เลือกตั้งสภาเกษตร ปูดนอมินีทุน-นักการเมืองลงชิง
เลือกตั้งตัวแทนเกษตรหมู่บ้าน หวั่นทุนนั่งแท่น อุปนายกชาวนาตั้งข้อสงสัย อนุกก.ลุ่มน้ำปิง เผยมีล็อบบี้ช่วยเด็กนักการเมือง ประชาสังคมแพร่ชี้ถูกวางตัวหมดแล้ว
เมื่อวันที่ 13 กพ. 54 จากการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 1 คน ตาม พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 ก่อนจะคัดเลือกกันเองเป็นผู้แทนเกษตรกรระดับตำบล ระดับอำเภอ และเป็นสมาชิกสภาเกษตรจังหวัด ตลอดจนจัดทำแผนแม่บทการพัมนาการเกษตรร่วมกับภาครัฐนั้น
โดยประธานสภาเกษตรจังหวัดจะเป็นกรรมการสภาเกษตรกรแห่งชาติโดยตำแหน่งปรากฏว่าบรรยากาศการเลือกตั้งหลายพื้นที่ไม่คึกคักเท่าที่ควร อาทิ จ.เชียงราย พะเยา พิจิตร แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ นครราชสีมา พัทลุง อ่างทอง และสตูล และพบปัญหาต่างๆ เช่น เกษตรกรบางคนไม่สามารถใช้สิทธิได้เนื่องจากมิได้ลงทะเบียนไว้กับสำนักงานเกษตรอำเภอไว้ก่อนหน้านี้ อีกทั้งขาดการชี้แจงและการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงเกษตรกรบางส่วนยังไม่ทราบถึงบทบาทหน้าที่และความสำคัญของสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด
ที่หน่วยเลือกตั้งหมู่ที่ 10 ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีเกษตรทยอยใช้สิทธิอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหน่วยเลือกตั้งหมู่ที่ 4 ต.โคกม่วง อ.คลองหอยโข่งเกษตรกรใช้สิทธิกันตั้งแต่เปิดหีบ จำนวนผู้ใช้สิทธิเพิ่มขึ้นหลักว่างเว้นจากการกรีดยางพารา
ด้านนายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปตรวจเยี่ยมที่หน่วยเลือกตั้ง 1 หมู่ที่ 4 ต.บ้านหนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างมาก ที่นักวิชาการระบุว่าผู้สมัครเป็นสมาชิสภาเกษตรกร ส่วนใหญ่รู้จักคุ้นเคยและได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ เพื่อหวังผลประโยชน์ จากสภาเกษตรกรนั้นไม่เป็นความจริง เพราะส่วนตัวผู้สมัครย่อมรู้จักกับนักการเมืองท้องถิ่นอยู่แล้ว
นายเฉลิมพรกล่าวว่า ผลการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้าน อยู่ในระดับที่พอใจมากและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในภารรวมมีเกษตรกรมาลงคะแนนเสียงเกิน 50% ของจำนวนผู้มีสิทธิ 20,258,252 คน จากหน่วยเลือกตั้งทั้งสิน 74,891 แห่ง หลังก่อนหน้านี้มีความกังวลจะมาใช้สิทธิกันน้อยเพราะยอมรับว่าการประชาสัมพันธ์อาจน้อยไป คาดว่ากระบวนการจะเสร็จสมบูรณ์ ภายในวันที่ 24 พ.ค.
นายเฉลิมพรกล่าวว่า สภาเกษตรกรจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนเกาตรกรทุกสาขาเพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องเกษตรกรในการรับฟังข้อเสนอ และระดมความคิดเห็นต่างๆ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลให้พิจารณาแนวทางแก้ไขหรืออนุมัติ เพื่อลดปัญหาต่างๆ อย่างที่เคยกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดล้อมกรอบ)
ส่วนนายชวลิต ชูขจร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการลงคะแนนที่ ต.บ้านนา อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งพื้นที่ อ.มหาราช มีผู้สมัครเป็นผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้านมากที่สุดถึง 25 หมู่บ้าน พบว่าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นายอวยชัย ประภัสสร เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพะเยา กล่าวว่าการเลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้านครั้งนี้มีมีการร้องเรียนส่วนใหญ่ผู้สมัครเป็นผู้นำ เช่นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ในหมู่บ้านนั้น แต่มีเกษตรกรที่มีศักยภาพร่วมลงสมัครด้วย
