รุมจวก “ประชาวิวัฒน์” ช่วยชาวบ้านไม่ยั่งยืน ผลักภาระให้คนทั้งชาติ
ผู้ว่าแบงก์ ชาติ – สว. วิพากษ์นโยบายมหาประชานิยมรัฐบาล ช่วยชาวบ้านลืมตาอ้าปากแค่ชั่วคราว ทำให้เสพติดความช่วยเหลือ เป็นภาระการคลังประเทศ หวั่นเงินเฟ้อกระฉูด - คนส่วนใหญ่แบกภาระ
ธปท. แนะทำประชาวิวัฒน์ ชั่วคราว
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ว่า ในระยะสั้น คาดว่าจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ในระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวคงต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วยว่าจะเป็นภาระต่อรัฐบาลมากน้อยเพียงใด เพราะถึงที่สุดแล้วอยากให้ประชาชนใช้ฃีวิตด้วยการพึ่งตัวเองได้ โดยไม่หวังการช่วยเหลือจากภาครัฐตลอดไป ทั้งนี้ หากพิจารณาโครงการประชาวิวัฒน์ ส่วนใหญ่ เป็นมาตรการชั่วคราว
“ธปท. กำลังดูว่าผลจากโครงการประชาวิวัฒน์จะส่งผลต่อการใช้จ่ายในประเทศมากน้อยเพียงใด แต่ในแง่ของฐานะทางการคลังกระทรวงคลังก็กำลังดูอยู่ และธปท. กำลังดูว่าจะมีแนวทางใดในการลดภาระทางการคลังในส่วนของภาระหนี้กองทุนเพ่อนการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกัน” นายประสาร กล่าว
นายประสารกล่าวว่า การต่ออายุมาตรการ ช่วยเหลือค่าครองชีพออกไปคาดจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อลงได้ 0.5% โดย ธปท.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2554 จะขยายตัว 2-3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะขยายตัว 3-5% ซึ่งได้รวมการปรับขึ้นค่าจ้างและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้นับรวมมาตรการหลายส่วนเข้าไปในประมาณการดังกล่าว โดยจะให้คณะทำงานเข้าไปศึกษาผลต่ออัตราเงินเฟ้อแล้วรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนมการาคมนี้ ทั้งนี้ กนง. จะรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อฟื้นฐานไม่ให้เกิน 3%
“การต่ออายุการตรึงราคาสินค้าออกไปก็เป็นเพียงชั่วคราว แต่ต้องติดตามว่า หากมีการยกเลิกการตรึงราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้ออาจจะกระโดดขึ้นมาก็ได้ คงต้องดูสถานการณ์อีกครั้ง” ผู้ว่า ธปท. ระบุ
กมธ.เศรษฐกิจชี้อย่าให้เสพติด
นายประสารกล่าวว่า เศรษฐกิจในปี 2554 แม้จะมีการขยายตัวลดลงจากปีนี้ จากภาคส่งออกที่ชะลอลง แต่คาดว่าจะมีอุปสงค์ในประเทศทั้งการลงทุนและการบริโภคในประเทศเข้ามาผลักดันการลงทุนและการบริโภคในประเทศเข้ามาผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้าให้ต่อเนื่องไปได้ เพราะข้อมูลในขฯนี้พบว่า การลงทุนและการบริโภคได้กลับมาขยายตัวในระดับที่สูงกว่าช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว
วันเดียวกัน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย นายพิชัย อุตมาภินันท์ สมาชิกวุฒิสภาและรองประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการเข้าพบนายประสาร เพื่อหารือถึงนโยบายการเงินและความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลว่า โดยรวมอัตราเงินเฟ้อ ธปท.คงสามารถดูแลได้ระดับหนึ่ง แต่การที่ภาครัฐมีมาตรการทั้งการปรับขึ้นค่าแรงและเงินเดือนราชการ จะต้องมีการติดตามเพื่อควบคุมการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตไม่ให้ใช้จ่ายเกินตัว
ผู้สื่อข่าวถามถึงความจำเป็นของนโยบายประชาวิวัฒน์ นายพิชัยกล่าวว่า มีความจำเป็นแต่ยังเป็นมาตราการที่เพียงช่วยทุเลาปัญหาแต่ไม่ได้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ยั่งยืนได้
