อุตุฯเตือนอากาศวิปริต ‘ร้อนสลับหนาว’ ถึง เม.ย
นายภิมุข สิมะโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาน้ำภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติโดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 10 แห่ง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมอุทกศาสตร์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมหารือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ เพราะว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายเห็นถึงความผิดปกติของฤดูกาลที่เกิดขึ้น ที่ต้องเตรียมรับมือ
นายจรูญ เลาหเลิศชัย ผู้อำนวยการส่วนพยากรอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ฝนในภาคใต้ ระหว่างวันที่ 22-27 มีนาคมนี้ เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุม และส่งผลให้มีฝนตกหนักมากกว่าค่าเฉลี่ยฝนในเดือน มีนาคม 2553 โดยเฉพาะสัปดาห์ก่อนในภาคใต้มีปริมาณฝนตกสูง ตั้งแต่ 400-600 มิลลิเมตร ซึ่งสูงกว่าค่าปกติของเดือนมีนาคม ถึง 5 เท่า และยังสูงกว่าปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งปีของภาคใต้ถึง 2 เท่า กล่าวคือในปี 2553 ภาคใต้ มีฝนสะสมตลอดทั้งปี เพียง 125.38 มิลลิเมตร แต่ปี 2554 ผ่านมาแค่ 3 เดือน มีฝนสะสมถึง 481.39 มิลลิเมตร และสูงกว่าค่าเฉลี่ยฝน 30 ปี กว่า 200 มิลลิเมตร จึงเป็นสาเหตุของน้ำท่วมฉับพลันในเขตจังหวัดภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ลงไป
อย่างไรก็ดี วิกฤติน้ำท่วมจากฝนน่าจะเบาบางลงในช่วงปลายเดือนนี้ ยกเว้นที่จะไม่มีฝนตกหนักเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ในอีก 2 วันนี้คาดว่าหย่อมความกดอากาศต่ำนี้จะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล
“ยอมรับว่าสภาพอากาศในช่วงนี้ค่อนข้างแปรปรวนมาก ซึ่งแผนที่อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในวันที่ 28 มีนาคม นี้ ลักษณะแนที่อากาศเทียบเท่ากับแผนที่อากาศในช่วงหน้าหนาวทั้งที่ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูร้อนของเดือนมีนาคม เนื่องจากพบว่ามีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากทางตอนเหนือของจีน แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ตอนบน โดยพบว่าในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ มีมวลอากาศเย็นแผ่ลงเป็นระยะๆ ซึ่งถือเป็นลักษณะที่ไม่ปกติพบได้บ่อยมากขึ้น”
นายจรูญ กล่าวว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ทั่วประเทศมีอากาศหนาวเย็นลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสภาพแบบนี้น่าเป็นห่วง เพราะยิ่งภาคเหนืออากาศยังหนาวมากขึ้นเท่าไร ภาคใต้ก็จะเจอน้ำท่วมหนักขึ้น โดย คาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะเจออากาศร้อนสลับเย็นไปจนถึงเดือนเมษายนนี้ ส่วนภาคใต้อาจต้องเผชิญกับพายุหมุนเขตร้อนในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า แต่จะรุนแรงขนาดไหนนั้น ยังไม่สามารถประเมินได้
นายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตั้งข้อสังเกตว่าปรากฏการณ์อากาศหนาวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้ มีความเชื่อมโยงกับอากาศหนาวเย็นที่มาจากทวีปอเมริกา และเคลื่อนมาทางยุโรปและอาจจะมาถึงทวีปเอเชียหรือไม่ ซึ่งมวลอากาศมันสามารถเคลื่อนตัวและมีระบบหมุนเวียน ไปรอบโลกได้ แต่เนื่องจากบ้านเราอยู่คนละซีกโลกกับทวีปอเมริกาและยุโรป จึงต้องหาคำตอบว่าจะมีทางเป็นไปได้หรือไม่ และคงต้องหาข้อมูลทั้งโลก และใช้เวลาในการหาคำตอบพอสมควร จึงจะยืนยันว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสภาพอากาศหนาวที่เกิดขึ้น ในช่วงฤดูร้อนของไทยที่เริ่มมีบ่อยขึ้นในช่วงนี้ และจึงสรุปได้ว่าต่อไปคนไทยต้องรับมือกับสภาพอากาศอย่างไร
ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กล่าวว่า มันอาจจะไม่ใช่มวลอากาศเคลื่อนมาโดยตรง แต่ขอบของมวลอากาศจะมาเป็นคลื่นขนาดใหญ่ที่วนรอบโลกในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาอยู่ บางตัวก็ลึกลงและบางตัวก็แกว่งขึ้นไป อาจเกี่ยวข้องกันได้ เพราะการเคลื่อนที่ของอากาศเย็น จากตะวันตกไปตะวันออก
“ประเด็นนี้หลายประเทศกำลังให้ความสนใจในการหาคำตอบ และความเชื่อมโยงกันอยู่ เพราะว่าเป็นปรากฏการณ์ทางด้านภูมิอากาศที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ โดยโจทย์ก็คือ ต้องหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายเชื่อมโยงกับกระบวนการอะไร แต่ส่วนตัวเชื่อว่าคำตอบเรื่องนี้เกี่ยวกับการกระจายความร้อนในมหาสมุทร ซึ่งเป็นตัวต้นกำเนิดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”
ดร.อานนท์ กล่าวว่า คำตอบอยู่ในมหาสมุทรแน่นอน แต่เกี่ยวข้องกับภาวะเรือนกระจกหรือไม่ และเรื่องนี้เป็นโจทย์ทางด้านภูมิอากาศที่ใหญ่ หลายประเทศตั้งข้อสังเกตสภาพอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไทยก็กำลังหาคำตอบนี้อยู่ อย่างช้าคงสัก 4-5 เดือนน่าจะไขปริศนาตรงนี้ได้
ที่มาภาพ : http://www.sisaket.com/2011/allcontent/newslist/49/231