กรมธรณีฯ อ้างผลวิจัย สยบข่าวลือสึนามิถล่มใต้ “เกิดขึ้นยาก”
จากข่าวลือจะเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ทำให้ชาวบ้านหลายจังหวัดในพื้นที่ตกอยู่ในภาวะตื่นกลัวจะเกิดโศกนาฏกรรมซ้ำรอย ล่าสุดกรมทรัพกรธรณียืนยันว่าเกิดขึ้นได้ยาก
ชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดยังคงอยู่ในภาวะตื่นกลัวภัยพิบัติ “สึนามิ” หลายคนถึงขั้นซื้ออาหารกักตุน บางคนเตรียมขายบ้านเพื่อหาสถานที่ปลอดภัยอย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวได้รับการยืนยันจากกรมทรัพยากรธรณีและนักวิชาการอีกมุมหนึ่งว่าเกิดขึ้นได้ยาก
ทีมนักวิชาการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ประกอบด้วย นางพรทิพย์ ปิ่นเจริญ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายอดิชาติ สุรินทร์คำ ผู้ตรวจราชการกรมทรัพยากรธรณี นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัยร่วมกันยืนยันโอกาสเกิดสึนามิ
นางพรทิพย์ ระบุว่า จากข่าวลือที่กล่าวถึงการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในทะเลฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยมีลักษณะของน้ำกระโจนเข้าชายฝั่งทั้งสองด้านพร้อมกันตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนถึงตี 2 ของวันที่ 30ธ.ค.นี้ ทางกรมทรัพยากรธรณี ยืนยันว่าโดยทางทฤษฏีไม่สามารถเป็นไปได้อย่างแน่นอน เพราะสาเหตุของแผ่นดินไหวและส่งผลให้เกิดสึนามิต้องมาจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกขนาดใหญ่ เช่น กรณีวันที่ 26 ธ.ค. 2547 มีแผ่นดินไหวในทะเลขนาด 9.2 ริกเตอร์ และเกิดบริเวณรอยต่อแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นที่มุดเข้าหากัน ประกอบกับแรงผลักของมวลน้ำที่เคลื่อนเข้าหาฝั่งมีความแรงและเร็ว เพราะผิวท้องทะเลทางฝั่งอันดามันมีระดับความลึกมาก จึงทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ ขณะที่จากการศึกษาพบว่าแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวในทะเลที่จะสามารถก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิมี 4 บริเวณ คือ 1. ตอนเหนือของหมู่เกาะนิโคบาร์ 2. บริเวณหมู่เกาะอันดามัน 3. บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะสุมาตรา และ 4. ทิศตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ (ทะเลจีนใต้) ซึ่งจุดนี้ถ้าเกิดแผ่นดินไหวก็จะมีคลื่นสึนามิเข้ามาทางอ่าวไทยตามที่มีการระบุไว้จริง
จากการทดลองศึกษา และทำแบบจำลองการเกิดสึนามิในบริเวณอ่าวไทย โดยสมมติเหตุการณ์เกิดแผ่นดินไหว พบว่าจากการจำลองความรุนแรงที่ระดับ 8.5 ริกเตอร์ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ฝั่งทะเลจีนใต้ หรือทางตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์คลื่นยักษ์จะเดินทางเข้ากระทบฝั่งบริเวณภาคใต้ จ.นราธิวาส ใช้เวลา 9 ชั่วโมง และใช้เวลา 16 ชั่วโมง ถึงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา
หากจุดศูนย์กลางขนาด 8.0 ริกเตอร์อยู่บริเวณตอนเหนือของหมู่เกาะนิโคบาร์ หมู่เกาะอันดามัน ประเทศอินเดีย จะเข้ากระทบฝั่งทะเลอันดามัน ประมาณ 2 ชั่วโมง ที่บริเวณที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งทุ่นเตือนภัยสึนามิ 3 จุด ในมหาสมุทรอินเดียและอันดามันจึงสมารถเตือนภัยได้ทันที
ขณะที่ นายอดิชาติ สุรินทร์คำ กล่าวว่า จากข้อมูลทางวิชาการ พบว่าในช่วง 20 ปีที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และส่งผลให้เกิดสึนามิ มีเพียง 5 ครั้ง คือ เหตุการณ์วันที่ 26 ธ.ค. 2547 เหตุการณ์วันที่ 26 มี.ค. 2548 เหตุการณ์ 26 ก.ย. 2550 เหตุการณ์ 27 ก.ย. 2553 และล่าสุด 26 ต.ค. 2553 ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวบริเวณเขตรอยต่อแผ่นเปลือกโลกในทะเลทั้งสิ้น
