“อำนาจจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น” ของขวัญปีใหม่ที่หายไป
ของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์มอบให้ประชาชนด้วยโครงการต่างๆในนามการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สิ่งที่ยังขาดหายไปคือ “อำนาจจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น” เพื่อให้ชาวบ้าน “ตกปลาเอง” มากกว่ารอรับ “ปลา” จากใคร
ของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2554 ที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มอบให้แก่ประชาชนได้แก่ การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจเพื่อความเท่าเทียม โดยโครงการโฉนดที่ดิน บ้านมั่นคง 500 ตำบล 500 ครัวเรือน, การปฏิรูปสวัสดิการตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ปี ได้กินนมแม่ อาหารเสริม คลินิกตั้งครรภ์ ตั้งศูนย์เด็กเล็กให้ทั่วถึง ดูแลเด็กในสถานที่ก่อสร้าง ให้เด็กและเยาวชน 1.7 ล้านคนได้รับการศึกษา เด็กพิการ เรียนร่วมเด็กปกติจังหวัดละ 1 แห่ง เยาวชนมีทักษะอาชีพ คนวัยแรงงานแก้หนี้นอกระบบ จัดสวัสดิการและความมั่นคง, จัดตั้งศูนย์ติดตามยาเสพติดและคอรัปชั่น และมีกระบวนการยุติธรรมชุมชนลดข้อพิพาท
นโยบายเหล่านี้เป็นอำนาจที่รัฐบาลส่วนกลางนำไปกำหนดสิ่งที่จะต้องทำ
อำนาจรัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องที่และส่วนท้องถิ่น ล้วนเป็นการปกครองที่ถูกครอบงำจากนักการเมือง นายทุนและข้าราชการโดยไม่อาจตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุม ทำให้ประชาชนยากจน มีหนี้สินจำนวนมากทรัพยากรเสื่อมโทรม
วิธีการบริหารจัดการการพัฒนาแบบรวมศูนย์ทั้งเชิงอำนาจและงบประมาณ การกำหนดนโยบาย มาตรการ กฎระเบียบและกลไก ไม่เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่น
ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม ไม่เป็นธรรม ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงไม่เอื้อต่อการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อันเป็นกระบวนการสร้างและเสนอนโยบายสาธารณะ ได้จัดเวทีเมื่อวันที่ 15-17 ธันวาคม 2553 ได้ให้ความเห็นชอบร่างมติพื้นที่จัดการตนเอง อันหมายถึง การที่ประชาชนในชุมชนท้องถิ่นสามารถตัดสินใจกำหนดทิศทางการพัฒนา การบริหารจัดการชุมชนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานและภาคีอื่นๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้
ร่างมติที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) อันมีนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นประธาน จะได้นำร่างมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) และจัดทำแนวทางให้ชัดเจนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการสู่การปฏิบัติไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญๆ มีดังนี้คือ การตั้งคณะกรรมการสนับสนุนพื้นที่จัดการตนเองเพื่อสังคมสุขภาวะโดยให้มีผู้แทนชุมนุมท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 เป็นกรรมการ มีหน้าที่พัฒนากลไกการจัดการตนเองและพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่นให้จัดการตนเองในทุกระดับ
มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่มีแผน โครงการ โดยได้รับการสนับสนุนยิงตรงจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปที่ชุมชนท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณ ที่ดำเนินการด้านสุขภาวะ (สุขภาพร่างกาย จิตใจ สังคมและปัญญา) ในแต่ละพื้นที่
ชุมชนท้องถิ่น คือ หน่วยที่เล็กที่สุดที่ใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่ ที่ผ่านมาต้องใช้อำนาจผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต.นายกเทศมนตรี นายก อบจ. นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี การปรับสมดุลแห่งอำนาจโดยให้กลุ่ม/องค์กร ที่รวมตัวกันวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ แนวทาง วิธีการแก้ไขปัญหาและการพัฒนา โดยตัดสินใจชะตาชีวิตชุมชนด้วยตนเอง ทั้งนี้ อำนาจต่างๆ เข้าไปเอื้ออำนวยอำนาจและยิงตรงงบประมาณ จะเป็นการสร้างสรรค์การเมืองการปกครองและลดความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมได้อย่างยั่งยืน
ของขวัญปี พ.ศ.2554 ที่รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ควรให้นโยบายเพิ่มแก่ประชาชน คือ อำนาจการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น โดยจัดทำแผน โครงการและยิงตรงงบประมาณการบริหารไปที่กลไกใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด.
ภาพประกอบจาก http://www.hsri.or.th/th/whatnews/detail.php?id=81&key=activity