'กรณ์'หวั่นม๊อบเกษตรกรบุก กลับลำแก้เกณฑ์ยกหนี้ 50%
ธ.ก.ส.อ่อนข้อเกษตรกร หนีแรงกดกันชุมนุมปิดล้อม ยอมแก้เกณฑ์เงื่อนไขยกหนี้ 50% พร้อมดอกเบี้ยค้างรับ หากสามารถทำตามเงื่อนไข การปรับหนี้ครบ 15 ปี พร้อมตั้งบัญชีพีเอสเอขอชดเชยจากรัฐบาล หากเกิดเบี้ยวหนี้อีกรอบ
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เมื่อวันที่ 27 มีมติให้ธนาคารแก้ไขระเบียบวิธีปฏิบัติให้เป็นไปตามมติรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน และ 22 มิถุนายน 2553 ในการช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร โดยให้แยกเป็นบัญชีกิจการเพื่อสังคม (พีเอสเอ) เพื่อของบประมาณชดเชยจากรัฐบาล หากเกิดความเสียหายในช่วง 15 ปี ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ในกรณีของลูกหนี้ที่มีหลักประกันมากกว่ามูลค่าหนี้ ซึ่งมีประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะชดเชยให้ประมาณ 1,000 ล้านบาท
นายกรณ์กล่าวต่อว่า ครม.มีมติที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูจำนวน 8 หมื่นรายที่เป็นหนี้กับ ธ.ก.ส.และสถาบันการเงินของรัฐอีก 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยผู้ที่เข้าข่ายคือ ต้องเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ 31 ธันวาคม 2552 กำหนดเงินต้นไม่เกิน 2.5 ล้านบามต่อราย ด้วยการแบ่งหนี้มาปรับโครงสร้างครึ้งหนึ่ง หากลูกหนี้สามารถทำได้ตามเงื่อนไขของการปรับโครงสร้างหนี้ ก็จะยกหนี้ส่วนที่เหลือครึ่งหนึ่งพร้อมกับดอกเบี้ยค้างชำระให้ เพื่อลดภาระให้กับเกษตรกร แต่การดำเนินการดังกล่าวจะติดปัญหาส่วนที่ลูกหนี้ที่มีหลักประกันมากกว่าหนี้สิน เพราะตามหลักเกณฑ์แล้วกรณีดังกล่าวต้องหักหลักประกันมาชำระหนี้ก่อน
"ธนาคารเคยถามสำนักงานกฤษฎีกาในเรื่องนี้ ก็มีคำตอบว่า ธนาคารไม่ได้ข้อบังคับเรื่องนี้มาก่อน ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้สามารถดำเนินการได้ตามมติ ครม. ที่ประชุมคณะกรรมการจึงเห็นว่า ธนาคารควรที่จะหันมาแก้ไขระเบียบวิธีปฏิบัติของธนาคารเอง เพื่อให้สมารถดำเนินการได้ตามนโยบายรัฐบาลและหากเกิดความเสียหายขึ้น รัฐบาลก็จะชดเชยความเสียหายให้กับธนาคาร โดยจะใช้หลักการเดียวกันกับธนาคารทั้ง 4 แห่งที่อยู่ในโครงการนี้ด้วย" นายกรณ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2553 เคยมีมติไม่ให้ ธ.ก.ส.ออกเกณฑ์การลดหนี้ 50% ให้กับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร เพราะคำนึงถึงความเสมอภาคกับลูกค้ารายอื่นๆ ของธนาคาร ที่อาจจะมายื่นข้อเสนอเงื่อนไขเดียวกัน ซึ่งจะนำมาสู่ความเสียหายให้กับธนาคารได้ เพราะผู้ถือหุ้นของธนาคารไม่ได้มีเพียงกระทรวงการคลังเท่านั้น แต่ยังมีรายย่อยและผู้ฝากเงินด้วย ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายได้.