นักวิชาการติง “ประชานิยมรากหญ้า” คิดง่าย-หวังเสียงการเมือง
นักเศรษฐศาสตร์-หอการค้า รุมจวกยับนโยบายประชานิยมรัฐบาล ผลาญ 5.6 พันล้าน แก้ปัญหาไม่ตรงจุด-แค่ปลายเหตุ หวังคะแนนเสียงการเมืองมากกว่า เรียกร้องรัฐบาลทบทวน
นโยบายประชานิยมเพื่อแก้ปัญหาความเลื่อมล้ำในสังคม โดยการช่วยเหลือผู้ประกอบการนอกระบบกลุ่มต่างๆ ทั้งคนขับแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง และแม่ค้าหาบเร่แผงลอย เพื่อให้มีหลักประกันด้านรายได้และระบบสวัสดิการ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เตรียมประกาศในวันที่ 17 ธันวาคม ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมว่า เป้าหมายของรัฐบาลที่จะช่วยเหลือ 3 กลุ่มอาชีพ ยังไม่ชัดเจนว่าทำเพื่ออะไร เพราะกลุ่มที่มีปัญหาจริงคือลูกจ้างทางการเกษตร และกลุ่มแรงงานหาเช้ากินค่ำ ที่มีรายได้ 5,000-6,000บาทต่อเดือน
“การพิจารณานโยบาย หลักการสำคัญที่สุดต้องมองว่าทำอย่างไรให้งบประมาณที่มีจำนวนจำกัดสามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ถ้ารัฐบาลบอกว่ามีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แสดงว่าคนละเรื่องกัน เพราะการแจกในครั้งนี้เห็นได้ชัดว่า รัฐบาลใช้หลักคิกแบบทำง่าย ได้เสียงเร็ว” นายณรงค์กล่าว
นายณรงค์กล่าวว่า สำหรับนโยบายที่รัฐบาลส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มอาชีพให้เข้มแข็งนั้นทุกวันนี้คนขับแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างรวมกลุ่มเข้มแข็งมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์แท็กซี่ หรือการมีคิวและมีเสื้อวิน ถ้ารัฐบาลอยากให้มีการรวมกลุ่มอาชีพเข้มแข็งอย่างแท้จริง ก็ควรมีนโยบายให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานในโรงงานต่างๆมากกว่า
นายมนัส โกศล ประธานองค์กรแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุดเพราะปัญหาสำคัญของผู้ใช้แรงงานคือ การมีหนี้สิน และไม่มีเงินใช้หนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานนอกระบบ หากนำเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ไปช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่มีหนี้เสียน่าจะดีกว่า ส่วนนายแล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า เป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืนรัฐบาลควรทบทวนเรื่องนี้
นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ รองประธานหอการค้าภาคเหนือ กล่าวว่า นโยบายแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนภายใต้ชื่อ “โครงการเร่งรัฐปฏิบัติการด่วน (เพื่อคนไทย)” ในระยะกลาง เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะปัญหาอันดับหนึ่งตอนนี้ คือ การสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยมี 4-5 แนวทาง คือ เลี่ยงได้เลี่ยง เลี่ยงไม่ได้ก็ต้องบังคับ เอื้อเฟื้อ เจรจาดูแลและประนีประนอม และร่วมมือกันไม่ใช่นโยบายประชานิยม ไม่ใช่การใช้ทรัพย์สินแต่ต้องให้ความคิด ความรู้ ความเป็นธรรม
“การให้ฟรีเมื่อหมดระยะ 3-6 เดือนก็อยากได้ฟรีต่อ เอาเงินมาหว่านเท่าไหร่ก็ไม่พอ ซึ่งไม่ใช่ทางแก้ปัญหายกเว้นเหตุฉุกเฉินแบบสึนามิตอนนี้คนอดอยากทุกหย่อมหญ้า จึงต้องดูเจตนารมณ์ทีมวิเคราะห์ของรัฐบาล ถ้าเพียงหวังผลทางการเมืองผมว่าแบบนี้ไม่ได้ใจ” นายณรงค์กล่าว
นายทวิสันต์ โลนาณุรักษ์ เลขาธิการสภาหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่ารัฐบาลยังคงใช้วิธีเดิม คือ ใช้เงินอุดหนุน และรับภาระหนี้แทนประชาชน ซึ่งแม้เป็นเรื่องดี แต่ความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะใช้หนี้ให้คนทุกกลุ่มนั้นเป็นไปได้ยาก อีกทั้งงบประมาณขากดุล ติดต่อกันหลายปีแล้ว หากยังยืนยันว่าทำได้ คิดว่าเป็นไปได้ที่อาจต้องพึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เหมือนช่วงฟองสบู่แตก
นายสุวรรณลภ ภูวบัณฑิตสิน ประธานหอการค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่าหากวิเคราะห์ให้ดีจะพบว่ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์เป็นคนกรุงเทพฯ ฐานเสียงใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรัฐบาลยังคิดว่าอาจทำให้อยู่ได้นานใช่หรือไม่ หากมีแนวคิดแบบนี้ถือว่ามองใกล้เกินไป เพราะคนส่วนใหญ่คือคนทั้งประเทศนโยบายประชานิยมจึงน่าครอบคลุมคนทั้งประเทศ แต่ทำแบบนี้ถือเป็น 2 มาตรฐาน
