เกษตรอุตสาหกรรมบนความท้าทายของประเทศไทย
“เกษตรกรสมัยใหม่ต้องเป็นระบบที่ใช้ไฮเทค ไม่พึ่งแรงงาน เน้นเพิ่มรายได้กระจายความเสี่ยง และสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลาย ไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ” สารสิน วีระผล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ให้ภาพเกษตรอุตสากรรมในยุคโลกาภิวัตน์ ลองไปฟังมุมมองนี้เพื่อช่วยกันขบคิดต่อ
....................................................................................
เกษตรมีบทบาทสำคัญอย่างมากในอนาคตข้างหน้าต่อประเทศไทย และต่อโลก และเป็นเรื่องที่มาโยงกับทฤษฎีสองสูงของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานการรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี บทเรียนจากวิกฤตความมั่นคงอาหารเมื่อ 4 ปีก่อน ระหว่างปี 2549-2551 โยงกับราคาสินค้าเกษตรโดยตรง ตอนนั้นมีการใช้สินค้าเกษตรไปทำพลังงานทดแทน ทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้หล่ยประเทศเริ่มกักตุนไม่ขายสินค้าเกษตร และกำลังจะมารอบใหม่เพราะสภาพทั่วไปของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรโลกเพิ่มขึ้นทุกวันหลังมีบทเรียนและคำเตือนมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน ครั้งนี้มีเรื่องวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร โดยทุกๆ 10 ปี ประชากรโลกจะเพิ่ม 1,000 ล้านคน ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน โลกมีประชากรอยู่ประมาณ 6,000 ล้านคน มาถึงปี 2553 ประชากรเพิ่มเป็นเกือบ 7,000 ล้านคน อีก 10 ปีจะเพิ่มเป็น 8,000 ล้านคน สิ่งที่เกิดขึ้นคือพื้นที่สำหรับเกษตรจะลดน้อยลง ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะลดลงไปประมาณ 3 เท่า เพราะมีการพัฒนาสังคม พื้นที่เกษตรกลายเป็นพื้นที่อาศัยหรืออุตสาหกรรม
ผมขอยกตัวอย่างประเทศจีน อีก 10 ปี จะสร้างเมืองสำหรับคนประมาณ 100 ล้านคน หรือเท่ากับสร้าง 100 เมือง และเอาพื้นที่มาทำการเพาะปลูกแบบสมัยใหม่เป็นเกษตรอุตสาหกรรม โดยใช้โมเดลประชาชนให้ที่ดินกับรัฐบาลแต่สิทธิการใช้เป็นของประชาชน และเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารหาตลาดให้ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกรัฐบาลจีนเปลี่ยนนโยบายแล้ว จากเดิมบอกว่าชาวนาต้องมีสิทธิในที่ทำกินของตัวเองเพราะกลัวทุนนิยม ต่อมายอมผ่อนผันเป็นระบบสหกรณ์ให้ผลิตร่วมกัน ตอนนี้มาอีกก้าวหนึ่ง เอาคนข้างนอกมาบริหาร แต่คนข้างนอกไม่มีสิทธิความเป็นเจ้าของ เป็นแต่ผู้บริหาร วางแผนตลาด มีรัฐบาลโดยธนาคารเพื่อการพัฒนา หรือ Develop bank เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้เกษตรกร
ผมขอยกตัวอย่าง รูปแบบโครงการเกษตรอุตสาหกรรมในจีนนี้ที่เกิดขึ้นแล้ว รูปแบบหลักๆ คือรัฐบาลจะเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินตามความเหมาะสม อย่าง case (กรณี) รัฐบาลขอคืนพื้นที่จากชาวบ้านและร่วมมือกับบริษัทโดล ทำส้มแมนดารินบรรจุขวดในน้ำเชื่อม โดยรูปแบบนักธุรกิจทำสัญญากับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อเช่าที่ปลูกส้ม ส่วนวิธีการ เมื่อได้สิทธิในที่แล้วบริษัทจะจ้างคนมาปลูก แล้วทางโดลจะเก็บผลผลิตจากชาวบ้าน สำหรับซีพีก็มีโครงการเข้าไปพัฒนาด้วย เช่น โครงการผลิตไข่แบบคอนโดเจ้าของคือเกษตรกรชาวจีน