ครม.รับ 22 จว.พบรอยเลื่อนเสี่ยงดินไหว
กรมอุตุฯ พบไทยเกิดแผ่นดินไหว 3 จุด มีศูนย์กลางที่เชียงราย-น่าน คืนเดียวกับวันเกิดเหตุที่พม่า ชี้เหตุแผ่นดินไหวรุนแรงกระตุ้นรอยเลื่อนในไทยให้เคลื่อนตัว เร่งสอบผลกระทบ
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมรับทราบจังหวัดที่มีรอยเลื่อนที่มีพลังพาดผ่าน 22 จังหวัด ขณะนี้ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับการต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่ให้มีการติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบการเคลื่อนไหวสะเทือนในบริเวณต่างๆเพื่อที่ประชาชนจะได้สบายใจและให้มีการประสานแจ้งมายังศูนย์เตือนภัยต่อไป
วันเดียวกันนี้ที่ศาลาว่ากรกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวว่า คณะผู้บริหาร กทม. ได้เป็นห่วงสถานการณ์แผ่นดินไหวและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จึงไม่ประมาทรับมือภัยธรรมชาติ และขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะอาคารสูงที่สร้างขึ้นก่อนกฎกระทรวงใหม่เมื่อปี 2550 มีภูมิต้านทานปัญหาแผ่นดินไหวได้พอสมควร
“กทม.มีพื้นที่ชายฝั่งติดทะเล 4.7 กิโลเมตร ที่เขตบางขุนเทียน ผมสั่งไปแล้วให้เพิ่มมาตรการป้องกันภัยธรรมชาติที่เกิดจากสึนามิ” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว
ขณะที่ นายพินิจ เลิศอุดมธนา วิศวกรโยธา 8 วช. กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม. ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ตรวจโครงสร้าง 12 อาคาร ในกทม. ที่ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า ว่า จากการตรวจสอบห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ตึกใบหยก และ อาคารออลซีซั่น ไม่พบว่าโครงสร้างอาคารได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ด้าน นายชาตินัย เนาวภูต รองปลัด กทม. กล่าวถึงกรณีที่ประธานอนุกรรมการวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือ วสท. ระบุว่า ทางด่วนและสะพานลอยกรุงเทพฯ ไม่มีโครงสร้างรองรับเหตุแผ่นดินไหว ว่า สะพานหรือทางด่วนในกรุงเทพฯ จะมีการออกแบบโครงสร้างเพื่อไว้รองรับเหตุแผ่นดินไหวได้ และการซ่อมสะพานเหล็กทั้ง 12 สะพานที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เพิ่มตัวรองรับการสั่นสะเทือน
นายอดิศร ฟุ้งขจร หัวหน้ากลุ่มงานแผ่นดินไหว ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ในฐานะรองโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบรายงานการเกิดแผ่นดินไหวจากเครื่องวัดแผ่นดินไหวในพื้นที่ภาคเหนือย้อนหลังในวันเกิดแผ่นดินไหว 6.8 ริกเตอร์ในประเทศพม่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค.พบว่า ได้เกิดแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ในไทยอย่างน้อย 3 จุด
โดยจุดแรกเกิดขึ้น เวลา 21.17 น. ขนาด 4 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ที่ อ.เวียงสา จ.น่าน จุดที่สองเวลา 22.09 น. ขนาด 3 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และจุดที่สาม เวลา 22.15 น. ความแรง 3.4 ริกเตอร์ มีจุดศูนย์กลางที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่พม่า ได้ส่งไปกระตุ้นรอยเลื่อนเล็กๆ ในประเทศไทยให้มีการเคลื่อนเคลื่อนตัวเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอีกหลายจุด ขณะนี้ขอแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่อย่าประมาทหรือตื่นตระหนกแต่ให้เตรียมศึกษาวิธีปฏิบัติตัวป้องกันรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวที่อาจมาถึงกันไว้ล่วงหน้า