นายสิงห์คำ นันติ ประธานสหกรณ์นครลานนาเดินรถ จำกัด ผู้ให้บริการรถรับจ้างสี่ล้อแดงและแท็กซี่มิเตอร์ ในตัวเมืองเชียงใหม่ กล่าวว่า ไม่รู้ว่านโยบายที่รัฐบาลออกมา วิธีปฏิบัติจะทำได้หรือไม่ เพราะยังยึดติดระบบราชการเช่น กู้เอสเอ็มอีแบงก์ มีเงื่อนไขและหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจ ทำให้ต้องหาแหล่งเงินกู้เอง
“ประชานิยมนายอภิสิทธิ์ไม่แตกต่างจากสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีที่ให้รายย่อยกู้ออมสิน รายละไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท/ปี มีแค่แผงลอยค้ำประกันเท่านั้น ถ้าอยากเหนือชั้นกว่า ต้องเพิ่มวงเงินกู้ ไม่มีดอกเบี้ย ผ่อนได้นานกว่า แต่อยากให้รัฐบาลดูแลเรื่องรักษาพยาบาล และการศึกษาบุตรหลานฟรีมากกว่า” นายสิงห์คำกล่าว
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า การจัดทำนโยบายโครงสร้างราคาสินค้าพลังงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่นายกฯเตรียมประกาศวันที่ 17 ธันวาคม หลักการสำคัญที่คณะทำงานที่มี นายเมตตา บันเทิงสุข รองปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานดูแลอยู่นั้น อยู่ที่การควบคุม ราคาการใช้พลังงานไม่ให้แพงเกินความเป็นจริงประชาชนที่ใช้พลังงานในภาคครัวเรือนและภาคขนส่งจะต้องไม่แบกรับค่าใช้จ่ายเท่ากับภาคเอกชนที่ใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในทางปฏิบัติ จะมีการแยกราคาพลังงานของทั้งสองตลาดนี้อย่างชัดเจน เพื่อให้ควบคุมราคาได้ง่ายขึ้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า นายกฯยังให้ความสนใจกับเรื่องแหล่งพลังงานในประเทศที่ปัจจุบันมีการเปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทาน ซึ่งในทางปฏิบัติรัฐบาลน่าจะสามารถปฏิบัติรัฐบาลน่าจะสามารถควบคุมราคาพลังงานจากแหล่งนี้ได้ ไม่ควรปล่อยให้ราคาขึ้นอยู่กับตลาดโลก ขณะที่การชดเชยราคาสินค้าพลังงาน ที่ปกติต้องมีการนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาใช้ก็ควรหาเงินชดเชยจากส่วนอื่นมาใช้ด้วย ซึ่งแหล่งงบประมาณที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ก็คือ การนำรายได้จากการให้สัมปทานด้านพลังงานของเอกชนบางส่วนที่ปัจจุบันถูกส่งเข้าเป็นเงินคงคลัง ภายใต้แนวคิดที่ว่า เอกชนที่ได้สัญญาสัมปทาน ควรที่จะต้องมาช่วยดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากขึ้น
นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวยอมรับว่า ในรายละเอียดของการจัดทำนโยบายโครงสร้างราคาสินค้าพลังงานที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มีการหารือถึงเรื่องการจัดหาแหล่งเงินเพื่อที่จะนำมาชดเชยราคาน้ำมันและแอลพีจีในปัจจุบันนอกเหนือจากการนำเงินกองทุนน้ำมันเพียงย่างเดียว ในส่วนของการนำรายได้สัมปทานของเอกชนมาใช้ก็เป็นตัวเลือกหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าคณะทำงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้กำลังดูรายละเอียดข้อกฎหมายอยู่ รวมถึงเรื่องการขอยกระดับมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน เป็นมาตรการถาวรด้วย ซึ่งคาดว่าข้อสรุปทั้งหมด น่าจะได้รับคำตอบภายในวันที่ 17 ธันวาคม
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายควบคุมราคาสินค้า หมู ไก่ และไข่ว่า เท่าที่ได้รับรายงานความคืบหน้าการจัดทำนโยบายเรื่องนี้ของคณะทำงานที่มีนางชุติมา บุญประภัศร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพานิชย์ พบว่า มีหลักการสำคัญอยู่ที่แก้ไขโครงสร้างอุตสาหกรรมอาหารทั้ง 3 ชนิด ที่คนไทยต้องบริโภคทุกวันซึ่งรัฐบาลจะให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ภายใต้การแข่งขันอย่างเป็นธรรม เน้นความโปร่งใส ซึ่งนอกจากเข้าไปดูรายละเอียดต้นทุน และการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำอาหารเลี้ยงสัตว์ อาทิ ข้าวโพด มันสำปะหลัง เพื่อให้ราคาสินค้าลดลงแล้ว ยังจะมีการปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับมาใช้ควบคุมการดำเนินงาน อาทิ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริหาร พ.ศ.2542 ประกาศเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด ให้เหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน