ราคาสินค้าเกษตรปี 54 แนวโน้มพุ่งแรง
ราคาสินค้าเกษตรปี 2554 แนวโน้มพุ่งแรง เหตุความต้องการอาหารเพิ่ม แรงซื้อจากการขยายเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ 'จีน-อินเดีย' ผู้ส่งออกระบุ "บาทแข็ง" ไม่กระทบ เหตุไทยเป็นผู้เล่นรายใหญ่ ยกเว้น "ข้าว" ยังเสียเปรียบเวียดนามเรื่องค่าเงิน แต่ราคาทรงตัวในระดับสูง ขณะที่ "ยางพารา" ราคาดี ความต้องการตลาดโลกเพิ่มจากอุตฯ ยานยนต์ ด้าน "น้ำตาล" ยังผันผวนจากนักเก็งกำไร ส่วน "ไก่-กุ้ง" ไร้ปัญหาเชื่อว่าราคาดีแน่นอน
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่าในปี 2544 คาดว่าการผลิตสินค้าเกษตรในภาพรวมจะดีขึ้น เนื่องจากกรณีน้ำท่วมหนักช่วงปลายปี 2553 ทำให้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาณเต็มพอที่จะรองรับการเพาะปลูกได้ทั้งปี ขณะที่ประเทศผู้ผลิตสินค้าอื่นยังไม่ฟื้นตัวจากภัยธรรมชาติซึ่งคาดว่าปริมาณ ความต้องการอาหารโลกในปี 2554 จะขยายตัวเพิ่มส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยอยู่ในระดับสูง
“ปีนี้มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร เช่น ภัยแล้งในช่วงต้นปีเกิดโรคระบาดในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ทั้งข้าวและมันสำปะหลัง จนช่วงปลายปีเกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมทำให้ผลผลิตลดลง ขณะที่เงินบาทเริ่มแข็งค่าในไตรมาส 3 ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอกากรส่งออกสินค้าเกษตรบางชนิด ปัจจัยเหล่านี้กระทบต่อภาคเกษตร คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคเกษตร (จีดีพี) ปี 2553 จะไม่ขยายตัว จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3%”
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ตามรายการสินค้าในส่วนของข้าว คาดว่าราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ ในปี 2554 จะยังอยู่ในเกณฑ์สูงเนื่องจากความต้องการใช้ข้าวของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าปริมาณผลิต ส่งผลให้สต็อกข้าวของโลกลดลง อีกทั้ง อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและผลิตข้าวลดลง จึงยังคงมาตรการห้ามส่งออกข้าว
สถานการณ์ข้าวโดยรวมในปีนี้ จะมีผลผลิตราว 31.1 ล้านตันข้าวเปลือก แยกเป็นข้าวนาปี คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาด 22.01 ล้านตันข้าวเปลือก ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มีผลผลิตผลผลิตรวม 23.25 ล้านตันข้าวเปลือก เนื่องจากพื้นที่ปลูกในปี 2553/2554 มี 57.04 ล้านไร่ ลดจาก 57.50 ล้านไร่ในปีก่อน เนื่องจากเกิดภัยแล้งในช่วงต้นฤดูเพาะปลูก และเกิดน้ำท่วมขังช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ระหว่างการปลูกยังเกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
ส่วนข้าวนาปรัง คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดรวม 9.151 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มจาก 8.86 ล้านตันข้าวเปลือกในปีก่อน เนื่องจาก เกษตรกรมีมีความต้องการปลูกทดแทนข้าวนาปีที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ประกอบกับน้ำในเขื่อน มีมากเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกทำให้มีผลผลิตมากขึ้น
ผลผลิตมันสำปะหลังในปี 2554 คาดว่าจะใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2553 ที่ใช้ไปทั้งสิ้น 7.41 ล้านตัน ในส่วนของการผลิตเอทานอล และคาดว่าการส่งออกจะลดลงเล็กน้อย จากปี 2553 ที่ส่งออกได้ 6.87 ล้านตัน จากผลผลิตหัวมันที่ลดลง อีกทั้งปีนี้ส่งออกได้มากเนื่องจากโครงการรับจำนำในปี 2551/52 ที่รัฐบาลต้องการระบายสต็อก
ด้านผลผลิตคาดว่าในปี 2554 จะมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 6.9 ล้านไร่ ลดลงจาก 7.3 ล้านไรในปี 2553 เนื่องจากเกิดปัญหาภัยแล้ง การระบาดของเพลี้ยแป้งและมีปัญหาน้ำท่วมช่วงปลายปี ส่วนด้านราคา ในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ที่ขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.31 บาท เนื่องจากราคาในช่วงปลายปีได้ปรับขึ้นสูงมาก จากการขาดแคลนผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติทั้งในประเทศและประเทศผู้ผลิตอื่นประกอบกับเงินบาทแข็งค่าและไทยเป็นผู้ส่งออกหลัก จึงสามารถกำหนดราคาส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐให้สูงขึ้น เพื่อชดเชยอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นตาม
น้ำตาลเจอพิษค่าบาท-ยางพาราดี
อ้อยโรงงาน คาดว่าในปี 2553/2554 จะมีพื้นที่ปลูก 6.58 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่พื้นที่ปลูก 6.31 ล้านไร่ เนื่องจากราคาอ้อยอยู่ในเกณฑ์ดีและจูงใจให้มีการขยายพื้นที่ปลูก เกษตรกรบางพื้นที่หันมาปลูกอ้อยแทนมันสำปะหลังที่มีปัญหาเพลี้ยแป้ง แต่จากสภาพอากาศที่แล้งนานในช่วงต้นปี ทำให้ต้นอ้อยเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร แม้ช่วงหลังจะมีฝนตก ทำให้ภาพรวมผลผลิตคาดว่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาประมาณ 68.69 ล้านตัน และคาดว่าปริมาณน้ำตาล จะลดลงเหลือ 6.91 ล้านตัน จากปี 2552/2553 ที่มีปริมาณน้ำตาล 6.93 ล้านตัน
การส่งออกในรูปน้ำตาลในปี 2554 คาดว่าจะทำได้ 4.41 ล้านตัน ลดลงจากปี 2553 ที่ส่งออกได้ 4.66 ล้านตัน ลดลงจากปี 2553 ที่ส่งออกได้ 4.41 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตลดลงและถูกจัดสรรสำหรับโควตาในประเทศมากขึ้นขณะที่ราคาอ้อยที่คาดว่าเกษตรกรจะได้รับในปี 2553/54 ได้กำหนดไว้เพียงตันละ 945 บาท ลดลงจากปีก่อน ที่กำหนดไว้ถึงตันละ 1,094 บาทเนื่องจาก เงินบาทแข็งค่า แม้ว่าราคาน้ำตาลจะสูงขึ้นแต่ก็ไม่สามารถชดเชยการแข็งค่าของเงินบาท
ยางพาราคาดว่าในปี 2554 จะมีพื้นที่กรีดรวม 12.66 ล้านไร่ เนื่องจากมีพื้นที่กรีดและมีต้นยางพาราที่อยู่ในช่วงผลผลิตสูงเพิ่มขึ้นประกอบกับราคายางพารามีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรดูแลและบำรุงรักษาต้นยางอย่างดี โดยคาดว่าจะมีผลผลิต 3.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3.86% ปริมาณน้ำยางจะมีการใช้ในประเทศ 4.23 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4.7% ตามนโยบายการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น ในอุตสาหกรรมในประเทศหันมาลงทุนเพิ่มขึ้น ตามคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว
ราคายางในปี 2553 มีราคาสูงมากเกษตรกรขายได้เฉลี่ยถึงกิโลกรัมละ 100.4 บาท มีราคาส่งออกกิโลกรัมละ 113.81 บาท เนื่องจากความต้องการของโลกขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ผลผลิตยางของผู้ผลิตรายใหญ่อยู่ในภาวะตึงตัว คาดว่าในปี 2554 ราคายางจะเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของโลกอย่างต่อเนื่องและการส่งออกจะเพิ่มสูงขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับ ปี 2553 ที่ส่งออกได้ 2.7 ล้านตัน โดยตลาดใหญ่ยังเป็นจีน ส่วนอินเดีย-เกาหลีใต้นำเข้าตามภาวะเศรษฐกิจ
"ข้าว" ราคาทรงตัวมีภาวะผันผวน
