รบ.หว่าน 9 พันล้านปฏิรูป ปท.
ครม.อนุมัติงบฯ 9 พันล้านปฏิรูปประเทศไทย ครอบคลุม ‘การศึกษา-กระบวนการยุติธรรม-สวัสดิการคุณภาพชีวิต-ความปลอดภัย-ศก.'
เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนปฏิรูปประเทศไทยทั้งหมดที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยจะครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการศึกษา กระบวนการยุติธรรม สวัสดิการคุณภาพชีวิตและความปลอดภัย และเรื่องเศรษฐกิจ ที่จะต้องเกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม จากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตามและขับเคลื่อน เพื่อให้งานทุกด้านปรากฏผลเป็นรูปธรรมตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ และตนจะทำหน้าที่ในการเป็นประธานด้วยตัวเองโดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นผู้ปฏิบัติและมีการมอบหมายงานให้เป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้ จะมีการายงานความคืบหน้าตลอดเวลา เพื่อให้งานเดินไปได้เร็วที่สุด โดยจะมีตารางการทำงานประจำเดือนที่ชัดเจน เพราะจะต้องมีการประเมินมากกว่ารายเดือน และในบางเรื่องอย่างเช่น การประกันสังคม ที่จะต้องมีการปรับแก้พระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงก็ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ดำเนินการแล้ว ก็จะสามารถทำได้สำเร็จเร็วขึ้น
เมื่อถามว่า งบประมาณที่จะนำมาใช้ในการปฏิรูปประเทศทั้งหมดเอามาจากไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะมีทั้งส่วนที่เป็นงบฯประจำที่อาจจะปรับเปลี่ยนจากแผนงานปกติ อีกส่วนมาจากเงินของหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้ (สสค.) ที่ใช้เงินยืมจากเงินกู้ที่มีอยู่แล้วในอดีต และเมื่อมีกฎหมายรองรับจะมีเงินรายได้จากภาษีเหมือนสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) เคยทำในปี 2543-2545 และอีกส่วนจะเป็นเงินจากภาคเอกชนเองภาระทั้งหมดอยู่ประมาณ 9 พันล้านบาท แบ่งเป็นวงเงิน 2 พันล้านบาทจะใช้ในส่วนของ 9 มาตรการที่ได้ประกาศไปแล้ว แต่ที่เป็นโครงการใหญ่คือ โครงการบ้านมั่นคงจะใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาท
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะใช้งบจากส่วนไหนมารับภาระค่าไฟฟ้าตามโครงการนี้มากกว่า 1.4 หมื่นล้าน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าประชาชนที่ใช้ไฟไม่เกิน 90 ยูนิตต่อเดือนในปัจจุบันจะไปสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคมจะมีการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้า หากไม่ทันในปลายเดือนกุมภาพันธ์อาจจะมีการต่ออายุมาตรการไปจนถึงเดือนกรกฎาคม จากนั้น จะมีการปรับให้ผู้ใช้ไฟมากจะเป็นผู้รับภาระในส่วนนี้ เมื่อถามว่าภาคอุตสาหกรรมจะผลักภาระค่าไฟฟ้าไปให้ประชาชนผู้บริโภคเพิ่มเติมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะที่คำนวณไว้จะไม่มีภาระเพิ่ม
เมื่อถามถึงมาตรการตรึงราคาก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือนกับภาคขนส่ง แต่จะลอยตัวในภาคอุตสาหกรรม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องแอลพีจีมีการพูดถึงการปรับราคาขึ้น แต่ยืนยันที่จะตรึงราคาในส่วนของครัวเรือนกับขนส่งได้โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมจะต้องซื้อในราคาตลาด
