‘มท.’ ค้านจำกัดสิทธิที่ดิน ‘คปร.’ ยันมาถูกทาง
คปร.ไม่สนเสียง ‘ถาวร เสนเนียม’ ต้านจำกัดถือครองที่ดิน 50 ไร่ ย้ำหากไม่ทำ ที่ดินจะถูกยึดโดย นายทุน-ต่างชาติ เกษตรกรอาจล่มสลาย แนะใช่รูปแบบสหกรณ์
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งกำกับดูแลกรมที่ดินให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เตรียมแถลงข่าว ออกข้อเสนอปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรมีสาระสำคัญให้จำกัดการถือครองที่ดินได้ครอบครัวละ 50 ไร่ ส่วนใครที่มีมากกว่านั้นให้เก็บอัตราภาษีก้าวหน้าร้อยละ 5 ว่ายังไม่เห็นรายละเอียด แต่ยังไม่เห็นด้วยซักเท่าไหร่หากมีการจำกัดการถือครอง แต่เห็นด้วยหากกำหนดให้เกษตรกรได้มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์เพราะในระบบของการทำการผลิต ถ้าจำกัดความสามารถของบางคนหรือบางกลุ่ม จะทำให้เกิดปัญหาการสร้างผลผลิต ขณะเดียวกันหากรัฐกระจายการถือครองก็เห็นด้วยเพราะอยากให้เกษตรกรมีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่การกระจายการถือครองไม่ควรกระทบสิทธิผู้มีความสามารถ ที่สำคัญควรกำหนดพื้นที่ต่างๆ ให้ชัดเจน หากเป็นพื้นที่เกษตรก็ไม่ควรให้นายทุนเข้าไปสร้างสนามกอล์ฟ เช่นเดียวกันเจ้าของที่ดินรายใหญ่ หากครอบครองแล้วไม่ทำการผลิตและไม่ให้คนอื่นใช้ประโยชน์ซึ่งในประเทศไทยมีคนกลุ่มนี้อยู่มาก ก็ควรเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกๆ 3 ปี
“หากกำหนดให้ไม่เกินครอบครัวละ 50 ไร่ ผมจึงไม่เห็นด้วยเพราะบ้านเมืองยังมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าอีกเยอะ สามารถจัดสรรให้คนยากคนจนทำมาหากินได้” นายถาวรกล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอให้เปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินทั้งหมด ตนเห็นด้วยและปัจจุบันกำลังจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่ดินแห่งชาติโดยกู้เงินจากธนาคารกรุงไทยไม่เกิน 4-5 พันล้าน และตั้งคณะทำงานที่มีผู้แทนทั้งกระทรวงการคลัง กรมที่ดิน ธนาคารกรุงไทย เพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆ ทั้งระบบ โดยเอาแผนที่ระวางที่ดินกว่า 3 แสนระวาง โฉนดที่ดินกว่า 30 ล้านแปลง อาคารชุด 2-3 ล้านยูนิต โดยสรุปแล้วคือเอาที่ดินทุกตารางนิ้วของรัฐทั้งหมดมาอยู่ในศูนย์ข้อมูล คาดว่าไม่เกินเดือนเมษายนนี้จะสำเร็จ เมื่อสำเร็จแล้วจะสามารถจัดเก็บภาษีที่ดินได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 80 ที่ผ่านมามีการเลี่ยงภาษีจำนวนมาก เพราะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บ บางพื้นที่พอไปเจอฐานการเมืองก็ไม่มีใครกล้าเก็บภาษี
ด้านนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการ คปร. กล่าวว่า ในกลุ่มประเทศอาหรับที่กำลังเกิดปัญหาประชาชนลุกฮือนั้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากนายทุนใหญ่เข้าครอบครองที่ดินขนาดใหญ่ของประเทศ ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจถึงความเหลื่อมล้ำ เช่นเดียวกับแอฟริกาใต้เมื่อ 40-50 ปีก่อน ที่คนผิวขาวเป็นเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่แล้วจ้างแรงงานผิวดำมาทำงาน ในที่สุดจึงเกิดการลุกฮือ ส่วนประเทศไทยนั้น พื้นที่ถือครองขนาดใหญ่มักอยู่ภายใต้องค์กรการจัดสรรที่ดินของรัฐ เช่น สำนักงานปฏิรูปที่ดิน นิคมสร้างตนเองโดยนายทุนพยายามเลี่ยงกฎหมาย โดยไม่ได้กรรมสิทธิ์เอง แต่ใช้ชาวบ้านเป็นนอมินี
นายเพิ่มศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ต่างชาติเข้ามากว้านซื้อที่ดินเพื่อทำการผลิตอาหารส่งกลับประเทศจำนวนมาก ดังนั้น หลักการคือต้องสร้างความเป็นธรรมด้วยการถือครอง ใครที่ซื้อไว้เป็นหมื่นเป็นแสนไร่ หากแบ่งให้เกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์ และเข้าร่วมบริหารจัดการ สามารถทำได้ เพื่อให้เกษตรกรรู้สึกมั่นคง หากเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ต้องการทำเองหมด ก็ต้องเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าคือร้อยละ 5 ถ้าคิดว่าไม่คุ้มก็ต้องปล่อย ส่วนเกษตรกรที่มีที่ดินระดับต่ำกว่า 10 ไร่ ควรเสียร้อยละ 0.03 ที่ต้องตั้งไว้เพื่อให้เกษตรกรรู้สึกว่าเป็นเจ้าของที่ดินและได้ใช้ที่ดินเพื่อการยังชีพอย่างคุ้มค่า ไม่ใช่ให้สังคมช่วยเหลืออย่างเดียว ส่วนการครอบครองที่ดินตั้งแต่ 10-50 ไร่ น่าจะเสียภาษีร้อยละ 0.1 ซึ่งสูงขึ้นเพื่อให้ผลตอบแทนคุ้มกับการลงทุนและจ่ายภาษีที่เป็นธรรมให้รัฐ
“หากปล่อยให้เป็นเช่นทุกวันนี้ที่ดินดีๆ จะไปตกอยู่ในมือของนายทุนหมด และคนที่เรียนจบใหม่ๆ และต้องการเป็นเกษตรกรก็เข้าสู่ระบบไม่ได้เพราะไม่มีเงินซื้อที่ดินราคาแพง เชื่อว่าหากไม่ทำ อีกไม่เกิน 10 ปี เกษตรกรรมเมืองไทยจะล่มและอยู่ในมือไม่กี่บริษัทแน่ ถึงตอนนั้นคนไทยก็จะกินอาหารแพง ดังนั้น การกำหนดการถือครองไว้ที่ 50 ไร่ จึงไม่ได้ทำลายประสิทธิภาพการผลิต แต่สร้างความเป็นธรรมให้ทุกกลุ่ม” นายเพิ่มศักดิ์ กล่าว และว่า การผลิตขนาดใหญ่ควรเป็นระบบสหกรณ์เช่นเดียวกัน เพราะทำเดี่ยวๆ จะไม่ดี เหมือนในอเมริกาและออสเตรเลีย ถูกผูกขาด ส่งผลให้อาหารแพง ดังนั้นควรยึดเอาระบบสหกรณ์ เพราะมีความเป็นธรรมทำให้ช่องว่างผลประโยชน์ไม่ต่างกันมาก ระบบนี้สามารถสร้างอำนาจต่อรองให้ภาคประชาชนได้.