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2554 ปริมาณ 8.5 - 9 ล้านตัน ส่วนปีนี้จะส่งออกได้ตามเป้าหมายคือ 8.5 ล้านตัน ด้านทิศทางราคาในปีหน้ามั่นใจว่าจะทรงตัวสูงแต่มีความผันผวนมาก จึงต้องเน้นการบริหารจัดการอย่างเปมาะสมเพราะสินค้าข้าว ถือเป็นสินค้าการเมือง เช่น รัฐกำหนดขายข้าวก็จะมีเสียงวิจารณ์ต่างๆ เช่นเดียวกันหากรัฐไม่ขายข้าวก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันดังนั้นแนวทางการทำงานต้องหนักแน่น เพราะตระหนักว่าราคาข้าวโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“ที่เชื่อว่าราคาข้าวปีหน้าจะทรงตัวในรับสูง ดูจากปัจจัยภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ผลผลิตลดลง ส่วนความต้องการก็เพิ่มขึ้นอย่างไรก็ตาม ราคาข้าวดีชาวนาได้ประโยชน์แต่ในด้านผู้บริโภคก็ต้องดูแล เรามีสต็อกข้าวสำรองไว้ในประเทศจำนวนหนึ่งถ้าจำเป็นประชาชนได้รับผลกระทบจากราคาข้าวรัฐบาลพร้อมเข้าไปดูแลทันที” นางพรทิวากล่าว
ด้านนางสาวกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวปี 2551 เป็นปีที่ราคาข้าวพุ่งขึ้นสูงสุดและปีเดียวกันนี้เป็นปีเดียวกับที่ราคาต่ำสุดเช่นเดียวกับปี 2553 ที่เมื่อต้นปีราคาข้าวขึ้นสูงแต่เมื่อกลางและปลายปีราคาปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นลักษณะการค้าข้าวโลก แต่คาดว่าปี 2554 ทิศทางราคาข้าวน่าจะใกล้เคียงกับปี 2553 เฉลี่ยไม่ต่ำว่าตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 1 แต่ในช่วงไตรมาสต่อไปยังประเมินยาก
ยางพาราขาขึ้นจากตลาดจีน – อินเดีย
นายหลักชัย กิตติพล นายกสมาคมยางพาราไทย กล่าวว่าเศรษฐกิจของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการยางเพิ่มขึ้นตามไปด้วยและส่งผลต่อราคายางพาราในประเทศ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในปีนี้ราคายางเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท คาดว่าราคาและความต้องการจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการโลกที่เพิ่มขึ้นทั้งจากอินเดียและจีน
“ราคาคงลดไม่มากนัก เนื่องจากความตอ้งการของคลาดยังมีอยู่ ในขณะที่สถานกาณณ์ราคาน้ำมันดิบ คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคายางพารา เฉลี่ยในปี 2554 คาดว่าน่าจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท เป็นระดับที่อยู่ได้ทั้งเกษตรกรผู้ส่งออกและผู้ประกอบการ”
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการผู้จัดการบริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด ประเมินว่าจากความต้องการในคลาดโลกยังสูงแต่ผลผลิตของไทยไม่น่าจะเพิ่มขึ้นจากปีนี้มากนัก โดยประเมินว่าอยู่ที่ 3.2 ล้านตัน ดังนั้นน่าจะทำให้ราคาส่งออกในปีหน้าปรับสูงขึ้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 4.00- 4.50 ดอลลาร์ จากปีนี้ที่เฉลี่ยอยู่ระดับ 3.00 – 3.50 ดอลลาร์
“ราคาที่เพิ่มขึ้นนี้จะไม่มีผลต่อผู้ประกอบการยางรถยนต์ แม้ว่าจะมีการบ่นและขู่จะชะลอการสั่งซื้อบ้าง แต่ความต้องการที่ฉุดไม่อยู่ผู้ประกอบการเหล่านี้จะกว้านซื้อเพิ่มขึ้นในปีหน้า”
ราคาน้ำตาลสูงแต่ผันผวน
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกในปี 2554 จะอยู่ที่ 167 ล้านตัน แต่จะผลิตน้ำตาลได้เกินความต้องการ 32 ล้านตัน เรพาะราคาน้ำตาลที่มีราคาสูงต่อเนื่องส่งผลให้มีการเพิ่มผลผลิตอ้อยให้หลายประเทศ แต่ราคาในคลาดโลกยังมีความผันผวนเพราะกองทุนเฮดจ์ฟันด์จะเข้ามาเก็งกำไรราคาน้ำตาลล่วงหน้า
ทั้งนี้ สอน. คาดว่า ปริมาณอ้อยในฤดูกาล ผลิต 2553/2554 จะอยู่ที่ 65.6 ล้านตัน ลดลงจากฤดูกาลที่แล้วที่มีปริมาณ 68.4 ล้านตัน และคาดว่าจะผลิตน้ำตาลได้ 6.91 ล้านตัน ลดลงจากฤดูกาลที่แล้วที่ผลิตได้ 6.93 ล้านตัน และคาดว่าปี 2554 จะส่งออกน้ำตาลได้ 4.41 ล้านตัน ลดลงจากปีนี้ที่ส่งออกได้ 4.37 ล้านตัน เพราะปีหน้ากำหนดน้ำตาลโควตา ก.เพื่อบริโภคในประเทศไว้ที่ 25 ล้านกระสอบ สูงกว่าปีนี้ที่กำหนดไว้ 22 ล้านกระสอบ
“ราคาน้ำตาลตลาดโลกในปีหน้ายังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ปัญหาเงินบาทแข็งค่าส่งผลให้รายได้จากการส่งออกลดลง เชื่อว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลใหม่ไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท ซึ่งเงินบาทแข็งค่าทำให้ชาวไร่อ้อยต้องเสียรายได้ประมาณ 3,900 บาท”