“การดำเนินการครั้งนี้ เราไม่ได้ทำให้ราคาแอลพีจีถูกลง และเอ็นจีวีไม่มีการปรับราคา ความได้เปรียบและเสียเปรียบระหว่างแอลพีจีและเอาจีวีก็เท่าเดิม ผมยังมองไม่เห็นข้อห่วงใยที่ว่าคนจะหันมาใช้แอลพีจีมากขึ้น เพราะเอนจีวีก็ยังราคาถูกกว่า แต่เหตุผลสำคัญในการจัดการจัดให้ภาคขนส่งอยู่กับภาคครัวเรือนนั้นเป็นเหตุผลในภาคปฏิบัติเพราะแยกตลาด 2 ส่วนนี้ยาก และอาจจะทำให้เกิดปัญหาการลักลอบและอันตรายที่จะตามมา แต่เมื่อลอยตัวภาคอุสาหกรรม กระทรวงพลังงานก็จะมีการตรวจสอบรองรับไว้แล้วว่าจะไม่ให้แอลพีจีราคาถูกในส่วนที่เป็นของภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งไปใช้อุตสาหกรรมได้” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณ 9,190.30 ล้านบาทเพื่อใช้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว โดยแบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. การสร้างอนาคตของชาติด้วยการพัฒนาคน เด็ก และเยาวชน 1,636.50 ล้านบาท 2. การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและขยายระบบสวัสดิการสังคม 5,447.80 ล้านบาท 3. การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเมืองและความไม่เท่าเทียมในสังคม 150 ล้านบาท 4. การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ 9 ของขวัญจากรัฐบาล 1,951 ล้านบาท
ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กล่าวว่า ได้เข้าชี้แจงข้อมูลต่อที่ ครม. เกี่ยวกับเรื่องแผนการลดเหตุอาชญากรรม ซึ่งเป็น 1 ใน 9 แผนงานในแผนปฏิรูปประเทศไทยของรัฐบาล โดย ครม. อนุมัติงบประมาณ 200 ล้านบาท ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ใช้ดำเนินการปราบปรามปัญหาอาชญากรรม โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักคือ 1.การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) เพิ่มเติมในพื้นที่ บช.น. เนื่องจากปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมได้ขยายวงออกไปหลายพื้นที่ จากปัจจุบันมีอยู่ 811 จุด จะเพิ่มอีก 510 จุด และ 2.บูรณาการการทำงานระดับ สน. โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีสถิติก่ออาชญากรรมในระดับสูงมากรวม 10 สน. ได้แก่ สน.โชคชัย สน.ลาดพร้าว สน.มีนบุรี สน.ทองหล่อ สน.วังทองหลาง สน.ห้วยขวาง สน.หัวหมาก สน.พหลโยธิน สน.ท่าขาม สน.บางขุนเทียน และพื้นที่ที่มีคดีอาชญากรรมในระดับสูงรวม 15 สน. ได้แก่ สน.ราษฎร์บูรณะ สน.คันนายาว สน.พระโขนง สน.ทุ่งสองห้อง สน.บางซื่อ สน.ประเวศ สน.คลองตัน สน.ตลิ่งชัน สน.ภาษีเจริญ สน.บางนา สน.พญาไท สน.โคกคราม สน.บางเขน สน.บางโพงพาง สน.บางชัน
“ทาง พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ตั้งเป้าหมายว่า ใน 10 สน. ที่มีคดีอาชญากรรมสูงมากต้องลดอาชญากรรมให้ได้ร้อยละ 15 ภายใน 3 เดือนและร้อยละ 30 ภายใน 6 เดือน ทั้งนี้จะมีการติดตามความคืบหน้าในการทำงานของทุก สน.เป็นประจำทุกสัปดาห์ และมีการประเมิณผลการทำงาน 3 เดือน/ครั้ง” พล.ต.ต.ปิยะกล่าว
ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า คณะทำงานด้านเศรษฐกิจของพรรคจะตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายปฏิรูปประเทศทั้ง 4 ด้าน โดยจะเกาะติดและนำรายละเอียดมารายงานประชาชน