ส่วนซีพีเป็นผู้บริหารจัดการวางแผนตลาด จำหน่าย มีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนเงิน โดยรัฐบาลท้องถิ่นและซีพีร่วมลงทุนด้วย ตอนนี้จีนได้ริเริ่มทำเกษตรอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่เรียกว่า Modern agriculture จะมีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ครบวงจร เวลานี้จีนเปิดประเทศเต็มที่ รับฟังคนจากที่ต่างๆ มาเป็นที่ปรึกษา มีโมเดลการพัฒนาฟาร์มเป็นเมกะฟาร์ม เหมือนสหรัฐอเมริกา เป้าหมายคือลดปัญหาคนเข้าเมืองให้กลับไปอยู่ในชนบท อยู่ในภาคชนบทที่เป็นรูปธุรกิจ นั่นคือเกษตรอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เป็นการสร้างงานในชนบทแบบครบวงจร ตั้งแต่ผลผลิต การแปรรูป การบรรจุภัณฑ์เป็นต้น
สิ่งที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไม่ใช่แค่ประชากรที่จะเพิ่มขึ้นทุกปีเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาโลกร้อน ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง น้ำท่วม ซึ่งเกษตรกรดั้งเดิมจะมีปัญหา ปลูกข้าวตามฤดูกาลไม่ได้ที่กลายเป็นปัญหาอย่างทุกวันนี้ รวมถึงความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ เช่นอัตราแลกเปลี่ยน การส่งออก คุณภาพมาตรฐานสินค้า มาตรการการกีดกันสินค้าของประเทศต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร ความเปลี่ยนแปลงในจีนเวลานี้ ประเทศอื่นอย่างอินเดียและอีกหลายประเทศเริ่มมองเห็นเช่นกันคำถามคือแล้วเราจะส่งข่าวไปขายที่ไหน ผลผลิตข่าวของเราตอนนี้อยู่ที่ 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ แต่จีนตั้งเป้าพัฒนาเป็น 2,000 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าเราจะขายแต่ข้าว โดยไม่คิดนำข้าวไปทำอย่างอื่น ก็ได้แต่ขายในราคาต่ำไปเรื่อยๆ ต้องคิดว่าข้าวที่เราเคยส่งออก 10 ล้านตัน อาจส่งออกแค่ 2 ล้านตันแต่มีมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านตัน นี่คือสิ่งที่เราต้องแยกแยะออกมา
ดังนั้น เกษตรกรสมัยใหม่ต้องเป็นระบบที่ใช้ไฮเทค ไม่พึ่งแรงงาน เน้นเพิ่มรายได้กระจายความเสี่ยง และสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลาย ไม่เน้นปริมาณแต่เน้นคุณภาพ ภาคเกษตรกรของไทยต้องพัฒนาไปสู่กระบวนการของเกษตรกรแบบใหม่เหมือนกัน โดยพื้นที่ปลูกต้องลดลง และต้อง Diversify (หลากหลาย) มากขึ้น เพราะพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปจะไม่กินข้าวแบบ 4-5 จาน คิดถึงสุขภาพ วิถีชีวิตไม่ใช่ผู้ใช้แรงงาน แต่นั่งทำงานในออฟฟิศ ซึ่งจะกินข้าวน้อยลง ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเป็นที่ 1 ของการขายข้าวตลอดไป ทำไมเราไม่เริ่มปลูกข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้นส่วนข้าวที่ไม่เป็นที่ต้องการและต้องแข่งขันกับประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า ต้องผลิตน้อยลง เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เทคโนโลยี ใช้ความรู้หากชาวนาไม่มีความรู้ก็ต้องหาคนมาช่วยสอน ความจริงเราไปปลูกข้าวที่อื่นก็ได้ เช่นที่แอฟริกา โดยอาศัยบริษัทใหญ่แล้วแพคกันไป ไม่ใช่คิดแบบหัวชนฝาว่า ข้าวต้องประเทศไทยหรือต้องปลูกที่ประเทศไทย ยกเว้นพันธุ์ข้าวบางชนิดที่ปลูกที่อื่นไม่ได้ต้องปลูกที่ไทยเพราะเกี่ยวกับสภาพดินและอากาศ ไทยต้องคิดในแง่การค้าโลกาภิวัตน์ คนไทยมีความสมารถทำได้ แต่ภูมิปัญญาของชาวนาต้องได้รับการพัฒนาให้เห็นประเด็นเหล่านี้ ให้รู้จักเทคโนโลยี ให้มีการศึกษามากขึ้น ต้องพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพแข่งขันกับต่างประเทศได้
