นักการศึกษาเผยเตรียมคลอดยุทธศาสตร์สร้างพลเมือง-ประชาธิปไตยชุมชน
ดร.สมพงษ์ จิตระดับ เผยร่างยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลงเมือง 10 ปี ที่เตรียมเสนอนายกฯ 19 พย. ให้ กศน. ร่วม อปท. ทำหลักสูตรประชาธิปไตยชุมชน
นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กนป. เมื่อเร็ว ๆ ได้ข้อสรุปร่างยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษา เพื่อสร้างความเป็นพลเมือง พ.ศ.2553-2561 ซึ่งจะนำเสนอที่ประชุม กปน. ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจารณาในวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยสาระสำคัญได้มีการกำหนดคุณสมบัติ 6 ประการ ของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ประกอบด้วย 1.ต้องมีอิสรภาพควบคู่ความรับผิดชอบ 2.เคารพสิทธิผู้อื่น 3.เคารพความแตกต่าง 4.เคารพความเสมอภาค 5.เคารพกติกา กฎหมาย ไม่ใช่กำลังแก้ปัญหาและยอมรับผลของการละเมิดกติกาและ 6.มีส่วนร่วมแก้ปัญหาโดยเริ่มต้นที่ตนเองส่วนการให้การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองดังกล่าวจะครอบคลุมพลเมืองทุกวัยของประเทศ เพื่อทำให้ ประชาชนที่แตกต่างและขัดแย้งกันอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของการเคารพกติกาของสังคม และเคารพหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
นายสงพงษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองจะมีทั้งหมด 4 ข้อ 23 มาตรการ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1.การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับเด็กและเยาวชน จำแนกเป็นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจะเร่งรัดให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการปฏิบัติความเป็นพลเมือง ตัดเนื้อหาสาระการเรียนรู้ในวิชาหน้าที่พลเมืองที่เน้นแต่ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ การเมือง การปกครอง ให้เหลือเท่าที่จำเป็น และให้เนื้อหาในรัฐธรรมนูญปัจจุบันมาสอนเฉพาะมาตราสำคัญเท่านั้น ตลอดจนสร้างกระบวนการเรียนการสอนและให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ โดยในระดับชั้นอนุบาลจะฝึกฝนกติกาอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ระดับประถมศึกษา ฝึกฝนความรับผิดชอบ ระดับมัธยมตอนต้น ฝึกให้เป็นพลเมืองของโรงเรียนมีจิตสาธารณะโดยการให้ทำโครงงานและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้ทำโครงงานแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม นอกจากนี้ให้สถานศึกษาใช้ชั่วโมงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่มี 120 ชั่วโมงต่อปี มาเชื่อมโยงวิชาหน้าที่พลเมืองกับวิชาอื่น ๆ ทั้งนี้ ในส่วนของผู้บริหารสถานศึกษาและศึกษานิเทศก์ (ศน.) จะต้องไม่ใช้การบริหารแบบสั่งการหรืออำนาจนิยมแนวดิ่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องจัดทำคู่มือครูและสื่อการเรียน โดยในการจัดการเรียนการสอนจะต้องแยกวิชาพลเมืองออกจากกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมมาเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ดี โดยเน้นการสอนที่เป็นเนื้อหาสาระการเรียนรู้ร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 70 เน้นกิจกรรมที่สอดแทรกในกิจกรรมลูกเสือเนตรนารี ซึ่งจะสอดรับกับนโยบาบของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้เรียนในชั้นเรียนครึ่งหนึ่ง และมีการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนในช่วงบ่าย 3 วันต่อสัปดาห์
“ส่วนระดับอาชีวศึกษา จำแนกเป็นระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จะต้องฝึกให้เป็นพลเมืองของสถานศึกษา มีจิตสาธารณะ และให้ทำโครงงานที่ต้องลงมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ให้ทำโครงงานแก้ปัญหาในสังคม โดยผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องสร้างวิถีชีวิตและบรรยากาศในสถานศึกษาให้เป็นประชาธิปไตย และให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำคู่มือครู และสื่อการเรียนรู้ ส่วนในระดับอุดมศึกษา ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนดให้มีวิชาพลเมืองในหลักสูตรวิชาการศึกษาทั่วไปที่นักศึกษาระดับชั้นปีที่ 1 ทุกคนต้องเรียน โยอาจจัดเป็นวิชาชีพขึ้นมาใหม่ หรือปรับวิชาที่มีอยู่เดิมให้เป็นวิชาพลเมือง นอกจากนี้สถาบันอุดมศึกษาต้องเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เป็นการเรียนเพื่อนำไปบริการสังคม จัดทำวิชาจริยธรรมวิชาชีพซึ่งเป็นวิชาชั้นปีสุดท้าย โดยนำปัญหาเป็นแนวตั้ง และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย” นายสมพงษ์กล่าว
นายสมพงษ์กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ 2.การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับผู้ใหญ่ ครอบครัวและชุมชน กำหนดให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัทธยาศัย (กศน.) สร้างหลักสูตรการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับผู้ใหญ่ และให้ กศน.ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเอกชน ร่วมกันทำหลักสูตรและการอบรม “พลเมืองในประชาธิปไตยในชุมชนให้กับ อปท.ผู้นำชุมชน” ร่วมถึงคู่มือการเลี้ยงลูกเพื่อเป็นพลเมืองด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 3. การสร้างพลเมืองในวงกว้าง โดยใช้สื่อมวลชน อาทิ ประสานสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชน จัดอบรมสื่อเพื่อสร้างความรู้และความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมสร้างพลเมืองตลอดจนจัดรายการโทรทัศน์สำหรับครูเป็นต้น 4.การเชื่อมประสานเครือข่ายภาครัฐและเอกชน อาทิ ให้หน่วยงานหลักของ ศธ.สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ ตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ในช่วง 3-4 ปีแรกจะต้องสร้างความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นร้อยละ 35 ของประเทศ และอีก 6-7 ปีต่อไปต้องทำให้ครอบคลุม 100%
ภาพประกอบจาก http://ithai.jp/?m=pc&a=page_n_inew_detail&target_n_inew_id=2246