แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
นพ.ประเวศ หนุนปชช.เข้มแข็ง ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ หยุดพึ่งนักการเมือง
ราษฎรอาวุโส ระบุต้องยกระดับสุขภาวะทางสังคม เพื่อสร้างประชาคมที่เข้มแข็ง เน้น ประชาชนต้องช่วยขับเคลื่อน นโยบายสาธารณะให้ดี อย่าหวังพึ่งนักการเมืองอย่างเดียว
วันที่ 18 กรกฎาคม ภายในงาน “72 ปี ปอเนาะ บ้านตาล” ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการเสวนาเรื่อง “สุขภาวะสู่อุมมะฮ์ (ประชาชาติ) ที่เข้มแข็ง” โดย นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) กล่าวตอนหนึ่งถึงสุขภาวะว่า เป็นจุดขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนา ซึ่งแตกต่างจากการพัฒนาด้วยเงิน ที่เป็นลักษณะแบบแยกส่วน ที่สามารถนำไปสู่ความรุนแรงได้ ยกตัวอย่าง ประเทศสหรัฐอเมริกาที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง จนกระทั่งส่งผลให้เกิดวิกฤต
“การพัฒนาอย่างรอบด้านของสุขภาวะ ประกอบไปด้วย กาย สังคม จิต และจิตวิญญาณ ในขณะเดียวกันต้องไม่มีความโกรธ เกลียดด้วย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังขาดเพราะอยู่ในภาวะที่มีความโกรธ เกลียด ทางการเมือง ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาควรเป็นการพัฒนาสุขภาพด้วยสุขภาวะ เพราะสุขภาพนั้นบูรณาการระหว่างมนุษย์และสังคมเข้าด้วยกัน นั่นคือ การสร้างสุขภาวะและการสร้างอุมมะฮ์ (ประชาชาติ) จึงต้องเดินไปพร้อมๆกัน”
นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า การสร้างสุขภาวะกับการสร้างอุมมะฮ์หรือประชาคมให้เข้มแข็งนั้น ต้องเดินควบคู่กันไป เพราะการจะสร้างประชาคมให้เข็มแข็งได้นั้น ต้องยกระดับสุขภาวะของสังคม ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สังคมใหญ่ไปจนถึงประชาคม เช่น ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก เป็นวาระสำคัญที่ต้องมีการทำงานร่วมกัน ทั้งด้านศาสนา การศึกษา เศรษฐกิจ และเป็นประชาคมที่รักสันติ มีเสรีภาพ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยรับสั่งไว้ว่า ประเทศไทยเหมาะแก่การที่นานาชาติจะมาคุยกันเรื่องสร้างสันติภาพ ฉะนั้น ความเข้มแข็งของประชาชนที่มีสันติภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสุขภาวะ
ทั้งนี้ ราษฎรอาวุโส กล่าวถึงวิธีการสร้างสุขภาวะด้วยว่า มี 5 ประการ คือ 1.พฤติกรรมสุขภาพ เช่นการออกกำลัง การไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา 2.ชุมชนเข้มแข็ง 3.สิ่งแวดล้อมดี 4.มีระบบบริการที่ดี นั่นคือ มีการเข้าถึงอย่างเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ และ 5. มีนโยบายสาธารณะที่ดี ข้อนี้มีความสำคัญต่อเรื่องสุขภาวะอย่างยิ่ง เพราะหากนโยบายสาธารณะเกิดความไม่เป็นธรรม เกิดความรุนแรงก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ
“แค่นโยบายสาธารณะที่ดี เพียงเรื่องเดียวก็สามารถสร้างสุขภาวะที่ดีได้ เช่น ถ้ามีนโยบายพลังงานที่ดี ก็จะทำให้ลดความยากจนและส่งผลให้เกิดสุขภาวะที่ดีได้ ซึ่งการที่จะมีนโยบายสาธารณะที่ดีได้นั้น ประชาชนต้องมีความเข้มแข็งสามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ ลำพังนักการเมืองอย่างเดียวไม่สามารถสร้างนโยบายสาธารณะที่ดีได้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องอำนาจและการแย่งชิงกัน”
ขณะเดียวกันการสร้างประชาคมที่ดีได้นั้น นพ.ประเวศ กล่าวว่า มี 5 ประการ ได้แก่ 1. การเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างเท่าเทียม 2.การร่วมคิด ร่วมทำ 3.มีการจัดการ 4.มีการพัฒนาอย่างบูรณาการ ทั้ง สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจ จิตใจ และประชาธิปไตย และ 5.การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ
เปิดช่องว่างทางรายได้คนมุสลิม
ด้าน รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย กล่าวว่า ในทางเศรษฐศาสตร์การที่จะทำให้ได้สังคมที่ดี และพัฒนานั้นต้องประกอบไปด้วยฟันเฟือง 3 ชิ้น ได้แก่ 1.Growth คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ 2.Distibution คือความเท่าเทียมกันใน การกระจายรายได้ในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ 3.Substable คือต้องมีความยั่งยืน ทั้งนี้ การที่จะทำให้เกิดการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจได้นั้น ต้องการหลายปัจจัย อาทิ แรงงาน ทุน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิปัญญา อีกทั้ง การจะเพิ่มผลิตภาพทางแรงงานนั้น คือการศึกษา
นอกจากนี้ รศ.ดร.อิศรา ได้นำเสนอผลการวิจัยของแผนงานสร้างเสริมสุขภาพมุสลิมไทยด้วย โดยด้านการศึกษาพบว่า ข้อมูลในปี 2543 ประชากรในอายุ 6-24 ปี คนมุสลิม 47.7% ไม่ได้เรียนหนังสือ ในขณะที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มี 34.7% นั่นหมายถึง ในสังคมมุสลิมยังมีช่องว่างทางการศึกษาที่ต้องได้รับการ พัฒนาอยู่มาก
ด้านทรัพย์สินครัวเรือนในปี 2552 พบว่าคนมุสลิมมีรายได้เฉลี่ย 740,387 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ใช่มุสลิมมีรายได้ 984,068 บาท ต่อครัวเรือน แล้วถือว่าน้อยกว่า 25%
นอกจากนี้ยังพบว่าคนมุสลิม ในประเทศไทยมีคนยากจนกว่า 15% แม้จะมีระบบซะกาด หรือการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมก็ตาม ฉะนั้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็น ว่าควรต้องปรับปรุงและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม อย่างไรก็ตาม พบว่าช่องว่างทางรายได้ของคนมุสลิมน้อยกว่าของคนไทย โดยของคนมุสลิมคิดเป็น 13% ในขณะที่คนไทยมีช่องว่างทางรายได้ถึง 49%