"ว.ชุมชน" จุดเปลี่ยน "ชุมชน-สังคมไทย"
หากใครได้รู้จักวิทยาลัยชุมชน (วชช.) จะต้องเปลี่ยนความคิดจากสถานศึกษาทั่วไปที่ไม่ติดดิน เพราะที่นี่มุ่งนำความรู้เข้าสู่ชุมชนฐานราก ต่อยอดการพัฒนาท้องถิ่น
หลายปีที่ผ่านมา วิทยาลัยชุมชนได้นำองค์ความรู้เข้าสู่ชุมชน จนก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนของชุมชนในสังคมไทยขึ้นอย่างชัดเจน!
บริบทหน้าที่ของวิทยาลัยชุมชนดังกล่าวนี้ คงไม่มีใครที่จะบรรยายได้เห็นภาพดีไปกว่าผู้ที่ได้เข้าไปสัมผัสหรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยชุมชน อย่าง นายมูหามะสุกรี มะสะนิง ศิษย์เก่าวิทยาลัยชุมชนปัตตานี ผู้นำชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนบ้านตันหยงเปาว์ จ.ปัตตานี
"มูหามะสุกรี" เล่าให้ฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังเข้ามาสมัครเป็นนักศึกษาของ วชช.ปัตตานีว่า ตนเองเรียนจบการศึกษาชั้น ม.3 จากนั้นก็ออกมาประกอบอาชีพทำประมงพื้นบ้านตามพ่อแม่ ไม่ได้เห็นความสำคัญของการศึกษาต่อว่า จะสามารถตอบสนองความต้องการของตนเองและชุมชนได้ ซึ่ง "มูหามะสุกรี"ยอมรับว่า นี่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
"แต่สิ่งที่ทำให้ผมหันกลับเข้าสู่กระบวนการเรียนอีกครั้ง เนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2543 ทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติเริ่มเสื่อมโทรม ทำให้อาชีพประมงพื้นบ้านที่ทำอยู่ได้รับผลกระทบ จึงเกิดการรวมตัวกันของคนในชุมชน ในนามสมาคมประมงพื้นบ้านปัตตานี เพื่อต่อสู้เรียกร้องในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งนอกจากการรวมตัวกันแล้ว ผมมองว่าการศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ต่อสู้ เพื่อเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่การเรียนนั้นจะต้องเป็นการเรียนที่สามารถนำความรู้กลับมาตอบสนองความต้องการของผมและชุมชนได้ ดังนั้นผมจึงได้สมัครเข้าเรียนที่วิทยาลัยชุมชนปัตตานีในสาขาการปกครองท้องถิ่น เมื่อเข้ามาเรียนแล้วผมพบว่า วิทยาลัยชุมชนปัตตานีตอบโจทย์ของผมและชุมชนได้เพราะมีจุดเด่นในเรื่องการผสมผสานของผู้เรียนที่ต่างทั้งวัยวุฒิ และสถานภาพทางสังคม ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทัศนคติ เกิดกระบวนการคิดใหม่ๆ อาจารย์ผู้สอนก็มีความหลากหลาย เช่น ทนายความ นักธุรกิจตำรวจ นอกจากจะสอนวิชาการแล้วยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ซึ่งจุดนี้ทำให้สามารถนำความจริงที่เกิดขึ้นมาผนวกรวมกับวิชาการนำไปปรับใช้ในชุมชนของผมได้"
"มูหามะสุกรี" บอกด้วยว่านอกจากการเรียนในห้องเรียนแล้ว วชช.ยังมีบทบาทในการช่วยเหลือชุมชนของตนเองด้วย โดยหลังจากที่ตนสำเร็จการศึกษาแล้ว และยังพบปัญหาในการประกอบอาชีพ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาและสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับคนในหมู่บ้านตันหยงเปาว์ โดยตนเองต้องการให้มีการจัดการองค์ความรู้ภายในชุมชน ซึ่งจุดเด่นของชุมชนนี้ คืออาชีพประมงพื้นบ้าน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปูทะเลนานาพันธุ์ เช่น ปูดำ ปูขาว ปูเขียว ปูทองแดง เป็นต้น ซึ่งปูเหล่านี้ขายได้เพียงกิโลกรัมละ 30-50 บาทเท่านั้น แต่หากจะเพิ่มมูลค่าต้องทำเป็นปูนิ่ม ซึ่งชาวชุมชนตันหยงเปาว์ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้
"ทาง วชช.ปัตตานีจึงได้ช่วยประสานไปที่วิทยาลัยชุมชนตราด ในการหาแหล่งเรียนรู้เรื่องนี้ให้กับชาวชุมชนเรา ซึ่งจากความช่วยเหลือของ วชช.ปัตตานีในครั้งนั้นทำให้ปัจจุบันชาวชุมชนตันหยงเปาว์เกิดองค์ความรู้ใหม่ สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มาสร้างเป็นอาชีพใหม่ จากอดีตที่เคยขายปูได้ในราคาต่ำ แต่ทุกวันนี้สามารถจำหน่ายปูนิ่มได้กิโลกรัมละ 230 บาท ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนตันหยงเปาว์ดีขึ้น"
ไม่เฉพาะแต่ "มูหามะสุกรี" เท่านั้น ที่สัมผัสและได้รับสิ่งดีๆ จากวิทยาลัยชุมชน!
