ประกาศ 13 จว. เขตภัยพิบัติแล้งวิกฤต ห้ามทำนารอบ2
กรมชลฯเผยน้ำเหลือ 61 เปอร์เซ็นต์ ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 13 จว. 99 อ. 526 ต. 6,730 หมู่บ้าน เตือนลุ่มน้ำเจ้าพระยาห้ามทำนาปรังรอบ2
หลายจังหวัดในประเทศเริ่มเผชิญกับภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรง หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนปี 2554 จะเริ่มกลางเดือนกุมภาพันธ์ สิ้นสุดกลางเดือนพฤษภาคม แต่ภาวะอากาศจะร้อนน้อยกว่าปี 2553 และบางพื้นที่จะขาดน้ำอย่างรุนแรง
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงแนวทางจัดสรรน้ำ และมาตรการป้องกันปัญหาภัยแล้งว่ากรมชลประทานได้จัดสรรน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งไว้ในปริมาณ 11,7700 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 5 % และได้เตรียมไว้ในฤดูแล้งปีนี้ เพื่อใช้ในการเพาะปลูกช่วงฤดูแล้งปี 2553/2554 ในพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศปริมาณ 21,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มีความมั่นใจว่าจะเพียงพอต่อความต้องการเพราะปีที่ผ่านมา มีการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกพืช ผักทางการเกษตรคิดเป็น 92% หรือ 14.03 ล้านไร่ จากกรอบเป้าหมาย 15.29 ล้านไร่ โดย 12.21 ล้านไร่ มาจากการปลูกข้าว ตามกรอบเดิมอยู่ที่ 12.60 ล้านไร่ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น ปีนี้ จึงคาดว่า ปริมาณการปลูกข้าวจะลดลง เพราะราคา ณ ปัจจุบันยังไม่สูง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
นายชลิตกล่าวว่า ทั้งนี้ กรมชลประทานตั้งกรอบเป้าหมายเพาะปลูกช่วงฤดูแล้งปี 2553/2554 ทั่วประเทศ ประมาณ 13.27 ล้านไร่ ประกอบด้วยการปลูกข้าวนาปรัง 13.27 ล้านไร่,พืชไร่-พืชผัก 0.69 ล้านไร่, บ่อปลา-บ่อกุ้ง 0.79 ล้านไร่, ไม้ผล-ไม้ยืนต้น 1.85 ล้านไร่, อ้อย 0.72 ล้านไร่ และพืชอื่นๆ อีก 0.31 ล้านไร่
“น้ำที่เหลือไม่น่าจะมีปัญหา เพราะได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกเป็น 3 ประเภท คือ 1.พื้นที่ชลประทาน เช่น คลอง บึง เกษตรกรก็จะจัดสรรน้ำกันเอง ส่วนพื้นที่นอกเหนือจากนี้ ตรงนี้ต้องสร้างความเข้าใจให้ดี เพราะหากขาดแคลนขึ้นมาจะลำบาก” นายชลิตกล่าว
นายชลิตกล่าวว่า ปี 2554 กรมชลประทานจะต้องคุมเข้มพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังให้มีน้ำเพียงพอที่จะปลูกข้าวจำนวน 8.91 ล้านไร่เท่านั้น รวมทั้งขอความร่วมมือจากเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่งดการปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 อย่างเด็ดขาด ส่วนแผนดำเนินการระยะยาวทางกรมชลประทานมีรองรับไว้อยู่แล้ว แต่อยู่ที่กระบวนการทำงาน ที่ยอมรับว่าไม่ได้ตามที่ต้องการ เช่นการเพิ่มที่กักเก็บน้ำ แต่ยังติดปัญหาเรื่องความร่วมมือจากประชาชน เพราะหากประชาชนไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมให้ราชการเข้าไปใช้พื้นที่เป้าหมาย ในการก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำผลในระยะยาวอาจจะเกิดปัญหาซ้ำซ้อนได้หรือแม้แต่ชาวบ้านเห็นด้วยก็อาจต้องเสียเวลากับกระบวนการ เช่น การวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ หรือเอชไอเอ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ดังนั้น สิ่งที่ทำให้กระบวนการเดินไปได้เร็ว คือ ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ
“มั่นใจว่าหากชาวนาทำตามคำขอความร่วมมือที่กำหนด รับรองว่าปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเกษตรกรรม อุปโภค บริโภคอย่างแน่นอน เพราะยอมรับว่าปริมาณความต้องการใช้เริ่มเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำที่มีอยู่ ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จึงอยากขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้ดำเนินการตามคำแนะนำของกรมชลประทาน” นายชลิตกล่าว