“นโยบายประชาวิวัฒน์สามารถทำได้เพื่อให้ชาวบ้านสามารถลืมตาอ้าปากได้บ้างแต่อย่าให้เขาเสพติดจนเป็นภาระรัฐ ไม่รู้จักจบสิ้น เพราะเป็นห่วงฐานะทางการคลังเนื่องจากความสามารถในการหารายได้ยังไม่ชัดเจน ขฯที่มีรายจ่ายแต่ที่ชัดเจน ขณะที่มีรายจ่ายที่ชัดเจนจำนวนมาก” นายพิชัยกล่าว และว่า งบฯ รายจ่ายประจำที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลใช้จ่ายในด้านการศึกษาฟรี 15 ปี การประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเงินอุดหนุนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่รัฐบาลก็ควรจะทำให้ภาคเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบการเสียภาษีกว่า 50% เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
“บัณฑูร” เปรียบการตลาดทางการเมือง
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นโยบายประชาวิวัฒน์ของรัฐบาลเป็นนโยบายที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลในตัวของมันเอง จึงต้องมีการวัดผลว่านโยบายที่นำมาใช้นั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ และมีผลต่อประเทศด้านไหนบ้าง รวมทั้งจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ตามที่กล่าวไว้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม นโยบายประชานิยมเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นในทุกรัฐบาลการนำประชานิยมเข้ามาใช้ เป็นครรลองปกติของการเมืองอยู่แล้ว เป็นหมือนการตลาดทางการเมือง
“ประชานิยม เป็นนโยบายที่มีการใช้เงิน ดังนั้นต้องคำนึงถึงวินัยทางการคลังไม่ให้กระทบมากเกินไป รวมทั้งนโยบายทางการเงิน ต้องมีการประเมินด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา” นายบัณฑูร กล่าว
ครม.ต่อค่าไฟ – ขสมก. รถไฟฟรี
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติต่ออายุมาตราการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ได้แก่การใช้ไฟฟ้าฟรี ไม่เกิน 90 หน่วย รถเมล์และรถไฟชั้น 3 ฟรี ออกไปอีก 2 เดือน จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เพื่อให้สอดคล้องกับการตรึงราคาพลังงานที่จะสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันฑ์ รวมทั้งรัฐบาลจะประกาศให้การช่วยเหลือค่าครองชีพบางมาตรการเป็นการถาวร ตามแผนลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอในวันที่ 9 มกราคม 2554
“การขยายมาตราการช่วยค่าครองชีพครั้งนี้ใช้งบฯ 3,085 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 2,226 ล้านบาท การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 261 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 420 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 177 ล้านบาท จากนั้นอาจจะยกเลิกมาตรการดังกล่าว” นายกรณ์กล่าว
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า นายกรณ์ได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม. ว่า ค่าใช้จ่ายที่จะนำมาใช้ในการต่ออายุในช่วง 2 เดือนนั้นมาจากงบประมาณและเงินกู้บางส่วนแต่อาจใช้ไม่ถึงวงเงินที่ตั้งไว้ หากรัฐบาลประกาศมาตรการลดค่าครองชีพถาวร เพราะค่าไฟอาจจะไปอยู่ในรูปเงินอุดหนุนของรัฐวิสาหกิจที่ต้องแยกมาเป็นบัญชีเพื่อการบริการสังคม (พีเอสโอ) โดยที่ผ่านมา มีการใช้งบฯ ในมาตรการดังกล่าว รวมทั้งสิ้น 36,201.818 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าไฟฟ้า 22,624.09 ล้านบาท รถเมล์ 4,242.44 ล้านบาท รถไฟชั้นสาม 1,676.87 ล้านบาท และค่าน้ำประปา 7,658.418 ล้านบาท
แถลง 2 ปี รัฐบาล 24 ธ.ค.
