เตรียมคุ้ย ‘ส.ป.ก.’ผิดวัตถุประสงค์ ยึดแจก ‘เกษตรกร’
เมื่อวันที่ 16 มกราคม นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผย “มติชน” ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ส.ก.ป. สามารถจัดสรรที่ดินทำดินให้เกษตรกรในรูปแบบการแจกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ไปแล้ว จำนวนกว่า 32,000,000 ไร่ รวมจำนวนเกษตรกรกว่า 2,000,000 ราย ส่งผลให้จำนวนที่ดินในความรับผิดชอบของ ส.ก.ป. ที่สามารถจัดสรรให้เกษตรกรตามเป้าหมายเหลืออยู่เพียง 3 ล้านไร่ โดยในปี 2554 ส.ป.ก.ตั้งเป้าหมายการจัดสรรที่ดินส่วนนี้ไว้ จำนวน 8 แสนไร่
นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า แม้จะมีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เหลืออยู่ระหว่างการจัดสรรอีกประมาณ 3 ล้านไร่ ที่ได้รับโอนมาจากกรมป่าไม้ แต่ในข้อเท็จจริงคงไม่สามารถจัดสรรให้ได้ทั้งจำนวน เนื่องจากสภาพพื้นที่บางส่วนไม่เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรม และหลายพื้นที่มีกลุ่มผู้บุกรุกเข้าไปถือครองอยู่จำนวนมาก ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ การฟ้องร้องดำเนินคดีหรือเจรจาเพื่อนำที่ดินทำกินกลับมาคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานมาก
“เมื่อพื้นที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรมมีจำนวนน้อยกว่าปริมาณเกษตรกร ทำให้ยังขาดแคลนที่ดินอยู่มีจำนวนมากในขณะนี้ ดังนั้นจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ที่แจกเอกสารสิทธิไปแล้ว 32 ล้านไร่ให้มากขึ้น เพื่อนำที่ดินที่มีปัญหา อาทิมีการซื้อสิทธิ หรือถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นนอกเหนือจากเกษตรกรรม กลับคืนมาเพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรที่รอการจัดสรรที่ดินเข้าทำประโยชน์แทน”
นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องปรามกลุ่มที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินทำกินของเกษตรกร ส.ป.ก.เตรียมนำผลการพิจารณาคดีและบทลงโทษของศาล เผยแพร่บนเว็บไซต์ให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อให้ผู้ไม่หวังดีตระหนักถึงผลเสียหายที่เกิดขึ้นจากการถูกตรวจสอบพบว่าที่ดิน ส.ป.ก.ได้มาโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยจะถูกดำเนินคดีทั้งทางวินัยแบะอาญาอย่างเด็ดขาด
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ยอดการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น 32,858,972 ไร่ รวมจำนวนเกษตรกร 2,057,653 ราย รวมจำนวนทั้งสิ้น 66 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือ 17 จังหวัด จำนวนพื้นที่ 7,343,860 ไร่ จำนวนเกษตรกร 506,856 ราย ภาคอีสาน 19 จังหวัด พื้นที่ 17,140,229 ไร่ จำนวนเกษตรกร 1,085,721 ราย ภาคกลาง 16 จังหวัด พื้นที่ 4,820,034 ไร่ จำนวนเกษตรกร 229,670 ราย ภาคใต้ 14 จังหวัด พื้นที่ 3,554,849 ไร่ จำนวนเกษตรกร 235,406 ราย
ส่วนจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรไปมาก 10 อันดับแรก คือ 1.นครราชสีมา 1,961,325 ไร่ 2.หนองคาย 1,564,160 ไร่ 3.อุดรธานี 1,547,752 ไร่ 4.อุบลราชธานี 1,399,808 ไร่ 5.กำแพงเพชร 1,360,907 ไร่ 6.เพชรบูรณ์ 1,268,877 ไร่ 7.ชัยภูมิ 1,265,024 ไร่ 8.สุราษฎร์ธานี 1,141,129 ไร่ 9.สระแก้ว 1,131,410 ไร่ 10.ศรีสะเกษ 1,072,610 ไร่ สำหรับจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรน้อยที่สุด คือนครนายก 1,747 ไร่ รองลงมาคือ ภูเก็ต 10,767 ไร่
แหล่งข่าวกล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ทุกจังหวัดที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน มีปัญหาการถือครองที่ดินของเกษตรกร เกิดขึ้นประมาณ 20-30% ของที่ดินที่ได้รับการจัดสรรไป ส่วนพื้นที่ 3 ล้านไร่ ที่เหลืออยู่ ปัจจุบันมีบุคคลหลากหลายกลุ่มอาชีพเข้าไปถือครองที่ดินจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง พ่อค้า ข้าราชการ บางรายถือครองอยู่ประมาณ 100-200 ไร่
“สำหรับพื้นที่จำนวน 3 ล้านไร่ที่เหลืออยู่ที่ผ่านมา ส.ป.ก.พยายามหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้มาหลายครั้ง ทั้งการเสนอแก้ไขกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร เพื่อปลดล็อคคุณสมบัติของผู้ถือครองที่ดิน จากเดิมที่ต้องเป็นเกษตรกรเพียงอย่างเดียว เป็นอาชีพอะไรก็ได้ แต่ต้องใช้พื้นที่เหล่านี้ในการทำเกษตรกรรม แต่ก็ถูกคัดค้านมาตลอด จึงเหลือช่องทางเดียวในการแก้ไขปัญหาคือ การดำเนินฟ้องร้องขับไล่เท่านั้น แต่ก็ไม่แน่ใจว่าสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้อ้างเหตุผลว่าได้รับสิทธิการถือครองที่ดินมาก่อนที่จะมีการประกาศเขตปฏิรูป เป็นมรดกตกทอดมา ซึ่งเรื่องนี้ก็คงจะต้องดูรายละเอียดเป็นกรณีไป” แหล่งข่าวกล่าว