สสค.จับมือท้องถิ่นแก้ปัญหา 'เด็กกลุ่มเสี่ยง' ได้ผลกว่าเคอร์ฟิว
“หมอสุภกร” ระบุเด็กกลุ่มเสี่ยง 1.7 ล้านคน ทั้งชนบท ยากจน เร่ร่อนขายตัวขายแรงงงาน ท้องไม่พร้อม กำพร้า ยุวอาชญากร สสค.จับมือ อปท.-พระสงฆ์-เอ็นจีโอ หนุนการศึกษาเหมาะกับกลุ่ม ระบุได้ผลกว่าเคอร์ฟิวเด็ก
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) เปิดเผยถึงบทบาท สสค.ว่าทำงานเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่ได้ทำกับระบบการศึกษา ภารกิจหลักมุ่งที่การพัฒนาการทุกจุดที่เด็กจะเรียนรู้ได้ ซึ่งอาจอยู่ในห้องเรียน รอบตัวเด็ก ในชุมชน ที่บ้าน "เป็นการเข้าไปสนับสนุนถึงตรงพื้นที่... ที่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้ถึงตัวเด็กเลย"
นพ.สุภกร ยังกล่าวถึงโครงการล่าสุดของ สสค.คือการเพิ่มโอกาสด้านการศึกษาให้เด็ก 5 กลุ่มเสี่ยงซึ่งเป็นพวกที่ต้องหยุดเรียนกลางคัน หรือต้องหลุดไปจากระบบการศึกษาปกติ ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการที่ได้ผลกว่ามาตรการเคอร์ฟิวเด็กที่กำลังพูดถึงอยู่ในปัจจุบัน โดยเด็กกลุ่มเสี่ยงนี้ ได้แก่ กลุ่มเด็กที่ยากจน เร่ร่อน ขายตัวขายแรงงาน ท้องไม่พร้อม กลุ่มเด็กที่พิการ กลุ่มเด็กที่ต้องการเรียนต่อเพื่อประกอบอาชีพในอนาคต กลุ่มเด็กในชนบทห่างไกล รวมถึงกลุ่มเด็กที่ทำผิดกฎหมายหรือยุวอาชญากรทั้งหมดมีราว 1.7 ล้านคนโดย 60-70% ของเด็กกลุ่มนี้แบ่งเป็น เด็กเร่ร่อนประมาณ 30,000 คน, เด็กกำพร้า 1 ล้านคน, แม่วัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 18 ปี) 1.2 แสนคน, ยุวอาชญากร 50,000 คน, เด็กส่วนอื่น ๆ 1 แสนคน นอกจากนั้นยังมีเด็กไร้สัญชาติอีกราว 9.7 แสนคน แต่ยังไม่ได้อยู่ในโครงการนี้
ในจำนวนเด็กที่หายไปจากห้องเรียนพบว่าเด็กอายุ 15-17 ปี ออกจากมัธยมศึกษาตอนปลาย สูงสุด 48% (1,511,349 คน) รองลงมาคือ กลุ่มก่อนประถมศึกษา อายุ 3-5 ปี 41%(1,191,445 คน), กลุ่มมัธยมต้น อายุ 12-14 ปี 11% (318,960 คน), กลุ่มประถมศึกษา อายุ 6-11 ปี จำนวน 7% (408,595 คน) เหนืออื่นใดทุกปีจะมีเด็กล็อตใหม่ที่หลุดออกจากห้องเรียนไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน อันเป็นการสะสมปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาให้มากขึ้นทุกปีๆ หากเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
"และจากเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยม 689,229 คนซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหม่ ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะทำให้สูญเสียรายได้อย่างต่ำ 6 แสนล้านบาท และรัฐบาลจะเสียโอกาสเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคลอีกกว่า 84,000 ล้านบาท" ผจก.สสค. กล่าว
นพ.สุภกร กล่าวว่าการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมนั้น ต้องให้การศึกษาที่เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่ม ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน เพราะเด็กบางคนก็เรียนตามระบบปกติไม่ได้ ที่สำคัญคือเน้นให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ ทั้ง อบต. อบจ.เทศบาล พระสงฆ์ เอ็นจีโอโดย สสค. ให้เทศบาล 1,200 แห่งเสนอโครงการมา ปรากฏว่ามี 150 แห่งแล้วที่ส่งมา และ สสค.ได้เลือกไว้ 35 แห่ง ใช้งบสนับสนุน 15 ล้านบาท มีโรงเรียนปลายข้าว เทศบาลพัทลุงเป็นต้นแบบ
"อย่างที่ภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็พยายามให้เด็กเกิดความเชี่ยวชาญในการทำอาชีพด้านท่องเที่ยว เรียนรู้การให้บริการภาษาและทักษะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เด็กโตขึ้นก็ไม่ต้องไปทำงานที่อื่น เป็นต้น"
นพ.สุภกร ยังกล่าวว่า สสค.เป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุนของรัฐบาล ถ้าเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาอีกร้อยละ 1 เพื่อทำเรื่องการพัฒนาการเรียนรู้โดยเฉพาะแล้ว จะทำให้รู้ว่าจะเกิดผลที่ดีได้อย่างไร การหยิบยื่นโอกาสในการเรียนหนังสือทั้งในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียนให้เด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขามีอาชีพ สามารถดูแลตัวเองและครบครัวได้ในอนาคต ย่อมเป็นเรื่องดีที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ และเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางและยั่งยืนดีกว่ามาตรการบังคับ-แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ .
ภาพประกอบจาก http://www.thaihealth.or.th/about/editorial/10325