ด้านนาย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแถลงนโยบายครบรอบ 2 ปี รัฐบาลในวันที่ 24 ธันวาคม เวลา 17.00 น. ที่ทำเรียบรัฐบาลว่า เนื้อหาจะครอบคลุมงานที่รัฐบาลดำเนินการในช่วง 2 ปี ซึ่งจะเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างก่อนและหลังจากรัฐบาลเข้ามาบริหารงาน ซึ่งตัวเลขที่ยืนยันชัดเจน อย่างนโยบายประกันรายได้เกษตรกร 2 ปี มีคนได้ประโยชน์มากกว่า 3.2 ล้านคน และจะพูดถึงงานที่รัฐบาลต้องทำในปี 2554 พร้อมทำแผนปฎิบัติการปฏิรูปประเทศไทย เตรียมให้นายกฯ แถลงเป็น “พิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน
ที่พรรคเพื่อไทยมีการประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อจัดทำนโยบายของพรรคเพื่อไทย มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมกับแกนนำพรรค และอดีตกรรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน อาทิ นายสุธรรม แสงประทุม นายวราเทพ รัตนากร นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รวมทั้งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าร่วมประชุมด้วย
พท.เข็นประชานิยมชน รบ.
นายสุชาติ ธาดารงเวช หัวหน้าคณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวในที่สัมมนาว่าจากการคุยกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้จัดทำเป็นกรอบนโยบายเพื่อการปราศรัยหาเสียงว่า พรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน ยึดการปรองดอง ให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ ให้อภัยซึ่งกันและกัน โดยนำ พ.ต.ท.ทักษิฯ กลับมาแก้ไขปัญหาหนี้สิน ล้างหนี้ประชาชน ล้างหนี้ประเทศ เนื่องจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์บริหารประเทศแบบสร้างหนี้ไปเรื่อยๆ สรุปว่าพรรคเพื่อไทยเดินหน้า “แก้หนี้ หารายได้ ขยายโอกาส ให้มีเงินเก็บ”
นายสุชาติกล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจ 1.ให้พักหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาทให้ 5 ปี โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้เพื่อให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก 2.เพิ่มค่าแรงขึ้นค่ำเป็น 300 บาท ต่อวัน 3.เพิ่มเงินเดือนให้คนจบปริญญาตรีสาขาทั่วไปเริ่มเข้างาน 15,000 บาท 4.ปรับราคาสินค้าเกษตรทุกตัว ข้าวเปลือกเจ้าใช้ระบบจำนวนเกวียนละ 15,000 บาท โดยให้ราคาสินค้าเกษตรผูกกับราคาน้ำมันในตลาดโลก 5.ตั้งกองทุนตั้งตัวได้ 6.พัฒนากองทุนหมู่บ้านเป็นธนาคารหมู่บ้าน 7.พัฒนาเกษตรกรให้รู้จักใช้เครื่องจักรกลมากขึ้น 8.ตั้งธนาคารเครื่องจักรกลการเกษตรประจำตำบล 9.ให้เกษตรมีเครดิตการ์ดเพื่อเอาวงเงินไปใช้ซื้อปัจจัยการผลิต 10.เน้นการแปรรูปสินค้าเกษตรที่ออกผลผลิตมาพร้อมๆ กัน
จากนั้นนายสุชาติแถลงว่า ได้เสนอนโยบาย 3 หก (เดือน) โดย 6 เดือนแรก เป็นการลดรายจ่ายคือพักหนี้ อีก 6 เดือนถัดมาจะเป็นนโยบายเพิ่มรายได้ เช่นเกษตรกรเศรษฐี บินก่อนผ่อนที่หลัง สำหรับผู้เดินทางไปทำงานต่างประเทศ และ 6 เดือนที่สามจะเป็นนโยบายขยายโอกาส เช่นโครงการเอสเอ็มแอล 5-7-9 แสนบาท โครงการ 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมเกษตร โครงการกองทุนตั้งตัวได้ แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา (พลังครู) รวมทั้งได้เสนอนโยบายเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเป็นที่น่าสังเกตุว่าในการสัมมนาหรือแถลงข่าวนโยบายของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ไม่มีการพูดถึงวงเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้จ่าย
ภาพประกอบจาก :http://www.bangkokbusclub.com/forums/index.php?topic=735.15 , http://www.chaoprayanews.com/