แถลงการณ์ เครือข่ายลุ่มแม่น้ำภาคเหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน
แถลงการณ์
เครือข่ายลุ่มแม่น้ำภาคเหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน
ประสานความร่วมมือปฏิรูปการจัดการน้ำ ปฏิรูปประเทศไทย
กว่าร้อยปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้รวมศูนย์การจัดการน้ำไว้ที่ชลประทาน ซึ่งได้ใช้แนวคิดการจัดการน้ำแบบตะวันตกโดยเฉพาะการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ในการจัดการน้ำ แต่บทเรียนที่ผ่านมาทำให้เราได้รู้ว่าเขื่อนขนาดใหญ่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมได้ อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วมอยู่ตลอดเวลา
เมื่อคืนที่ผ่านมา (24 มีนาคม 2554) ได้เกิดแผ่นดินไหว 6.7 ริกเตอร์ในประเทศพม่าใกล้กับจังหวัดเชียงรายของประเทศไทย ซึ่งรับรู้ได้ถึงตึกสูงในกรุงเทพฯ ห่างจากเขื่อนจิงหงในประเทศจีน 168 กิโลเมตร อีกทั้ง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ได้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศลาว ใกล้กับจุดที่สร้างเขื่อนไซยะบุรี 4.6 ริกเตอร์ นี่คือสัญญาณเตือนภัยที่บอกให้เราต้องเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติและต้องทบทวนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งเสี่ยงต่อหายนะภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
พวกเราเครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำภาคเหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน เป็นเครือข่ายองค์กรชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อปกป้อง รักษา และฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อม ได้สรุปบทเรียนและเห็นถึงหายนะภัยที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งเขื่อนในประเทศไทย ได้สร้างปัญหาให้กับดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก บทเรียนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลก ได้บอกให้เราเห็นว่า ยุคสมัยของการสร้างเขื่อนได้สิ้นสุดลงแล้ว มนุษยชาติพึงร่วมกันตระหนักถึงภัยของการสร้างเขื่อน และต้องบอกกล่าวกับรัฐบาลรวมทั้งผู้บริหารบ้านเมืองของตนให้ตระหนักถึงภัยที่มนุษย์ร่วมกันสร้างขึ้นในนามเขื่อน
เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มแม่น้ำภาคเหนือ (ปิง วัง ยม น่าน) ภาคอีสาน (มูล ชี สงคราม) ใต้ (ลุ่มน้ำสายบุรี ลุ่มน้ำท่าแซะรับร่อ ลุ่มน้ำคลองกราย) ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสาละวิน รู้สึกห่วงใยในแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการผลักดันโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีแผนการที่จะสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ในจีน 13 เขื่อน ในพม่าอีก 5 เขื่อน เขื่อนบนแม่น้ำโขง ในจีนสร้างไปแล้ว 4 เขื่อน อาทิ เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนดอนสะฮอง ในลาว เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม พรมแดนไทยลาว เขื่อนซำบอ ในเขมร ฯลฯ รวมทั้งเขื่อนในประเทศไทยที่กำลังผลักดันกันอยู่ อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี, เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช,เขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี
พวกเราขอให้รัฐทบทวนการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ รวมทั้งให้รัฐทบทวนแผนการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน พวกเราขอเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้
1.ยุติธรมมผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน
2.ยุติการผลัดดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง
3.ยุติการผลักดันและให้ยกเลิกโครงการเขื่อนในประเทศไทย เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี, เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช,เขื่อนสายบุรี จ.ปัตตานี
4.ให้รัฐทบทวนแผนการจัดการลุ่มน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำ โดยหันมาสนับสนุนและผลักดันการจัดการน้ำชุมชน โดยใช้แนวคิดภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่นวางแผนการจัดการน้ำชุมชน โดยคนในพื้นที่มีส่วนร่วมทุกขั้นตอน
5.ให้รัฐ แสดงความรับผิดชอบ รวมทั้งเยียวยาให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่านมา อาทิ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี, เขื่อนราศีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ เป็นต้น
พวกเราเครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำ ภาคเหนือ อีสาน ใต้ โขง สาละวิน จะร่วมมือกันติดตามตรวจสอบและเสนอแนะทางออกในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการจัดการน้ำ ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยอย่างมีส่วนร่วมสืบต่อไป