ข้อมูลดังกล่าวตรงกับตำราธรณีวิทยาที่ศึกษามาเป็น 100 ปีว่าปรากฏการณ์แผ่นดินไหวเกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานหรือการศึกษาใดที่จะบ่งชี้ว่าแผ่นดินไหวมีสาเหตุจากปัจจัยนอกโลกโดยเฉพาะที่กล่าวอ้างกันว่าเกิดจากรังสีคอสมิก ไม่สัมพันธ์กับการเรียงตัวของดวงดาวต่างๆ อย่างแน่นอน
ส่วนแผ่นดินไหวบนบกขนาดใหญ่ในไทยนั้นทางกรมทรัพยากรธรณีเพิ่งศึกษาวิจัยแล้วเสร็จพบว่าพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ครอบคลุมพื้นที่ 147 อำเภอใน 20 จังหวัดภาคกลาง รวมทั้ง กทม.มีโอกาสได้รับผลกระทบอย่างหนัก หากเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทย ที่มีระดับความแรงขนาด 6.9 ริกเตอร์ขึ้นไป แต่ที่ผ่านมาแผ่นดินไหวบนบกของไทยสูงสุดที่ตรวจรับได้ มีขนาด 5.9 ริกเตอร์ ที่บริเวณรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2526 ขณะที่ในอดีตนานมากๆ บริเวณรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ก็เคยไหวสูงสุดที่ 6.9 ริกเตอร์มาแล้ว ดังนั้นความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวบนบกของไทย ขนาดใหญ่ที่สุดจะมีขนาดไม่เกิน 7 ริกเตอร์ อย่างไรก็ตาม แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ แผ่นดินไหวจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในพม่าที่มีแนวรอยเลื่อนสะกายและรอยเลื่อนน้ำมาของลาว พบว่ามีเมืองเสี่ยงทั้งสิ้น 147 อำเภอ ใน 20 จังหวัดที่จะได้รับความเสียหายจากรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี ถ้ามีการสั่นไหวในระดับ 6.9 ริกเตอร์ เนื่องจากที่ราบลุ่มภาคกลางเป็นชั้นดินหนา โดยเฉพาะ กทม. ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ มีอายุกว่า 200 ปี มีอาคารสิ่งก่อสร้างจำนวนมากสิ่งก่อสร้างเกือบทั้งหมดไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อต้านทางแผ่นดินไหว หากเกิดแผ่นดินไหวบ้านเรือนและอาคารเตี้ยใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ระยะทาง 100 กม. จะได้รับความเสียหายมากที่สุด
ส่วนพื้นที่ราบภาคกลางโดยเฉพาะอาคารสูงจะได้รับความเสียหายเพราะชั้นดินอ่อนของที่ราบภาคกลาง จะขยายความรุนแรงขึ้นอีก 3-4 เท่าตัวจากระดับปกติ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีแบ่งระดับความรุนแรง ดังนี้ โซนสีแดง 4 จังหวัดได้แก่ จ.สุพรรณบุรี อ. เมือง อ. อู่ทอง อ. บางปลาม้า อ. สองพี่น้อง จ.กาญจนบุรี อ. ท่ามะกา อ. เลาขวัญ อ. ท่าม่วง จ. นครปฐม อ. เมือง อ. บางเลน อ. ดอนตูม อ. กำแพงแสน จ.ราชบุรี อ. เมือง อ. บ้านโป่ง อ.บางแพ อ. วัดเพลง อ. โพธาราม อ.ปากท่อ อ. จอมบึง
ส่วนโซนสีเหลือง ได้แก่ กทม. เขตดอนเมือง หลักสี่ ลาดพร้าว บางกะปิ บึงกุ่ม วัดทองหลาง จตุจักร บางซื่อ ดุสิต บางพลัด พญาไท ห้วยขวาง ดินแดง พระโขนง คลองเตย ปทุมวัน บางรัก สาทร ยานนาวา ราษฎร์บูรณะ บางคอแหลม คลองสาน สายไหม บางแค พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย ภาษีเจริญ จอมทอง ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน หนองแขม บางนา ทุ่งครุ บางกอกใหญ่ บางบอน บางขุนเทียน สวนหลวง วัฒนา ราชเทวี บางกอกน้อย สัมพันธวงศ์ ประเวศ และพระโขนง จ.อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี
ส่วนโซนสีเขียว พื้นที่ กทม. เขตหนองจอก ประเวศ ลาดกระบัง มีนบุรี สะพานสูง บางกะปิ คันนายาว สายไหม คลองสามวา บางเขน และบึงกุ่ม อ่างทอง สิงห์บุรี นครนายก ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ และโซนสีฟ้า ได้แก่ปราจีนบุรี เป็นต้น อย่างไรก็ตามข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ต้องการสร้างความตื่นตระหนก แต่เป็นข้อมูลที่ส่งผ่านไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกแบบอาคารบ้านเรือน เพื่อรองรับแผ่นดินไหว ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้