นายบุญหล่อ หล่ออริยวัฒน์ ศิษย์เก่าวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนผู้นำหมู่บ้านสันติชน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ก็ได้เล่าถึงประสบการณ์ในวิทยาลัยชุมชนด้วยความภาคภูมิใจว่า ตนเองได้เข้าเรียนใน วชช.เพราะไม่อยากให้คนภายนอกมองว่าชาวจีนยูนนานเป็นพวกค้ายาเสพติด เพราะพื้นที่บริเวณนี้ในอดีตเป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งคนในหมู่บ้านทุกคนก็อยากแก้ปัญหายาเสพติดที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีผู้สนับสนุนที่ดี ดังนั้น เมื่อวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอนเข้าไปเปิดการเรียนการสอนในอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน ผมในฐานะผู้นำชุมชนจึงได้สมัครเข้าเรียนทันที โดยหวังจะนำความรู้มาพัฒนาหมู่บ้าน
"การที่วิทยาลัยชุมชนมีจุดเด่นในเรื่องความหลากหลายของผู้เรียน ที่มีทั้งทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อเข้าไปเรียนแล้วทำให้เกิดความไว้ใจซึ่งกันและกัน จนทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในการแก้ปัญหายาเสพติดของหมู่บ้านสันติชน ที่ผ่านมาผมเป็นเพียงผู้นำหมู่บ้าน จะแก้ไขเพียงคนเดียวเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การได้รับการสนับสนุนที่ดี จากภาครัฐ ทำให้ปัญหายาเสพติดหมดไปจากหมู่บ้านสันติชน"
"บุญหล่อ" เล่าต่อว่า หลังจากที่ปัญหาดังกล่าวหมดไป ขั้นต่อไปคือการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ซึ่งในจุดนี้ตนเองได้นำความรู้ที่เรียนมาจาก วชช.มาปรับใช้ เช่น หลักวิชาภาวะผู้นำ กลยุทธ์การทำงานร่วมกัน โดยตนเองได้ระดมความคิดของคนในชุมชนร่วมกันสร้างศูนย์วัฒนธรรมจีนยูนนาน และจัดกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับสมาชิกในชุมชน อย่างการจัดตั้งกลุ่มเลี้ยงไก่ดำ กลุ่มแปรรูปอาหาร กลุ่มผักปลอดสารพิษ จนสามารถพัฒนาชุมชนขึ้นมาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
"ในช่วงแรกคนในหมู่บ้านเห็นด้วยกับการทำงานของผมน้อยมากแต่จากผลพวงของความพยายามในครั้งนั้น ทำให้ปัจจุบันหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจีนยูนนาน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชากร 192 ครอบครัวมีรายได้จากนักท่องเที่ยว โดยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 ที่ผ่านมา มีการเตรียมขาหมูสำหรับประกอบอาหารเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกว่า 6 พันขา ร้านอาหารจีนยูนนานทำรายได้เพียงวันเดียวกว่า 300,000 บาท นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของความสามัคคีของชาวบ้านในหมู่บ้านสันติชน ซึ่ง วชช.ถือเป็นกลไกสำคัญ ถ้าไม่มีวิทยาลัยชุมชนในวันนั้น ก็ไม่มีผู้นำอย่างผม ไม่มีหมู่บ้านสันติชนอย่างเช่นทุกวันนี้ ที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่สีขาวปลอดยาเสพติด"
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางเสี้ยวบางตอนของผู้ที่ได้เข้ามาสัมผัสชีวิตการเรียนกับวิทยาลัยชุมชน จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสังคมภายในชุมชนให้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดรับกับทิศทางที่ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานสภาวิทยาลัยชุมชน ได้กำหนดกรอบการทำงานของวิทยาลัยชุมชนเอาไว้ว่า
"หน้าที่ของ วชช. คือการดึงกลุ่มคนทำงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาให้กลับเข้ามาเรียน เพื่อนำความรู้ไปพัฒนาศักยภาพด้านอาชีพและชุมชน และที่สำคัญการจัดการเรียนการสอนของ วชช.จะต้องเป็นการสอนที่มุ่งตอบสนองความต้องการของชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งด้วยตัวของเขาเอง"