นายมนตรี ถาวร หัวหน้าสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์หลังตรวจเยี่ยมหน่วยเลือกตั้งกับนายอภิชัย จึงประภา ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขต 14 ว่า บรรยากาศโดยรวมของหน่วยเลือกตั้ง 711 แห่ง ในเขตพื้นที่ 32 อำเภอ หลังปิดหีบยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนใหญ่ที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจะเป็นปัญหาผู้มาใช้สิทธิไม่พบรายชื่อนหน่วยเลือกตั้ง ส่วนเบาะแสการกระทำผิด หรือการโกงเลือกตั้งก็ไม่ได้รับแจ้ง เนื่องจากไม่มีกลุ่มการเมืองมาเกี่ยวข้อง เป็นการแข่งขันกันเองในท้องถิ่น ที่สำคัญตัวแทนไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ชัดเขน นักการเมืองจึงไม่ได้ให้ความสนใจส่งคนลงสมัคร
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มีหลายหน่วยเลือกตั้งในจังหวัดนครราชสีมา ที่ลงคะแนนเสร็จภายในไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากบางหน่วยเลือกตั้งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ถึง 10 ราย
นางปทิตตา แก้วมณี เกษตรอำเภอมหาราช กล่าวว่า อ.มหาราช มี 58 หมู่บ้าน มีผู้สมัครจำนวน 2 คน ขึ้นไป รวม 25 หมู่บ้าน และไม่ต้องลงคะแนนเพราะมีผู้สมัครเพียง 1 คน 32 หมู่บ้าน และไม่มีผู้สมัครเลย 1 หมู่บ้าน พบกว่ามีเกษตรกรลงคะแนนกว่า 50% ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพึงพอใจ
นายวิเชียร พวงลำเจียก อุปนายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ตนลงสมัครเป็นผู้แทนสภาเกษตรกรระดับหมู่บ้านที่ ต.โคกช้าง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา และหมู่บ้านนี้ก็มีตนสมัครเพียงคนเดียว จึงไม่ต้องเลือกตั้ง ใน จ.พระนครศรีอยุธยา มี 16 อำเภอ รวม 1,500 หมู่บ้าน พบว่ามีผู้สมัคร 2 คนขึ้นไปเพียง 16 หมู่บ้านเท่านั้น ส่วนอีก 716 หมู่บ้านไม่มีผู้สมัคร มองได้ 2 นัยยะ คือ รัฐบาลขาดการประชาสัมพัฯธ์และเกษตรกรไม่สนใจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว
“ที่กลัวมากที่สุดคือพวกอีแอบที่จะเข้ามา ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มนายทุนที่ต้องการเข้ามาควบคุมหรือมีบทบาทในสภาเกษตรกรแห่งชาติ นับจากนี้ไปขึ้นตอนการเลือกผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ขอให้ผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้านตัดสินใจให้ดี เพื่อจะได้ผู้แทนที่ปลอดจากกลุ่มทุน กลุ่มการเมืองและกลุ่มข้าราชการหนุนหลัง” นายวิเชียรกล่าว
นายสมานทัดเที่ยง คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำปิง และประธานผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรลุ่มน้ำแม่กวง จ.เชียงใหม่ เผยว่า ต.สันนาเม็ง อ.สันทราย มี 12 หมู่บ้าน แต่เลือกตั้งระดับหมู่บ้านได้เพียงแห่งเดียว นอกนั้นมีผู้สมัครรายเดียวจึงไม่ต้องเลือกตั้ง เพราะมีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอมาบอกว่ามีคนลงสมัครแล้ว ไม่ต้องลงสมัครอีก อ้างว่าเสียเวลาและงบประมาณการเลือกตั้ง ทำให้เกษตรกรไม่มีโอกาสเลือกตัวแทนที่มีความรู้ความสามาถเข้าไปทำหน้าที่ในสภาเกษตรกรแห่งชาติได้
“มีการล็อบบี้คัดเลือกตัวแทนเกษตรกรทุกระดับทั้งเด็กนักการเมือง นายทุน ภาคธุรกิจ กลุ่มอำนาจใหม่และกลุ่มผูกขาด เพื่อให้เป็นตัวแทนระดับจังหวัดเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้าไปเป็นนอมินีแสวงหาผลประโยชน์ และผูกขากดทางเศรษฐกิจ โดยเสนอกฎหมายที่เอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องตนเอง หากนอมินีมาจริงก็จะทักท้วงไม่ยอมให้เป็นตัวแทนระดับจังหวัด เพื่อไม่ให้ใครแอบอ้างไปหาผลประโยชน์เด็ดขาด”
ด้านพระยงยุทธ ทีปโก กลุ่มประชาสังคมในจังหวัดแพร่ เปิดเผยว่า พยากรณ์ล่วงหน้าได้เลยว่า สภาเกษตรกรจังหวัดแพร่ 16 คน จะมีฝ่ายการเมืองเข้าแทรกมากกว่า 10 คน ที่เหลือเป็นชาวบ้านที่ไม่มีความรู้อะไร และผู้ที่เป็นประธานสภาระดับจังหวัดไปเป็นตัวแทนในระดับชาติก็คือกลุ่มนักการเมืองที่สร้างความวุ่นวายอยู่ในปัจจุบันนี่เอง มีนักข่าวในภาคอื่นๆ พบว่า มีการวางตัวเครือข่ายนักการเมืองไว้หมดแล้ว บางแห่งมีเงินจ้างให้ลงด้วย ถ้าเป็นเช่นนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติจะเป็นปากเสียงให้เกษตรกรอย่างแท้จริงหรือไม่
