาคต
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงนโยบายให้คนซื้อบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรกนำมาลดหย่อนภาษีได้ว่า ในส่วนของซื้อบ้านหลังแรกแล้วหักภาษีได้ หากนำมาตรการนี้กลับมาใช้ใหม่ กรมมองการให้บ้านหลังแรกลดภาษีได้ขณะนี้หากใช้ถือว่ายังไม่เหมาะสมเพราะเศรษฐกิจไม่ได้เกิดวิกฤตเช่นที่ผ่านมา
สำหรับเรื่องซื้อรถคันแรกแล้วนำมาลดภาษี เห็นว่ารถเป็นสินค้าในหมวดฟุ่มเฟือย หากซื้อรถแล้วนำมาลดภาษีได้ จะเป็นการกระตุ้นให้คนบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งสุดท้ายอาจทำให้ขาดดุลการค้ามากขึ้นได้
สังคมไม่เชื่อการเมือง ทำได้ตามที่หาเสียง
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เป็นธรรมดาที่พรรคการเมืองต้องนำขึ้นค่าจ้างมาหาเสียง การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ พรรคหนึ่งขึ้นวันละ 250 บาท อีกพรรคเป็น 300 บาท เป็นการบลัฟกันไปมา มุมมองของแรงงานจะไม่มองว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 250 บาท หรือ 300 บาท แต่ขอให้ทำได้จริงๆ
“การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่อำนาจรัฐบาลที่จะมาสั่งการได้ เพราะมีคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ที่ประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือนายจ้างรัฐและลูกจ้าง การขึ้นแต่ละบาทก็สู้กันแทบตาย จะมาปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 250-300 บาท ไม่ใช่จะมาพูดกันง่ายๆ ก็ต้องยอมรับความจริงว่าพวกการเมืองชอบหาเสียงพอเลือกไปก็ทำไม่ได้ บอกว่าติดโน่นติดนี่ต้องทำเรื่องเร่งด่วนก่อน” นายชาลี กล่าว
นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์ แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายค่าจ้างของทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพูดกันมาอย่างยาวนานแต่ก็ไม่เคยทำตามที่พูดไว้ได้เนื่องจากฝ่ายการเมืองมักจะฟังผู้ประกอบการมากกว่าแรงงาน จึงเชื่อว่าแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังและเข้าใจว่าเป็นเพียงนโยบายเพื่อดึงคะแนนเสียง สุดท้ายแล้วฝ่ายการเมืองก็จะมีคำอธิบายกับกลุ่มแรงงานว่าเหตุใดจึงทำตามที่พูดไม่ได้
นายแล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์แรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดโดยคณะกรรมการไตรภาคี ไม่ใช่อำนาจของรัฐบาลหรือฝ่ายการเมือง ดังนั้นหากตัวแทนฝ่ายผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย ก็ยากที่รัฐบาลจะบงการหรือบังคับให้ขึ้นได้ จึงมองไม่เห็นทางที่จะทำให้สำเร็จ
นายแล กล่าวว่า ทุกวันนี้นายจ้างหากำไรจากการกดค่าจ้าง ดังนั้นหากกฎหมายกำหนดให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นได้จริง นายจ้างก็คงปรับเฉพาะเพดานล่างให้ตรงตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนแรงงานที่อยู่เหนือค่าจ้างขั้นต่ำแล้วคงจะไม่ได้รับการปรับขึ้น
นายอิศระ วงศ์รุ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิงกสิกรไทย กล่าวว่า ในมุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจหากพรรคการเมืองนำนโยบายบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรกนำมาลดหย่อนภาษีได้มาใช้ ย่อมส่งผลดีต่อผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยและรถยนต์แน่นอน เพราะถือว่าเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค ทางธนาคารและบริษัทลีสซิงที่ปล่อยสินเชื่อก็ได้ประโยชน์ไปด้วย ซึ่งก็ส่งผลดีทำให้ภาครัฐเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกิจได้มากขึ้น แม้ต้องแลกกับการลดภาษีให้ผู้บริโภคก็ตาม