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศล่าสุด เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ว่า มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 44,511 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 64% ของความจุอ่างขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด โดยมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2553 จำนวน 2,292 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้จำนวนทั้งสิ้น 21,030 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักๆที่ต้องส่งน้ำไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้น เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,963 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 52% ของความจุอ่างฯ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 6,136 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 65% ของความจุอ่างฯ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณ 454 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 59% ของความจุอ่างฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 508 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 53% ของความจุอ่างฯ
ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงมารวม 23 จังหวัด ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้วปี 2553/2554 ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และชดเชยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 8,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนำมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมกันจำนวน 6,800 ลูกบาศก์เมตร จากแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อีกจำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมไปถึงการผันน้ำจากลุ่มแม่น้ำแม่กลองอีกประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น
ผลการจัดสรรน้ำเพื่อการสนับสนุนการใช้น้ำในเขตพื้นที่ชลประทานของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุดมีการใช้น้ำไปแล้ว 4,980 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 59% ของแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ส่วนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 6.02 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 114%ของแผนทั้งหมดที่กำหนดไว้ 5.26 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 5.95 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 114% ของแผนที่กำหนดไว้ 5.21 ล้านไร่ และพืชไร-พืชผัก 0.07 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 140% ของแผนที่กำหนดไว้ 0.05 ล้านไร่
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนหลักต่างๆ ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องใกล้จะครึ่งอ่างฯแล้ว แต่พื้นที่ทำนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ก็ยังมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นอย่างมากเกินกว่า แผนที่ได้กำหนดไว้ ทั้งที่ยังเหลือระยะเวลาของฤดูแล้งอีกกว่า 2 เดือน ซึ่งจะส่งผลต่อแผนการใช้น้ำจากเขื่อนต่างๆ อย่างแน่นอน เนื่องจากต้องส่งน้ำเพิ่มมากขึ้น ทำให้การใช้น้ำจะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และย่อมเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต จึงขอให้เกษตรกรให้ความร่วมมือปลูกพืชให้เป็นไปตามแผนที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดด้วย
รายงานข่าวจากกรมชลประทาน แจ้งว่าขณะนี้มีพื้นที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 มีจำนวน 13 จังหวัด 99 อำเภอ 526 ตำบล 6,730 หมู่บ้าน ในแง่ของการเตรียมความพร้อมและการให้ความช่วยเหลือ กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1,458 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามจังหวัดต่างๆ ปัจจุบันได้มีการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ รวมทั้งหมด 826 เครื่อง ในพื้นที่ 53 จังหวัด พร้อมกับสนับสนุนรถยนต์บรรทุกน้ำตามแผนจำนวน 295 คัน แยกเป็นภาคเหนือ 55 คัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 90 คัน ภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก 59 คัน ภาคใต้ 36 คัน ออกช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า ขณะนี้เอกชนกำลังจับตามองภาวะภัยแล้งโดยพิจารณาจากสภาวะอากาศในเดือนมีนาคมถึงเมษายนนี้ว่าจีนจะมีปริมาณฝนตกตามปกติหรือไม่ หากคลาดเคลื่อนนานก็จะกระทบภาคเกษตรกรและข้าวนาปรังของไทยได้ และบางส่วนของผลผลิตใหม่ของประเทศผู้เพาะปลูกข้าว รวมถึงความเสียหายของข้าวสาลีจากภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น
ที่ จ.เชียงราย ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.เชียงราย ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากแม่น้ำโขงซึ่งเริ่มแห้งลงเหลือปริมาณลึกเพียง 1.9 เมตร ส่งผลต่อแม่น้ำสาขาสายสำคัญ อาทิ แม่น้ำลาว แม่น้ำกก แม่น้ำคำ และแม่น้ำอิง ซึ่งทุกสายไหลลงสู่แม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำแห้งด้วย บางจุดมีระดับน้ำไม่ถึง 1 เมตร ทำให้คาดว่าจะมีน้ำอีกเพียง 1-2 สัปดาห์เท่านั้น ทำให้ส่งผลต่ออุปโภค-บริโภคและทำการเกษตร