ลุ้นอียูตรวจผ่านดันส่งออกไก่สดแช่แข็ง
นายอนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่าผู้ส่งออกสินค้าไก่มีแนวโน้มที่ต้องรับซื้อวัตถุดิบไก่ในราคาที่สูงขึ้น โดยราคาไก่เป็นเฉลี่ยปี 2553 อยู่ที่กิโลกรัมละ 35-42 บาท และคาดว่าในปี 2554 จะอยู่ที่ 40-45 บาท ซึ่งเชื่อว่าเกษตรกรน่าจะพอใจเพราะต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 37-38 บาท และราคาไก่ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมีสาเหตุมาจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวโพดและราคาส่งออกสินค้าไก่ปรุงสุกปีนี้อยู่ที่ตันละ 4,000 – 4,500 ดอลลาร์ และสินค้าปรุงสุกบางรายการมีราคาสูงถึงตันละ 5,000 ดอลลาร์ โดยในปีหน้าคาดว่าราคาสินค้าไก่ปรุงสุกน่าจะเพิ่มขึ้นตันละ 300- 500 ดอลลาร์
ทั้งนี้ ในปีหน้าสหภาพยุโรป (อียู) จะมาตรวจสอบการควบคุมโรคระบาดไก่ในไทย ซึ่งหากอียูพอใจมาตรฐานการควบคุมโรคของไทย เชื่อว่าจะทำให้ไทยส่งออกไก่สดแช่แข็งไปยุโรปและจำนำเข้าไก่สดแช่แข็งไปยุโรปและจะนำเข้าไก่สดแช่แข็งของไทยอีกครั้งหลังจากที่อียูมีประกาศห้ามน้ำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทยถึงปี 2555 โดยจะทำให้ความต้องการสินค้าไก่ของไทย ในคลาดอียูเพิ่มมากขึ้น
เช่นเดียวกับนางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปภัมภ์ ที่เห็นว่าปี 2554 จะเป็นโอกาสส่งออกไก่ของไทย เนื่องจากอียิปต์และอียูจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบโรงงานไก่ของไทย เพื่อพิจารณาให้ส่งออกไก่สดแช่แข็ง ซึ่งหากผ่านการตรวจสอบ จะส่งผลให้การส่งออกไก่ของไทยเพิ่มมากขึ้น
ราคากุ้งแนวโน้มดีตามตลาดโลก
นายสมศักดิ์ ปณีตธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ราคากุ้งในปี 2554 มีแนวโน้มดีต่อเนื่องจากปี 2553 โดยราคากุ้งขนาด 50 ตัว หน้าบ่อ อยู่ที่กิโลกรัมละ 170 บาท ถือว่าดีเพราะสูงกว่าปีที่แล้ว 20% และราคากุ้งในปัจจุบันถือว่าดีที่สุดในรอบ 3 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงที่กุ้งราคาตกต่ำมาก อยู่ที่กิโลกรัมละ 125 บาท จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศรับจำนำกุ้งเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยราคากุ้งในตลาดโลกจะสัมพันธ์กับราคากุ้งในไทยเพราะผลผลิตกุ้งไทยที่ผลิตส่งออกถึง 90%
ทั้งนี้ ราคากุ้งในปีหน้ายังคงมีแนวโน้มดีเหมือนปีนี้ตามความต้องการกุ้งไทยในตลาดโลก แต่ยังต้องติดตามภาวการณ์ผลิตของประเทศคู่แข่งด้วย รวมทั้งต้องติดตามทิศทางค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้าค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นแต่แข็งค่าตามภูมิภาคเพราะแรงกดดันจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงก็ไม่มีปัญหา เพราะค่าเงินจะแข็งค่าตลอดทั้งภูมิภาค
นายผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า จากปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งของไทย ส่งผลให้ผู้นำเข้าหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น 30% แต่เนื่องจากที่ผ่านมาการเลี้ยงกุ้งในประเทศประสบปัญหา ทั้งจากภัยแล้ง น้ำท่วม ทำให้กุ้งออกสู่ตลาดน้อย หรือมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียง 5-6% ในที่นี้ผู้เลี้ยงลงกุ้งในบ่อจำนวนมาก รวมทั้งเร่งจับทำให้กุ้งมีขนาดเล็กและราคาแพง ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงกล่าวได้ว่าปีนี้เกษตรกรได้รับประโยชน์จากราคากุ้งที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งหมด
ภาพประกอบจาก http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=grizzlybear&month=12-2009&date=31&group=4&gblog=123