ตัวอย่างที่เราต้องมองดูในตอนนี้ คือจีน อินเดีย อีกไม่นาน ภายใน 10 ปี อินเดียจะมีการปฏิวัติเขียวหรือ Green Revolution หลังจากเมื่อ 30 ปีก่อน Green Revolution เกิดขึ้นในเมืองไทย โดนสหรัฐอเมริกาได้มาช่วยเราเรื่องตัดต่อพันธุกรรม ทำให้ผลผลิตของเราสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ตอนนั้นเราคือผู้ชนะ ตอนนี้จะต้องมีการปฏิวัติเขียวอีกครั้ง แต่หากเรายังเป็นอยู่อย่างนี้เราไม่มีทางชนะ
เราอย่าปฏิเสธเทคโนโลยี สิ่งที่สำคัญคืออย่าปฏิเสธเพราะกลัว เป็นธรรมดาที่เทคโนโลยีใหม่น่ากลัว เราไม่คุ้น นอกจากเราจะเข้าไปทำความรู้จักคุ้นเคยกับมัน ทุกอย่างมีความเสี่ยง อย่างจีเอ็มโอที่ปลูกมาหลายสิบปี ก็ยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรอย่างที่กลัวหรือคาดการณ์กัน ไม่ได้หมายความว่าแนะนำให้ปลูกจีเอ็มโอนะ แต่จะต้องเริ่มใจกว้างขึ้น รัฐบาลต้องกล้าขึ้นที่จะทดลองจริงๆ จังๆเน้นเรื่องเทคโนโลยี แต่ทุกวันนี้ไม่มีที่บอกว่าเกษตรกรสมัยใหม่เกี่ยวข้องกันโดยตรงกับทฤษฎีสองสูง คือสองสูงแปลว่าต้องลงทุน เรื่องเทคโนโลยีซึ่งคนที่จะได้ประโยชน์คือผู้ปลูก รายได้จะสูงขึ้น แต่จะเป็นไปไม่ได้ตราบใดที่ยังอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เราใช้คนภาคเกษตรมากเพราะไม่ลงทุนเรื่องเทคโนโลยี รายได้ของภาคเกษตรก็จะยังต่ำอยู่อย่างนี้
แนวทางที่อยากเห็นคือรัฐต้องลงทุนในระบบสาธารณูปโภค ต้องปรับกฎระเบียบต้องประบพื้นที่สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรปลูกสิ่งที่มีประโยชน์ ซึ่งรัฐมีทางออกอีกทางหนึ่งคือจับมือกับภาคเอกชนที่มีความพร้อมด้านการจัดการ เรื่องตลาด และเทคโนโลยี เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยง โดยภาคเอกชนจะได้รับประโยชน์ด้วย นี่คือแนวทางการสร้างเกษตรแนวใหม่เพื่อผลิตอาหาร ผลิตสินค้าของภาคเกษตรที่มีมาตรฐานระดับโลกเรื่องของความปลอดภัยคุณภาพ ซึ่งแนวทางนี้จะเรียกการลงทุนจากต่างประเทศทั่วโลกได้มากขึ้น ส่วนแรงงานส่วนเกิน นำมาใช้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเกษตร-อาหาร ซึ่งจะโยงกับ Supply chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ของโลกได้ เราจะไปขายแอฟริกาได้ หรือไปประเทศอื่นๆ ได้ นี่คือบทบาทของประเทศไทยที่ต้องทำและบริษัทเอกชนมีภาระในการผลักดันเรื่องเหล่านี้ให้เกิดขึ้นโดยมีส่วนในเรื่องการพัฒนาวิจัย การพัฒนาสินค้าเกษตรร่วมกับภาครัฐ ซึ่งทำให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สามารถป้อนโลก ด้วยการสร้างเกษตรอุตสาหกรรมแนวใหม่ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้และกำลังเห็นว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในจีนและอินเดีย โดยเฉพาะจีนซึ่งผมรู้จักดี แล้วต่อไปบทบาทประเทศไทยจะถูกบดบัง ถ้าเขาไปไกลอย่างนี้ เราจะอยู่ท้าย ไม่เท่านั้นนะเวียดนามก็มองเห็นจุดนี้ด้วยตอนนี้เป็นโอกาสของไทยที่จะทำเพราะเรายังก้าวหน้ากว่าจีนก้าวหน้ากว่าอินเดีย
ภาพประกอบจาก http://www.thaiembbeij.org/thaibizchina/th/china-economic-business/index.php?SelectCOUNTY=480&SHOWALL_1=1