นายเชษฐา โมษิกรัตน์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเชียงราย กล่าวว่า ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ภัยแล้งใน 18 อำเภอ และได้รับรายงานว่า เกิดภัยแล้งรุนแรงใน 10 อำเภอ จึงประกาศให้พื้นที่ 10 อำเภอ เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้งมีชาวบ้าน 61 ตำบล 600 หมู่บ้าน ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำบริโภคและทำการเกษตร จึงจัดงบประมาณช่วยเหลือแจกจ่ายน้ำรวมทั้งขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดด้วย
ที่ จ.อุตรดิตถ์ นายเดโชพล ทองก้อน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ฝายหลวง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วยนายวรวิทย์ พูลภักดี หัวหน้าหน่วยเจาะ D นายธนู วิจิตรกูล นายช่างเครื่องกลชำนาญงาน สำนักกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 และกำลังเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์เจาะบ่อน้ำบาดาล ให้ราษฎรหมู่ 4 บ้านม่อนนางแหลม ตามโครงการจัดหาน้ำสะอาดให้หมู่บ้านในพื้นที่ จ.อุตรดิตถ์ โดยใช้เครื่องมือเจาะบ่อบาดาล 300 เมตร ขุดเจาะลึกถึงระดับที่ 165 เมตรพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดจมน้ำ สามารถผลิตน้ำประปาได้ถึง 7,000 ลิตร/ชั่วโมง ให้ชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือนมีน้ำใช้ในระบบประปาหมู่บ้าน เพื่อการอุปโภค-บริโภคและเพื่อการเกษตร หลังจากหมู่บ้านดังกล่าวประสบภัยแล้วตลอดเกือบ 6 ปี และเป็นหมู่บ้านที่อพยพหนีภัยจากพื้นที่ดินโคลนถล่ม เมื่อปี พ.ศ.2549
ที่ จ.นครราชศรีมา นายธีระชาติ เสยกระโทก เลขาธิการสมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ล่าสุดตนได้รับการประสานงานขอความช่วยเหลือจากเครือข่ายชาวนาในเขต 32 อำเภอ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 22,000 ราย ที่ผจญกับทุกข์หลังประสบน้ำท่วมขังพื้นที่เพาะปลูกข้าวกว่า 1 ล้านไร่ เมื่อปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเงินทดแทนของรัฐบาล ชาวนาส่วนหนึ่งต้องล้มละลายกับอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี
“แต่สำนักชลประทานได้ประชาสัมพันธ์ตามสายหมู่บ้าน วอนให้ยุติการปลูกข้าว เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่เพียงพอ ต้องสงวนน้ำดิบไว้อุโภค-บริโภค ต่อมาเมื่อต้องการออกสำรวจปริมาณน้ำตามอ่างเก็บน้ำตามอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ พบว่า ขัดแย้งกับความจริง ดังนั้น แกนนำจะนัดประชุมหารืออีกครั้ง เพื่อหาแนวทางการเคลื่อนไหวให้เข้มข้นขึ้น หากยังไม่ได้รับเงินชดเชยและถูกปิดกั้นการใช้น้ำใช้ในการเกษตร” นายธีระชาติกล่าว
นายชะลอ ใบเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว่า ขณะนี้ จ.ตราด ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินจากภัยแล้งแล้ว รวม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองตราด 13 ตำบล อ.เกาะกูด 2 ตำบล อ.เขาสมิง 8 ตำบล อ.คลองใหญ่ 3 ตำบล และ อ.แหลมงอบ 4 ตำบล รวมทั้งสิ้น 30 ตำบล ถึงแม้สถานการณ์ยังไม่รุนแรง แต่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับ อำเภอแลตำบล ทุกพื้นที่กำลังเร่งรัดการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อาทิส่งเสริมการปลูกพืชในหน้าแล้ง ประกอบด้วยการจัดสรรน้ำที่เน้นดำเนินการตามแผนการบริการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การประปา เพื่อการเกษตร โดยมีโครงการชลประทานตราดเป็นเจ้าภาพหลักพร้อมหน่วยทหารและฝ่ายปกครอง
“แผนการด้านการเกษตรจะเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะรณรงค์งดให้เกษตรกรงดปลูกพืชที่ใช้น้ำมาก โดยเฉพาะบริเวณนอกเขตพื้นที่ชลประทาน พร้อมทั้งหันมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นและมีลู่ทางการตลาดดี เช่น พืชตระกูลถั่วหรือผักที่ต้องการใช้น้ำน้อย โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นเจ้าภาพหลัก” นายชะลอกล่าว
ส่วน พ.อ.โสภณ ศรีมงคล รองผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 14 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เปิดเผยว่า ทางหน่วยร่วมกับอำเภอเตรียมความพร้อมในเรื่องของรถน้ำไว้ให้บริการในพื้นที่ อ.บ่อไร่