แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
นักวิจัยยานยนต์ จี้ออกกฎคุมความเร็วรถบัส 2 ชั้น ลดความเสี่ยง
อาจารย์ มจพ. แนะรถบัส 2 ชั้นควรจำกัดให้วิ่งแต่ในเมือง ยกระดับเทียบมาตรฐานสากล ทั้งด้านโครงสร้างรถ-กระบวนการผลิต-รูปแบบการทดสอบ ด้าน 'เจ๊เกียว' โวนั่งรถบัสชั้นเดียวปลอดภัยสุดแล้ว
จากกรณีเกิดเกิดอุบัติเหตุรถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น ของ คณะเจ้าหน้าที่และผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสียหลักพลิกคว่ำตกร่องกลางถนนที่บริเวณหลักกิโลเมตร (กม.) ที่ 52-53 ถ.มิตรภาพ ใกล้ฟาร์มโชคชัย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตคาที่ทันทีจำนวน 3 ราย เป็นชาย 1 ราย หญิง 2 ราย และยังมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 20 ราย
โดยจากรายงานข่าวพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารที่นั่งอยู่ชั้นล่างของตัวรถ ทำให้เกิดข้อกังวลในความไม่ปลอดภัยของโครงสร้างรถบัสปรับอากาศ 2 ชั้น ซึ่งทางศูนย์ข้อมูลข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม อาจารย์นักวิจัย ผู้ประสานงานหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรม ศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ถึงประเด็นดังกล่าว
รศ.ดร.สายประสิทธิ์ กล่าวว่า โดยทั่วไปแล้ว ในประเทศยุโรปจะให้รถบัสปรับอากาศ 2 ชั้นวิ่งเฉพาะในเมืองเท่านั้น ไม่อนุญาตให้วิ่งระหว่างเมืองเนื่องจากรถมีความสูง ถ้าวิ่งด้วยความเร็วจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ทั้งนี้ จากอุบัติเหตุรถบัสที่พบเห็นในประเทศไทยจะเกิดขึ้นกับรถบัสปรับอากาศ 2 ชั้นโดยเป็นส่วนใหญ่ แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า รถบัสของประเทศจะไม่มีมาตรฐาน
“มาตรฐานของรถในบ้านเรานั้นมี แต่มาตรฐานอาจจะยังไม่รองรับความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่าง ที่ว่า ไม่ว่าจะขับรถเบนซ์หรือรถญี่ปุ่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็สามารถสร้างความความเสียหายและการบาดเจ็บได้เหมือนกัน แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจต่างกัน ฉะนั้นมาตรฐานในประเทศไทยก็ยังไม่เท่าเทียมกับมาตรฐานที่ทางยุโรปกำหนด อีกทั้ง ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีการนำข้อกำหนดของทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทยเลย”
รศ.ดร.สายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทางกรมการขนส่งทางบก มีความพยายามที่จะยกระดับมาตรฐานของตัวรถ ซึ่งด้านผู้ประกอบการและผู้ผลิตนั้นก็มีความเข้าใจในมาตรฐานของสากลแล้ว โดยส่วนตัวเองก็เห็นด้วยว่า ควรมีการยกระดับมาตรฐานที่มีอยู่ให้สูงเทียบเท่ากับระดับสากล แม้อาจจะเกิดความสูญเสียอยู่บ้าง แต่สามารถลดความรุนแรงได้ เช่น โครงสร้างจะต้องมีความแข็งแรงมากขึ้น กระบวนการผลิตต้องดีขึ้น มีรูปแบบการตรวจสอบที่ชัดเจนมากกว่าเดิม
“หากเป็นไปได้ 1.ควรมีการควบคุมให้รถบัสปรับอากาศ 2 ชั้นวิ่งได้เฉพาะในเมืองเท่านั้น หรือ 2. ควบคุมความเร็วของรถบัส เช่นเดียวกับการควบคุมความเร็วของรถตู้ เนื่องจากอุบัติเหตุหรือความไม่ปลอดภัยนั้น ไม่ได้มีปัจจัยมาจากมาตรฐานของตัวรถอย่างเดียว การขับรถเร็วก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ และยังเป็นการสะท้อนความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย ”
ทั้งนี้ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า หากเราต้องการรถที่มีคุณภาพดี ผู้ประกอบการก็จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นผู้บริโภคเองก็อาจต้องยอมเสียค่าโดยสารที่แพงขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพียงพอที่จะผลิตรถ คำนึงถึงค่าโครงสร้างที่มีความปลอดภัยมากขึ้นด้วย
ด้าน นางสุจินดา เชิดชัย (เจ๊เกียว) นายกสมาคมรถโดยสารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการนั่งรถบัสชั้นเดียวว่า ปลอดภัยที่สุด และในการจะเลือกเช่ารถบัสนั้นอาจต้องเลือกบริษัทที่มีความมั่งคง เชื่อถือได้ และมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งในเรื่องของรถ และการควบคุมพฤติกรรมของคนขับ เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งไมได้เกิดจากตัวรถเพียงอย่างเดียว พร้อมกันนี้ ยังมองว่า การที่ทางการอนุญาตให้รถ 8 ล้อที่ดัดแปลงจากรถ 6 ล้อสามารถจดทะเบียนได้นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยจะเห็นว่า ในต่างประเทศนั้นจะคำนึงถึงชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก มาตรฐานในต่างประเทศจึงมีความปลอดภัยสูงกว่าบ้านเรา
ที่มาภาพ : news.thaipbs.or.th