ด้านนายพรพล ปั่นเจริญ ผู้แทนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ระบุว่า จากข้อมูลที่มีข่าวว่าจะมีสึนามิปลายปีนี้ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศเกินครึ่งย้ายหนีไปเที่ยวทางภาคอีสานและภาคเหนือ ทำให้ภาคใต้เริ่มซบเซาเรื่องการท่องเที่ยวอย่างมากในปีนี้จึงอยากให้มีการสร้างความเชื่อมั่นกับ ด้วยการให้ข้อมูลทางวิชาการผ่านเครือข่าย เฟซบุ๊ค และบล็อกเกอร์ เนื่องจากภาคใต้เตรียมงานฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าเริ่มต้นปีใหม่ในหลายจังหวัดเช่น ภูเก็ต สงขลา เป็นต้น
ส่วนกรณีน้ำท่วมกรุงเทพฯนั้น นายเสรี ศุภราฑิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อุทยาสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธรกล่าวว่า ทางอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทางธนาคารโลก ให้ศึกษาแบบจำลองผลกระทบภาวะน้ำท่วมและน้ำทะเลขึ้นสูงในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน และปริมณฑล หลังจากมีผลการศึกษาของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจแห่งสหภาพยุโรป ธนาคารโลก มูลนิธิเวิลด์วิชั่น และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) พบว่า กทม.เป็น 1 ใน 9 เมืองในทวีปเอเชียที่มีความเสี่ยงสูงที่น้ำทะเลจะเอ่อทะลักเข้าท่วมในเมือง โดยเมืองทั้ง 9 เมือง ที่มีความเสี่ยงดังกล่าว ประกอบด้วย เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง ประเทศจีน ดัคก้า บังกลาเทศ กัลกัตต้า มุมไบ ประเทศอินเดีย ย่างกุ้ง ประเทศพม่า ไฮฟอง โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และ กทม. ประเทศไทย
“จากการสร้างแบบจำลองขึ้นมาเปรียบเทียบกับปี 2538 ซึ่งเป็นปีที่ กทม.มีน้ำท่วมหนักที่สุด พบว่าหากปริมาณน้ำที่หนุนเข้ามาใน กทม. เกิน 4,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที บวกกับปัจจัย 4 อย่าง คือ ปริมาณน้ำฝนที่ตกเพิ่มขึ้นใน กทม. เพิ่มขึ้นถึง 5% แผ่นดินใน กทม. ทรุดตัวลงปีละ 4 มิลลิเมตร บวกกับระดับน้ำทะเล ฝั่งอ่าวไทยเพิ่มสูงขึ้น 1.3 ซม.ต่อปี และผังเมืองคือพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่สีเขียวลดลงไปมากกว่า 50% จาก 30 ปี ที่หายไปเปลี่ยนสภาพกลายเป็นหมู่บ้านจัดสรร และโรงงานอุตสาหกรรมไปหมดแล้ว ภายในไม่เกิน 10 ปีจากนี้ จะทำให้ กทม.ต้องเจอกับสภาพน้ำท่วมพื้นที่ชั้นในอย่างแน่นอน 100% ” นายเสรีระบุ
นักวิชาการรายนี้ยังบอกอีกว่าเมื่อน้ำทะฃักเข้ามาพื้นที่ที่อันตรายที่สุดคือพื้นที่ที่เป็นกระเพาะหมู คือ น้ำจะล้นคันกั้นน้ำเข้ามาใน กทม. ชั้นใน สภาพที่จะเจอคือน้ำจะท่วมพื้นที่คลองเตย ถ.บางนาตราด ฝั่งขาออก สวนหลวง ร.9 พื้นที่ลาดพร้าว วังทองหลางทั้งหมด รวมทั้งพื้นที่ฝั่งธนบุรี เป็นต้นมา รวมไปถึงบางขุนเทียน บางบอน แสมดำ บางแค ถนนพระราม 2 น้ำท่วมเกือบทั้งหมด โดยระดับน้ำจะลดหลั่นบริเวณพื้นที่ที่ติดชายฝั่งทะเลโดยน้ำจะท่วมขังอยู่ราว 2 เดือน โดยที่เครื่องสูบน้ำจะช่วยอะไรได้ไม่มากเพราะเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ ทำขึ้นมาเพื่อสูบน้ำฝนเท่านั้น
“ผมเข้าใจว่าเรื่องนี้อาจจะไม่แรงเท่าเรื่องการเมือง จึงไม่มีใครสนใจที่จะเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์มากนัก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องใกล้ตัว และสามารถป้องกันได้หากวางแผนจัดการอย่างรอบคอบ” นายเสรีกล่าว