อย่างไรก็ตาม หากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามที่ประกาศกัน มองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบ คืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพราะยังใช้แรงงานในระดับนี้อยู่มาก รวมถึงกลุ่มสิ่งทอ หากต้นทุนค่าจ้างซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมากๆ สุดท้ายธุรกิจก็จะหันไปใช้เครื่องจักรในขบวนการผลิตแทน และสุดท้ายก็จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานเกิดขึ้นในที่สุด
ด้านการศึกษา นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการอัดเงินเข้าสู่ระบบอุดมศึกษา เนื่องจากจะสร้างนิสัยการได้เงินมาอย่างง่ายๆ และยิ่งเร่งให้สถาบันการศึกษากลายเป็นธุรกิจอุดมศึกษาอย่างชัดเจน ที่สำคัญคือทั้งสองพรรคการเมืองกลับไม่มีนโยบายสนับสนุนอาชีวะ ทั้งๆ ที่ทิศทางของประเทศไทยต้องการผลักดันให้นักเรียนเข้าสู่สายอาชีวะมากกว่า
นายสมพงษ์ กล่าวว่า นโยบายการให้เงินฟรีๆ แก่นักศึกษามีเป้าหมายคือ คะแนนเสียงจากคนอายุ 18 ปี แต่ไม่เคยศึกษาผลกระทบด้านลบ ที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาจากนโยบายในลักษณะนี้ พบว่า เงินส่วนใหญ่หมดไปกับการใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่าย
สำหรับนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะให้เงินมหาวิทยาลัย 1,000 ล้านบาท ให้นักศึกษากู้เพื่อทำวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นนโยบายที่ดี แต่ต้องมีการสร้างตลาดรับรองผลผลิต มิเช่นนั้นจะสร้างหนี้อย่างมหาศาล
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เปิดเผยว่า นโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยที่ออกมาล่าสุด ถือเป็นประชานิยมยุคที่ 2 ที่เป็นการทำนโยบายจากบนลงล่าง ต่างจากยุคแรกที่เป็นการฟังความคิดเห็นจากประชาชน จึงทำให้ประสบความสำเร็จมาบ้างแล้วจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และโครงการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี แต่กรณีนี้ที่มีการประกาศพักหนี้เกษตรกร 5 แสนบาทแรกเป็นเวลา 5 ปี เห็นว่ายิ่งเป็นการกระตุ้นให้คนก่อหนี้และเบี้ยวหนี้
นายไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยสังคมและ เศรษฐกิจ หมาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า เรื่องที่พรรคการเมืองควรทำ ควรจับประเด็นที่ประชาชนเรียกร้องความเสมอภาคในการเข้าถึงระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่มีความเหลื่อมล้ำกัน และมีระบบซ้ำซ้อน ควรจะนำมาเป็นจุดขายได้ ว่ามีนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล หรือให้อยู่ในระบบเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ น่าจะอาศัยจังหวะในการประกาศนโยบาย ซึ่งจะเป็นการสะท้อนการมองการณ์ไกล
นายไพโรจน์ กล่าวว่า การแข่งขันจัดทำประชานิยมอย่างรุนแรงมากขึ้นจะทำให้ประชาชนเสพติดประชานิยม แม้ว่าในระยะสั้นไม่มีผลกระทบต่อฐานะการคลังรัฐบาล โดยจะไม่แสดงในงบประมาณอย่างชัดเจนว่ามีการใช้เงินทำโครงการประชานิยมต่างๆ จำนวนเท่าไร แต่ยังมีการซุกซ่อนการใช้เงินที่มาทำนโยบายประชานิยม โดยผ่านกองทุนฯต่างๆ และการส่งผ่านนโยบายไปยังสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งทำให้สถาบันการเงินของรัฐอ่อนแอ