เมื่อเวลา 16.00 น. วันเดียวกัน นายอานันต์ ฟูตุ้ย อายุ 57 ปี อยู่บ้านเลขที่ 54/1 หมู่ 8 ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ ผู้สมัครตัวแทนเกษตรกรระดับหมู่บ้านหมู่ 8 ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย จ.แพร่ เจ้าแจ้งความต่อ พ.ต.ท.เด่น ตันไซย พงส.(สบ 3) สภ.เด่นชัย ให้ดำเนินคดีกับกรรมการการเลือกตั้งสภาเกษตรกร อ.เด่นชัย มีนายฉลองเพชรศักดา เกษตรอำเภอเด่นชัย เป็นเลขานุการคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น
นายอานันต์แจ้งว่า ผู้รับสมัครกระทำผิดกฏหมายเลือกตั้ง โดยใส่หมายเลขผู้รับเลือกตั้งผิด และไม่ใส่รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจนทำให้หมดสิทธิทั้งการหาเสียงและการไปใช้สิทธิลงคะแนน ทั้งที่ตนได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรตั้งแต่ปี 2552 มีสิทธิลงสมัครลงรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนเกษตรกร เมื่อไปติดตามพบว่าไม่มีชื่อในทะเบียนเกษตรกร แต่ได้นำหลักฐานยืนยันกับเจ้าหน้าที่รับสมัครที่สำนักงานเกษตรอำเภอเด่นชัย จนเจ้าหน้าที่ขึ้นทะเบียนให้ใหม่ จึงลงสมัครรับเลือกตั้งทันทีเมื่อวันที่ 18 ม.ค. และก็ดีใจเมื่อรู้ว่าตรสมัครคนเดียว แต่ปรากฏว่า คณะกรรมการเลือกตั้งขยายเวลาการรับสมัคร และนายรบ ถุงคำ อดีตผู้สมัคร ส.ส.แพร่ พรรคการเมืองหนึ่งลงสมัคร อีกคนโดยนายรบ กลายเป็นผู้สมัครหมายเลข 1 ของหมู่ 8 ส่วนตนได้หมายเลข 2 เป็นการเปลี่ยนข้อมูลอย่างชัดเจน ตนได้ทักท้วงไป แต่เจ้าหน้าที่ยังมาแก้ไขให้เมื่อบ่ายวันที่ 12 ก.พ. ทำให้หาเสียงไม่ทัน นอกจากนั้นตนยังไม่มีชื่อในทะเขียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการต่อ.
------------------------------------------------------------------------------
เคียงข่าว
พ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติ พ.ศ.2553 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน2553 โดยกำหนดให้มีสภาเกษตรกร 2 ระดับคือ 1.สภาเกษตรกรแห่งชาติ มีสมาชิก 3 ประเภท คือ (1) สมาชิกโดยตำแหน่ง คือประธานสภาเกษตรกรจังหวัด รวม 76 จังหวัด(2) สมาชิกซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรเกษตรกร 16 คน ที่สมาชิกโดยตำแหน่ง 76 คน เป็นผู้เลือกและ (3) สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ซึ่งสมาชิกทั้งประเภทที่ 1 และ 2 จะเป็นผู้เลือกจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านเกษตรกรรม รวมเป็น 99 คน 2.สภาเกษตรกรจังหวัด มีสมาชิก 2 ประเภท คือ (1) สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง16 คน แต่หากจังหวัดใดมีมากกว่า 16 อำเภอ ก็ให้มีจำนวนสมาชิกได้เท่ากับจำนวนอำเภอ แต่หากจังหวัดใดมีน้อยกว่า 16 อำเภอ ก็ให้มีสมาชิกได้ 16 คน โดยเพิ่มตามสัดส่วนเกษตรกรในแต่ละอำเภอ (2) สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมอีก5 คน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เลือกตั้งผู้แทนเกษตรกรระดับหมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ1 คน 13-17 กุมภาพันธ์ ประกาศรายชื่อผู้แทนระดับหมู่บ้าน 27 กุมภาพันธ์-28 มีนาคม เลือกตั้งผู้แทนระดับตำบล ตำบลละ 1 คน 28 มีนาคม-11 เมษายน ประกาศรายชื่อผู้แทนระดับตำบล 11 เมษายน-10 พฤษภาคม เลือกตั้งผู้แทนระดับอำเภอ อำเภอละ 1 คน 10 พฤษภาคม ประกาศรายชื่อผู้แทนระดับอำเภอ ส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัด โดยประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจะเป็นกรรมการสภาเกษตรกรแห่งชาติโดยตำแหน่ง สภาเกษตรกรจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในการนำเสนอปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร รวมทั้งสวัสดิการแก่เกษตรกรให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด สภาเกษตรกรแห่งชาติ...มีอำนาจหน้าที่เสนอ ครม.เพื่อกำหนดนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร เสนอเพื่อกำหนดนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาการทำเกษตรแบบผสมผสาน ระบบวนเกษตร ระบบเกษตรธรรมชาติระบบไร่นาสวนผสม ระบบเกษตรอินทรีย์ และเกษตรกรรมรูปแบบอื่น ให้คำปรึกษาและเสนอครม.ในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร และเสนอแผนแม่บทต่อ ครม. |